จิตวิญญาณ..ของครูไทยในอนาตค


ไม่มีคำตอบใดเลย..ที่จะนึกถึงนักเรียน

วันนี้สอนนักศึกษาครูที่กำลังจะออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ได้จัดกิจกรรมเล็กๆดดยตั้งประเด็นว่าถ้านักศึกษามีเงิน 1ล้านบ้านจะทำอะไรบ้างให้นักศึกษาคิดคนละ3 นาทีและจดบันทึกลงในกระดาษ หลังจากออกคำสั่งไปแล้วสังเกตเห็นว่า นักศึกษาทุกคนมีความสุข นั่งยิ้มและคิดคำนวนว่าจะใช้เงิน 1ล้านบาททำอะไรบ้าง ดูทุกคนตื่นเต้นและมีความสุขต่างใช้ความสามารถในการคิดกันอย่างตั้งใจ นักศึกษาบางคนถึงกับลงมือบวก ลบ ว่าจะพอไหม.... เวลาผ่านไป 3 นาที ลองให้นักศึกษานำเสนอส่งที่ตนเองคิดว่าจะใช้ทำอะไรบ้างประมาณ 10 คน พบว่า ...มีคำตอบดังนี้ ซื้อบ้าน ซื้อรถ ให้พ่อแม่ ซื้อของใช้ส่วนตัว ไปเที่ยว ฝากธนาคาร ใช้หนี้ ทำสัญญกรรม ฯลฯ คำตอบมากมายยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่ครูต้องการ จึงถามนักศึกษาว่ามีใครไหมที่จะนำเงินไปเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ซื้ออุปกรณ์กีฬา  สร้างห้องสมุด ซื้อหนังสือเด็กเข้าห้องสมุด ซื้อเสื้อผ้าให้เด็ก...ไม่มีใครยกมือ ครูเลยถามว่า ใครที่จะใช้เงินเพื่อคนอื่นบ้าง....คำตอบคือ ไม่มี...วันนี้ทุกคนยังสอบไม่ผ่าน เพราะทุกคนยังนึกถึงตนเอง...ยังไม่ไมใครมีจิตวิญญาณของการเป็นครูที่เรียกว่า ผู้ให้ ยังไม่มีใครนึกถึงลูกศิษย์ เด็ก ๆ ซึ่งเป็นตนเหตุทำให้เขาเหล่านี้ต้องมาเรียนครู...นอกจากนี้ยังไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวที่ตอบว่าจะยังไม่ใช้เงิน จะเก็บเงินนั้นไว้ เพราะยังไม่ต้องการอะไร ....มีแต่ใช้เงินให้หมด1 ล้าน บางคนไม่พอด้วยซ้ำ...ต้องคิดไหม่ แต่บางคนก็ตอบน่ารักมากคือ ใช้หนี้ กยศ.
บทสรุปของกิจกรรมนี้ ...ดิฉันได้สรุปไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว...อยากให้มีคนช่วยคิดว่าเราจะทำอย่างไรกันต่อไป...ดีกับจิตวิญญาณของครูไทยในอนาตค .....

คำสำคัญ (Tags): #ครูไทยในอนาตค
หมายเลขบันทึก: 310966เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณครับ ผมได้แบบไปฝึกทักษะการคิดกับเด็กประถม แต่คงจะถามว่าจะนำเงินดังกล่าวไปช่วยใครได้บ้าง

ฝึกให้เขาคิดแบ่งปัน มีจิตสาธารณะครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาทักทาย ดีจังค่ะคุณครุพรชัย เป็นกำลังใจให้นะคะลูกศิษย์เราจะได้เป็นคนดีค่ะ

ผมมีเงินไม่มากนัก จะให้ทุนการศึกษาน้องๆก็คงจะเกินตัว แต่รู้ถึงคุณค่าของการเรียน สัปดาห์ที่แล้วผมเลยสมัครสมาชิกหนังสือไว้ 1 ฉบับ และส่งไปให้ห้องสมุดของโรงเรียนเก่าที่เคยเรียนมา ได้อ่านข้อความของคุณครูแล้ว อยากบอกครูว่าผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามสอนลูกๆให้ช่วยเหลือคนอื่น และมักจะขัดแย้งกับแม่บ้านเสมอหรือบางครั้งผมก็ตอบลูกๆไม่ได้ว่าทำเพื่ออะไร ได้แต่บอกลูกๆว่า เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งและจะส่งผลให้เราในอนาคตครับ

ดีจังค่ะ การฝึกให้เด็ก ๆได้ช่วยเหลือผู้อื่น ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และใช้เวลายาวนาน การแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก และทำให้เราและครอบครัวเดือดร้อน เพราะว่า ปัจจุบันหลายคนมังแต่ยุ่ง ๆเรื่องของตนเอง จนลืมให้ความสำคัญกับคนอื่น เท่าที่คุณลุงแต่งทำ ก็สุขใจ ไปแล้วค่ะ ตอนนี้อ.หนิงกำลังฝึกเด็กโตอยู่ค่ะ ยากมาก แต่ก็ต้องสอดแทรก วันนี้ก็ถามนักศึกษาว่า วันนี้ใครทำความดีอะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่มี แล้วเมื่อวานล่ะ คำตอบคือไม่มี ....และหลาย ๆ คนตอบว่า ไม่เคยทำความดี ..เลยสรุปว่านักศึกษายังไม่รู้ว่าความดีคืออะไร ... แต่ครูเชื่อใจว่าทุกคนต้องเคยทำแน่ ๆ แต่นึกไม่ออก ใช่มั้ย....ของคุณคุณลุงนะคะที่ร่วมแสดงความคิดเห็น นับเป็นโชคดีของคุณลูกที่มีคุณพ่อใส่ใจในเรื่องนี้ค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์หนิง

  • เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะมืดมนเมื่อมองหาคำตอบสำหรับโจทย์ "เราจะทำอย่างไรกันต่อไป...ดีกับจิตวิญญาณของครูไทยในอนาตค ....."
  • ที่ว่าดูเหมือนจะมืดมน ผมมองไปที่ข้อจำกัดปัจจัยในการสร้างครูไทยที่เอื้อต่อการสร้างจิตวิญญาณของครู ดังนี้
  • หนึ่ง คือสังคม : สังคมไทยไม่ใช่สังคมอุดมการณ์  เรื่องจิตวิญญาณของความเป็นครูเป็นเรื่องของอุดมการณ์ เป็นเรื่องของคุณค่า เป็นเรื่องของคุณธรรม แต่เป็นสังคมที่เน้นการปฏิบัติ หรืออาจเรียกว่าเป็นนักปฏิบัตินิยม ลองสังเกตดูก็ได้ ให้ลองยกเรื่องในเชิงอุดมการณ์ขึ้นในวงสนทนาที่กำลังคุยกันสนุกในเรื่องทั่วๆไป  เราจะเห็นว่า เริ่มมีคนมีธุระโน่นนี่ ทะยอยขอตัวออกไปจากวงสนทนา
           ...และในปัจจุบันที่สังคมไทยถูกครอบงำด้วยค่านิยมแบบทุนนิยมบริโภคด้วยแล้ว อุดมการณ์จึงแทบจะหาร่องรอยไม่เจอในสังคมบ้านเรา
           ...เมื่อสังคมไม่เอื้ออำนวย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะสร้างคน หรือ ครูที่มีอุดมการณ์ขึ้นมา 
  • สอง คือ สถานฝึกหัดครู : ในเมืองไทยมีศึกษาศาสตร์ หรือ ครุศาสตร์ที่ไหนบ้างที่มีอุดมการณ์ หรือจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่ชัดเจน มีการประกาศออกมาว่า ศึกษาศาสตร์นี้ ครุศาสตร์นั้น มีปรัชญาหรืออุดมการณ์ในการผลิตครูอย่างนั้นอย่างนี้ 
             ...อย่าง
             ...ศานตินิเกตัน หรือ วิศวะภารตี ของ ท่านรพินทรนาถ ฐากูร นักคิด นักเขียน รางวัลโนเบล เป็นต้น
             ...ในเมืองไทย วิทยาลัยวิชาการศึกษาในช่วงที่ ดร.สาโรช บัวศรี ท่านเป็นอธิการบดีอยู่ก็พยายามประกาศตัวว่าจะสร้างครูที่มีความรู้ดุจนักปราชญ์ และมีคุณธรรมดุจผู้ทรงศีล เป็นต้น
             ...สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งหล่อหลอมคน  สถาบันจึงต้องมีรูปร่าง หน้าตา ท่าทาง ที่ชัดเจนและเข้มแข็ง ถ้าสถาบันฝึกหัดครูไม่สามารถกำหนดตนเองได้ว่าเป็นอะไร ผลผลิตที่ออกมาก็ยากที่บอกได้ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร
  • สาม คือ ครูของครู : หมายถึงผู้บริหาร และครูบาอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารและผู้สอน อยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ในบ้านเรา ในบรรดาคนเหล่านี้ มีใครที่ไหนที่เป็นนักปราชญ์ นักปรัชญา หรือมีความเป็นศิลปิน ในตัวบ้าง
            ...กล่าวได้ว่า หาทำยายากจริง ๆ คนที่จะสร้างคนให้เป็นคนที่มีอุดมการณ์ ก็จะต้องเป็นคนที่มีอุดมการณ์ก่อน  ไม่เช่นนั้นจะนำลูกศิษย์ได้อย่างไร
            ...ครูบาอาจารย์ในสถานครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่เรามีอยู่ มีคนที่พูดเรื่องอุดมการณ์ได้มีมาก แต่หาคนที่ปฏิบัตนอย่างมีอุดมการณ์มีน้อยเต็มที(แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง)
            ...เมื่อสถานการณ์มันเป็นอย่างนี้ การศึกษาในสถานฝึกหัดครูทั้งหลายจึงเป็นไปในลักษณะแม่ปูสอนลูกปู นั่นเอง
  • สี่ คือ นักศึกษาครู : คนมาเรียนครูในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นคนจิตอ่อนล้า ปัญญานิ่ม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะสร้างให้เป็นคนมีอุดมการณ์ได้ยาก  ในยุคแรก ๆที่เรามีการฝึกหัดคนไปเป็นครู เรามีคนที่มีจิตแกร่งกล้า ปัญญาดีเข้ามามากกว่า ในสมัยนั้นจึงปรากฏว่ามีครูที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูที่ควรบูชา หรือเรียกว่าเป็นครูที่มีอุดมการณ์ให้เห็น
             ...ในปัจจุบันเราได้คนที่อ่อนเปลี้ยทั้งสองด้านมาเรียนครู จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากที่เราจะสร้างคนเหล่านี้ให้เป็นครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
             ...คำตอบที่พวกเขาตอบโจทย์ของอาจารย์ มันสะท้อนความอ่อนเปลี้ยของเขาที่ชัดเจน
  • พูดอย่างนี้ไม่ใช่ให้งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร  ถ้าเราเห็นว่า"จิตวิญญาณของความเป็นครู"เป็นสิ่งสำคัญ  เราจะต้องไม่ทำอย่างที่ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในปัจจุบันทำกันอยู่
            ...เราต้องคัดเลือกคนมาเรียนครูอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช่ให้ได้คนมาเรียนก่อน เอาให้มาก ๆไว้ก่อน คุณภาพเป็นอย่างไร ช่างหัวมัน เพื่อจะได้มีงบประมาณมายาใส้ผู้บริหารและผู้สอนมาก ๆ
            ...เราจะต้องได้คนที่มีทั้งจิตที่แกร่งกล้า ปัญญาที่ดี ๆ มาเรียน
            ...สถานฝึกหัดครูจะต้องยกระดับตนเองให้มีจิตวิญญาณที่แกร่งกล้าและท้าทาย แต่ละแห่งควรมีปรัชญาในการจัดการศึกษาของตนเองที่ชัดเจนและแตกต่าง  สถานฝึกหัดครูในบ้านเราไม่มีความแตกต่าง  แม้แต่ชื่อเรียกสถาบันก็สะท้อนว่าผู้คนในสถาบันนั้น ๆขาดจินตนาการอย่างสุด ๆ สถานฝึกหัดครูจะเป็นเช่นนี้ได้ก็จะต้องหาคนที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาบริหารและมาสอน ดีกรีน่าจะไม่ใช่สิ่งสำคัญในกรณีเช่นนี้
  • อย่างไรก็ตาม ผมชื่นชมในความตั้งใจดีของอาจารย์ แม้มองในภาพกว้างจะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีอย่างน้อยคนคนหนึ่งที่มองเห็นอย่างอาจารย์
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขและสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์
  • สวัสดีครับ

paaoobtong
22/02/53
03:45

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราว

พร้อมกับเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณนะคะ^__^

แสดงว่าผมก็เป็นครูแล้ว HA ๆๆ ดีใจจัง

แวะมาทักทายครับ ว่างๆแวะไปติชม ศรช.บ้านเอื้ออาทรบ้างนะครับ

ครู คือ ผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์..

เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านรักษาจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูไว้..

ดุจดั่งเกลือรักษาความเค็มครับ

ขอบคุณครับ

ผมเข้ามาอ่านช้าไป 3 ปี ที่เข้ามาเพราะชอบแต่งกลอนเหมือนกันครับ แต่ทำงานด้านสื่อ และเกษียณแล้วครับ

ผมชอบวิธีตั้งคำถามของอาจารย์  ที่ให้นศ.ใช้ความคิดเอง  สรุปว่าน่าเป็นห่วงประเทศเรา  เพราะอีกสามปีจะรวมกันเป็น เออีซี.เราอาจจะเสียเปรียบเขา    ในอดีตรัฐให้ความสำคัญด้านการศึกษาน้อยกว่าด้านอื่น  จะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับแรกเมื่อ 50 ปีก่อน  รัฐให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ  โดยมีคำขวัญว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข  ให้เงินเป็นพระเจ้าบันดาลได้ทุกอย่างแม้กระทั่งความสุข  ซึ่งก็ไม่จริงเพราะเห็นคนรวยก็ทุกข์เช่นกัน  ท่าน ศ. นพ.ประเวศ วะสี  ท่านให้ความเห็นว่าการแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบ ตามวงจร โง่ จน เจ็บ  ต้องแก้ที่โง่คือความไม่รู้ก่อน  เพราะไม่รู้จึงทำให้ยากจน เมื่อยากจนก็ทำให้เจ็บป่วย  ให้เพิ่มงบเท่าไรก็ไม่พอถ้าไม่แก้ที่โง่ก่อน  เหมือนสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น เขาก็สร้างคนก่อน  เพราะคนคือทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล  การสร้างคนที่มีคุณภาพก็ต้องสร้างครู  เพราะครูคือผู้สร้าง  ทั้งสร้างพ่อสร้างแม่ สร้างหมอ สร้างตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา วิศวกรและแม้แต่สร้างพระเณร  ผมเคยแต่งกลอนเกี่ยวกับเรืองครูไว้เมื่อปี 2553  ดังนี้ครับ

                      สร้างครูเพื่อสร้างคน

เหตุสังคมเสื่อมทรามในยามนี้         ต้นเหตุที่คนนั้นมีปัญหา

ต้องสร้างคนเก่งดีมีปัญญา              เพื่อกลับมาก่อร่างสร้างสังคม

ปรับระระบบการศึกษาตำราเปลี่ยน   ในโรงเรียนเริ่มแต่ขั้นชั้นประถม

ต้องสร้างสื่อสร้างสรรค์ขั้นอุดม        สร้างสังคมเป็นตัวอย่างต้องสร้างครู

ครูต้องเก่งและดีมีธรรมะ                 เสียสละเพียรหมั่นขยันสู้

ทุกคำสอนแนะนำทำให้ดู               ต้องสร้างครูเป็นตัวอย่างก่อนสร้างคน

ดีกว่าสร้างคุกศาลงานปลายเหตุ      สร้างประเทศสร้างไทยให้ได้ผล

ต้องสร้างครูสอนได้หายเจ็บจน        แก้ที่ต้นเหตุได้ไทยรุ่งเรือง

                         สมเจตน์  เมฆพายัพ

                        ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓                 

ขออภัย ความเห็นยาวไปหน่อยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท