ค่ายเรียนรู้ วัฒนธรรมชุมชน วิถีธรรมชาติ และเศรษฐกิจพอเพียง


ค่ายเรียนรู้ วัฒนธรรมชุมชน วิถีธรรมชาติ และเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ ๒๓ – ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ชมรมนักอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนักศึกษาหลักสูตร วท.บ. (สาธารณสุขศาสตร์) สาขาวิชาอนามัยชุมชน ชั้นปีที่ ๓ และ ๔ อาจารย์และศิษย์เก่า รวมกว่า ๗๐ คน ได้ร่วมเข้าค่าย “สานฝันภูเขียว รวมเคียวเกี่ยวข้าว สืบทอดเรื่องราว กับชาวอนามัยชุมชน” ณ ชุมชนบ้านเพชร ต.บ้านเพชร อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งตลอดเวลา ๒ คืน ๓ วัน มีกิจกรรมดีๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน วิถีธรรมชาติ และวิถีความพอเพียง ที่น่าสนใจดังนี้

เช้าวันแรกหลังเดินทางถึงบ้านเพชร นักศึกษาได้แยกย้ายกันเก็บข้าวของที่ “บ้านพ่อ บ้านแม่” ที่ยินดีให้นักศึกษาบางส่วนนอนค้างคืนด้วยในขณะที่มาค่าย หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมเดินศึกษาวิถีชุมชนของชาวบ้านเพชร ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น น้ำใจที่หาได้ยากจากคนเมืองใหญ่ มีให้เห็นในทุกบ้านของที่นี่ หลายบ้านยังคงมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ปลูกผักข้างบ้าน เลี้ยงวัว ควายไว้ใต้ถุน แต่ก็มีไม่น้อยที่เริ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ เข้ามาจากการรับวัฒนธรรมของคนเมือง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

ตกบ่าย นักศึกษาได้ร่วมทำกิจกรรมป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วยการร่วมกันทำหน้ากากอนามัยใช้เอง โดยมีน้องๆ นักเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแม่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรม นับเป็นการนำความรู้ทางด้านสาธารณสุขลงสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง ก่อนที่นักศึกษาจะจบไปทำงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ตกเย็น ขาดไม่ได้กับกีฬาสามัคคีระหว่างๆ น้องๆ นักศึกษากับชุมชน ทั้งทีมแม่บ้าน พ่อบ้าน และวันรุ่น ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เป็นกันเอง และน้ำใจที่เป็นนักกีฬา โดยไม่มีการพนันขันต่อและการแข่งขันเพื่อการเป็นผู้ชนะเข้ามาเกี่ยวข้อง

เช้าวันรุ่งขึ้น เป็นโอกาสที่หายากมากที่นักศึกษาและชาวค่าย ได้ร่วมกิจกรรม ณ สวนกสิกรรมธรรมชาติคงไพร ที่มี 3 หนุ่มผู้มีดีกรีไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีเป็นผู้บุกเบิก นณงค์ฤทธิ์  สางห้วยไพร บัณฑิตสาธารณสุขศาสตร์ จากมหิดล พ่วงด้วยปริญญานิติศาสตร์ รามคำแหง อภิชาติ  สางห้วยไพร ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น กับประกาศนียบัตรด้านบริหารและประสบการณ์ในออสเตรเลียกว่า 5 ปี และ เริงฤทธิ์  คงเมือง บัณฑิตเกษตรศาสตร์ จาก ม.ขอนแก่น และช่างภาพและนักเขียนของนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ที่ร่วมมือกันหันหลังให้กับการทำงานในระบบ สู่วิถีการทำเกษตรธรรมชาติ และใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แบ่งปันคนรอบข้าง และสร้างการตลาดที่เป็นธรรม ได้เชิญวิยากรที่มากด้วยประสบการณ์และความรู้มานั่งลานเสวนา “วิถีทุนนิยม วิถีพอเพียง วิถีสุข” ประกอบด้วย พระอาจารย์บำรุง  ศิริปัญโญ พระนักพัฒนาที่เห็นว่า “พุทธศาสตร์เป็นเศรษฐศาสตร์ของโลก”  รศ.ดร.ชนินทร์  เจริญกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนว่าสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง พี่ประยงค์  อัฒจักร ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง ผู้นำความรู้ด้านการเกษตรมาฟื้นธรรมชาติและไม่ตกเป็นทาสของเกษตรสมัยใหม่ พ่อเล็ก  กุดวงศ์แก้ว จากเครือค่ายศูนย์อินแปง จ.สกลนคร ปราชญ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคงและสมบูรณ์ของเทือกเขาภูพานไม่มีวันล้มตามสภาพเศรษฐกิจโลก พ่ออุดมศักดิ์  วังกานนท์ จากสวนวังน้ำหนาว อ.ภูเขียว เกษตรกรที่สร้างรายได้จากธรรมชาติและต้นไม้ และเกษตรอำเภอ ตัวแทนภาครัฐที่นำนโยบายมาสู่ชุมชน โดยตลอด 3 ชั่วโมงของการเสวนา ทำให้ชาวค่ายได้เปิด “กบาลทัศน์” ใหม่ ตามคำที่พ่อเล็ก ได้กล่าวในการเสวนา คือ เห็นมุมมองของการพัฒนาอีกด้านที่สามารถจะสร้างสุขได้ด้วยการใช้ชีวิตที่พอเพียง ในโลกของทุนนิยม แล้วจะนำรายละเอียดมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

ตกบ่ายวันที่สอง เป็นฐานการเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำเครื่องใช้ในบ้าน เช่น สบู่ แชมพู ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและไม่สิ้นเปลือง และการเลี้ยงปลา จากวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์ที่ทำจริงมากับมือ

เย็นๆ ในบรรยากาศกลางสวนกับกิจกรรมรอบกองไฟ มีเสียงของสัตว์ธรรมชาติตามท้องทุ่งที่ร้องประสานกับบทเพลงเพื่อชีวิตของพี่ๆ สลับกับการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เป็นค่ำคืนที่นักศึกษา คงมีโอกาสได้สัมผัสไม่ง่ายนักในเมืองใหญ่

เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเดินทางกลับสู่ป่าคอนกรีต นักศึกษา ได้มีโอกาสพัฒนาและทำความสะอาดภายในบริเวณวัด ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เป็นที่หลับนอนในระหว่างการออกค่าย และร่วมกันทอดผ้าป่าถวายวัด และก่อนเดินทางกลับชาวบ้านเพชร ยังคงมอบความอบอุ่นให้กับนักศึกษา ด้วยการบายศรีสู่ขวัญให้ ซึ่งเป็นประเพณีที่เป็นมงคลให้แก่นักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าร่วมค่าย อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการออกค่ายเท่านั้น แต่เป็นห้องเรียนในชุมชน ที่นักศึกษาและผู้ร่วมค่ายทุกคนได้สัมผัส ได้เรียนรู้ และได้คิดอะไรต่ออีกเยอะ ในการก้าวเข้าสู่โลกกว้างของว่าที่บัณฑิต ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี อย่างกระทรวงวัฒนธรรม โดยรัฐมนตรี ธีระ  สลักเพชร ที่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมชุมชน จึงให้การสนับสนุนจนเกิดค่ายครั้งนี้ขึ้น รวมทั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียน และที่สำคัญวิทยากรและคนชุมชนบ้านเพชรทุกท่าน ที่ไม่เพียงให้น้ำใจและการต้อนรับที่อบอุ่นเท่านั้น หากแต่ยังเป็น “ครู” ที่ทำให้นักศึกษา ได้เรียนรู้ในทุกขณะที่อยู่ ณ บ้านเพชร และหวังว่านี่จะเป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตในอนาคตอันใกล้นี้ได้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของวิถีชุมชน วิถีพอเพียง และวิถีธรรมชาติ ที่จะนำมาสู่การทำงานที่นำชุมชนมาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ต่อไป

ชมรมนักอนามัยชุมชน

สถานฝึกอบรมและวิจัยอนามัยชนบท

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 310758เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นโครงการที่ดีครับ สนุบสนุน

นับเป็นผู้โชคดีคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการดีๆ แบบนี้ ...เต็มเปี่ยมกับความรู้ที่ได้รับจากคณะวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์และ "ติดดิน"...เต็มอิ่มกับธรรมชาติรอบตัว.....ตื้นตันกับไมตรีจิตรและการต้อนรับจากญาติมิตรและพี่น้อง...และเปี่ยมสุขเมื่อเห็นเหล่าพี่น้องนักอนามัยชุมชนได้เปิดใจเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่......

  • สวัสดีคะแวะมาเยี่ยม สบายดีนะคะ
  • อบอุ่นมากนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท