สรุปสาระสำคัญของการอบรมทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต “กระบวนทัศน์และคุณลักษณะข้าราชการยุคใหม่”


เป็นการพัฒนากระบวนทัศน์ในการทำงานของข้าราชการ ให้สามารถนำคุณลักษณะไปใช้ในการกระตุ้นพฤติกรรมการทำงานภาครัฐเกี่ยวกับทักษะในการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยความถูกต้องและใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ปฏิบัติงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ซื่อสัตย์ สุจริต ทำงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน ปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจตามการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และมีจิตใจให้บริการประชาชนอย่างเป็นธรรม

สรุปสาระสำคัญของการอบรมทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต
กระบวนทัศน์และคุณลักษณะข้าราชการยุคใหม่
จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

ด้วยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้จัดทำโครงการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐบนอินเทอร์เน็ต (HRD: e-Learning) การอบรมออนไลน์ด้าน กระบวนทัศน์และคุณลักษณะข้าราชการยุคใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนทัศน์ในการทำงานของข้าราชการ ให้สามารถนำคุณลักษณะไปใช้ในการกระตุ้นพฤติกรรมการทำงานภาครัฐเกี่ยวกับทักษะในการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยความถูกต้องและใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ปฏิบัติงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ซื่อสัตย์ สุจริต ทำงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน ปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจตามการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และมีจิตใจให้บริการประชาชนอย่างเป็นธรรม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 ได้แจ้งให้ข้าราชการสมัครเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการได้ศึกษา เรียนรู้ ด้วยการอบรมทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ข้าพเจ้าจึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 โดยมี User ID cosc132505 และสมัครการอบรมทั้งสิ้น 8 หลักสูตร ได้แก่
1.    ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา
2.    การสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน
3.    ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานภาครัฐ
4.    การมุ่งอนาคตและการควบคุมตน
5.    ความเชื่อมั่นในตนเอง
6.    ความฉลาดทางอารมณ์
7.    การพัฒนาจริยธรรมผู้ใต้บังคับบัญชา
8.    ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
ได้เริ่มเข้ารับการอบรมหลังจากได้รับอนุมัติการสมัครเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548
หลักสูตรการอบรมแต่ละหลักสูตรมีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองให้เป็นข้าราชการที่ดีและเป็นที่พึงประสงค์ของประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน การบริการประชาชนและพัฒนาประเทศต่อไป จากการอบรมแต่ละหลักสูตรนั้นพอจะสรุปสาระสำคัญของหลักสูตรต่าง ๆ ได้ดังนี้
          

           หลักสูตร ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา
วัตถุประสงค์ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง)
1.      เข้าใจความหมายของปัญหาจริยธรรม และความสำคัญของทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาเชิงจริยธรรม
2.      ทราบหลักการที่ควรใช้ในการตัดสินใจ คือการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
3.   วิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกตัดสินใจ เมื่อเผชิญปัญหาขณะปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
4.      ยกระดับความสามารถในการตัดสินใจและใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมให้สูงขึ้น
ความหมายของปัญหาทางจริยธรรม
ปัญหาทางจริยธรรม หมายถึง ปัญหาที่มีเรื่องค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง และเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างค่านิยมหรือคุณธรรมตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป ทำให้เกิดการยากในการตัดสินใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความลำบากใจในการเลือกตัดสินใจว่าจะใช้คุณธรรม ค่านิยมข้อใดมากกว่ากัน เช่น การช่วยเหลือญาติในการสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการ หรือพนักงาน เป็นต้น
ความสำคัญของทักษะการตัดสินใจ
การตัดสินใจแก้ปัญหาเชิงจริยธรรม ต้องคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ และใช้เหตุผลที่ดีว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้นควรคำนึงว่าผลจากการตัดสินใจเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตนหรือไม่ เพื่อให้นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีเสมอ ๆ
หลักการตัดสินใจ
1.   คิดถึงใจเขาใจเรา เห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน หรือคำนึงถึงความคิดความพอใจของกันและกัน เป็นหลักการตัดสินใจเมื่อเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างตัวเราและบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใกล้ชิด
2.   ยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ มาตรฐานของสังคม เป็นหลักการตัดสินใจเมื่อเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างตัวเราหรือบุคคลใกล้ชิดกับสถาบันส่วนรวมของสังคม
3.   ยึดหลักการ อุดมคติสากล และเหตุผลของตนเองโดยมุ่งประโยชน์และความสงบสุขของสังคมส่วนรวม เป็นหลักการตัดสินใจเมื่อเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานของสังคมกับอุดมคติอันสูงส่งหรือประโยชน์ของมวลมนุษย์

          หลักสูตร ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานภาครัฐ
วัตถุประสงค์ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง)
1.      ประเมินคุณค่าการทำงานราชการภาครัฐในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม
2.      สร้างความรู้ความพอใจในการทำงานภาครัฐอย่างเต็มความสามารถ
3.      พัฒนาความพร้อมที่จะกระทำพฤติกรรมในการปฏิบัติงานภาครัฐที่สอดคล้องกับสถานการณ์บริหารภาครัฐแนวใหม่
ความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนการบริหารภาครัฐแนวใหม่
ข้าราชการเป็นกลุ่มอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศชาติ ความเจริญรุ่งเรือง และบริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่มารับบริการได้รับความพึงพอใจ ความสะดวก สบายในการติดต่องานราชการ อีกทั้งสำเร็จตามความมุ่งหมายของประชาชน ดังนั้นอาชีพข้าราชการจึงเป็นอาชีพที่สามารถทำคุณประโยชน์และคุณค่าต่อสังคมโดยรวม ข้าราชการจึงควรได้รับการพัฒนาตนเองและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับยุคสมัย
ความจำเป็นในการปฏิรูปและพัฒนาระบบราชการไทย คือ
1.      การขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน
2.      ความด้อยคุณภาพในการบริการประชาชน
3.      การฉ้อราษฎร์บังหลวง
4.      ขีดความสามารถของระบบราชการหรือความล้าสมัยของภาคราชการ
5.      อำนาจและบทบาทของภาคราชการมีมากเกินความจำเป็น

ปัจจัยในการปฏิรูปภาครัฐให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่
1.      ปฏิรูปภาคราชการในระดับรัฐ
2.      ปฏิรูปหรือพัฒนาระดับตัวข้าราชการ
3.      ปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปทัศนคติของข้าราชการ
คุณค่าของงานราชการและทัศนคติในการทำงานภาครัฐ
พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของข้าราชการ
1.      ล่าช้าไม่ยืดหยุ่น
2.      ทุจริตรับสินบน
3.      ใช้อำนาจ
4.      ทำงานไม่มีเป้าหมาย
5.      ทำงานตามระเบียบมากกว่าส่วนรวม
6.      ปูนบำเหน็จ
7.      7 นิสัยที่ควรขจัด ได้แก่ ทำงานเอาหน้า หวาดผวา ยินดีต่ออามิส เสเพล เกกับลูกน้อง เล่นพวกพ้อง เบ่งทับราษฎร
ทัศนคติที่ไม่พึงปรารถนา
ข้าราชการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากมีทัศนคติที่ไม่ดีต่องานและผู้รับบริการ 4 ประการ ได้แก่
1.   ทัศนคติทางสังคม คือ เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับประชาชนด้วยการเบียดเบียน ไม่เป็นธรรม กดขี่ข่มเหงประชาชน
2.   ทัศนคติทางเศรษฐกิจ คือ เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการใช้จ่ายด้วยการไม่ประหยัด ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย จึงทำให้เกิดการหาเงินในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร
3.   ทัศนคติทางการศึกษา คือ เกิดพฤติกรรมที่ไม่สนใจใฝ่รู้ ไม่พัฒนาตนเอง ไม่เห็นความจำเป็นในการเรียนรู้ จึงทำให้เป็นคนไม่ทันโลก ไม่ทันเหตุการณ์
4.   ทัศนคติทางการบริหาร คือ เกิดพฤติกรรมไม่พึงพอใจต่องานที่รับผิดชอบ จึงทำให้ขาดความสนใจและไม่ตั้งใจในการทำงาน เป็นผลให้ทำงานไม่บรรลุเป้าหมายทำงานไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง
ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและผู้รับบริการจึงมีความสำคัญต่อการทำงานภาครัฐของข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นความสำคัญในระดับชาติด้วย
ส่วนราชการต้องดี มีการปรับกระบวนการทำงาน ปรับวัฒนธรรมองค์กร ให้บริการมากขึ้น
·      วิธีการปรับความคิด ทัศนคติและการทำงานของข้าราชการ ทัศนคติต่อตนเอง
·      การปรับวิธีการทำงาน ตามวิธีของนักบริหารยุคใหม่
·      การบริหารคน
วิธีการปรับความคิด ทัศนคติและการทำงานของข้าราชการ
นภดล เฮงเจริญ กล่าวว่า วิธีการปรับความคิด ทัศนคติและการทำงานของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องปรับที่ตัวข้าราชการโดยการปรับเปลี่ยนความคิด คือ ต้องคิดให้กว้าง คิดเป็นระบบ และคิดทั่วด้าน
ปรับทัศนคติต่อตนเอง โดยตัวเราเองต้องไม่เอาแต่ได้ รู้จักให้ ไม่อิจฉาริษยา ไม่เอารัดเอาเปรียบ คิดถึงคนอื่น เอื้ออาทร ไม่ใช้อำนาจ
การปรับวิธีการทำงานตามวิธีของนักบริหารยุคใหม่
1.      ทัน  ข้าราชการต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ นโยบายองค์กร คนทำงาน ผู้รับผิดชอบ และสิ่งแวดล้อม
2.      รุก  ข้าราชการต้องทำงานเชิงรุก ทำงานเร็ว ทำงานล่วงหน้า ทำงานคู่ขนาน
3.      เร็ว  ทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ และสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ
4.      เที่ยงตรง  ทำงานให้ได้ผลงานตามมาตรฐาน มีคุณภาพ สั่งสมวิทยาการใหม่ ศึกษางาน ปรับแนวทางปฏิบัติงาน
การบริหารคน
ข้าราชการยุคใหม่ต้องมีทักษะในการบริหารคน ซึ่งต้องบริหารทั้งผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน และประชาชน
ประเภทของผู้ใต้บังคับบัญชา
1.       มีความพร้อมและเต็มใจ
2.       มีความพร้อมแต่ไม่ค่อยเต็มใจ
3.       ไม่มีความพร้อมแต่เต็มใจ
4.       ไม่มีความพร้อมและไม่เต็มใจ
การบริหารเพื่อนร่วมงานนั้นต้องอาศัยความยืดหยุ่น
การบริหารกับประชาชน ต้องอาศัยการสื่อสาร 2 ทาง และเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิมีหน้าที่ที่จะได้รับบริการที่ดี การทำงานของภาครัฐจึงต้องทำงานเพื่อความสุขของประชาชน
ระบบราชการที่ดีต้องเป็นการทำงานที่ให้เกิดผลงานที่ดี สำเร็จผลตามเป้าหมาย โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการทำงาน
การทำงานที่ดี ข้าราชการต้องมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ยอมรับการเปลี่ยนแปลง รู้จักอดทน อดกลั้น มองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง และรู้จักให้อภัย
ทัศนคติในการทำงานภาครัฐ
1.       เน้นลูกค้า คือ ความสุขของประชาชน
2.       เน้นที่ตัวผลงาน คือ ผลสำเร็จของงาน
3.       เน้นจิตสำนึก คือ ความรับผิดชอบ
4.       เน้นความคุ้มค่า คือ ผลลัพธ์ของงาน คำนึงถึงทุนและผลที่จะได้รับ
การทำงานภาครัฐในบริบทใหม่
ยึดระเบียบการบริหารราชการตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 หมวดที่ 1 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยต้องคำนึงถึง
1.      ประเมินผลการปฏิบัติราชการสม่ำเสมอ
2.      เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
3.      ประชาชนได้รับความสะดวก ตอบสนองความต้องการ
4.      ผลสัมฤทธิ์ต่อกิจการของรัฐ
5.      มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงกิจการของรัฐ
6.      ปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อเหตุการณ์
7.      ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
ปัจจัยภายในตัวข้าราชการเพื่อสนับสนุนการทำงานภาครัฐอย่างเต็มความสามารถ คือ
1.       การปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิด (Positive attitude)
2.       การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ได้แก่
·       ให้รับรู้ปัญหาและข้อเท็จจริง
·       พยายามค้นสาเหตุและวิธีแก้ไข
·       กำหนดเป้าหมายและวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
หลักการพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ.2545-2550
1.       การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น
2.       การทำงานในบริบทใหม่
·       เจ้าหน้าที่ คือ ผู้รู้เรื่องงานของตนดีที่สุด
·       อิสระทางความคิด และตัดสินใจ เพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผล

 

                หลักสูตร ความฉลาดทางอารมณ์
วัตถุประสงค์ (ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง)
1.       ตระหนักถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์
2.       ตระหนักรู้อารมณ์และควบคุมตนเองได้
3.       จัดการกับอารมณ์และควบคุมตนเองได้
4.       จูงใจตนเองและใช้อารมณ์ให้เกิดประโยชน์
5.       เข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกผู้อื่น
6.       มีทักษะทางสังคม
7.       ใช้ความฉลาดทางอารมณ์ในบริบทต่าง ๆ ของสังคมได้
ความคาดหวังในตัวข้าราชการยุคใหม่
คุณลักษณะของข้าราชการยุคใหม่
1.       การกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
2.       มีความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ
3.       ทำงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
4.       การไม่เลือกปฏิบัติ
5.       มุ่งผลสัมฤทธิ์แห่งงาน
การทำงานของข้าราชการยุคใหม่ ต้องคำนึงถึง เน้นประชาชน ประชาชนได้รับความพึงพอใจ เพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ทำงานเป็นทีม และมุ่งผลลัพธ์ของงาน และการที่ข้าราชการจะทำงานได้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นนั้น ข้าราชการต้องวิเคราะห์ตนเองอย่างสม่ำเสมอ
การแสดงออกทางอารมณ์ของคนเราจะมีความสัมพันธ์กันกับการแสดงออกทางพฤติกรรม จึงสามารถรับรู้อารมณ์ของคนอื่นได้ด้วยการสังเกตจากพฤติกรรม การแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง แววตา และน้ำเสียง
สมองซีกขวาจะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอารมณ์และความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ และทำงานควบคู่กับการทำงานของสมองซีกซ้าย
ความหมายและความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) หมายถึง ความสามารถที่จะต้องจัดการเกี่ยวกับตนเอง และความสามารถที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น

องค์ประกอบความฉลาดทางอารมณ์
1.       องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ประกอบด้วย
·       การตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง
·       การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
·       การจูงใจตน
2.       องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ประกอบด้วย
·       การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
·       การมีทักษะทางสังคม
แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สามารถแบ่งออกได้ 2 แนวทาง คือ
1.       แนวตะวันตก ประกอบด้วย
·    การตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง เป็นความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง สามารถขอกได้ว่าตนเป็นคนมีอารมณ์แบบใด ตระหนักรู้ถึงข้อดีข้อบกพร่อง และสามารถทำความเข้าใจกับลักษณะอารมณ์ของตนเองในบริบทต่าง ๆ ได้
·    การจัดการกับอารมณ์ตนเอง เป็นความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ สามารถควบคุมตนเองได้ และสามารถหาวิธีแก้ไขอารมณ์กลับคืนสู่สภาพปกติได้
·    การผ่อนคลายความเครียด เป็นการฝึกการหายใจที่ถูกต้อง สูดลมหายใจให้เต็มปอด และกลั้นเอาไว้เล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกเป็น 4 จังหวะ
·    การจูงใจตนเอง เป็นความสามารถในการสร้างอารมณ์ เพื่อจูงใจตนเอง ให้มีพลังในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เป็นพลังในการให้กำลังใจตนเองในการคิดและทำอย่างสร้างสรรค์ โดยการ คิดถึงความสำเร็จ ความสุขของชีวิตที่จะเกิดขึ้น คิดถึงครอบครัว คิดถึงประชาชน คิดถึงสิ่งที่เราให้ความช่วยเหลือ ชื่นชมในความเสียสละและความรับผิดชอบของเรา
·           การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น โดยการสังเกต สนใจ และใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น และน้ำเสียง การใช้ถ้อยคำ ความดัง
·     การมีทักษะทางสังคม เป็นความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี โดยใช้การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
2.   แนวพุทธ แนวทางพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามวิถีแนวพุทธนั้นเน้นการใช้ปัญญาในการควบคุมความคิด ความรู้สึกของตนเองให้มีพฤติกรรมและการแสดงออกในที่ถูกที่ควร โดยคำนึงถึงให้ตนเองมีความสุข สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และทำงานได้ประสบความสำเร็จ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์แนวพุทธเรียกว่า การพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ มีวิธีดังนี้
·    การพัฒนาอารมณ์ฝ่ายกุศล คือ เป็นการพัฒนาตนเองไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภ ฝึกสติในการควบคุมตนเอง
·    การควบคุมอารมณ์ฝ่ายอกุศล คือ เป็นการควบคุมอารมณ์ที่ไม่ดี ที่จะทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานและการพัฒนาตนเอง ได้แก่ ความอิจฉา ริษยา อาฆาต พยาบาท
การพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์นั้นต้องอาศัยพลังฝ่ายกลาง (ปัญญา) ควบคุมความรู้สึก ความเพียร การคิด และเจตนา วิธีการพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์สามารถทำได้โดยการฝึกอาณาปานสติเบื้องต้น เป็นการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก มี 4 แบบ ได้แก่
1.       ลมหายใจยาว-แรง
2.       ลมหายใจยาว-ลึก
3.       ลมหายใจยาว-ช้า
4.       ลมหายใจยาว-ธรรมชาติ
การใช้ความฉลาดทางอารมณ์ของตนในบริบทต่าง ๆ ของสังคม
การใช้ความฉลาดทางอารมณ์นั้นสามารถใช้แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์แนวตะวันตกหรือแนวพุทธก็ได้ โดยเลือกเอาแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง มาควบคุมพฤติกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ ควบคุมความคิดและอารมณ์ด้วยการตรวจสอบ ติดตามผล ปรับปรุง พัฒนาตนเอง
การประเมินความฉลาดทางอารมณ์
เป็นการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองโดยประเมินจากโครงสร้างความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
1.      ด้านดี ประกอบด้วย การควบคุมตนเอง การเห็นใจผู้อื่น และความรับผิดชอบ
2.      ด้านเก่ง ประกอบด้วย การมีแรงจูงใจ การตัดสินใจและแก้ปัญหา และความสัมพันธภาพ
3.      ด้านสุข ประกอบด้วย ความภูมิใจตนเอง ความพอใจในชีวิต และความสุขสงบทางใจ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31016เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ดีมากครับ

ได้ความรู้ดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท