แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ IT ในงานสุขภาวะชุมชน (๔)


เห็นแนวโน้มการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

ตอนที่
วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๒
เริ่มกิจกรรมตอนเช้าเมื่อเกือบ ๐๙ น. ตัวแทนแต่ละกลุ่มย่อยมานำเสนอว่าในกลุ่มของตนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอะไรกันบ้าง เริ่มจากกลุ่มการจัดเก็บข้อมูลและบันทึก เนื้อหาการนำเสนอเป็นการบอกขั้นตอนการทำงานเกือบทั้งหมด มีเกร็ดความรู้มาบ้าง เช่น ในการสร้างแบบสอบถาม มีการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างเพิ่ม การเก็บข้อมูลต้องมีเทคนิค บางเรื่องหากถามตรงๆ คนจะไม่ค่อยให้ข้อมูล ต้องอาศัยการพูดคุย เช่น แทนที่จะถามเรื่องรายได้ ถ้าเขาปลูกยาง ก็ถามว่าปลูกยางกี่ไร่ ได้ยางกี่แผ่น การเก็บข้อมูลต้องอาศัยประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะตัว

กลุ่มการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ นำเสนอเรื่องของโปรแกรมขอนหาด ที่มีเทคนิคในการสร้างความเป็นเจ้าของข้อมูล มีการจัดเวทีตั้งวง ตั้งคำถามว่าถ้าอยากรู้เรื่องบ้านของเรา อยากรู้อะไร จะได้คำตอบว่าต้องการข้อมูล แล้วจะทำอย่างไร ใครเป็นคนเก็บ ในการวิเคราะห์ข้อมูลก็มีการจัดเวที เอาข้อมูลมาดูกัน แสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลให้เห็น แสดงปรากฏการณ์แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร มีการอบรมเยาวชนให้รู้วิธีเก็บข้อมูล ให้แกนนำลงไปเก็บเองด้วย แล้วให้เยาวชนเก็บตาม มีการเล่าถึงการใช้คำถาม การสังเกต การบันทึก ฯลฯ

โปรแกรม FAP มีเทคนิคเรื่องการใช้เวทีประชาคม แต่ข้อมูลต้องเพียงพอและสมบูรณ์ก่อน กำหนดวัน และทำหนังสือเชิญร่วมเวที การทำผังเครือญาติให้ออกมาดูดี ต้องเก็บข้อมูลครบ ๓ รุ่น

ส่วนการทำบัญชีครัวเรือน ต้องหาครัวเรือนอาสาทำบัญชีครัวเรือนก่อน ให้ได้ข้อมูลขึ้นมาและเอาไปบันทึกในโปรแกรมของมหาวิทยาลัยมหิดล พริ้นออกมา เอาไปนั่งคุย จะเห็นทางแก้ปัญหาของตนเอง

กลุ่มผู้พัฒนาโปรแกรม ผู้นำเสนอเล่าว่าถ้ามีคนเล่าเรื่องนานเกิน ๒ นาที คนฟังจะไม่ฟังอย่างลึก จะซักถาม กลุ่มนี้มีการคุยกันถึงเทคนิคการเขียนเว็บให้สวย ต้องเขียนเอง เริ่มจากศูนย์ ถ้าเอาที่ทำสำเร็จมาใช้จะแก้ยาก อ่านตำราภาษาอังกฤษจึงจะดี ตัว help ของโปรแกรมเป็นตัวช่วย การประหยัดเวลาในการเขียนทำได้โดยใช้การเชื่อมโปรแกรมที่มีอยู่แล้วและไม่สงวนลิขสิทธิ์ การนำเสนอข้อมูลในเว็บ ถ้าใช้ภาพ กราฟ จะทำให้ชวนติดตาม

 

ผู้ฟังและผู้นำเสนอ

ต่อจากนั้นเราให้อาจารย์พวงรัตน์สรุปความเกี่ยวเนื่องของโปรแกรมต่างๆ เอาตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานของครัวเรือนเป็นตัวตั้ง ทำให้เห็นแนวโน้มการเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ และผู้เข้าประชุมยังได้ให้รายละเอียดของแต่ละโปรแกรมเพิ่มเติม หยุดพัก รับประทานอาหารว่าง

ช่วงสุดท้ายก่อนรับประทานอาหารกลางวัน เป็นช่วงของการ AAR เราให้ทั้งเขียนและพูดกันทุกคน  พร้อมแจกของที่ระลึก ผู้เข้าประชุมบอกว่าอยากให้มีเวทีแบบนี้อีก แต่ให้จัดในสถานที่ที่เป็นกันเอง สบายๆ มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ได้ มีกิจกรรมในเวลากลางคืนได้ (คุณหมีบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ต้องนอนตั้งแต่หัวค่ำ) มีความสุขที่ได้เห็นโปรแกรมที่คนไทยพัฒนาเองและทำสำหรับชุมชน บางคนอยากมีเวลาสำหรับการนำเสนอให้มากขึ้น อยากเห็นรายละเอียดของการใช้โปรแกรมทั้งหมด แม้จะมีความรู้สึกและความเห็นอย่างไร สิ่งที่ทุกคนบอกตรงกันคือจะกลับไปปรับปรุงงานที่ตนทำอยู่

ดิฉันสังเกตว่าคนทำงาน IT สมองไว อาจจะต้องมีวิธีการพิเศษที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องของการฟังอย่างลึกซึ้ง การเล่าเรื่อง ฯลฯ หากมีเวลาและรู้จักเครื่องมือ KM ต่างๆ ให้มากขึ้น เวทีแบบนี้น่าจะได้ขุมความรู้ดีๆ เรื่องเล็กเรื่องน้อยที่ใช้การได้มากมาย

หมายเลขบันทึก: 308992เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอแลกเปลี่ยนเรื่อง IT ด้วยคนครับ

 

ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพในระดับจังหวัดและแนวทางการพัฒนา 

 

 

ภก.ศุภรักษ์ ศุภเอม[1]

 

บทคัดย่อ 

 

ปัจจุบันปัญหาทางด้านสาธารณสุข  มีความซับซ้อนมากขึ้น       ระบบสารสนเทศที่ดี  จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข      องค์กรต่างๆ   ในระบบสาธารณสุขมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กันอย่างแพร่หลาย     แต่อย่างไรก็ตาม  โปรแกรมประยุกต์ต่างๆที่ใช้กับเน้นไปที่กระบวนการ ช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้สะดวกมากขึ้น   และช่วยในการออกรายงานต่างๆ     ในต่างประเทศพบว่า ระบบสารสนเทศที่ดีนั้น  ช่วยให้ ผลลัพธ์การรักษาผู้ป่วยมีแนวโน้มดีขึ้น  อัตราการตายของผู้ป่วยและต้นทุนการรักษาพยาบาลลดลง ดังนั้นระบบสารสนเทศที่ดีนั้น   จำเป็นต้องออกแบบระบบให้สนับสนุนกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยได้แก่ ระบบช่วยในการตัดสินใจทางคลินิก  ระบบป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยา   ระบบติดตามดูแลผู้ป่วย  และระบบการค้นหาปัญหาการบริบาลผู้ป่วย   ระบบผลิตสื่อสุขศึกษาเฉพาะราย  ระบบติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย  และระบบ Case Management  Patient Reminder, Patient Education, Electronic Patient Registry เป็นต้น  ดังนั้น การนำระบบสารสนเทศไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น  จำเป็นต้องออกแบบระบบให้เกื้อหนุนในการบรรลุเป้าหมายองค์กรเป็นหลัก    หรือออกแบบระบบให้ช่วยในการแก้ปัญหาสาธารณสุขสำคัญขององค์กร  นอกจากนี้  ยังต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางด้านสารสนเทศ    การจัดระบบบริหารทั่วไปเพื่อสนับสนุนงานสารสนเทศ     ไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาระบบสารสนเทศด้วย   จึงจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์จากระบบสารสนเทศได้อย่างเต็มที่และยั่งยืน

 

 

คำสำคัญ : ระบบสารสนเทศทางสาธารณสุข    การพัฒนาเครือข่าย เทคโนยีสารสนเทศ

 


[1] ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 086-6317372  e mail: [email protected]

 

บทนำ 

 

            ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์   พัฒนาอย่างรวดเร็ว   อุปกรณ์ และเครื่องมือทางคอมพิวเตอร์มีราคาถูกลง     แต่กลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น   โรงพยาบาล สถานีอนามัย  และองค์กรอื่นๆในงานสาธารณสุข มีภาระงานมากมาย      และเพิ่มขึ้นทุกวัน   ใน ขณะที่กรอบอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่กลับมีอยู่จำกัด     ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ดีสามารถนำมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการทำงานได้    ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศในงานบริหาร  งานบริการ     และงานวิชาการ  ปัจจุบันระบบสารสนเทศในงานด้านสุขภาพ  ได้พัฒนาไปมากเกินกว่าระบบสารสนเทศแบบเดิม  ที่เน้นการทำงานแทนระบบมือ    ซึ่งงานสารสนเทศแบบเดิมจะเน้นช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว   และช่วยลดเวลาการทำรายงานต่างๆลง ในระบบสารสนเทศแนวใหม่     จะต้องผลักดันให้เกิดคุณภาพในการทำงานที่สูงขึ้น    โดยมีวัตถุประสงค์การเพิ่มคุณภาพการบริบาลผู้ป่วย  ซึ่งระบบสารสนเทศแบบนิ้   ได้แก่ ระบบช่วยในการตัดสินใจทางคลินิก  ระบบป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยา   ระบบติดตามดูแลผู้ป่วย  และระบบการค้นหาปัญหาการบริบาลผู้ป่วย   ระบบผลิตสื่อสุขศึกษาเฉพาะราย  ระบบติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย     ซึ่งระบบสารสนเทศเหล่านี้   มีหลักฐานทางวิชาการ มาสนับสนุนว่าช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วย[i]  และคุณภาพการรักษาได้ [ii]   นอกจากนี้ ยังมีระบบสารสนเทศอื่นๆเพื่อช่วยในการบริหารงาน   โดยเฉพาะระบบที่ช่วยในการบริหารทรัพยากร  และประเมินความคุ้มค่าในกิจกรรมต่างๆอีกด้วย

 

                  สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับกรม กอง โรงพยาบาลศูนย์   โรงพยาบาลชุมชน  หรือแม้แต่สถานีอนามัย    ระบบสารสนเทศที่ระบบราชการนิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ ระบบการเก็บข้อมูล   และออกรายงานเพื่อส่งจังหวัด    หรือส่งข้อมูลเข้ากระทรวงในส่วนระบบสารสนเทศที่ช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ยังมีอยู่น้อย     และทางหน่วยงานจำเป็นต้องจัดหามาใช้เอง ในอดีต กระทรวงสาธารณสุข  เคยมีแนวคิดนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงพยาบาลทัวประเทศ     แต่เกิดปัญหาเรื่องการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ 2548 ทำให้ การนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงพยาบาล ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  จัดมาถึงบัดนี้  ถึงแม้ว่าผลการสอบวินัยครั้งล่าสุดจะถือว่าผู้เกี่ยวข้องนั้นพ้นผิดแล้วก็ตามที    ทำให้ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในโรงพยาบาลของรัฐเป็นไปอย่างล่าช้าต่อไป

 

            สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านการเงินนั้น                ได้ลงทุน   จ้างบริษัทเอกชน เพื่อจัดทำระบบปฎิบัติการของโรงพยาบาลโดยตรงในส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็ก   หรือสถานีอนามัยนั้นจะเลือกใช้    โปรแกรมประยุกต์จาก 2 ค่ายหลักก็คือ โปรแกรม  Hospital OS [1] และโปรแกรม HOSXP[2]   แต่อย่างไรก็ตามโปรแกรมประยุกต์ส่วนใหญ่ จะออกแบบโปรแกรมตามระบบงาน   โดยยึดแผนก   และฝ่ายต่างๆ  เป็นศูนย์กลางในการออกแบบโปรแกรม   นอกจากนี้  ยังเน้นออกแบบโปรแกรมให้รองรับระบบรายงานต่างๆ   ตามที่หน่วยงานสาธารณสุข    ต้องการให้หน่วยงาน   ส่งรายงานต่างๆ      เข้าสู่ส่วนกลางโปรแกรมจึงออกแบบให้เน้น ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้   โดยสามารถให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและ  ประหยัดเวลาในการทำรายงานต่างๆ    นอกจากนี้ ข้อมูลยังถูกเชื่อมกันด้วยระบบเครือข่ายทำให้    การค้นหาข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น   และยังสามารถเพิ่มเติมในส่วนของระบบการแพ้ยา   ข้อห้ามใช้ยา  โรคที่สำคัญเพิ่มเติมได้อีกด้วย  เนื่องจากตัวโปรแกรมเป็นระบบ Open Source   ทำให้การใช้งานโปรแกรมมีความยืดหยุ่นมากเลยทีเดียว

 


[1]  Hospital OS คือ โปรแกรมที่ใช้ในการบริหารงานโรงพยาบาล รองรับการทำงานทั้งในส่วนของ OPD และ IPD เป็นหลัก โดยการสนับสนุนจาก ชมรมข้อมูล ข่าวสารทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยมูลนิธิสาธารสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  บนหลักการ Open Source GNU General Public License     HospitalOS พัฒนาขึ้นโดยเทคโนโลยี client-server ซึ่งเหมาะสำหรับโรงพยาบาลชุมชุนขนาดเล็ก รองรับการทำงานในส่วนของ OPD และ IPD ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมาชิก มากกว่า 90 แห่ง

[2]  HOSxP เป็น ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันและเป็นซอฟต์แวร์เสรี สำหรับสถานพยาบาล สถานีอนามัย และโรงพยาบาล พัฒนาโดยบุคลากรที่อาสาสมัครมาจากหลายๆ โรงพยาบาล มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำไปใช้งานได้จริงทั้งในระดับสถานีอนามัย ไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ เริ่มพัฒนาเมื่อปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันถูกใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มากกว่า 300 แห่ง

 

 


[i] Bates DW. The effects of health information technology on inpatient care. Arch Intern Med 2009;169:105-111.

 

[ii] Lapane KL, Hiris J, Hughes CM, Feinberg J: Development and implementation of pharmaceutical care planning software for nursing homes based on the Fleetwood Model. Am J Health Syst Pharm 2006, 63(24):2483-2487.

 

ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพในจังหวัดขอนแก่น 

 

      จังหวัดขอนแก่นถือว่าเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ประกอบด้วยอำเภอถึง 21 อำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น ยังมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่  ได้แก่  โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น    โรงพยาบาลศรีนครินทร์    นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์บำบัดยาเสพติดอีกด้วย    ระบบสารสนเทศของจังหวัดขอนแก่นนั้น  ยังคงเป็นระบบเครือข่ายที่เน้นการเก็บข้อมูลต่างๆ    เพื่อจัดทำและส่งรายงานเข้าสู่จังหวัด   โดยงานที่มีระบบรายงานมากได้แก่ งานสุขาภิบาล    งานส่งเสริมสุขภาพ งานโภชนาการเด็ก งานอนามัยแม่และเด็ก  ซึ่งยังถือว่าใช้กรอบแนวคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา    ปัญหาสาธารณสุขสำคัญคือเรื่องโรคติดต่อ ระบบสุขาภิบาล  เด็กขาดสารอาหาร  และการตายของเด็กแรกเกิด

 

ในส่วนของระบบสารสนเทศที่ใช้ในการบริการประชาชนนั้น   ยังไม่มีระบบเครือข่ายสารสนเทศภาพรวมระดับจังหวัด ในแต่ละหน่วยงานก็จะมีการใช้เลือกใช้โปรแกรมอย่างอิสระบางหน่วยงานก็เขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้งาน   ทำให้แต่ละหน่วยงาน  ไม่สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลกันได้อย่างสะดวกนัก      ในจังหวัดขอนแก่นระบบสารสนเทศที่นิยมใช้ในโรงพยาบาลคือ โปรแกรม  HOSxP  เนื่องจากโปรแกรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในโรงพยาบาลเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่นนั่นเอง   ในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดขอนแก่นนั้น   ได้มีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อจัดทำรายงาน   ตามนโยบายต่างๆ  โดยได้มีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งรายงาน  ตามโครงการเมืองไทยแข็งแรง    โครงการอาหารปลอดภัย    โครงการลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย      โครงการคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง     โครงการตรวจสุขภาพข้าราชาการและผู้ประกันตน

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า  ในแต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงาน   ต่างก็ได้พยายามพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในการทำงานของตนเอง    แต่ระบบสารสนเทศที่มีการควบคุมและกำกับดูแล  ติดตามจริงๆ มีน้อยมาก   ระบบที่มีการกำกับดูแล ได้แก่งาน   สิทธิการรักษาพยาบาล   ทะเบียนผู้ป่วยใน   รายงานทางการเงิน  ระบบรายงานโรคติดต่อ  และงานในส่วนของฝ่ายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  ในส่วนของฝ่ายอื่นๆ  ยังไม่มีระบบเครือข่ายสารสนเทศที่ชัดเจน   ไม่ว่าจะเป็น  งานฝ่ายเภสัชกรรม  งานชันสูตรโรค   งานทันตกรรม   งานการพยาบาล  ฯลฯ    การพัฒนาระบบสารสนเทศนั้นจะเน้นพัฒนาระบบรายงานเพื่อใช้ในการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นหลัก  ไม่ว่าจะเป็นระบบ DRG[1] ระบบครวจสุขภาพข้าราชาการและผู้ประกันตน   ระบบการให้บริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ระบบการบริบาลผู้ป่วยวัณโรค ระบบบริบาลผู้ป่วยโรคเอดส์ ฯลฯ

 

ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ     ได้เข้าสู่กระบวนการประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล  ตามแนวคิด การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง(CQI)   ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลได้กำหนดมาตรฐานโรงพยาบาล ในส่วนของระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลมี 3 ประเด็น  ดังนี้ [i]      มีการวางแผนและออกแบบระบบสารสนเทศอย่างเหมาะสมตามความต้องการของผู้ใช้      มีการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการบริหาร  การดูแลผู้ป่วย  และการพัฒนาคุณภาพ   สุดท้ายมีระบบเวชระเบียนที่ครบถ้วน  ใช้ได้สะดวกรวดเร็ว

 


[1] ระบบการจัดสรรงบประมาณผู้ป่วยใน  จำแนกตามโรคหรือสภาวะผู้ป่วย  มีการถ่วงน้ำหนัก ตามความรุนแรงของโรค

 


[i]  สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล. มาตรฐาน HA และเกณฑ์พิจารณา: บูรณาการภาพรวมระดับโรงพยาบาล. 2543. หน้า 41-45.

 

เรียนถามอาจารย์วัลลา....สนใจโปรแกรมนะคะ แต่ก็ยังงงอยู่ว่าเป็นอย่างไร ใช้อย่างไร

แล้วก็สนใจงานของคุณศุภรักษ์ด้วย

ขอบคุณ ภก.ศุภรักษ์ที่ให้ข้อมูล เดี๋ยวนี้มีโปรแกรมมากมายนะคะ ถ้าเอาทั้งหมดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน คงจะน่าสนใจไม่น้อย

เรียนคุณเจษฎา คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจแต่ละโปรแกรมค่ะ ดิฉันก็ฟังพอรู้บ้างเล็กน้อย ยังไม่ได้เห็นภาพของแต่ละโปรแกรมโดยละเอียด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท