ใครจะไปรู้..????


กองแผนงาน เครือข่ายวางแผนอุดมศึกษา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

ใครจะไปรู้........??

 

          ดิฉันได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเครือข่ายวางแผนอุดมศึกษา  สมาชิกของเครือข่ายนี้คือ  บุคลากรกองแผนงาน  มหาวิทยาลัยของรัฐ 28 แห่ง  (รวมถึงมหาวิทยาลัยในกำกับด้วย)  คณะกรรมการของเครือข่ายนี้คือ ผู้อำนวยการกองแผนงานของมหาวิทยาลัย 28 แห่ง  ซึ่งมีการลงนามใน MOU ร่วมกัน  วัตถุประสงค์ของเครือข่ายคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมของกองแผนงาน ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน  โดยกิจกรรมของเครือข่ายจะมีทั้งการประชุม สัมมนา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา บอกกล่าว แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง  และมีการประชุมวิชาการใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  โดยการประชุม/สัมมนาแต่ละครั้ง ทั้ง 28 มหาวิทยาลัยจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

            การประชุมครั้งหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ลงนามใน MOU มาร่วมลงนามเพิ่มเติมด้วย 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยที่ลงนามในวันนั้นคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  โดยผู้อำนวยการกองแผนงาน......ถูกแล้วค่ะ....... ท่านเป็นพระ ....พระสงฆ์  สมาชิกตื่นเต้นกันมากเชียว โดยเฉพาะดิฉันไม่เคยมีเพื่อน หรือน้อง หรือพี่ เป็นพระเลย  ไม่เคยได้พูดคุยกับพระสงฆ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว  (เคยแต่อธิษฐานขอนั่น ขอนี่ ต่อหน้าพระพุทธรูป) ทุกครั้งในการประชุมคณะกรรมการจะกำหนดหัวข้อเรื่องในการสัมมนา/ประชุม พร้อมทั้งสถานที่ในครั้งต่อไป คราวนี้ก็เช่นกันที่ประชุมได้กำหนดหัวข้อการสัมมนาในครั้งต่อไป คือ แนวทางการนำมหาวิทยาลัยสู่สากล  และการวิเคราะห์อัตรากำลังสายสนับสนุนวิชาการ  ผู้อำนวยการกองแผนงานมหาจุฬาฯ(ก็พระน่ะแหละ) ได้กรุณารับที่จะเป็นเจ้าภาพ  (หลังจากที่นั่งพิจารณาแล้วพบว่า ทำไมโยมพี่เกี่ยงกันจัง)

            เอาล่ะซิ “เรา”..... (ประธานเครือข่ายและที่ปรึกษาเครือข่าย)  เริ่มวิตกจริตว่า เครือข่ายจะไปจัดสัมมนาที่มหาจุฬาฯ แล้วสมาชิกจะติองปฏิบัติตนอย่างไร?(ในเวลานั้นเราลืมไปว่าเราจะไปสัมมนาที่มหาวิทยาลัย เรากลับคิดว่าเราไปสัมมนาที่วัด) การสัมมนาครั้งนี้ “เรา” ตั้งใจจะเชิญวิทยากรระดับชาติมาให้ความรู้เชียว  สถานที่จะพร้อมไหม?    เครื่องอำนวยความสะดวกเพียงพอหรือไม่?  ไหนจะที่พักเอย.... อาหารเอย......    “เรา”  เป็นกังวลไปหมด  จึงคิดกันว่า ต้องไปสำรวจสถานที่  โทร.ไปหาท่านผู้อำนวยการกองแผนงาน  มหาจุฬาฯ  ท่านก็กรุณาบอกเส้นทาง และรอรับ ไปถึงแค่ปากประตูมหาวิทยาลัย “เรา” ทั้งทึ่ง....ทั้งอึ้ง  ท่านผู้อำนวยการกองแผนงาน พา  “เรา”  ไปดูสถานที่ ทั้งที่พัก ห้องประชุม เครื่องใช้ไม้สอย และพา “เรา” ทัวร์ภายในมหาวิทยาลัยของท่าน.....เอ้อเฮอ!! (ท่านยังบอกด้วยว่าท่านจัดประชุม/สัมมนาระดับชาติมาหลายครั้งแล้ว “เรา”.... หน้าแตก...)    “เรา” ถึงกับมองหน้ากัน รำพึงรำพัน “ใครจะไปรู้.....??”

                การไปสำรวจสถานที่ครั้งนั้น  “เรา” ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้  ไม่เคยรู้เลยว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์มีสถานที่สวยงามมาก   มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า “เรา” มากๆๆๆๆๆ   มีวิธีการบริหารงานที่ดีกว่า “เรา” มากๆๆๆๆ  มีวิสัยทัศน์ในการบริหารงานที่ชัดเจนกว่า “เรา” มาก...ๆๆๆๆ..และมีบรรยากาศทางวิชาการมากๆๆๆๆ

 

            ท่านผู้อำนวยการกองแผนงาน ได้กรุณาพา “เรา” ไปกราบนมัสการท่านรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน  ซึ่ง “เรา” ได้มีปุจฉา/วิสัชนา ในภารกิจของฝ่ายวางแผน  โดยท่านได้บอกกับ  “เรา” ว่า  การทำงานของท่านบางครั้งก็มีข้อขัดข้องบางประการ โดยเฉพาะองค์กรต่าง ๆ ที่ท่านต้องติดต่อประสานงาน  (มีเรื่องฮือฮา....ครั้งหนึ่งในการชี้แจงคำของบประมาณประจำปีต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ  ซึ่งการชี้แจงนั้น “พระ” ก็ต้องเข้าชี้แจงด้วยเช่นกัน  คณะกรรมาธิการจะตัดงบประมาณครุภัณฑ์  พูดคุยกันอยู่ตั้งนาน  ท่านผู้อำนวยการกองแผนงานท่านพิจารณาแล้วว่าครุภัณฑ์นั้นมีความจำเป็น ท่านจึงขอ “บิณฑบาตร”  กับกรรมาธิการฯ ทำให้ครุภัณฑ์ชิ้นนั้นไม่ถูกตัด ( แต่ส่งผลให้ในปีต่อมาท่านผู้อำนวยการกองแผนงานไม่ได้ไปชี้แจงคำของบประมาณต่อคณะกรรมาธิการอีกเลย...ฮา..)  และในวันนั้นอีกนั่นแหละที่ทำให้ “เรา” รู้ว่า การพูดกับพระที่ถูกต้องเป็นอย่างไร  อาทิเช่น  “เรา” พบพระ ยกมือไหว้แล้วบอกเจริญพร  (ก็เราเห็นท่านพูดแบบนี้)  ท่านก็บอกว่าโยมต้องนมัสการ...อาตมาต่างหากที่ต้องเจริญพร..หรือเรียกสรรพนามแทนตัวท่านว่า “หลวงน้อง”  ท่านบอกว่าศัพท์คำนี้ไม่มี....(เรายังเถียงอีกแน่ะว่า “หลวงพี่” ยังมีเลย....)  เป็นต้น

                จากนั้นท่านได้พา “เรา” เข้ากราบนมัสการท่านอธิการบดี  ซึ่งท่านอธิการบดีได้กรุณาเล่าถึงความเป็นมาเป็นไป และการย้ายมหาวิทยาลัยจากวัดมหาธาตุ สนามหลวง มาอยู่ที่วังน้อย พระนครศรีอยุธยา  ทำให้เราได้เห็นว่าท่านมีแผนยุทธศาสตร์ในลักษณะ Pro Active ทีเดียว  (นี่ก็จำคำที่ท่านอธิการบดีสอน     มาบอกเล่าให้ฟังอีก)

 

                สิ่งที่อยากบอกเล่าให้สมาชิกได้ทราบคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ในความคิดอันแคบ ๆ ของ “เรา” มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับภาพที่เป็นจริง  ภาพที่เป็นจริงคือ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายในมหาวิทยาลัยสวยงาม เป็นองค์กรที่มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ มีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอน  มีองค์ความรู้มากมายและมีการบูรณาการองค์ความรู้อื่นๆ  เข้ากับสาขาวิชาที่ท่านสอนอย่างดียิ่ง มีวิทยาเขตอยู่ต่างประเทศหลายแห่ง เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา สิงคโปร์  ฯลฯ  ที่สำคัญอาหารอร่อยมากๆทุกมื้อ

            กราบขอบพระคุณท่านอธิการบดี  ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน  ท่านผู้อำนวยการกองแผนงาน  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้เปิดโลกทัศน์อันคับแคบของ “เรา” ที่มีต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์  ให้เราได้รู้แจ้งเห็นจริง และขอบอกเล่าประสบการณ์ที่พบเห็นมาบอกกับท่านสมาชิก (บางท่าน)  ที่เคยคิดเหมือน “เรา”  เชื่อว่ายังคงมีบางท่านที่อยู่ในข่าย “ใครจะไปรู้... ??   เหมือน “เรา” หากท่านที่ไม่เคยไปท่านได้ไปเห็นกับตาคงได้อึ้ง...และทึ่ง  อย่างที่เราเป็น....ต่อไปนี้”เรา”อาจจะต้องไปขอ”บิณฑบาตร”อาคาร สถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ ตลอดจนองค์ความรู้และวิธีการบริหารจัดการ จาก มจร.ก็เป็นได้..ใครจะไปรู้..????

หมายเลขบันทึก: 308918เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เล่าเรื่องได้น่าติดตามมากค่ะ

อ่านจบแล้ว ใช่เลยนะ ใครจะไปรู้ ก็เราไม่คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน วันหลังจะได้ใช้คำที่เหมาะสม ได้เตรียมตั้งหลักได้ทัน ขอบคุณคะ

แหม ! เพิ่งรู้ว่ามีวาทะศิลปนะคะ  ทำให้ชวนอ่าน น่าติดตาม ว่าง ๆ มีอะไรก็มาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

เขียนเรื่องใหม่แล้ว เรื่อง เล่าสู่กันฟังจากประสบการณ์ : SWOT Analysis นั้นสำคัญไฉน..??ลองเข้าไปอ่านดูนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท