Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มอแกน : ทำไมผู้มาก่อนรัฐไทยและรัฐพม่าบนฝั่งทะเลอันดามันจึงไร้รัฐ ?


ขอให้ตระหนักว่า มอแกนเป็นผู้มาก่อนรัฐไทยหรือแม้รัฐพม่าบนฝั่งอันดามัน

         หลังจากที่หมู่เกาะสุรินทร์ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ชื่อของมอแกนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  ในฐานะ “ชาวทะเล” หรือ “ชาวเล”  ผู้เร่ร่อนไปทั่วอันดามัน พวกเขาจึงถูกรู้จักในนามของ “ยิปซีทะเล” พวกเขาอาศัยอยู่ในเรือ มีเรือเป็นบ้าน มีวงจรชีวิตที่หมุนเวียนระหว่างเกาะแก่งที่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า 
         อาจารย์นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยสังคมของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้วนเวียนทำงานวิจัยเกี่ยวกับชาวเลในอันดามันมามากกว่า ๑๐ ปี บอกกับเราว่า นักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติพบว่า มีมนุษย์ชาติพันธุ์หนึ่งปรากฏตัวในทะเลอันดามันระหว่างไทยและพม่ามากว่าร้อยปี และก่อนที่รัชกาลที่ ๖ จะพระราชทานสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖
         วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเลในทะเลอันดามันระหว่างไทยและพม่านี้อาศัยอยู่ในเรือ และพาครอบครัววนเวียนไปในหมู่เกาะต่างๆ อาทิ ชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ในอ่าวบอนใหญ่ในวันนี้ ก็เคยเร่ร่อนระหว่างเกาะย่านเชือก เกาะเหลา และหมู่เกาะสุรินทร์มาก่อนที่จะมีการตั้งอุทยานแห่งชาติที่หมู่เกาะสุรินทร์ในประมาณ พ.ศ.๒๕๒๒ เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้พบชาวมอแกนกลุ่มนี้แล้วเมื่อไปถึง และเมื่อวันเวลาผ่านไป พวกเขาก็ขึ้นจากฝั่งมาใช้ชีวิตร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยมาเป็นลูกจ้าง   อุทยานแห่งชาติ พวกเขาเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวให้แก่หมู่เกาะสุรินทร์
         สำหรับอาจารย์นฤมล นักวิจัยสังคม ซึ่งเข้าทำวิจัยโดยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาวมอแกน เด็กๆ รอการมาของ “อาจารย์ปุ๊ก”  ซึ่งนอกจากมาเรียนรู้ในวิถีชีวิตของชาวมอแกนแล้ว ยังเข้ามาทำหน้าที่เหมือน “เจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนราษฎร” กล่าวคือ บันทึกการเกิดให้แก่เด็กที่เกิด ณ อ่าวบอนใหญ่ และบันทึกรายละเอียดของแต่บ้านว่า มีคนอาศัยกี่คน ทำงานอะไร มีวิถีชีวิตอย่างไร อย่างเช่นที่นักมานุษยวิทยาทำ เรียนรู้เพื่อจะได้รู้ถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มอแกนกลุ่มนี้จึงเหมือน “ภาพยนตร์ย้อนยุคตัว” ที่ทำให้นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันได้ทราบถึงวิถีชีวิตและองค์ความรู้ที่มนุษย์ในอดีตมีอยู่ต่อการจัดการธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมนุษย์อยู่ จึงไม่แปลกที่ลุงสาลามา มอแกนอาวุโสแห่งเกาะบอนใหญ่จะทราบว่า การที่น้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็วมากนั้น ก็หมายถึงสัญญาณแห่งการมาของคลื่นยักษ์ที่เป็นภัยต่อชีวิต สาลามาไม่เคยเห็นคลื่นสึนามิที่มาเยือนเกือบทุก ๒๐๐ ปี  แต่องค์ความรู้ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดในบทเพลงเพื่อตักเตือนลูกหลานทำให้ชาวมอแกนทราบและเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดได้ในระหว่างเกิดภัยสึนามิ
          ดิฉันสรุปกับอาจารย์นฤมลว่า ชาวเลที่เร่ร่อนในทะเลอันดามันก็เหมือนชาวเขาดั้งเดิมที่เร่ร่อนในระหว่างพื้นที่สูงระหว่างประเทศพม่าและไทย  พวกเขาทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ก่อนการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่ (Modern National  State) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น เมื่อลูกหลานของชาวเลนี้เกิดบนแผ่นดินไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมา พวกเขาก็จะมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยโดยมาตรา ๓(๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งพระราชทานโดยในหลวงรัชกาลที่ ๖ แม้เราจะไม่อาจยอมรับว่า มอแกนหรืออูรักลาโวยเป็นแขนงหนึ่งของชาติพันธุ์ไทยก็ตาม แต่ในข้อสันนิษฐานทางกฎหมายภายใต้หลักกฎหมายสัญชาติไทย เมื่อมอแกนรุ่นแรกที่เกิดในไทยหลังปี พ.ศ.๒๔๕๖ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน มอแกนรุ่นที่สองและต่อๆ ไป ที่เกิดในไทยจากมอแกนรุ่นแรกและรุ่นต่อๆ มา ก็จะมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต ซึ่งหมายความว่า ก็ไม่ถูกถอนสัญชาติไทยได้เลย หากไม่สละเอง
         ชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ และสัญชาติจึงเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อมีการสถาปนารัฐสมัยใหม่บนแผ่นดินไทย บุคคลจะมีชาติพันธุ์ใดก็ตาม เมื่อปรากฏว่า บรรพบุรุษสายตรงคนหนึ่งเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดามารดาที่เกิดในไทยหรือเกิดในไทยในขณะที่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในไทย บุคคลนั้นก็ย่อมจะมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย
         เมื่ออาจารย์นฤมลบอกดิฉันว่า ทิพเกิดที่อ่าวบอนใหญ่ก่อน พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดามารดามอแกนซึ่งเกิดที่อ่าวบอนใหญ่เช่นกัน ดิฉันก็ไม่ลังเลที่จะรับรองว่า ทิพมีสัญชาติไทยโดยไม่ต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมามีคำสั่งอนุญาต นายอำเภอคุระบุรีมีหน้าที่เพิ่มชื่อของทิพในทะเบียนราษฎรของคนที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร กล่าวคือ ทร.๑๔ และออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ทิพ
          ในขณะที่จั๊กนั้นก็เกิดที่อ่าวบอนใหญ่ก่อน พ.ศ.๒๕๓๕ เหมือนกัน แต่อาจารย์นฤมลจดบันทึกได้ว่า บิดามารดาของจั๊กน่าจะเกิดที่เกาะย่านเชือกในประเทศพม่า และบิดามารดาของจั๊กอายุประมาณ ๔๐ ปี จึงสันนิษฐานว่า เกิดภายหลังจากการสถาปนารัฐไทยและรัฐพม่าบนฝั่งอันดามันแล้ว จึงต้องฟังว่า โดยหลักดินแดน บิดามารดาของจั๊กจึงน่าจะได้สัญชาติพม่าโดยหลักดินแดนหากรัฐพม่ายอมรับ แต่ดังที่เราทราบ รัฐพม่ายังไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ในสถานะคนสัญชาติพม่า พวกเขาจึงไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรพม่า และไม่ได้ถือบัตรประจำตัวคนสัญชาติพม่า หากพิจารณาหาจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักดินแดน เราจะเห็นว่า จั๊กซึ่งเกิดในไทย จึงมีสิทธิที่จะร้องขอสัญชาติไทย และจะได้มาก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับฟังว่า จั๊กเป็นคนไร้สัญชาติและมีคำสั่งอนุญาตให้ได้สัญชาติไทย โชคดีที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารที่จะเข้าจัดการปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทยได้เลยทันที และก็เป็นหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยจะต้องขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่จั๊กโดยพลัน
          แต่หากเราพิจารณาหาจุดเกาะเกี่ยวระหว่างจั๊กและประเทศไทยโดยหลักสืบสายโลหิต อาจารย์นฤมลก็ตอบว่า มีความเป็นไปได้ที่ปู่ย่าตายายของจั๊กก็อาจจะเกิดที่หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น บิดามารดาของจั๊กที่เกิดในพม่า ก็ย่อมมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดา อันส่งผลให้จั๊กเองก็ย่อมมีสัญชาติไทยโดยทั้งหลักสืบสายโลหิตและดินแดน ทั้งนี้ โดยไม่ต้องร้องขอจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย
         โดยสรุปผลการวิเคราะห์ทางกฎหมาย ก็คือ (๑) โดยกฎหมายสัญชาติ ชาวเขาดั้งเดิม (หรือที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐเรียกว่า “ชาวเขากลุ่มหนึ่ง) และชาวเลในอันดามันจึงมีสถานะบุคคลเป็น “คนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายและโดยการเกิด” ไม่ต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาอนุญาตให้ได้สัญชาติไทย และโดยกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เจ้าหน้าที่รัฐไทย กล่าวคือ ฝ่ายการทะเบียนราษฎรย่อมมีหน้าที่ลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของคนสัญชาติไทยแก่พวกเขาทั้งสองกลุ่ม (๒) นอกจากนั้น โดยกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน เจ้าของรัฐไทยซึ่งทำหน้าที่นี้ก็มีหน้าที่ออกบัตรประชาชนให้กับพวกเขาเมื่อพวกเขามีอายุครบ ๑๕ ปี แต่จะเห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันทั้งในชาวมอแกนและชาวเขาดั้งเดิม ก็คือ บรรพบุรุษของเขาที่เกิดในไทยไม่ตระหนักความสำคัญในการแจ้งการเกิดของบุตรต่อเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครอง หรือในบางกรณี ก็อาจเห็นความสำคัญ แต่ก็ทำไม่ได้ในความเป็นจริง เพราะอยู่ห่างไกลมาจากอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐกลับปฏิเสธที่จะรับแจ้งการเกิดของพวกเขาเหล่านี้ และ (๓) โดยกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวบุคคล เมื่อฟังว่า ชาวเขาดั้งเดิมและมอแกนมีสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยก็ย่อมจะต้องออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยให้ ซึ่งก็คือ บัตรประจำตัวประชาชนนั่นเอง
           เราพบว่า อย่างน้อย ๕๑ ครอบครัวมอแกนแห่งอ่าวบอนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งมีหลักฐานการอาศัยอยู่ที่นี่ ยังไม่ได้รับการแจ้งเกิดต่ออำเภอคุระบุรีเลย ทั้งที่มีการบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพวกเขาทั้งโดยฝ่ายสถาบันวิจัยสังคมแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และฝ่ายอุทยานแห่งชาติ  เราทราบว่า กรมการปกครองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อข้อมูลนี้และกำลังจะมีการไปดำเนินการนำรายการสถานะบุคคลของพวกเขาเข้าสู่ทะเบียนราษฎร และเราก็ทราบว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติเองก็ให้ความสำคัญที่ใช้ประสบการณ์ในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของชาวมอแกนมาเป็นประสบการณ์ที่จะเรียนรู้เพื่อสร้างวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับชนพื้นเมืองดั้งเดิมในพื้นที่อื่นของประเทศไทย
            ผลของการไม่ปรากฏมีรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รวมตลอดถึงรัฐอื่นใดบนโลก ก็ย่อมหมายความว่า พวกเขานั้นย่อมตกเป็น “คนไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง” แม้โดยข้อมูลทางมานุษยวิทยา จะฟังได้ว่า เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย อันทำให้เกิดข้อสรุปทางนิติศาสตร์ว่า พวกเขาทั้งสองกลุ่มมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น “คนไทยโดยผลของกฎหมายโดยการเกิด” 
            การแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของชาวเขาดั้งเดิมและมอแกนเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยรัฐไทยเอง และเป็นหน้าที่ของรัฐไทย วิธีแก้ก็อยู่ที่การนำรายการสถานะบุคคลของพวกเขาเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและออกบัตรประจำตัวบุคคลให้เท่านั้น
           ปัญหาของชาวเขาดั้งเดิมอาจจะมีต่อไปในเรื่องความยากลำบากที่จะแยกแยะว่า บุคคลใดที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเขาดั้งเดิม เพราะลักษณะทางกายภาพของชาวเขานั้นไม่ปรากฏชัดเจน เว้นลักษณะทางวัฒนธรรมที่มีความชัดเจน แต่ก็น้อยลงหรือไม่มีเลยในกรณีของบุตรหลานชาวเขาดั้งเดิมที่มิได้เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมชาวเขาเพราะอพยพลงมาอยู่ปะปนกับสังคมเมือง
          แต่ในกรณีของมอแกนนั้น โดยพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ อาทิ สีผิว ลักษณะเส้นผม เค้าโครงหน้า จะเห็นว่า ไม่ปรากฏความยากลำบากที่จะแยกแยะว่า พวกเขาเป็นชนพื้นเมืองแห่งอันดามันหรือไม่ และโดยลักษณะพื้นฐานทางชาติพันธุ์วรรณาดังกล่าว กรณีจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยหลักสืบสายโลหิตจึงทำได้โดยการสังเกตภายนอก และอาจไม่จำต้องใช้การพิสูจน์ชาติพันธุ์ด้วย DNA ดังที่จำเป็นต้องทำในกรณีของชาวเขาดั้งเดิมในภาคเหนือ
         ขอให้สังเกตต่อไปว่า  กลุ่มชาติพันธุ์จีนเป็นผู้อพยพเข้ามาในไทย  ในขณะที่มอแกนและชาวเขาดั้งเดิมเป็น “ชนเผ่าพื้นเมือง” ที่อาศัยเกาะติดแผ่นดินไทยมาแต่ดั้งเดิม ชาวจีนเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทีหลังชาวเขาดั้งเดิมหรือมอแกนที่อาศัยอยู่ก่อนแล้วบนแผ่นดินนี้ แต่ชาวจีนประสบปัญหา  ความไร้สัญชาติน้อยกว่าชาวเขาดั้งเดิมและมอแกน เพราะอะไร ?
           กลุ่มชาติพันธุ์จีนที่เกิดในไทยในช่วงเวลาเดียวกับชาวมอแกนกลับได้รับการออกบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว และบุตรหลานก็ไม่ถูกสงสัยว่า เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายบนแผ่นดินไทย ไม่มีใครโต้แย้งว่า ความเป็นคนสัญชาติไทยของดรุณีซึ่งเกิดโรงพยาบาลหัวเฉียวใน พ.ศ.๒๕๑๒ จากบิดาซึ่งมีสัญชาติและได้รับอนุญาตให้อยู่ถาวรในประเทศไทย และมารดาคนสัญชาติไทยที่เกิดที่บางน้ำเปรี้ยวจากบิดามารดาเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาในไทย ในขณะที่ทิพเกิดในไทยจากบิดามารดาซึ่งเป็นมอแกนที่เกิดในไทย  ดูเหมือนว่า สังคมไทยบางส่วนจะชี้ไปแล้วว่า ไม่มีสัญชาติไทย ต้อง “ให้” สัญชาติไทย  และจะให้สัญชาติไทยต่อเมือทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย
            ขอให้ตระหนักว่า มอแกนเป็นผู้มาก่อนรัฐไทยหรือแม้รัฐพม่าบนฝั่งอันดามัน เมื่อรัฐสมัยใหม่ก่อตั้งบนสองฝั่งอันดามัน รัฐทั้งสองมิได้ปฏิเสธที่จะยอมรับให้ความเป็นคนสัญชาติตนแก่ชนเผ่าพื้นฐานดั้งเดิม จะเห็นว่า ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายพม่าก็ระบุยอมรับให้สัญชาติโดยหลักดินแดนแก่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่มาก่อนรัฐ เพียงเขาเหล่านั้น “ตกหล่นจากการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนราษฎร” สำหรับประเทศไทย การบันทึกชื่อชนพื้นเมืองในทะเบียนราษฎรทำได้ แต่ไม่สมบูรณ์ จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่กรมการปกครองในระดับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติไม่เคยเอาชาวเลในอันดามันไปปะปนกับชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสัญชาติและต้องให้สัญชาติไทย อาจารย์มนตรี จงพูนผล เคยตอบดิฉันในหลายปีก่อนที่อาจารย์นฤมลหารือมาว่า ก็เขาตกหล่นทางทะเบียนราษฎร และเราก็รู้ ก็แก้ไขไปตามบทบัญญัติในเรื่องนั้น เขามีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้ลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร ก็ต้องทำในส่วนที่ยังไม่ได้ทำ แม้อาจารย์มนตรีก็เกษียณอายุราชการแล้ว ลูกศิษย์ของอาจารย์ก็ยังทำงานอยู่ในกรมการปกครอง ดังนั้น กระบวนการขจัดความไร้สัญชาติของมอแกนจึงมิใช่เรื่องยากสำหรับคนในกรมการปกครองและในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งอุดมไปด้วยภูมิปัญญาที่พัฒนาจากการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือมาก่อน หากใช้ภูมิปัญญาที่สะสมมายาวนานในการทำงาน ปัญหาก็คงไม่เกิดดังที่เกิดในหลายเรื่องที่ผ่านมา อาทิ กรณีคนไร้สัญชาติที่  แม่อาย หรือกรณีการปฏิเสธที่จะเพิ่มชื่อคุณจอบิในทะเบียนราษฎร 
           อยากวิงวอนให้เราทั้งหลายในสังคมไทยมาร่วมพิจารณาถึงประวัติความเป็นมาของบุคคลอย่างลึกซึ้งเสียก่อนที่จะพิพากษาว่า ใครเป็นคนสัญชาติไทย ? หรือใครเป็นคนต่างด้าว ? คำพิพากษาที่ผิดๆ เกี่ยวกับสถานะบุคคลนั้นส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมาก จริงอยู่ ในปัจจุบัน มีศาลปกครองคอยให้ความยุติธรรมทางปกครอง แต่การที่จะทำความเข้าใจร่วมกันในการแก้ปัญหา ด้วยความรอบครอบ ด้วยเมตตาจิต ด้วยความรักในมวลมนุษยชาติ และด้วยสันติวิธี การจัดการปัญหาคนไร้สัญชาติก็ย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ปรากฏร่องรอยบาดเจ็บในความรู้สึกของใครแม้แต่คนเดียวบนแผ่นดินไทย
---------------------------------------------

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยและการพัฒนาเด็กไร้รัฐ
สนับสนุนการทำงาน โดย มสช. และ สสส.
วันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
-------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 30889เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2006 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท