การเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ภาคสาม


การเพิ่มชื่อ

การเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ภาคสาม

กรณีศึกษา (ต่อจากภาคสอง)

           กรณีที่ ๒. เป็นกรณีสืบเนื่องจากกรณีที่ ๑ ปรากฏว่า นายสุรัตน์  บุตรคนโตของนางสายอรุณ  แสง-นิมิต มีภรรยาสัญชาติพม่า โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกัน ๑ คนชื่อเด็กหญิงอนิสา  เกิดที่ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐  นายทะเบียนจะสามารถเพิ่มชื่อเด็กหญิงอนิสาฯ เข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ได้หรือไม่ อย่างไร

           แนวการวินิจฉัย   กรณีเด็กหญิงอนิสา ฯ ถึงแม้จะเป็นบุตรของนายสุรัตน์ฯ ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่เนื่องจากมีมารดาสัญชาติพม่า บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส และเป็นผู้ที่เกิดนอกประเทศไทย เด็กหญิงอนิสาฯ จึงไม่ได้สัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๕๖๐/๒๕๔๓ ที่วินิจฉัยไว้ว่าบิดาตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตร ดังนั้น นายทะเบียนไม่อาจเพิ่มชื่อเด็กหญิงอนิสาฯ ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) แต่สามารถจัดทำทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก และกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้เป็นบุคคลประเภท ๐ ได้ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๑๐๕ วรรคสอง  อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เพิ่มเติมหลักการเรื่องการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดของบุตรที่มีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย (บิดาตามข้อเท็จจริง) เป็นผู้มีสัญชาติไทย และให้มีผลย้อนหลังกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย โดยกำหนดให้ต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นบิดาและบุตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงเรื่องดังกล่าวแล้ว นายสุรัตน์ สามารถยื่นคำขอพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นบิดาของเด็กหญิง อนิสาฯ  ซึ่งจะทำให้เด็กหญิงอนิสาฯ ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามบิดา และนายทะเบียนสามารถเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ในสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทยได้

            กรณีที่ ๓. นางบุญมา สว่างแจ้ง ยื่นคำขอแจ้งการเกิดให้แก่เด็กหญิงสมฤทัยฯ โดยแจ้งว่าเด็กเกิดวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๔ ไม่ทราบว่าบิดามารดาของเด็กเป็นใคร ได้นำเด็กมาจ้างตนเองเลี้ยงได้ประมาณ ๓ เดิอนแล้วทอดทิ้งไป นางบุญมาฯ ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงสมฤทัยฯ เสมือนบุตรและอยากให้เด็กได้เข้าโรงเรียนแต่เด็กไม่มีสูติบัตรและไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน  นายทะเบียนจะรับแจ้งการเกิดได้หรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เด็กหญิงสมฤทัยฯ มีชื่อในทะเบียนบ้าน

            แนวการวินิจฉัย   พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการแจ้งการเกิดโดยให้เจ้าบ้าน บิดาหรือมารดาเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด  (คำว่าเจ้าบ้านในที่นี้หมายถึงเจ้าบ้านของบ้านหลังที่เด็กเกิด) กรณีนี้นางบุญมาฯ มิใช่เป็นเจ้าบ้านตามมาตรา ๑๘ และมิใช่เป็นมารดาของเด็กหญิงสมฤทัยฯ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเด็กเกิดที่ใด นางบุญมาฯ จึงไม่สามารถแจ้งการเกิดให้กับเด็กหญิงสมฤทัยฯ ได้  สำหรับวิธีการที่จะทำให้เด็กหญิงสมฤทัยฯ มีรายการในทะเบียนราษฎรจะต้องใช้วิธีการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกรณีเด็กอนาถาที่อยู่ในการอุปการะของบุคคลตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๙๘ โดยมีแนวทางการพิจารณาดังนี้

            ๑. สัญชาติของเด็กหญิงสมฤทัยฯ  เนื่องจากเด็กเกิดปี พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งเป็นช่วงของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ การวินิจฉัยสัญชาติของเด็กหญิงสมฤทัยฯ จึงต้องเป็นไปตามมาตรา ๗ และมาตรา ๗ ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบิดามารดาของเด็กหญิงสมฤทัยฯ เป็นใคร สัญชาติใด จึงไม่อาจสรุปได้ว่าเด็กเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๑) หรือไม่ได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง ประเด็นจึงต้องพิสูจน์ว่าเด็กเกิดในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งหากเชื่อได้ว่าเกิดในประเทศไทย เด็กหญิงสมฤทัยฯ ย่อมเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ (๒)  นายทะเบียนสามารถเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ในสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทย และหากภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดามารดาของเด็กซึ่งส่งผลทำให้เด็กไม่ได้รับสัญชาติไทย นายทะเบียนย่อมสามารถแก้ไขรายการสัญชาติให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นได้

            ๒. เด็กจะใช้นามสกุลอะไร ถ้าไม่สามารถนำสืบได้ว่าบิดามารดาของเด็กหญิงสมฤทัยฯ เป็นใคร เด็กจะใช้นามสกุลของนางบุญมาฯ ซึ่งเป็นผู้อุปการะไม่ได้ เนื่องจากการใช้ชื่อสกุลของบุคคลต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดา และ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อสกุลสามารถยินยอมให้บุคคลอื่นร่วมใช้ชื่อสกุลของตนได้  ดังนั้น ถ้านางบุญมา ไม่ใช่เจ้าของชื่อสกุล “สว่างแจ้ง” ย่อมไม่สามารถอนุญาตหรือยินยอมให้เด็กหญิงสมฤทัยใช้นามสกุลดังกล่าวได้  นายทะเบียนจะต้องเว้น (ไม่บันทึก) รายการชื่อสกุลของเด็กหญิงสมฤทัย ในทะเบียนบ้าน  แต่หากนางบุญมาฯ ได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงสมฤทัย เป็นบุตรบุญธรรมของตน เด็กหญิงสมฤทัยย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลตามมารดาบุญธรรมได้         

            กรณีที่ ๔. นายหม่อง  หงสา เป็นเด็กเร่ร่อนที่สถานสงเคราห์แห่งหนึ่งรับตัวไว้อุปการะ โดยจากการสอบถามประวัติได้ข้อมูลว่า นายหม่องเกิดในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บิดามารดาเป็นคนสัญชาติพม่า เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีอาชีพรับจ้างตัดอ้อย ตนพลัดหลงกับครอบครัวเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบ  อยากทราบว่าสถานสงเคราะห์จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้นายหม่อง หงสา มีหลักฐานทะเบียนราษฎร

            แนวการวินิจฉัย  แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายหม่อง  หงสา เกิดในประเทศไทย แต่ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นอกจากนี้ นายหม่องยังถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕  ส่วนการที่สถานสงเคราะห์จะสามารถดำเนินการได้อย่างไรเพื่อให้นายหม่องมีหลักฐานทะเบียนราษฎร และจะเป็นเอกสารทะเบียนราษฎรประเภทใด ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ดังนี้

            ๑. สถานสงเคราะห์ที่รับตัวนายหม่อง หงสา ไว้อุปการะนั้นเป็นสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน โดยถ้าเป็นสถานสงเคราะห์ของรัฐ ย่อมสามารถยื่นคำร้องขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดให้กับบุคคลดังกล่าวได้ตามมาตรา ๑๙/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ แต่ถ้าเป็นสถานสงเคราะห์เอกชน จะต้องตรวจดูว่าเป็นสถานสงเคราะห์ตามรายชื่อที่กระทรวงมหาดไทยประกาศตามมาตรา ๑๙/๑ หรือไม่ ถ้าใช่ก็สามารถยื่นคำร้องขอแจ้งการเกิดได้เช่นเดียวกัน  แต่ถ้าไม่ใช่สถานสงเคราะห์สามารถดำเนินการได้ ๒ กรณีคือการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน หรือการสำรวจเด็กไร้รากเหง้าตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล

            ๒. เนื่องจากนายหม่อง หงสา เป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่อาจเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ได้  ถ้าเป็นกรณีแจ้งการเกิด นายทะเบียนจะต้องออกสูติบัตร ท.ร.๐๓๑ ซึ่งจะได้เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก โดยใช้เลขที่บ้านของสถานสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าเป็นกรณีการขอเพิ่มชื่อ นายทะเบียนจะต้องจัดทำทะเบียนประวัติ ท.ร. ๓๘ ก กำหนดเลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๐ ให้เป็นหลักฐานโดยไม่ออกสูติบัตร 

            กรณีที่ ๕. นางสมรัก  เส้นหลี่ บุคคลสัญชาติไทย ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้กับนางสาวขอดีเย๊าะ  เส้นหลี่ ซึ่งเป็นบุตรสาวที่เกิดกับสามีชาวมาเลเซีย เกิดที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมีหลักฐานการเกิดที่ออกให้โดยหน่วยงานของประเทศมาเลเซีย  แต่ไม่มีหนังสือเดินทาง  ซึ่งจากการสอบถามนางสมรัก ฯ ให้การว่าตนแยกทางกับสามีและได้พาบุตรสาวกลับมาอยู่ประเทศไทยโดยไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง  กรณีนี้นายทะเบียนจะเพิ่มชื่อให้ตามคำร้องได้หรือไม่ หรือจะต้องส่งตัวนางสาวขอดีเย๊าะฯ ให้ตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดีและพิสูจน์สัญชาติก่อน

            แนวการวินิจฉัย   นางสาวขอดีเย๊าะ  เส้นหลี่ เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นบุตรของมารดาสัญชาติไทยบิดาเป็นคนต่างด้าว ถึงแม้จะไม่ได้เกิดในประเทศไทยก็ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่น ประกอบกับการไม่มีหนังสือเดินทางมิใช่เหตุที่จะทำให้บุคคลเสียสัญชาติไทย นายทะเบียนจึงไม่จำเป็นต้องให้บุคคลดังกล่าวไปยื่นขอพิสูจน์สัญชาติแต่อย่างใด  การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกรณีนี้ นายทะเบียนจะต้องแจ้งนางสมรักฯ (มารดา) ให้นำหลักฐานการเกิดของนางสาวขอดีเย๊าะฯ ที่ออกให้โดยหน่วยงานของประเทศมาเลเซีย ไปแปลเป็นภาษาไทยและขอให้กระทรวงการต่างประเทศรับรองความถูกต้องของคำแปล แล้วนำมาแสดงต่อนายทะเบียนพร้อมหลักฐานทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางของนางสมรักฯ เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเชื่อได้ว่านางสาวขอดีเย๊าะฯ เป็นบุตรของนางสมรักฯ บุคคลสัญชาติไทย นายทะเบียนจะเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๕ แล้วบันทึกการอนุญาตให้เพิ่มชื่อและเลขประจำตัวประชาชนไว้ด้านหลังหลักฐานการเกิดฉบับแปลเป็นภาษาไทย โดยปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๙๖  ทั้งนี้ นางสาวขอดิเย๊าะ  เส้นหลี่ สามารถใช้หลักฐานการเกิดฉบับแปลเป็นภาษาไทยแทนสูติบัตรได้โดยอนุโลม ตามมาตรา ๒๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔     

            กรณีที่ ๖. นายยุทธนา  เหงียน  เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มีชื่อในทะเบียนประวัติญวนอพยพและทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ ระบุสัญชาติเวียดนาม เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๖  บิดาชื่อนายฟ่าม เกิดปี พ.ศ.๒๕๑๐ มารดาชื่อนางวัน เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สัญชาติเวียดนาม  นายยุทธนาฯ ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อใน ท.ร.๑๔ โดยอ้างว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย เนื่องจากบิดามารดาเกิดในประเทศไทย นายทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างไร ตามระเบียบข้อใด

            แนวการวินิจฉัย  การพิจารณาสัญชาติของนายยุทธนาฯ จะต้องศึกษาจากกฎหมายที่เกี่ยวด้วยสัญชาติ ๒ ฉบับ คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่นายยุทธนาเกิด ประเด็นอยู่ตรงที่สถานะของนายฟ่ามและนางวัน ว่าเข้าเงื่อนไขตาม ปว.๓๓๗ ข้อ ๑ หรือไม่ กล่าวคือเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทสไทยเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นผู้ที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏหลักฐานว่านายฟ่าม และนางวัน เป็นญวนอพยพชั้นบุตรที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ บุคคลทั้งสองย่อมอยู่ในสถานะของผู้ที่ถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗  มิใช่บุคคลที่เข้าเงื่อนไขตามข้อ ๑ ของ ปว.๓๓๗ ที่กล่าวไว้ข้างต้น  ดังนั้น ในขณะที่นายยุทธนาฯ เกิดจึงกล่าวไม่ได้ว่ามีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต นายยุทธนาฯ จึงไม่เข้าเงื่อนไขตาม ปว.๓๓๗ ข้อ ๒ ซึ่งหมายความว่านายยุทธนา      เหงียน เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘  ต่อมาได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยเพิ่มมาตรา ๗ ทวิ เป็นบทบัญญัติที่ไม่ให้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนสำหรับบุตรของคนต่างด้าวบางประเภท นอกจากนี้ยังถือว่าผู้ที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทยเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยให้มีผลใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย  ประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คือบิดามารดาของนายยุทธนา ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตามมาตรา ๗ ทวิ หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยสรุปว่าบุคคลที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๗ ทวิ จะถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้บังคับ คือตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เป็นต้นมา  นายยุทธนา  เหงียน เกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงไม่ได้รับผลจากมาตรา ๗ ทวิ ดังกล่าว จึงสรุปได้ว่านายยุทธนาฯ เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด  สำหรับการดำเนินการของนายทะเบียนจะต้องจำหน่ายรายการบุคคลของนายยุทธนา เหงียน เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ แล้วเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้ใหม่เป็นบุคคลประเภท ๕ ลงรายการสัญชาติไทย โดยปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๑๐๒ โดยอนุโลม  

            กรณีที่ ๗. นายจอมี เป็นชาวเขาเผ่าอาข่า เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ โดยอ้างว่าตนเกิดในประเทศไทย บิดามารดาเป็นชาวเขาเผ่าอาข่าที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานการเกิดและไม่มีเอกสารใดๆ เพราะไม่เคยได้รับการสำรวจจากราชการ บิดาเกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๐ มารดาเกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ปัจจุบันบิดาเสียชีวิตแล้ว  นายทะเบียนควรต้องดำเนินการอย่างไร ตามระเบียบข้อใด

            แนวการวินิจฉัย  กรณีของนายจอมี ถ้ามีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๒๐ จังหวัดที่มีบุคคลบนพื้นที่สูง เช่น เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี เพชรบุรี สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๙๗ ก็ได้ แต่ถ้าภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๙๗ ซึ่งเป็นกรณีบุคคลอ้างว่าเป็นคนไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านโดยไม่มีหลักฐานเอกสารที่ราชการออกให้  อย่างไรก็ตามระเบียบทั้งสองฉบับล้วนมีความหมายและผลที่ได้รับไม่แตกต่างกัน โดยการวินิจฉัยเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพยานบุคคลและพยานแวดล้อมต่างๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าครอบครัวของนายจอมี (บิดามารดาและตนเอง) เป็นชาวเขาดั้งเดิมหรือคนไทยตกสำรวจ ซึ่งอาจต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชนเผ่าประกอบด้วย ดังนั้น ถ้าผลการสอบสวนพยานบุคคลและการตรวจสอบพยานแวดล้อม (ถ้ามี) เช่น ผู้นำชุมชน คนเฒ่าคนแก่หรือคนที่รู้จักครอบครัวของนายจอมีเป็นอย่างดี เชื่อได้ว่าบิดามารดาและนายจอมี เกิดในประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทย นายอำเภอสามารถอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านโดยใช้ข้อสันนิษฐานตามหลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติที่ใช้อยู่ในขณะที่บุคคลนั้นเกิดกล่าวคือ บุคคลที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ (เกิดก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ใช้บังคับ) เป็นบุคคลสัญชาติไทย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น  แต่หากหลักฐานที่มีอยู่ไม่พอที่จะพิสูจน์ได้ว่านายจอมี เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย และไม่ใช่ชาวเขาดั้งเดิม  นายทะเบียนสามารถจัดทำทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ ก ให้นายจอมี เป็นบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๐ ไว้ก่อน  ถ้าต่อมาภายหลังนายจอมี สามารถแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นที่ประจักษ์ว่าตนมีสัญชาติไทย นายทะเบียนย่อมต้องแก้ไขโดยจำหน่ายรายการบุคคลเลข ๐ ตามทะเบียนประวัติ แล้วเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ ในสถานะบุคคลสัญชาติไทย ให้เลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๕      

หมายเลขบันทึก: 308460เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท