โรงเรียนนอกกะลา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา;นายแน่มาก


ยรรยง ผิวอ่อน*

                 
                       โรงเรียนที่ไม่มีการสอบ  

                       โรงเรียนที่ไม่มีเสียงระฆัง  

                       โรงเรียนที่ไม่มีดาวให้ผู้เรียน

                       โรงเรียนที่ไม่ต้องใช้แบบเรียน  

โรงเรียนที่ไม่มีครูอบรมหน้าเสาธง  โรงเรียนที่ไม่จัดลำดับความสามารถผู้เรียน

โรงเรียนที่สอนด้วยด้วยเสียงเบาที่สุด โรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก และโรงเรียนที่ทุกคนต้องเรียนรู้อย่ามีความสุข  ในขณะที่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยจัดให้มีสิ่งดังกล่าวที่เล่ามาจำนวนมากและดูจะมากขึ้นมากขึ้นทุก ๆ วัน  มันเกิดอะไร ?

          ครูใหญ่ วิเชียร  ไชยบัง เล่าให้เราฟังในหลาย ๆ เรื่องถึงโรงเรียนแห่งนี้ ว่า

          "การเจริญเติบโตของเราปีนี้ย่างเข้าปีที่ 7  เรากำลังจะทำระดับมัธยม เคยมีคนสมัครเป็นครู 700 คนรับแค่ 5 คน และพบว่า แม้จะรับคนยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว ก็ต้องพัฒนาต่ออีกหนึ่งปี ทั้งเรื่องท่าที คำพูด ความเข้าใจ และเป้าหมายร่วมกัน  แต่ก็คุ้มกับความสามารถการเป็นครู"

          "วัตถุประสงค์โรงเรียนมีข้อเดียวคือ เราอยากให้โรงเรียนชนบทกว่าสามหมื่นแห่งมาเรียนรู้  และนำไปใช้"

          "นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนนี้ จะมาจากครอบครัวชาวไร่ ชาวนา ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าได้ด้วยการจับสลากเท่านั้น และไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ร้อยละ 70 ยากจน  อีกอย่างน้อย 40 ครอบครัว เป็นเด็กกำพร้า มีเด็กสติปัญญาบกพร่องร่วมเรียนด้วย"

          "ปีที่แล้ว มีครูและผู้บริหารมาเรียนรู้กว่า 5,000 คน ปีนี้ยังไม่ถึงสิ้นปีมีประมาณ 3,000 คน ตอนนี้ระดับกระทรวงรู้จักโรงเรียนเรา เป็นความคาดหวังที่สูงเกินไปหรือเปล่า มี 20 โรงเรียนในภาคอีสานกำลังทำตามแบบโรงเรียนเรา  และมีครูจำนวนมากอยากทำแบบนี้  แม้บางคนจะบอกว่า ทำไม่ได้หรอก"

          และยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่เล่าแล้วชวนติดตามฟังและติดตามดู

         คำถามที่ต้องการตำตอบ

          คำถามยอดฮิตที่ครูใหญ่วิเชียร  ไชยบัง ต้องตอบแทบทุกครั้งทุกคณะที่ไปศึกษาดูงานและทุกครั้งที่เป็นวิทยากรบรรยายในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

          ผลการประเมินของ สมศ. เป็นอย่างไร ?

          ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง เล่าว่า "ผลการประเมินภายนอก ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ได้มาประเมินโรงเรียนปี 2550 แล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีมาก13 มาตรฐาน และอยู่ในเกณฑ์ดี 1 มาตรฐาน แต่นั้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หากมาประเมินอีกวันนี้ น่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว"

          ผลการสอบเอ็นที เป็นอย่างไร?

          ผลการสอบเอ็นที (National Test) พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศ ทั้งที่โรงเรียนไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "วิชาวิทยาศาสตร์"  และในปีการศึกษา 2551นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลการทดสอบ เอ็นทีเฉลี่ยร้อยละ 78 ในวิชาภาษาไทย และร้อยละ 63 ในวิชาคณิตศาสตร์

         โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จัดการศึกษาอย่างไร

        โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เขาสร้างห้องเรียนแบบหกเหลี่ยม ให้เด็กๆ นั่งล้อมวงเรียนในห้อง ไม่มีเด็กหน้าห้องหลังห้อง

          ชุดนักเรียนสีสันสวยงามเป็นลวดลายของท้องถิ่นและทอจากฝีมือชาวบ้าน ที่ไม่อาจสามารถบอกได้ว่าเสื้อใครขาวกว่าเสื้อใครด้วยผงซักฟอกยี่ห้ออะไร 

          ทุกเช้าเด็กและครูต้องกอดกัน มีการทำกิจกรรมพัฒนาคลื่นสมอง สร้างความผ่อนคลายและอารมณ์ที่ดีกับเด็กก่อนเข้าเรียน  

          ส่วนนวัตกรรมสำคัญที่โรงเรียนเลือกใช้ในการพัฒนา คือ ให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขด้วยวิชาจิตศึกษาที่เน้นให้เด็กรู้คุณค่าของตัวเองและผู้อื่น เพื่อก้าวสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงที่ดูแลชีวิตจิตใจ รวมทั้งให้การศึกษากับเด็กๆ ด้วยความรัก ความเมตตาและคุยกับเด็กด้วยภาษาใจ ร่วมบูรณาความรู้ให้อยู่ควบคู่กับชีวิต ด้วยเป็นโรงเรียนทางเลือกและหลักสูตรทางรอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดและภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เป็นต้นทุนชีวิตให้เยาวชนไทย

          สำหรับการพัฒนาหลักสูตร และการสอนโรงเรียนแห่งนี้  จัดการเรียนรู้สอดรับกับการเรียนรู้ของสมอง(Brain Based Learning : BBL)และจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนเป็นหน่วยบูรณาการ โดยร้อยเรียงองค์ความรู้ในหน่วยการเรียน ในรูปแบบการสอนแบบสตอรี่ไลน์ (Storyline) ในปีการศึกษา 2547 ได้ปรับองค์ความรู้ในหน่วยการเรียนเป็นแบบโครงงาน (Project Based) ในปีการศึกษา 2548 - 2549 ได้เพิ่มความเข้มข้นในการพัฒนาทักษะการคิดในแต่ละด้าน

          ในปีการศึกษา 2550 เรื่อยมาได้จัดการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการสอนเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น (Teaching for Understanding)  โดยเฉพาะการออกแบบการสอนแบบย้อนกลับ (Backward design) โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมาย  จากนั้นจึงออกแบบการประเมิน เพื่อหาสิ่งยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่อย่างไร โดยกำหนดเกณฑ์รูบริค(Rubric) ไว้อย่างชัดเจนเป็นตัวชี้วัด แล้วจึงออกแบบหลักสูตร

และแผนการสอนในทุกระดับชั้น จัดให้มีการเรียนรู้เน้นโครงงาน และในขั้นตอนการจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนต้องนำเสนอโครงงาน ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าอิสระตามความสนใจของตนเอง 1 เรื่อง เหมือน กับวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษา

          ตารางสอนในแต่ละวันของชั้นอนุบาล คือ เข้าแถว กิจกรรมพัฒนาทักษะ จัดเวลาสำหรับอาหารว่างอาหารกลางวัน และการนอน  แต่ลึกไปกว่านั้น  คือ ทุกกิจกรรมมีแนวคิดทางการศึกษาเรื่องต่างๆ ซ่อนอยู่ซึ่งกิจกรรมพัฒนาทักษะประกอบด้วย 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ

          1) กิจกรรมสงบพัฒนาคลื่นสมอง ซึ่งจะทำหลังจากเข้าแถว เช่น การกอด สัมผัสกาย ยิ้มทักทาย โยคะ สมาธิ เปิดเพลงคลาสสิคเบาๆ กำกับกายทำให้เข้าสู่ภาวะภวังค์ เพราะเชื่อว่า คลื่นสมองจะลดความ

เร็วลงสู่ระดับแอลฟา จิตใจจะสงบ มีสมาธิ อารมณ์ดี กระตือรือร้น  พร้อมที่จะรับสิ่งต่างๆ ในการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ พีอาร์ ซาร์การ์ นักจิตวิทยาแนวนีโอฮิวแมนนิส   

          2) กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านร่างกายและสุนทรียะ เช่น แอโรบิก กระโดดยาง เครื่องเล่นต่าง ๆ ร้องเพลงประกอบท่าทาง เป็นต้น

          3. กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านการคิดและจินตนาการ เช่น การสมมติตัวเองเป็นสิ่งของต่าง ๆ เล่นเกมใช้มือคลำแล้วทาย โดยที่คุณครูจะเฉลยพร้อมกับบอกศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย   นอกจากนี้ยังใช้เพลงประกอบเกมเป็นภาษาถิ่นอย่าง "น้ำตามดแดง" และเพลงอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ถูกใจเด็กๆ

          4. กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านสติปัญญา เช่น การทัศนศึกษา แต่งนิทานจากกการปั้น เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจและบ่งบอกถึงแนวคิดของโรงเรียนอีกจำนวนมาก  
          ส่วนการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา จัดการเรียนการสอนในแบบของการบูรณาการ โดยการหลอมรวมเพื่อพัฒนาทักษะที่เป็นเครื่องมือสำหรับอนาคต เช่นทักษะการแสวงหาความรู้ (Inquiry)  ทักษะการคิด ทั้งการคิดระดับต้นและการคิดเชิงเหตุผล ตามกระบวนการดังต่อไปนี้

แผนการจัดการเรียนรู้ของครูเป็นอย่างไร

          แผนการจัดการเรียนรู้ของครูมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร  เหมือนหรือแตกต่างอย่างเรา ๆ ทั่วไปหรือไม่  แผนการสอนย่อย (รายวันหรือสัปดาห์) รูปร่างหน้าตาแตกต่างแน่ ๆ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งสำคัญ  คือ  1)หัวข้อย่อย คำถามที่ถามให้ผู้เรียนได้คิด พฤติกรรมที่แสดงว่าเด็กเข้าใจ 2)เนื้อหาที่จะนำไปสู่ความเข้าใจหลัก 3)กิจกรรมที่ทำให้เกิดความเข้าใจหลัก 4)สื่อนวัตกรรม และ  5) การประเมินผล นอกจากนั้นก็มีที่ว่างไว้ให้ครูสำหรับใช้ในการบันทึกผลหลังสอนคล้าย ๆ แผนการจัดการเรียนรู้ทั่ว ๆ ไป

        การวัดผลและประเมินผล               

          โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการสอบ  แต่เขาใช้วิธีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง  และกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน โดยในขั้นตอน Action ที่ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย ๆ

          Do ผู้เรียนจะได้จัดทำชิ้นงานย่อย ๆ  2-5 ชิ้น ต่อสัปดาห์ อาจเป็นใบงานแผ่นเดียว ผังความคิด แผนภูมิ  รายงาน  นิทานภาพประกอบ เรียงความ ลายปักบนเสื้อ รูปปั้น ปะ ติด โมเดลสิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ   show and share ผู้เรียนจะได้นำเสนอ อธิบายชิ้นงาน หรือผลการทำงานทุกสัปดาห์ และท้ายที่สุดขั้น           Check หลังจากที่ผู้เรียนแต่ละคน หรือกลุ่มได้นำเสนอผลงานแล้วก็จะมีการประเมินและสะท้อนงานกันและกัน ประเมินโดยตนเอง เพื่อน และครู  โดยมีการกำหนดเกณฑ์ (Rubric)ที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันทุกคน

            การประเมินผลรวมเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนเพื่อดูว่าผู้เรียนได้บรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง หรือมาตรฐานการเรียนรู้หรือไม่ เป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางมากน้อยเพียงใด  โดยครูจะดูได้จากการประเมินแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) รายงานการสรุปความรู้ หรือคะแนนสะสมที่ประเมินไว้แต่ละสัปดาห์หลังจากที่มีการ show and share ซึ่งครูได้วิเคราะห์ความสอดคล้องกับมาตรฐานไว้แล้วตั้งแต่ต้นในรูปแบบของการออกแบบเรียนรู้แบบ Backward design

          นอกจากนี้เมื่อสิ้นสุดในแต่ละเรื่องที่เรียนรู้ทั้งครูผู้สอน ผู้เรียนจะร่วมกันสะท้อนผลงาน หรือกิจกรรมอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่พอใจและไม่พอใจตลอดจนแนวทางการแก้ไขพัฒนา โดยใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการประเมิน

          สำหรับโครงงาน (Project Work) ที่เป็นจุดเน้นของโรงเรียนแห่งนี้ มีขอบข่ายในการประเมินแต่ละโครงงาน คือ 1)ด้านทักษะ ที่ประกอบด้วย ทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ ทักษะการคิด ทักษะในการทำงาน  2) ด้านความเข้าใจ หรือสาระ ความรู้ และ 3) ด้านทัศนคติต่อการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ความเพียรพยามยาม ความอดทน ความมุ่งมั่น เป็นต้น

          โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาวันนี้ มีอะไรต่อมิอะไรที่ยากแก่การเขียนเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ  โรงเรียนที่ไม่มีเสียงระฆัง  โรงเรียนที่ไม่มีดาวให้ผู้เรียน โรงเรียนที่ไม่ต้องใช้แบบเรียน  โรงเรียนที่ไม่มีครูอบรมหน้าเสาธง  โรงเรียนที่ไม่จัดลำดับความสามารถผู้เรียน โรงเรียนที่สอนด้วยด้วยเสียงเบาที่สุด โรงเรียนที่พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ร่วมกับลูก และโรงเรียนที่ทุกคนต้องเรียนรู้อย่างมีความสุข  

          เมื่อเขาเลือกที่จะทำอย่างนั้นเขามีเทคนิควิธีการอย่างไร  เริ่มต้นอย่างไร  และเขาทำไมถึงทำได้  "อ่านตำราหมื่นเล่ม มิอาจสู้เดินทางหมื่นลี้" คำตอบรอท่านอยู่ที่โรงเรียนนอกกะลา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หาโอกาสหาเวลาพาครู ผู้บริหารและกรรมการสถานศึกษาไปเยี่ยมสักวันเถอะครับ ผมเพิ่งกลับมาเมื่อวันวานนี้

*ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 2 นิสิตดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 308356เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

-  ขอบคุณค่ะที่นำสถานศึกษาดีๆมาแนะนำ....

-  อ่านแล้วอยากเห็น....

-  ตนเองชื่อว่าถ้าคนเรา EQ สูง...อย่างอื่นจะสูงตามค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

  • เคยติดตามความเป็นไปของโรงเรียนนี้อยู่เสมอค่ะ
  • ขอขอบพระคุณที่ได้อ่านบันทึกนี้
  • เคยได้รับหนังสือโรงเรียนนอกกะลา  ด้วยความปรารถนาดีให้เพื่อนยืมอ่าน จึงถูกขอลืม
  • ไม่ทราบว่าจะหาหนังสือนี้ได้ที่ไหนอีกบ้างคะ  หากทราบขอความกรุณาช่วยแนะนำค่ะ
  • หากอายุยังน้อย ๆ จะอาสาไปเป็นครูสอนฟรีค่ะ (เขาจะรับป่าว) ตอนนี้แก่มากแล้วเริ่มต้นไม่ทันการ  ได้แต่อ้าปากค้าง ดูการจัดการศึกษาแบบห่วย ๆ ของโรงเรียนที่เห็นที่มี ไปพลาง ๆ
  • จะกลับมาอ่านอีกนะคะ

คณะครูที่โรงเรียนพากันไปศึกษาเรียนรู้ เป็นโรงเรียนราษฎร์ มีไอเดียหลายอย่างที่โรงเรียนภาครัฐอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องการใช้พัฒนาเด็กในบริบทของโรงเรียนของภาครัฐ นั้นมีหลายอย่าง เป็นอะไรที่มองอะไรไม่ชัดนักในเครือข่ายแบบพิเศษ

ครูต๋อย ให้ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนได้เยี่ยมมาก มีเด็ก 200 คน ครู เด็กรู้จักกันอย่างดี หมายถึงทุกคน แบบมีความรักผูกพัน ความรักของครูกับศิษย์นั้น เป็นสิ่งหลักๆ ที่ครูตรงไหนก็ควรเข้าใจ ความสัมพันธ์แบบนี้ น่าจะเป็นหัวใจห้องหนึ่งของการศึกษาที่นั่น หรือที่ไหนๆ ก็ตาม

ผมมองเห็น การคิดงาน การพัฒนาครู การเรียนรู้จากผู้อื่น ความจริงใจในความรัก ความสัมพันธ์ทีมงาน และอื่นๆ จากที่นั้น

หนังสือกบนอกกะลา ทางโรงเรียนแจกให้ครูมา คนละ 1 เล่ม เห็นมีวางจำหน่ายอยู่ที่ร้านสหกรณ์ของโรงเรียน ลองติดต่อไปที่โรงเรียนน่าจะได้ครับ ของผมอ่านจบคืนแรกตั้งแต่รับมา วางไม่ลง น่าอ่านมาก และให้เพื่อนต่างหน่วยขอลืมไปแล้ว

บล๊อกโรงเรียนนอกกะลา โดย ครูวิเชียร ไชยบัง เชิญทุกคนร่วมแลกเปลียนเรียนรู้

http://lamplaimatpattanaschool.blogspot.com

ดีกว่าโรงเรียนที่มีหลักสูตรเล่มหนา ๆ และเอกสารประกอบหลักสูตร อีก กองพะเนิน

เห็นแล้วอยากไปเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท