ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักสูตรใหม่ 2 ข้อ ( บูรณาการรายวิชา, ลดวิธีเรียน )


ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ, วิธีเรียนที่สับสน

19 - 24  ตุลาคม  2552


         - ไปสัมมนานำร่องการใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่โรงแรมอู่ทองอินน์ อยุธยา   เป็นการสัมมนาร่วม 10 จังหวัด + 2 เขตใน กทม. ที่นำร่องหลักสูตรใหม่มา 1 ภาคเรียน   ผู้เข้าสัมมนาเกือบทุกคนต้องการให้ลดจำนวนรายวิชา และเสนอให้เลื่อนการขยายผลการใช้หลักสูตรใหม่ทั่วประเทศออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่กำหนดจะขยายผลทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553
            การสัมมนาทำให้มีความชัดเจนในบางเรื่อง เช่น รายวิชาที่จะให้ลงทะเบียนภาคเรียนหน้า ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก รวมทั้งหนังสือเรียนรายวิชาบังคับภาคเรียนหน้าที่ต้นฉบับเสร็จแล้ว ให้แต่ละแห่งพิมพ์เอง ( จ.พระนครศรีอยุธยา จะดำเนินการจัดพิมพ์โดย สนง.กศน.จ.อย. ใช้งบประมาณรายหัวของแต่ละอำเภอ โดยให้แต่ละอำเภอแจ้งจำนวนที่ต้องการในวันที่ 26 ต.ค.52 และได้ตกลงแบ่งทำแผนการเรียนรายวิชาบังคับให้แต่ละอำเภอแล้ว )
            วันแรก ท่านทองอยู่  แก้วไทรฮะ ให้การบ้านแก่ผู้ร่วมสัมมนา 2 ข้อ

            ขอนำคำตอบการบ้าน 2 ข้อ ของข้าพเจ้า มานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจ ดังนี้


1. การจัดกิจกรรมการการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นคำตอบของการแก้ปัญจำนวนรายวิชามาก หรือไม่

            ข้าพเจ้าคิดว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ไม่ใช่ คำตอบของการแก้ปัญหาจำนวนรายวิชามาก ( อย่างน้อยก็เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมีปัญหาขัดแย้ง ) เพราะ เหตุผลเดียวกับที่ส่วนกลางไม่ออกข้อสอบปลายภาคแบบบูรณาการ ( การสอบปลายภาค ก็มีปัญหา นักศึกษาสับสนในการเข้าสอบมากมายหลายวิชา เช่นกัน )
            แต่ละคนเรียนวิชาไม่เหมือนกัน เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น เริ่มเรียนคนละภาคเรียน บางคนมีการเทียบโอน บางคนสอบตกในภาคเรียนก่อน บางคนย้ายมาจากที่อื่น บางคนเลือกเรียนวิชาเลือกไม่เหมือนกัน ฯลฯ
            นาย ก. เรียนวิชา  1 + 2 + 3

            นาย ข. เรียนวิชา  1 + 3 + 4 + 5

            นาย ค. เรียนวิชา  2 + 4 + 5 + 6

            แล้วจะนำรายวิชาใดมาบูรณาการกับรายวิชาใด ให้ใครเรียนบ้าง   เราอาจจะบอกว่า ก็บูรณาการรายวิชาที่คนส่วนใหญ่เรียนเหมือนกัน แล้วให้ทุก ๆ คนเรียนแล้วกัน   ก็จะ “ขัดกับการวางแผนการเรียนรู้รายบุคคล”   ยิ่งถ้าแต่ละเนื้อหา นักศึกษาแต่ละคนเรียนคนละวิธี ยิ่งบูรณาการยาก    ถ้าใครไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริงจะไม่เข้าใจ
            ทำไมเราไม่แก้ปัญหาให้ตรงสาเหตุ ถ้ารายวิชามีมากเกินไป ก็ยุบรวมให้รายวิชาลดลง รายวิชาละไม่ต่ำกว่า 3 หน่วยกิต เพื่อให้ “สะดวกและง่ายสำหรับ นักศึกษาและครู กศน.”   มีปัญหาอะไร   ทำไมบางรายวิชามีตั้ง 4-5 หน่วยกิต ได้

 

2. ลด “วิธีเรียน” ลงดีไหม

                ที่จริง การเรียนวิธีพบกลุ่ม แบบเดิม นั้น ก็มีรูปแบบการเรียนหลายวิธีผสมกันอยู่แล้ว เพราะ หลักสูตรใหม่กับหลักสูตรเก่า มีจำนวนหน่วยกิตกับเวลาเรียน เหมือนเดิม ฉะนั้น วิชาที่มี 1 หน่วย ถ้าเรียนแบบพบกลุ่ม ก็มาพบกลุ่มเพียง 3 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 37 ชั่วโมง ก็ต้องเรียนด้วยวิธีอื่น ๆ ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะหลักสูตรเก่าหรือหลักสูตรใหม่
            แต่หลักสูตรเก่า มีปัญหา บางคนไม่มีเวลามาพบกลุ่มแม้เพียงสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง   หลักสูตรใหม่ควรแก้ปัญหานี้ โดยให้ กศน.อำเภอ เปิดวิธีเรียนสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลามาพบกลุ่ม เช่น ผู้นำท้องถิ่น นักธุรกิจ นักการเมือง รวมทั้งผู้ที่เรียนด้วยตนเองได้  ให้สามารถเรียนวิธีอื่น เช่นวิธีเรียนด้วยตนเอง  ( มีบางคนไม่มีเวลาแม้จะมาสอบปลายภาค เขาถามว่าเมื่อไรประเทศไทยจะมีการเรียนทางอินเตอร์เน็ตทุกขั้นตอน )
            ฉะนั้น เพียงเปิดวิธีเรียนด้วยตนเองขึ้นมาอีกวิธีเดียว ก็สนองตอบหลายกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว
            ส่วนรูปแบบการเรียนอื่น ๆ ๆ ก็ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิธีพบกลุ่มเหมือนเดิม  เนื้อหาไหนยาก ครูก็สามารถให้ทุกคนมาพบกลุ่มในเนื้อหานั้นได้ เพราะคนที่เลือกเรียนวิธีพบกลุ่มคือผู้ที่มีเวลามาพบกลุ่ม   เมื่อในเนื้อหาเดียวกันทุกคนเรียนวิธีเดียวกัน ( มีวิธีอื่นคือวิธีเรียนด้วยตนเองอีกวิธีเดียว ) ก็จะสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

 

         - นางนราภรณ์  ดิษธศรี กศน.อ.บางซ้าย โทร.มาถามว่าการบันทึกคะแนน “สอบซ่อม” ในโปรแกรม IT ไม่มีที่ให้ลง “ขาดสอบ” ถ้านักศึกษาขาดสอบซ่อม จะลง 0 หรือปล่อยว่างไว้   หลังจากข้าพเจ้าทดลองแล้ว ตอบว่า จะลง 0 หรือปล่อยว่างไว้ ก็ออกรายงานมาเหมือนกัน ฉะนั้นปล่อยว่างไว้
           เช้าวันที่ 23 ไปร่วมพิธีวันปิยะมหาราช กลางฝนปรอย ๆ บ่ายวันที่ 23 และ ช่วงเช้าวันที่ 24 ไปร่วมสมโภช และ ถวายผ้ากฐิน ท่านเลขาฯ อภิชาติ  จีระวุฒิ ที่วัดสามไถ อ.นครหลวง อยุธยา รวบรวมเงินถวายวัดได้ สองล้านสี่แสนกว่าบาท ( 2,455,599.23 บาท )


หมายเลขบันทึก: 308299เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขออนุญาติบ่นเรื่องหลักสูตร 2551 ด้วยนะครับ

ปัญหาไม่ได้มีแค่เรื่องหลักสูตร ยังมีเรื่องบุคลากรที่ไม่พอ

เพราะครู 1 คนต้องสอนทั้งหลักสูตรเก่า หลักสูตรใหม่ และหลายระตับ(ประถม ต้น ปลาย) ตามที่ต้องรับผิดชอบ

และถ้าเป็นครูอาสา ก็ต้องรับผิดชอบกลุ่มอาชีพ กิจกรรมทักษะชีวิต พอเพียง ฯลฯ

นี่ยังไม่นับงานที่ได้รับมอบหมายในสำนักงาน  ครู 1 คนจึงต้องทำได้ทุกอย่าง

เทอมที่ผ่านมาผมรับผิดชอบ นศ. 2 ระดับ(ประถม ต้น หลักสูตร 2551) จำนวนรวม 56 คน

เหมือนว่าไม่มากเท่า ม.ปลายที่มี 160 กว่าคน  แต่ครูคนเดียว 

แต่การสอน 2 ระดับ ทำให้ต้องทำ ใบงาน ใบความรู้ แบบฝึกหัด แบบทดสอบระหว่างภาค ทั้ง 2 ระดับ ระดับละ 9 วิชา

ทำให้มีงานที่ต้องคิดต้องทำ คือ  2 ใบงาน x 2ใบความรู้  x 2แบบฝึกหัด x 2แบบทดสอบระหว่างภาค x  9 วิชา

สมการตามนี้น่าปวดหัวไหมครับ  ยังไม่นับนักศึกษาที่เทียบโอน เรียนวิชาไม่เหมือนคนอื่นอีกนะครับ ที่ต้องทำให้ด้วย

ด้านบนนั้นคืองานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องรับผิดชอบเมื่อเทอมที่ผ่านมา

ส่วนงานการศึกษาต่อเนื่องพวกกลุ่มอาชีพอีกหลายกลุ่ม ที่เป็นงานตามบทบาทหน้าที่ของครูอาสา ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องทำให้ดี เพราะเป็นเหมือนผลงานหลักของครูอาสา

อีกทั้งงานที่ได้รับมอบหมายอื่นๆจากผู้บังคับบัญชา เช่น งานในสำนักงาน ที่มีทุกวันไม่มีวันหมด

 

ลองคิดกันดูนะครับว่าบุคลากรที่มีอยู่ทุกวันนี้มันพอหรือไม่  และการใช้งานบุคลากรถูกประเภทหรือเปล่า

ถ้าส่วนกลางยังจะใช้หลักสูตร 2551 อยู่

ผมคิดว่าควรเพิ่มบุคลากรให้มากกว่านี้

อย่ายึดติดกับรายหัว ถ้ายังหวังจะคุณภาพ

ผมคิดว่าการทำอะไรให้ดีสักอย่าง น่าจะต้องลงทุนบ้าง อย่าขี้เหนียว

ผมคงได้แต่บ่น เพราะไม่สามารถไปกำหนดอะไรได้ ครูตัวเล็กๆ

สุดท้ายนี้ ผมคงต้องขอบคุณอาจารย์เอก ที่มักจะนำเรื่องราวดีๆ มาบอกน้องๆเสมอ

ขอบคุณครับ

 

 

ก็น่า.น...น่ะซีครับ ต้องให้นักคิดทั้งหลายมารับผิดชอบจัดกิจกรรมการเรียนรู้เองซัก 1 ภาคเรียน แล้วเขาจะรู้ว่าที่คิด ๆ กันนั้น ทำจริงไม่ไหว

( ถ้าครู ศรช. ยังเบิกเงินจากเงินอุดหนุนรายหัวอยู่ ก็ยังต้องยึดกับรายหัว ถ้าครู ศรช. เปลี่ยนเป็นพนักงานราชการได้เมื่อไรก็ไม่ต้องยึดกับรายหัว )

เห้นกับความคิดเห็นของ อ.เอก มากเลยค่ะ คือ เปิดวิธีเรียนเพิ่มอีก 1 วิธีคือ วิธีตนเอง ให้สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาจริงๆมาเรียน แล้วการวัดผลก็ประเมินปลายภาคอย่างเดียวเลย ไม่ต้องมีคะแนนเก็บ ใครสอบได้ร้อยละ 50 ขึ้นไป ก็ถือว่าสอบผ่าน การทำเช่นนี้ก็น่าจะยุติธรรมดี สำหรับผู้ที่เลือกเรียนวิธีนี้ ไม่ต้องเป็นภาระกับครู ที่บางครั้งจัดวิธีเรียนแบบพบกลุ่ม แต่ก็มีนักศึกษาบางส่วนมาพบกลุ่มไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ก็เห็นใจกัน ให้ทำงานมาส่ง แล้วก็ให้คะแนนไป ซึ่งก็ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไรกับคนที่มาพบกลุ่มสมำเสมอ แต่มีเกณฑ์วัดผลและประเมินผลที่เหมือนกัน ก็หวังว่าผู้ที่ดำเนินการจัดหลักสูตรน่าจะลองพิจารณาปัญหาเหล่านี้ดูนะค่ะ เพราะหลักสูตร 51 มีปัญหามากพอสมควร โดยนักศึกษาที่เทียบโอน สอบถามกันตลอดว่าจะจบก่อน 2 ปี หรือไม่ เราไม่กล้าให้คำตอบนักศึกษาเลย ว่าจะจบก่อน 2 ปีหรือไม่ เพราะรายวิชาบางรายวิชา ไม่มีให้ลงทะเบียน ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการหลักสูตร51 และก็ทดลองสอนด้วย ก็รู้ซึ้งพอสมควรว่ายุ่งยากมาก เพราะครูไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ครบทุวิชา

ผมว่าครูที่มีความคิดเห็นเหมือน อ.ฐิฎา หรือเหมือนผม อย่างนี้ มีมากหลายคน แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจ

เห็นด้วยค่ะ..และถ้าคนกศน.พระนครศรีอยุธยาเห็นด้วย ก็ช่วยกันผลักดัน นำเสนอปัญหาและก็ช่วยกันแก้ปัญหาภายใน จังหวัดเราก่อน ที่เห็นทำกันก็มี ช่วยกันทำแผนการเรียนรู้ ช่วยกันออกข้อสอบ แต่เราทำเหมือนกัน 16 อำเภอ ทำเกณฑ์การปฏิบัติเหมือน ๆ กันส่วนบริบท ให้ทุกคนนำไปรับให้สอดคล้องกับอำเภอตนเอง น่าจะดีนะคะ คนเก่ง คนดีศรีอยุธยา ก็จะเหนื่อยมากหน่อยนะคะ แต่ถ้าคิดว่าช่วยน้อง ๆ และช่วยกันทำงาน ก็คงจะ O.K.

จะให้พวกเราช่วยกันทำอะไรอีก ก็เสนอ อ.ดุษฎี หรือเสนอท่าน ผอ.ดิศกุล ในเว็บบล็อก ได้นะครับ

สวัสดีค่ะ

ทุกคนที่สอบผ่านการคัดเลือก ได้เลือกสถานศึกษาและสำนักงาน กศน.จะแต่งตั้งให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่งไปก่อนค่ะ และประมาณกลางเดือนทุกคนต้องเข้ารับการอบรมพัฒนาผู้บริหารจะแบ่งเป็น 2 ช่วงค่ะ ช่วงแรกภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ (ฝึกงานในสถานศึกษา/สำนักงานต้นแบบ) เมื่อผ่านการอบรมทั้ง 2 ช่วงแล้ว ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาก็ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สำหรับผู้ที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก็ต้องไปศึกษา และจะแต่งตั้งเมื่อคุณสมบัติครบถ้วนค่ะ

สำหรับวันอบรมที่ซ้อนกันอยู่ สำนักงาน กศน. ได้ข้อมูลจำนวนของผู้บริหารที่จะต้องเข้าอบรมเพื่อเยียวยาแล้วค่ะ คงจะต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไปค่ะ

 

เรื่อง การใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เห็นด้วยกับ อ. เอกชัยเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะยุบรวมบางรายวิชาลงและเพิ่มจำนวนหน่วยกิตไป เพราะบางรายวิชาที่มีอยู่นั้นไม่น่าจะเป็นรายวิชาได้ ยกตัวอย่างเช่น รายวิชาคิดเป็น รายวิชาช่องทางเข้าสู่อาชีพ เป็นต้น รายวิชาพวกนี้น่าจะเป็นสาระหนึ่งของรายวิชาหนึ่งเท่านั้น ไม่น่ามาแยกเป็นรายวิชาให้มากไปจนนักศึกษาสับสนในการสอบ เพราะผลการสอบในภาคเรียนที่ 1/2552 ที่ผ่านมานักศึกษาหลักสูตรใหม่มีปัญหามากเพราะรายวิชามากเกินไป บางคนไม่รู้ว่าตนเองลงทะเบียนวิชาอะไรบ้าง และต้องสอบวิชาอะไรบ้าง (เป็นธรรมดาของ นศ. กศน. อยู่แล้ว) และเมื่อเปรียบเทียกับนักศึกษาหลักสูตรเก่าแล้ว นักศึกษาหลักสูตรใหม่บางระดับขาดสอบเกือบ 70 % เข้าสอบประมาณ 30-35 % เท่านั้น ในขณะที่ นักศึกษาหลักสูตรเก่าเข้าสอบตั้งแต่ 70 -100 % ในบางหมวดวิชา โดยเฉพาะ ม. ปลายเข้าสอบเกือบ 100 % ถ้าจะวิเคราะห์ น่าจะมีสาเหตุมาจากหลักสูตรใหม่รายวิชาที่ลงทะเบียนมากเกินไป นักศึกษาต้องมีงานส่งมากและเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขาดการติดต่อและไม่มาสอบในที่สุด ส่วนหลักสูตรเก่า นักศึกษาลงเพียง 2 หมวดวิชา หรือ 3 หมวดวิชาในระดับ ม.ปลาย หรือผู้ที่สอบไม่ผ่าน และต้องมาพบกลุ่มทุกอาทิตย์ ทำให้นักศึกษาไม่ขาดการติดต่อกับสถานศึกษา และมาเข้าสอบมาก แต่ก็มีข้อเสียคือคะแนนสอบปลายภาคบางรายวิชาทำได้ไม่ถึง 50 % ทำให้นักศึกษาหลักสูตรเก่าตกมาก แต่นักศึกษาหลักสูตรใหม่แทบจะไม่มีคนตกเลยเนื่องจากไม่ไค้คำนึงถึงคะแนนสอบปลายภาค เพียงแต่ดูว่าคะแนนเก็บรวมกับคะแนนสอบปลายภาคได้ถึง 50 % ก็ถือว่าสอบผ่าน เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ทาง อยุธยาเราน่าจะรวบรวมปัญหาต่าง ๆ แล้วนำเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรและปรับลดวิธีเรียนต่อไปเพื่อประโยชน์และคุณภาพของนักศึกษา  กศน.

 

 

ผอ.  ครับ ตอนสัมมนาเมื่อวันที่ 19-20 ต.ค.52 นั้น พวกเรา ( อยุธยา ) และทุกจังหวัดที่นำร่อง ก็เสนอเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้ยุบรวมจำนวนรายวิชาลง

แต่ไม่รู้ว่า กลุ่มพัฒนา กศน. เขาจะยอมดำเนินการปรับเปลี่ยนหรือไม่ครับ

อยากถามเรื่องบุคลากร ศรช. แต่ละตำบลว่า หลักการทำงานเป็นอย่างไร

และการรับสมัคร การดำเนินงานเป็นระบบหรือไม่ ความตรงต่อเวลา และเมื่อได้นศ.มา

ครู ครช.เป็นคน คีย์ข้อมูลเอง หรือส่งฝ่ายทะเบียน อยากทราบขั้นตอนการทำงานมาก

ที่เจอปัญหาก็คือ ครู ศรช.ไม่ส่งงาน เอกสาร ตรงตามเวลา ไม่รับผิดชอบนศ.

และเรื่องมารยาทแย่มาก ไม่เคารพข้าราชการเป็นอย่างมาก

1. หลักการทำงานของครู ศรช. ก็มีอยู่แล้ว ( ผมก็เคยตอบไว้ในข้อความ 77 ที่ http://gotoknow.org/blog/disakul/142253?page=3 ) และตอนนี้ส่วนกลางกำลังมอบหมายคณะทำงานปฏิรูปครู กศน. ให้จัดทำคู่มือครู ศรช. โดยเร่งด่วนอีกด้วย

2. ปกติฝ่ายทะเบียนเป็นผู้รับผิดชอบในการคีย์ข้อมูล

3. การที่ครู ศรช.ไม่เคารพข้าราชการ ก็อยู่ที่หลาย ๆ อย่าง นอกจากอยู่ที่ตัวข้าราชการแล้ว ที่สำคัญคือผู้บริหาร เช่น ปัจจุบันผู้บริหารหลายคนจะไม่ชอบข้าราชการเพราะข้าราชการยึดระเบียบหลักเกณฑ์เน้นคุณภาพคุณธรรม ไม่ตามใจผู้บริหารเหมือนบุคลากรที่ยังต้องทำสัญญาเป็นระยะ ๆ ถ้าผู้บริหารนินทาข้าราชการให้คนอื่นฟัง หรือผู้บริหารร่วมกับครูอาสาฯ ครู ศรช. นินทาข้าราชการ ก็จะทำให้ครู ศรช. ไม่เคารพข้าราชการ แต่ดูถูกเหยียดหยามข้าราการ ( ผมก็โดน หึหึ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท