จิตสาธารณะ


จิตสาธารณะกับเด็กไทย


จิตสาธารณ(Public Mind)

        มีการกำหนดลักษณะของคำว่า “จิตสาธารณะ” ไว้อย่างหลากหลาย ทั้งคำที่ใช้ในภาษาไทย เช่น จิตสาธารณะ สำนึกสาธารณะ และจิตสำนึกสาธารณะ เป็นต้น และคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษ เช่น Public Consciousness หรือ Public Mind โดยสามารถสรุปความหมายของจิตสาธารณะได้ว่า หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่า หรือการให้คุณค่าแก่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งสาธารณะที่ไม่มีผู้ใดผู้ผู้หนึ่งเป็นเจ้าของ หรือเป็นสิ่งที่คนในสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากความรู้สึกนึกคิด หรือการกระทำที่แสดงออกมา โดยพิจารณาจากความรู้ความเข้าใจหรือพฤติกรรมที่แสดงออกใน 3 องค์ประกอบ ตามนิยามความหมายจิตสาธารณะของชาย โพธิสิตา (2540 : 14 – 15) และลัดดาวัลย์ เกษมเนตร (2546 : 2-3)  ดังนี้

องค์ประกอบที่    1    คือ การหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม กำหนดตัวชี้วัดจาก
        1.    การดูแลรักษาของส่วนรวม ใช้ของส่วนรวมแล้วเก็บเข้าที่
        2.    ลักษณะการใช้ของส่วนรวม รู้จักใช้ของส่วนรวมอย่างประหยัดและทนุถนอม
องค์ประกอบที่    2    คือ การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ กำหนดตัวชี้วัดจาก
        1.    การทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อส่วนรวม
        2.    การรับอาสาที่จะทำบางอย่างเพื่อส่วนรวม
องค์ประกอบที่     3    คือ การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม กำหนดตัวชี้วัดจาก
        1.    การไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง
        2.    การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้สามารถใช้ของส่วนรวมนั้น

ความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ

    การที่คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการพึ่งพากัน การที่คนในสังคมขาดจิตสาธารณะนั่น จะมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว องค์กร อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ดังนี้ (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร. 2543 : 22 – 29)
    ผลกระทบต่อบุคคล ทำให้เกิดปัญหา คือ
    1.    สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง
    2.    สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น

    ผลกระทบระดับครอบครัว ทำให้เกิดปัญหา คือ
    1.     ความสามัคคีในครอบครัวลดน้อยลง
    2.     การแก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว

    ผลกระทบระดับองค์กร ทำให้เกิดปัญหา
    1.     การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร
    2.     ความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น
    3.     การเบียดเบียนสมบัติขององค์กรเป็นสมบัติส่วนตน
    4.     องค์กรไม่ก้าวหน้า ประสิทธิภาพและคุณภาพของงานลดลง
    ในระดับชุมชน ทำให้เกิดปัญหา คือ
    1.     ชุมชนอ่อนแอ ขาดการพัฒนา เพราะต่างคนต่างอยู่ สภาพชุมชน มีสภาพ เช่นไรก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ไม่เกิดการพัฒนา และยิ่งนานไปก็มีแต่เสื่อมทรุดลง
    2.     อาชญากรรมในชุมชนอยู่ในระดับสูง
    3.     ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะคนในชุมชนมองปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ ขาดคนอาสานำพาการพัฒนา เพราะกลัวเสียทรัพย์กลัวเสียเวลา หรือกลัวเป็นที่ครหาจากบุคคลอื่น
    
    ในระดับชาติถ้าบุคคลในชาติขาดจิตสาธารณะจะทำให้เกิด
    1.     วิกฤตการณ์ภายในประเทศบ่อยครั้ง และแก้ปัญหาไม่ได้ เกิดการเบียดเบียนทำลายทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของส่วนรวม
    2.     ประเทศชาติอยู่ในสภาพล้าหลัง เนื่องจากขาดพลังของคนในสังคม เมื่อผู้นำประเทศนำมาตรการใดออกมาใช้ ก็จะไม่ได้ผลเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
    3.     เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ประโยชน์กลุ่มของตนและพวกพ้อง เกิดการทุจริตคอรัปชั่น
    
    ในระดับโลกถ้าบุคคลขาดจิตสาธารณะ จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาในระดับต่างๆ ดังนี้
    1.     เกิดการสะสมอาวุธกันระหว่างประเทศ เพราะขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กลัวประเทศอื่นจะโจมตี จึงต้องมีอาวุธที่รุนแรง มีอานุภาพในการทำลายสูงไว้ในครอบครอง เพื่อข่มขู่ประเทศอื่น และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็มักมีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงของแสนยานุภาพทางการสงคราม ในการตัดสินปัญหา
    2.     เกิดการกลั่นแกล้ง แก่งแย่งหรือครอบงำทางการค้าระหว่างประเทศ พยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางการค้าทำให้ประเทศด้อยกว่าขาดโอกาสในการพัฒนาประเทศของตน
    3.     เกิดการรังเกียจเหยียดหยามคนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ หรือต่างท้องถิ่น มองชนชาติอื่น ๆ เผ่าพันธุ์อื่นว่ามีความเจริญหรือมีศักดิ์ศรีด้อยกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ของตนเอง ดูถูกหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติอื่น
    
    จากความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ ถ้าสามารถปลูกฝัง ส่งเสริม หรือพัฒนาให้เด็กมีจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยวิธีการต่าง ๆ จะทำให้เด็กมีจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อาสาดูแลรับผิดชอบสมบัติส่วนรวม มีการใช้อย่างสมบัติของส่วนรวมอย่างเห็นคุณค่า ใช้อย่างทะนุถนอม รู้จักการแบ่งปันโอกาสในการใช้ของส่วนรวมให้ผู้อื่น เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ปัญหาการทำลายสาธารณะสมบัติต่าง ๆ จะลดลง การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์พวกพ้องก็จะลดน้อยลง และจะนำมาสู่สังคมที่พัฒนาขึ้น

การพัฒนาจิตสาธารณะ
    จิตสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดจากการฝึกอบรมตั้งแต่วัยเด็ก และจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนถึงวัยรุ่น และจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก คอยแนะนำส่งเสริมในสิ่งที่ถูกที่ควร คอยชี้แนะ และปลูกฝังจิตสาธารณะให้แก่ด็ก นอกจากนี้ เด็กยังต้องมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบตามธรรมชาติอันเกิดขึ้นได้เอง อีกทั้งเด็กยังมีการเรียนรู้ด้านวินัยจากวัฒนธรรม โดยอาศัยการสั่งสอน ฝึกฝน จากบุคคล สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกฏธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม การมีกิจกรรม และใช้สิ่งของร่วมกันในสังคม การพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็กในการใช้สิ่งของร่วมกัน ดูแลทรัพย์สมบัติส่วนรวม และมีน้ำใจแบ่งปันสิ่งของให้แก่กันและกัน
    จะเห็นได้ว่าการพัฒนาจิตสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องปลูกฝังหรือเสริมสร้างไว้ตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์ที่เพียงพอเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปพัฒนาตนเอง โดยในการปลูกฝังนั้น ควรให้เด็กได้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของจิตสาธารณะ รวมทั้งมีการฝึกฝนให้เด็กได้ปฏิบัติจริง เพื่อให้เด็กเกิดการกระทำที่เกี่ยวกับการพัฒนาจิตสาธารณะอย่างแท้จริงจนเกิดเป็นลักษณะนิสัย และควรทำให้เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย และเกิดการพัฒนาตามลำดับ ซึ่งในการฝึกอบรม ปลูกฝัง หรือพัฒาจิตสาธารณะให้แก่เด็กนั้น ควรมีครูหรือผู้ใหญ่คอยดูแลชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง เด็กจะได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม  

ทุกวันนี้สังคมเรามุ่งแต่สอนให้ลูกเรา "เจริญทางสมอง" เพื่อเป็นคนเก่ง คิดเก่ง วางแผนเก่งแล้ว จิตวิญญาณของเขาล่ะจะเป็นอย่างไร

 “ชีวิต” และ “ความเป็นมนุษย์”...จริยธรรม...และ...ความดี

 การศึกษาไทยขณะนี้มัวให้ความสนใจแต่การทดสอบ และแข่งขันเอาแนวทางฝรั่งมาพัฒนาเด็กไทย จนจะเป็นเด็กไทยใจเป็นทาส(ต่างชาติ)ไปหมดแล้ว

 ประเด็น น่าใส่ใจมากคือ เรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มีตัวอย่างหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าเด็ก-เยาวชน กำลังบริโภควัตถุและเสพสุขจากการบริโภควัตถุนั้นตลอดเวลา เรื่องที่ควรทราบคือความสุขที่ได้จากการบริโภควัตถุนั้นไม่มีวันเต็ม ต้องหาใหม่และบริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาหลักๆ ของเยาวชนคือเรื่องเซ็กซ์ ยาเสพติด เกม และความรุนแรง

ประเด็นร่วมคือ ความเร็ว
"เกมฆ่าคน" สามารถเหนี่ยวนำคนคนหนึ่งให้ลุกไปฆ่าคนได้หรือไม่?

เล่นเกมก็เสพสุขเร็ว รู้สึกตึงเครียดก็ระบายออกด้วยความรุนแรงถือเป็นการหาความสุขที่เร็ว  สุขแต่ช้า ไม่เอาดีกว่า เทียบ กับการเสพสุขจากการอ่านหนังสือ เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ ไปบำเพ็ญประโยชน์ นั่งสมาธิเจริญสติ เหล่านี้ให้ความสุขช้า ช้ากว่าหรือช้ามาก

กิจกรรมเก่าแก่ อธิบายไปก็แค่นั้นเรา(ผู้ใหญ่)ไม่สนใจ เด็กๆจะแลหรือครับ

แล้วจะไปกันอย่างไร...

แล้วคุณล่ะ  ? มาร่วมกันสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้กับลูกหลานของเรากันเถอะ

ขอขอบคุณที่มา

  จิตสาธารณะ : คุณลักษณะของเด็กไทยที่พึงประสงค์ ของ นวรินทร์ ตาก้อนทอง

และ http://tamdee.multiply.com/

หมายเลขบันทึก: 307795เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พาเยาวชน "จิตสาธารณะ" จากเชียงรายมาเรียนรู้..ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะเรามาพยายามด้วยกันนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท