BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วทัญญู


วทัญญู

วันนี้ วันพระ... ก็ได้นำเอาบท กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา... ขึ้นมาเป็นหัวข้อในการแสดงธรรม เฉพาะคำว่า วทญฺญู หรือภาษาไทยนำมาใช้ตั้งชื่อตรงตัวว่า วทัญญู ซึ่งก็เห็นอยู่ทั่วไป เป็นคำที่ต้องอธิบายเพิ่มเติม จึงถือโอกาสนำมาเล่าซ้ำที่นี้...

วทัญญู แปลตามศัพท์ว่า ผู้รู้ซึ่งคำพูด โดยมาจาก วทะ แปลว่า คำพูด และ ญู แปลว่า รู้ (วทะ + ญู = วทัญญู) ดังมีอรรถวิเคราะห์ว่า...

  • วทํ ชานาตีติ วทญฺญู
  • ผู้ใดย่อมรู้ซึ่งคำพูด ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า วทัญญู (ผู้รู้ซึ่งคำพูด)

 

อย่างไรก็ตาม วทัญญู เมื่อเพ่งโดยอรรถ ท่านก็แปลว่า คนใจบุญ คนมีน้ำใจ คนเอื้อเฟื่อ เผื่อแผ่ คนใจดี ... จึงทำให้งงได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร จาก ผู้รู้ซึ่งคำพูด จึงมากลายเป็น คนใจดี คนใจบุญ... เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนเอง ตอนที่เรียนบาลี เมื่อแปลคำอธิบายตามคัมภีร์ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนักเพราะเข้าไม่ถึง แต่เมื่อจำเป็นต้องนำมาแสดงธรรมจึงต้องตีความให้แตก ซึ่งผู้เขียนก็ขยายความทำนองว่า ญาติหรือเพื่อนเก่าแก่มาเยี่ยมที่บ้าน หลังจากพูดคุยกันแล้ว เค้าก็เล่าให้ฟังว่า

  • "ตอนนี้ค่อนข้างลำบาก ลูกเข้าโรงเรียนใหม่ต้องใช้จ่ายเงินเยอะ บ้านที่ผ่อนไว้ก็ยังค้างอยู่ รถก็ยังผ่อนไม่ขาด แถมตนเองก็มีโรคประจำตัว..."

ถ้าเป็นไปทำนองนี้ เราก็พอจะรู้จากคำพูดได้ว่าญาติหรือเพื่อนที่มาหาเรานั้นเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่กล้าพูดตรงๆ จึงได้ช่วยเหลือไปตามสมควรเท่าที่พอจะช่วยได้... ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จัดว่า วทัญญู คือ รู้ซึ่งคำพูด (แต่ถ้าแกล้งเมินเฉย เอาหูทวนลม หรือบ่ายเบี่ยงไปพูดเรื่องอื่น ก็ไม่ชื่อว่า วทัญญู)

 

อนึ่ง คัมภีร์บางแห่งยกประเด็นว่า แม้พระ-เณรที่อุ้มบาตรมายืนอยู่หน้าบ้านตอนเช้า เราเห็นแล้วทราบได้ทันทีว่า "ท่านมาบิณฑบาต" จึงได้จัดหาสิ่งของใส่บาตรตามสมควร... แม้อย่างนี้ก็จัดว่า วทัญญู ผู้รู้ซึ่งคำพูด เช่นเดียวกัน

เฉพาะประเด็นนี้ ผู้เขียนเพิ่มเติมว่า คำพูดหรือถ้อยคำนั้น เกิดจากวจีกรรม แต่อาจแสดงออกทางวาจาหรือกายก็ได้ เช่น ถ้าเพื่อนชวนเราว่า ไปทะเลหรือไม่ ? เมื่อเราตอบว่า ไม่ไป ก็จัดเป็นวจีกรรมเป็นไปทางวจีทวาร... แต่ถ้าเราไม่พูดอะไร เพียงแต่สั่นศรีษะ ก็จัดเป็นวจีกรรมเป็นไปทางกายทวาร เพราะเป็นการให้รู้ว่าเป็นการปฏิเสธการชักชวนเช่นเดียวกัน... ซึ่งก็เหมือนกับที่พระ-เณรมาบิณฑบาตตอนเช้า ท่านขอเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้ขอด้วยวาจาเพราะขอด้วยกายนั่นเอง

สรุปว่า วทัญญู แปลว่า ผู้รู้ซึ่งคำพูด นั่นคือ รู้คำพูดที่ผู้อื่นแสดงออกมาเพื่อให้เราช่วยเหลือบางสิ่งบางอย่าง ถ้าใครแกล้งไม่รู้ ไม่ช่วยเหลือก็ไม่จัดเป็นวทัญญู ซึ่งการเป็นวทัญญูตามนัยนี้ ตรงกับสำนวนแบบไทยๆ ว่า คนใจดี คนใจบุญ คนมีน้ำใจ คนชอบช่วยเหลือเผื่อแผ่ผู้อื่น นั่นแล..  

คำสำคัญ (Tags): #วทัญญู
หมายเลขบันทึก: 306800เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 00:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ศัพท์นี้กระผมก็ติดในสำนวนว่าเป็นผู้รู้ถึงถ้อยคำของผู้มีความต้องการมีสันดานปราศจากตระหนี่ จนชินครับ มาเห็นพระอาจารย์อธิบายไว้ก็ค่อยชัดเจน ได้ความรู้ดีครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท