ในงานวิจัยประเภท “วิจัยและพัฒนา(The Research and Development)” ผลลัพธ์ที่สำคัญที่ได้จากงานวิจัยประเภทนี้ คือ 1) สิ่งประดิษฐ์/วัตถุ ที่เป็นชิ้น เป็นอัน(Materials) เช่น จรวด รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ชุดการสอนของครู บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ชุดฝึกทักษะ/แบบฝึก ฯลฯ และ 2) รูปแบบ/กระบวนการ/วิธีการ/ระบบงาน(Process/Procedure/System) เช่น ระบบ Q.C. ระบบ TQM ระบบ ISO รูปแบบการบริหารจัดการ กระบวนการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม รูปแบบการบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาล การสอนแบบโครงการ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน การจัดกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ ฯลฯ
ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในการตัดสินคุณภาพผลงานประเภทนี้ คือ ในกรณีของ การวิจัยเชิงประดิษฐ์ หรือการวิจัยประเภทที่ 1) ผู้พัฒนาผลงานจะนำเสนอทั้ง “ตัวนวัตกรรม” และ “รายงานการพัฒนานวัตกรรม” หรือ “รายงานผลการใช้” ในกรณีนี้ คุณค่าของผลงานน่าจะอยู่ที่ประสิทธิภาพหรือคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องดูกันที่ ”ตัวนวัตกรรม” มากกว่าดูกันที่ “ตัวรายงานการพัฒนา”
“ตัวนวัตกรรม” จะสะท้อนถึง “ความถูกต้อง ความครบถ้วน และ ความสร้างสรรค์” ส่วน “ตัวรายงาน” จะสะท้อนถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรม....ในการตัดสินคุณภาพผลงาน โดยเฉพาะ ถ้าเป็นการนำเสนอผลงานเพื่อเป็นผลงานทางวิชาการเพื่อการเลื่อนวิทยฐานะ น่าจะแยกพิจารณา ดังแนวทาง ต่อไปนี้
1) ถ้าผลงานมีความสมบูรณ์ทั้ง “ตัวนวัตกรรม” และ “รายงานการพัฒนา” ...การตัดสินคุณภาพก็ทำได้ง่าย ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
2) ในกรณีที่ “ตัวนวัตกรรมมีคุณภาพ หรือมีความน่าสนใจ หรือ สร้างสรรค์อย่างยิ่ง” แต่ “เขียนรายงานการพัฒนา” ได้ไม่ดี(รายงานไม่มีคุณภาพ)....ในกรณีเช่นนี้...ควรจะให้ปรับแก้ หรือพอจะให้ผ่านได้กระมัง
3) ในกรณีที่ “ตัวนวัตกรรม ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าสนใจ” แต่เขียน “รายงานการพัฒนา ระดับ ดีมาก”(เขียนให้ดูดี)...ผลงานเช่นนี้ ไม่น่าจะผ่าน และไม่น่าจะปรับแก้ได้(ถ้าจะปรับแก้ คือ ต้องแก้ที่ตัวนวัตกรรม และต้องทดลองใหม่)
4) ในกรณีที่ “ตัวนวัตกรรม” ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ “รายงานการพัฒนาฯ” ก็ไม่มีคุณภาพ...กรณีนี้ คงจะตัดสินได้ง่ายมาก(ไม่ผ่าน)
ส่วนในกรณีที่ ผลงานวิจัยและพัฒนา เป็นการพัฒนาประเภทที่ 2) คือ พัฒนากระบวนการ/วิธีการ เช่น พัฒนารูปแบบการสอน วิธีสอน หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้...การตัดสินคุณภาพ มักจะดูกันที่ “รายงานการวิจัยและพัฒนา” (โดย อาจพิจารณาส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น สื่อ คู่มือการจัดกิจกรรม เพื่อใช้ประกอบการตัดคุณภาพผลงาน) ผลงานประเภทหลังนี้ ผู้วิจัยต้องโชว์ความโดดเด่นในเรื่อง การนำเสนอกระบวนการ/วิธีการ หรือ มีหลักทฤษฎี-หลักวิชาที่ใช้เป็นกรอบความคิดในกระบวนการบริหารจัดการอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งเขียนรายงานได้ยากกว่า รายงานการวิจัยประเภทที่ 1)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ ใน การวิจัยเพื่อพัฒนางาน พัฒนาการเรียนรู้
เรียน ท่านอาจารย์
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ
แต่การตัดสินมักอยู่ที่ กรรมการค่ะ ที่จะประเมินตามเกณฑ์ใด
ขอบพระคุณมากค่ะที่แบ่งปันข้อคิดดีดีให้ได้อ่านค่ะ