จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ลองแหลงใต้กับลูก


เคยรับปากพ่อให้เรื่องหนึ่งครับ ซึ่งยังทำไม่ได้คือ หลานๆ ของพ่อต้องให้พูดใต้ได้ รับปากพ่อไว้อย่างไม่ค่อยจะมั่นใจเท่าไร แล้วก็ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ฝึกลูกเลย จนสุดท้ายโยนภาระนี้กลับไปให้พ่อ โดยบอกว่า ต่อไปแล้วพ่อคุยกับหลานๆ ต้องแหลงใต้สิ หลานๆ จะได้เคยชินกับภาษาบ้าง แต่ทุกครั้งที่หลานๆ โทรหา คุณปู่คุณย่าก็พากันพูดกลางหมด

เป็นความบังเอิญครับ สำหรับวันนี้ อันเนื่องจากช่วงหลังๆ สังเกตเห็นเวลาลูกเล่นๆ กันและจะแสดงบทบาทเป็นพ่อบ้างเป็นแม่บ้าง แต่เวลาสมมุติตัวเองเป็นพ่อ ก็จะเรียกว่า "อาบะห์" ซึ่งไม่ใช่คำเรียกพ่อที่ผมให้ลูกๆ เรียกผม เพราะผมใช้เรียกว่า "อาบีย์" คำนี้่พี่ๆ ลูกพี่ลูกน้องของลูกเขาใช้เรียกกัน สุดท้ายลูกๆ ก็หันมาเรียกผมว่า อาบะห์บ้าง ปกติผมก็โอเคตามน้ำไป แต่วันนี้ผมวางเงื่อนไขว่า ถ้าจะเรียก อาบีย์ ให้เรียกว่า "ป๊ะ" ดีกว่า ป๊ะ เป็นคำเรียกพ่อของมุสลิมใต้ตอนบน ซึ่งลูกๆ ก็ให้ความร่วมมือครับ เรียกด้วยชื่อนี้ทันที่ที่ได้ตกลงกัน (ก็เขากำลังสนุกกับการเล่นอยู่นี่ครับ)

พอลูกๆ เรียกได้ที่ ผมก็เริ่มเลยครับ แหลงใต้ด้วยเสียเลย แค่ประโยคแรกที่เอ๋ยออก ปรากฏเตาฟิกก็พูดขึ้นเลยว่า "ป๊ะพูดเหมือนโต๊ะชาย (ปู่)" ผมก็ลองพูดใต้ด้วยประโยคง่ายๆ ส่วนใหญ่ก็ยังใช้คำศัพท์เป็นภาษากลางอยู่ครับ ทดสอบแล้วก็พบว่า อิลฮามเข้าใจดี เลยลองแหลงใต้แบบเต็มรูปแบบ ได้ผลครับ รอบนี้อิลฮามสนุกขึ้นอย่างเต็มที่ แถมพยายามแหลงใต้กับผมด้วย ฮือ ศัพท์โอเคครับ แต่สำเนียงยังเหมือนเพื่อนผมคนหนึ่ง(จากสามจังหวัด) ที่ชอบแหลงใต้กับผม คือ ไม่มันเหมือนซะทีเดียว มันยังแปล่งๆ อยู่ แต่ก็ดีครับ คิดว่าถ้าได้คุยไปเรื่อยๆ น่าจะทำให้สำเนียงโอเคขึ้นแน่ๆ (อินชาอัลลอฮ์)

เหลือแต่เตาฟิกครับ ยังไม่เอ๋ยปากเป็นสำเนียงใต้เลย แต่คิดว่ายังไม่ถึงเวลาสำหรับเตาฟิกครับ ผมเคยวางแผนไว้นานแล้วครับว่าจะสอนให้แหลงใต้ตอนอิลฮามอายุห้าขวบครับ เหตุผลง่ายๆ ครับคือ วัยนั้นภาษาแรกค่อนข้างจะมั่นคงแล้ว เพิ่มอีกสองภาษาคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร

ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ นี่คือสิ่งที่อัลลอฮ์สร้างครับ การเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ มันมหัศจรรย์จริงๆ 

คำสำคัญ (Tags): #แหลงใต้
หมายเลขบันทึก: 306413เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 05:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ อาจารย์จารุวัฒน์

อ่านแล้วก็คิดถึงสภาพตนเองในวัยเด็ก...ตอนวัยเด็กอยู่บ้านพักข้าราชการซึ่งจะมีผู้คนมาจากทุกสารทิศของเมืองไทย ปรากฏว่า คนทำงานที่มีถิ่นฐานใต้ก็ต้องสอนให้ลูกใช้ภาษากลาง...แต่ที่บ้านนี้แหลงใต้กันค่ะอาจารย์...ในซอยมีบ้านเราเพียงบ้านเดียว..พอถัดไปอีกซอนหนึ่งก็มีสองบ้าน...ถือว่าบ้านไหนสอนลูกแหลงใต้เป็นชนกลุ่มน้อย..แต่มีความสุขค่ะ...เข้าได้ทุกระดับประทับใจ

ขอบคุณครับ noktalay 

แหลงใต้ เป็นความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งของคนใต้ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

  • เห็นด้วยอย่างแรงนิ
  • ต้องหัดให้แหลงให้ได้
  • เป็นเรื่องที่น่ายินดี
  • และเด็กๆ..เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ภูมิใจ
  • ในภาษาถิ่นใต้
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์จารุวัจน์

  • ผมคนหนึ่งล่ะครับ ที่แอนตี้พวกพ่อใต้แม่ใต้แต่ลูกเป็นคนภาคกลาง
  • มันดูเหมือนสอนคนให้ไม่รักถิ่นเกิด ให้ลืมกำพืดตัวเอง
  • เราน่าจะสอนเยาวชนรุ่นหลังให้ภูมิใจในภาษาถิ่น
  • อย่างคนภาคเหนือภาคอิสาน เวลาให้สัมภาษณ์ออกทีวี ส่วนมากเขาจะพูดภาษาถิ่นตลอด.

ขอบคุณครับพี่ยาว เกษตรยะลา และคุณหมอ หมอน้อย 447 

ภาษาใต้เป็นความภูมิใจของคนใต้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท