ที่ปรึกษาจำเป็น: จะช่วยให้คนออกจากห้วงทุกข์ได้อย่างไร


คนทุกข์ใจนั้น มันไม่ใช่จะ ฮึบ! แล้วออกจากกองทุกข์ได้โดยง่าย ... แต่มันมีช่วงเวลาและเหตุปัจจัยของมันอยู่ การที่เราพยายามกดดันให้ผู้คนเข้มแข็งเวลาที่ทุกข์นั้น อาจจะดีในช่วงแรก แต่ถ้าทำบ่อยๆกลายเป็นว่า เขาจะรู้สึกว่า ทำไมฉันช่างอ่อนแออย่งานี้ ยังออกจากทุกข์ไม่ได้ และก็กลายเป็นทุกข์เพิ่ม เพราะ “อยาก” ออกจากทุกข์ แต่ “ทำไม่ได้”

ช่วงนี้มีโอกาสได้เป็นที่ปรึกษาให้กับใครหลายๆคนเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะในเรื่องจิตใจ และบาดแผลจากความรัก หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหญิงชาย เรื่องรักๆใคร่ๆ 

 

ในโอกาสอย่างนี้การใช้ธรรมะเข้าช่วยในการให้คำปรึกษาให้ผลค่อนข้างจะดีพอสมควรทีเดียว 

 

จากที่ผมประสบมา คนที่เข้ามาขอคำปรึกษาจะมีลักษณะที่อุปมาได้ดังนี้คือ 

 

เปรียบเหมือนคนถูกผลักตกลงมาในกระแสน้ำเชี่ยวกรากจากน้ำท่วมเฉียบพลัน โดนพัดไปกระแทกโขดหินและอื่นๆในกระแสน้ำ และก็หมดแรงจากความพยายามที่จะออกจากกระแสน้ำ เพราะน้ำมันแรงเหลือเกิน  

 

(ตรงนี้เปรียบได้กับ หลังจากที่เผชิญเหตุการณ์อันเลวร้าย จิตใจเหมือนตกอยู่ในห้วงทุกข์ จิตใจหมองหม่น ไม่สว่างไม่มีกำลัง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจมันมากมายเสียจน ยากที่จะดึงตัวเองออกจากความทุกข์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเจอความทุกข์แรงในช่วงแรกนั้น ย่อมเหมือนกับตกลงไปในกระแสน้ำเชี่ยวกราก ตั้งตัวไม่ติด...​ในขณะเดียวกัน แม้พยายามจะออกจากห่วงทุกข์ก็ทำไม่ได้ และก็ทุกข์เพิ่มเพราะ “อยาก” ออกจากทุกข์ ...และจิตใจก็หมดแรงไปเพราะความทุกข์นี่เอง) 

 

เราในฐานะคนช่วย ก็ไม่สามารถกระโดดลงไปในแม่น้ำได้ (เว้นแต่จะมีกำลังแบบเหลือล้น) ทำได้เพียงตะโกนบอกให้จับโขดหินไว้ หรือโยนเชือกลงไปให้จบรั้งเอาไว้เท่านั้น เพื่อไม่ให้ไหลลงไปกับกระแสน้ำเชี่ยวกรากนั้น ...แค่จับให้มั่นก็ทำได้ลำบากแล้ว อย่าว่าแต่ให้รั้งตัวเองและฝืนตัวข้ามกระแสน้ำมาขึ้นฝั่งเลย

 

(ตรงนี้ก็คือ เราเองก็ไม่สามารถไปร่วมทุกข์กับเขาได้ ถ้าเราไปร่วมทุกข์ ตกอยู่ในห้วงทุกข์ร่วมกันแล้ว ก็ยากที่จะช่วยกันพาขึ้นมาจากห่วงทุกข์ได้ ... เราทำได้แค่ เตือนสติเขา  ให้เครื่องมือ ให้เขามีสติเพียงเท่านั้น ...​ในช่วงเวลาที่ความทุกข์ยังไหลบ่ามา)

 

อย่างไรก็ดี ไม่มีน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากครั้งไหนที่จะเชี่ยวกรากตลอดเวลา สักพักน้ำจะค่อยๆอ่อนกระแสลงเองโดยธรรมชาติ ฉะนั้นเราจึงควรรั้งตัวเองเอาไว้ เพื่อรอจังหวะที่น้ำจะเบากระแสลง ในจังหวะนั้นเอง เขาอาจจะได้พักหรือพอจะมีกำลังมากขึ้น และเมื่อกระแสน้ำอ่อนแรงมากแล้ว เขาจึงสามารถฝ่ากระแสน้ำที่เบาบางลงมาขึ้นฝั่งได้ 

 

(ความทุกข์จะค่อยๆเบาบางไปตามกาลเวลาเอง หากเรามีสติอยู่กับตัว และไม่ไปคิดไปรู้สึกต่อเอง (คือคนส่วนใหญ่พอทุกข์แล้วมักจะคิดมากรู้สึกมากไปเองเพิ่มขึ้นไปอีก ปรุงแต่งเพิ่มขึ้นไปอีก) และหากประกอบกับได้ทำกิจกรรมที่ทำให้จิตมีกำลังมากขึ้น ก็จะทำให้เขามีแรงที่จะเดินขึ้นจากน้ำเองได้ 

 

การอุปมานี้ เขียนเพื่ออยากให้เข้าใจว่าเวลาคนทุกข์ใจนั้น มันไม่ใช่จะ ฮึบ! แล้วออกจากกองทุกข์ได้โดยง่าย ... แต่มันมีช่วงเวลาและเหตุปัจจัยของมันอยู่ การที่เราพยายามกดดันให้ผู้คนเข้มแข็งเวลาที่ทุกข์นั้น อาจจะดีในช่วงแรก แต่ถ้าทำบ่อยๆกลายเป็นว่า เขาจะรู้สึกว่า ทำไมฉันช่างอ่อนแออย่งานี้ ยังออกจากทุกข์ไม่ได้ และก็กลายเป็นทุกข์เพิ่ม เพราะ “อยาก” ออกจากทุกข์ แต่ “ทำไม่ได้”... ฉะนั้นต้องให้เวลาเค้าด้วย 

 

คนให้คำปรึกษาต้องรับฟังและเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น พยายามเข้าใจเหตุปัจจัยและเงื่อนไข ทั้งภายนอก และภายในจิตใจของเขาที่ทำให้เขาไปตกอยู่ในห้วงทุกข์นั้น หากเขามีเรื่องอัดอั้นก็ควรให้เขาระบายออกอย่างเต็มที่ (แต่ก็ต้องดูมิให้ระบายจนจิตใจดำดิ่งลงไปในห้วงทุกข์อีก) หลังจากนั้นเราจึงค่อยให้คำปรึกษา

 

โดยสรุปคือ สิ่งที่ผมแนะนำคนที่มาปรึกษาไปมี 2 อย่างคือ 

 

  1. ดูแลไม่ให้จิตใจตัวเองไปตกหล่ม จมกองทุกข์  -  
    • ในส่วนนี้สามารถทำได้ โดยการฝึกสติ  (โปรดอ่านเพิ่มเติมในวิปัสสนานุบาล ของดังตฤณ หรือ ฟังธรรมเทศนาของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
    • รักษาศีล / หรือ ทำให้ตนเองมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น  ห่างไกลจากอบายมุข - คือ การมีศีล และห่างจากอบายมุข ช่วยให้เราไม่ทุกข์เพิ่ม และเป็นการปิดประตูสู่ทางต่ำของเรา ...​หลายคนเมื่อทุกข์แล้วพลาดลงไปทางตกต่ำเลยก็เยอะ ฉะนั้นข้อนี้ต้องทำก่อน
  2. ทำให้จิตใจสว่างขึ้นมีกำลังมากขึ้น - ในส่วนนี้ทำได้หลายวิธี เช่น
    • ทำบุญ (โปรดดู  บุญกริยาวัตถุ 10 เพื่อดูว่า อะไรบ้างที่ทำแล้วได้บุญ) การทำบุญก็คือการทำให้จิตใจพองโต หรือสว่างขึ้นมานั่นเอง เมื่อจิตสว่างขึ้นจิตก็จะมีพลังขึ้นมา .. หากทำบ่อยเข้าก็จะช่วยให้ออกจากห่วงทุกข์ได้ง่ายขึ้น
    • ทำสมาธิ - การทำสมาธิคือการทำให้จิตรวมตัวไม่ฟุ้งกระจาย สามารถใช้การนั่งสมาธิติดตามลมหายใจก็ได้ หรือจะสวดมนต์ก็ได้
    • ทำสิ่งดีๆ/ สิ่งที่เป้นแรงบันดาลใจ - บางคนจะมีกำลังมากขึ้น หากได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และยิ่งหากสิ่งที่ตัวเองรักนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคม และต้องอาศัยความครีเอทีฟมากละก็ จะทำให้คนที่มีจริตช่างคิดและมีจิตสาธารณะฟื้นตัวจากห่วงทุกข์ได้รวดเร็วนัก ...​หรือการที่เตือนตนเองถึงสิ่งดีๆที่ตนเคยทำต่อคนอื่นก็พอช่วยได้เช่นกัน (เหมือนระลึกถึงบุญที่ตนเคยทำไว้นั่นเอง)

 

เท่าที่ผ่านมาประมาณ 4-5 เคส ก็มักจะเป็นแบบนี้นะครับ และวิธีการที่บอกข้างต้นก็ดูจะพอช่วยให้เขาออกจากห้วงทุกข์ได้พอสมควร หลายคนผ่านไปได้ด้วยดีและมีชีวิตที่ดีขึ้น 

 

จึงอยากจะนำบทเรียนที่สรุปได้มาแบ่งปันกันครับ 

 

หากใครมความเห็นเพิ่มเติมหรือข้อติชมโปรดบอกและแบ่งปันครับ

หมายเลขบันทึก: 306397เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ กำลังเริ่มรู้สึกเหมือนจะทุกข์อยู่พอดีเลยค่ะ พอได้เข้ามาอ่านที่อาจารย์แนะนำก็รู้สึกตัวขึ้นบ้าง จะพยายามไม่ปล่อยให้อารมณ์ทุกข์มันเข้าครอบงำอีกค่ะ :)

หากพอจะช่วยได้ก็ยินดีครับ :)

สวัสดีครับ

สำนวนจีน ช่วยคน ดีกว่าสร้างเจดีย์เจ็ดชั้น ครับ

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะคะ ตอนนี้ยังพอไหวอยู่ค่ะ แต่ต่อไปถ้าทุกข์มันเพิ่มขึ้นก็คงจะได้ขอคำปรึกษาชี้แนะจากอาจารย์บ้างน่ะค่ะ ตอนนี้ก็ได้แต่ตามดูจิตตัวเองไปเรื่อยๆก่อน ดูซิว่ามันจะทุกข์ไปถึงไหน ถ้าหยุดได้ก็จะพยายามหาทางหยุดเจ้าตัวทุกข์นี้มันน่ะค่ะ :)

ขอบคุณบันทึกนี้ครับ

ทำให้มานั่งทบทวนบทบาทชีวิตที่ผ่านมาด้วยการนำหลักธรรมทางศาสนามากำกับพิจารณา

บางครั้งผงเข้าตาตนเองก็ต้องอาศัยผู้อื่น

ขอบคุณมากครับสำหรับคติและสติเตือนใจในวันนี้

มีประสบการณ์พอมั๊ยคะ??

เป็นที่ปรึกษาต้องมีประสบการณ์มากหน่อยนะ

....ล้อเล่นค่ะ..เห็นจากรูป..ไม่น่าจะมีประสบการณ์ชีวิตมากนัก

 

หุหุหุ ผมจะถือว่าเป็นคำชมว่าหน้าเด็กแล้วกันนะครับ :)

เรื่องประสบการณ์ผมว่า ก็ดูจะจำเป็น แต่ก็ไม่จำเป็นว่าคนที่มีประสบการณ์จะให้คำปรึกษาได้ดีเสมอไปนะครับ ... มันเป็นคนละทักษะกันน่ะครับ เหมือนจบปริญญาเอก ใช่ว่าจะสอนหนังสือรู้เรื่อง ...

นอกจากนี้ คนที่มีประสบการณ์มากแต่ไม่เคยทบทวนหรือเรียนรู้จากประสบการณ์เลย ก็ไม่อาจจะให้คำปรึกษาหรือแบ่งปันบทเรียนแก่คนอื่นได้ ...​ในทางกลับกัน คนที่มีประสบการณ์บ้างแต่ไม่มากเท่าคนแรก แต่เรียนรู้ทุกแง่มุมของประสบการณ์ที่ตนเองมี ย่อมมีบทเรียนแบ่งปันแกคนอื่นได้มาก ... แน่นอน คนประสบการณ์มาก และหม่ันทบทวนตนเองอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้ที่จะมีบทเรียนมาแบ่งปันแก่ผู้คนจำนวนมากเป็นแน่แท้

แต่ในการให้คำปรึกษานั้น หลายครั้งผมว่า ประสบการณ์อาจจะไม่สำคัญเท่า หูที่เปิด และใจที่เปิดนะครับ บ่อยครั้งที่ประสบการณ์บดบังหูและใจ และทำให้คนมากประสบการณ์ (เช่น คนที่ (คิดว่าตนเอง) เป็นผู้ใหญ่) ตัดสินคนที่มาขอคำปรึกษาไปก่อนที่จะได้ฟังเรื่องราวจริงๆก็ได้

ผมว่าตอนนี้ผมก็พอจะมีประสบการณ์ที่จะให้คำปรึกษากับน้องๆได้พอสมควรครับ :) แต่คิดว่าคงยังไม่สามารถให้คำปรึกษาผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่ามากๆได้ :)

25ปีมาแล้วได้รับคำเตือนจากลูกชายคนโตตอนนั้นราว 4-5ขวบ บอกว่า การสูบบุหรี่มีผลกับร่างกาย.......!!!!!!! ได้ยินเข้าก็หัวเราะแก้เก้อไป จากนั้นมาก็หยุดบุหรี่ นี่ก็25ปีแล้ว

เดี๋ยวนี้เวลามีปัญหาก็ได้ลูกนี่แหละที่ให้คำแนะนำ หรือเวลาอ่านblogของลูกลูกก็มักจะได้อะไรดีดีไปใช้ฝึกตัวเองเสมอ

ชอบที่ชลบอกคือ ประสบการณ์ ไม่สำคัญเท่าการเปิดหูเปิดใจ

ถ้าคนอายุมากกกก รู้จักเปิดใจรับอะไรหลายอย่าง ก็คงดีนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท