อวสานของการเลื่อนขั้นเงินเดือน


การเลื่อนเงินเดือน

อวสาน....ของการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ แบบ “ขั้น”  และ “ โควต้า”

 

                                  เรืองชัย  จรุงศิรวัฒน์

 

                  ตั้งแต่สำนักงานข้าราชการพลเรือน ได้เสนอรัฐบาลให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนสามัญ จากระบบเดิมที่เป็นระบบพีซี ที่จำแนกเป็นระดับชั้นจำนวน 11 ระดับ มาเป็นระบบแท่ง จำนวน 4 แท่ง โดยมีผลบังคับใช้กับข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัด ก.พ. ซึ่งเป็นข้าราชพลเรือนสามัญส่วนใหญ่ของประเทศ ในทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา  ยังคงเหลือเพียงข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(สังกัด ก.พ.อ.) ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญอีกประเภทหนึ่งที่ยังคงเป็นระบบพีซีเหมือนเดิม  ที่อยู่ในขั้นตอนในการเสนอ ค.ร.ม. เพื่อให้ความเห็นชอบ  หลักจากที่ ก.พ.อ. ได้ให้ความเห็นชอบตามแนวทางการปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการปรับระบบบริหารงานบุคคล(ชุดที่มี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นประธาน)เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา

            ในระบบเดิมที่เป็นระบบพีซี การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการจะพิจารณากำหนดให้เป็น  “ขั้น”  โดยในหนึ่งปีให้มีการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญได้ปีละ 2 ครั้ง คือในวันที่ 1 เมษายน และวันที่ 1 ตุลาคม  และให้มีกรอบวงเงินในแต่ละรอบไม่เกินร้อยละ 3 ของอัตราเงินเดือนข้าราชการในหน่วยงานนั้นๆ และวงเงินงบประมาณในแต่ละรอบจะแยกจากกัน การเลื่อนขั้นเงินเดือนนี้ ต้องเป็นไปตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ พ.ศ. 2544 โดยมีผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน เป็นผู้ออกคำสั่งในการเลื่อนขั้นเงินเดือนในแต่ละหน่วยงาน

 

                  ในระบบแท่งใหม่นี้ ในเมื่อไม่มีระดับ(ซี) และไม่มีบัญชีเงินเดือนที่เป็นระดับขั้นวิ่ง 0.5 ขั้น  1 ขั้น 1.5 ขั้น และ 2 ขั้น  ระบบเงินเดือนในแต่ละแท่งใหม่นี้จะเป็นเงินเดือน “ขั้นต่ำ” และเงินเดือน “ขั้นสูง” เท่านั้น โดยหลักการของการขึ้นเงินเดือนในระบบแท่งนี้ ให้มีการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยให้พิจารณาตามผลการปฏิบัติราชการ แทนที่จะใช้วิธีการหารเฉลี่ยให้ข้าราชการแต่ละคนได้รับการเลื่อนเงินเดือนเท่ากันเหมือนอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ให้ยึดหลักการจ่ายค่าตอบแทนตามค่างานและผลของงาน และให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็น “ร้อยละ” ของฐานเงินเดือนในแต่ละ “ระดับ” (หรือบางที่เรียกว่า “กระบอก”) และ “ประเภทของตำแหน่ง”  โดยมีผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน เป็นผู้ออกคำสั่งในการเลื่อนขั้นเงินเดือนในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเหมือนกับระบบเดิม(พีซี)  จะมีต่างตรงที่ในระบบใหม่(แท่ง)เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาผลการปฏิบัติราชการ ต้องจัดให้มีการแจ้งผลการเลื่อนขั้นเงินเดือนในแต่ละครั้งให้ข้าราชการผู้นั้นทราบเป็นข้อมูลเฉพาะแต่ละรายบุคคล และกรณีมีผู้ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือนให้แจ้งเหตุผลให้ผู้นั้นทราบด้วย ทั้งนี้ให้นำข้อมูลการลา พฤติกรรมการมาทำงาน การรักษาวินัย การปฏิบัติตนเหมาะสม และข้อควรพิจารณาอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาในการเลื่อนขั้นเงินเดือน1  
            เท่าที่ผู้เขียนติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ ทราบว่าขณะนี้สำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) อยู่ระหว่างเสนอเรื่องระบบการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยทำเป็นร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. .... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา  ในระหว่างนี้ในเมื่อยังมิได้มีกฎ ก.พ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน และหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติ  

 

1.   หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายวัน ข่าวหน้าหนึ่ง และหน้า 2  ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.  2552

ราชการที่ต้องออกตามความในมาตรา 74 และ 76 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ให้มีการเลื่อนเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์นั้น ในการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ(ในระบบแท่ง) ในวันที่ 1 เมษายน และ 1 ตุลาคม 2552  จึงยังต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ใช้อยู่เดิม 2   

                 อาจมีคำถามว่า ทำไมจึงยังไม่ใช้วิธีการเลื่อนเงินเดือนกับข้าราชการที่เข้าสู่ระบบแท่งแล้วโดยคิดเป็นอัตราร้อยละของฐานในการคำนวณหรือคิดจากค่ากลาง (Midpoint) ?  คำตอบก็คือ....เพราะเนื่องจากว่ากฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน และหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการที่ต้องออกตามความในมาตรา 74 และ 76 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ฯ 2551) ยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับรายได้และทางก้าวหน้าในชีวิตราชการของข้าราชการทุกคน ก.พ.จึงต้องใช้เวลาในการซักซ้อม ทำความเข้าใจในแนวปฏิบัติ และให้เวลาส่วนราชการในการเตรียมตัวปรับเข้าสู่ระบบใหม่  (ปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. : 2552) และทำไมจึงยังต้องใช้กฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. 2544 ? คำตอบคือ เพื่อให้เป็นไปตามความในวรรคแรกของมาตรา 132 แห่ง พ.ร.บ.ฯ 2551 ที่บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยัง ..... ไม่ออกกฎ ก.พ. ข้อบังคับ หรือระเบียบหรือกำหนดกรณีใด เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำ ..... กฎ ก.พ. ข้อบังคับ หรือระเบียบหรือกรณีที่กำหนดไว้แล้วซึ่งใช้อยู่เดิม มาบังคับใช้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้  


               สรุปได้ว่า....อวสานของการเลื่อนเงินข้าราชการแบบ “ขั้น”และ “โควต้า”
มาถึงแน่นอนครับ.....

 

 

                           ประวัติผู้เขียน

◙  นายเรืองชัย    จรุงศิรวัฒน์  

◙  ตำแหน่ง  นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 9
                      ผู้เชี่ยวชาญ ระดับ 9   

วุฒิการศึกษา      ปริญญาโท  ศษ.ม

                           (การพัฒนานโยบายและการวางแผน)

  - บรรจุเข้ารับราชการ เมื่อวันที่  26  สค. พ.ศ. 2534 

    ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 4

  - พ.ศ.2536  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 5

  - พ.ศ.2538  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6

  - พ.ศ.2541  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7

  - พ.ศ.2544  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8

  - พ.ศ.2549  นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 9

 ตำแหน่งปัจจุบัน  :

              ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                        ตำแหน่งอื่นๆ

      - ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ
        ราชนครินทร์

      - ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

      - ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ
          กำแพงเพชร

      - ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
         มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

      - ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน
         คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

               ***************************

2.  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ข่าวหน้า 22 ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ในคอลัมน์  ข้าราษฎร  เรื่อง 
    ก.พ.ชี้แจงเลื่อนขั้นเงินเดือนระบบใหม่  

หมายเลขบันทึก: 305794เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท