Definition of Situation


Definition of Situation สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ปีหนึ่ง อาจารย์ที่สอนสังคมวิทยาเบื้องต้นเคยพูดประโยคหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผู้เขียนตลอดมา นั่นคือ You don’t study sociology. You live with it. ผู้เขียนรู้สึกเช่นเดียวกับอาจารย์ท่านนั้นว่าสังคมศาสตร์ไม่ได้เรียนไปเพื่อแสดงความทรงภูมิปัญญา

Definition of Situation

             สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ปีหนึ่ง อาจารย์ที่สอนสังคมวิทยาเบื้องต้นเคยพูดประโยคหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผู้เขียนตลอดมา นั่นคือ You don’t study sociology. You live with it. ผู้เขียนรู้สึกเช่นเดียวกับอาจารย์ท่านนั้นว่าสังคมศาสตร์ไม่ได้เรียนไปเพื่อแสดงความทรงภูมิปัญญา (พูดกันด้วยภาษายากๆ ด้วยศัพท์แสงทางวิชาการที่คนอื่นฟังแล้วไม่เข้าใจ ฯลฯ) มันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยสร้างความเข้าใจ (ไม่ใช่ความสับสน) ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา และถ้ามองความสำคัญของสังคมศาสตร์ในแง่มุมนี้ แนวความคิด (concept) ที่มีประโยชน์ที่สุดในชีวิตของผู้เขียนก็คือแนวความคิดที่เรียนมาตั้งแต่ปีหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือวิธีคิด (ไม่ใช่แค่ “ความคิด”) ในเรื่อง definition of situation


             แนวความคิดนี้เท่าที่เคยมีคนใช้กันในภาษาไทย มักแปลว่า “นิยามสถานการณ์” หรือไม่ก็ “นิยามวัฒนธรรม” (ซึ่งแปลมาจากคำว่า cultural definition) ความหมายกว้างๆ ของมันก็คือนิยามที่เราให้กับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญว่ามันเป็นสถานการณ์อะไร นัยยะที่ตามมาติดๆ คือเมื่อมันเป็นสถานการณ์อย่างนั้นแล้ว เราควรจะมีปฏิกิริยาหรือทำตัวอย่างไร

            ผู้เขียนเคยทดลองเรื่องนี้ด้วยการหยุดพูดอย่างกะทันหันแล้วมองออกไปนอกประตู ปรากฏว่านักศึกษาทุกคนมองตามแทบจะในทันที บางคนก็ถึงกับชะเง้อคอดู ทุกคนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ถึงได้หยุดพูด ถ้าพูดในกรอบของแนวความคิดที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ก็คือ ทุกคนอยากรู้ว่าจะนิยามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่าอย่างไรดี

              เราเรียนรู้ตั้งแต่เล็กว่าเราจำเป็นต้องรู้นิยามสถานการณ์เพื่อจะได้ทำตัวได้ถูก ถ้าเรานิยามว่าสถานการณ์ไม่ค่อยดี เราก็จะพยายามไม่ทำอะไรที่เป็นการยั่วโมโหแม่ (ให้มากกว่านี้) ถ้าเรานิยามว่าสัญญาณที่ดังขึ้นเป็นสัญญาณเตือนภัยสึนามิของจริง เราก็จะวิ่งเร็วกว่าถ้าเรานิยามว่ามันเป็นเพียงการซ้อมเท่านั้น

              ที่น่าสนใจก็คือนิยามเช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สามารถบันดาลให้สถานการณ์นั้นกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า If men define situations as real, they are real in their consequences. (ซึ่งใครๆ ก็อ้างถึงจนผู้เขียนจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนพูด) กล่าวคือ ถ้าเราเชื่อนิยามสถานการณ์ของเรา มันก็จะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้จริงๆ ในแง่ผลของมัน อย่างน้อยก็สำหรับตัวเราเอง

                   ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบยกบ่อยๆ เพราะเห็นภาพดีก็คือเรื่องผี ถ้าเราคิด (นิยามสถานการณ์) ว่าเรากำลังเจอผี เราก็จะกลัวจนตัวสั่นหรือวิ่งจนป่าราบเสมือนว่าผีกำลังอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ ไม่ว่าผีจะอยู่ตรงนั้นจริงหรือว่าเราตาฝาดเห็นอะไรไหวๆ แล้วกลัวไปเอง กล่าวคือมันไม่สำคัญเท่าไรว่าความจริงเป็นอย่างไร (อย่างน้อยก็ในขณะนั้น) ผลที่เกิดขึ้นยังคงเหมือนกัน

                   ตัวอย่างคลาสสิกที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างไม่น่าเชื่อคือในทศวรรษที่ 1920 เกิดข่าวลือขึ้นในอเมริกาว่าธนาคารแห่งหนึ่งกำลังล้มละลาย การศึกษาที่ตามมาพบว่าในขณะที่เกิดข่าวลือขึ้นนั้น ธนาคารแห่งนี้ยังมีฐานะมั่นคงดี แต่เพราะประชาชนหลงเชื่อในข่าวลือนั้น ผู้คนจึงพากันแห่ไปถอนเงิน จนในที่สุด ธนาคารแห่งนั้นก็ล้มละลายลงจริงๆ ข่าวลือทำนองนี้ก็เคยเกิดกับธนาคารกรุงไทยเมื่อทศวรรษที่ 2520 เหมือนกัน ผู้เขียนจำได้ว่าคนแห่ไปถอนเงินกันจนคิวล้นยาวออกมานอกถนน แต่กรุงไทยอาจจะได้เคยเรียนรู้บทเรียนแบบนี้มาก่อน จึงได้หยิบยืมเงินจากที่อื่นมาให้คนถอนกันได้อย่างไม่อั้น ไม่กี่วันถัดมา คิวก็ยังยาวล้นอยู่ แต่คราวนี้แห่กันไปฝากคืน! (เพราะนิยามที่คนให้กับสถานการณ์การเงินของกรุงไทยเปลี่ยนไป)

                   ปรากฏการณ์แบบนี้บางทีก็เรียกกันว่า self-fulfilling prophecy คำทำนายที่เป็นจริงได้ด้วยตัวเองนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งในระดับสังคมอย่างในตัวอย่างที่ยกมาและในระดับชีวิตประจำวัน หมอไม่อยากบอกคนไข้ว่าเป็นมะเร็งเพราะกลัวคนไข้จะหมดกำลังใจและทำให้อาการทรุดหนักเร็วขึ้น เราคิดว่าคนนี้ไม่ชอบหน้าเรา เราก็จะไม่ให้โอกาสตัวเองได้คบหา ได้รู้จักเขาจริงๆ รวมทั้งมีปฏิกิริยาต่างๆ ต่อเขาจนในที่สุด ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบหน้าเราในตอนแรก เรื่องนี้ก็มักไปลงเอยที่เขาจะไม่ชอบหน้าเราจริงๆ ดังที่เราให้นิยามหรือ “ทำนาย” ไว้แต่ต้น

                   แนวความคิดเรื่องนี้เป็นฐานของแนวความคิดหลายอย่างที่กำลัง “ดัง” อยู่ในปัจจุบัน เช่น เป็นฐานของวิธีคิดที่เชื่อในเรื่อง social construction of reality ที่มองว่าความคิด ความรู้สึกหรือแม้แต่ “ความเป็นจริง” ในสายตาของเราเกือบทั้งหมดหรืออาจจะทั้งหมดล้วนมีเบ้าหลอมมาจากสังคมและวัฒนธรรมที่กล่อมเกลาและ “สร้าง” ความเป็นจริงให้เรา

                   การศึกษาข้ามวัฒนธรรมทำให้แนวความคิดที่ว่า “ความเป็นจริง” นั้นถูกสร้างขึ้นมากกว่าจะมีอยู่เอง “ตามธรรมชาติ” ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เพราะเราพบว่าหลายสังคม โดยเฉพาะสังคมที่อยู่ห่างไกล มีวิถีปฏิบัติและวิธีคิดที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิงแม้ในเรื่องที่เราคิดว่าเป็น “สัญชาติญาณ” หรือ “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ อย่างเช่น มีบางวัฒนธรรมที่เชื่อว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นวิถี “ตามธรรมชาติ” ของมนุษย์ซึ่งต่างไปจากสัตว์ที่จะสมสู่กับเพศตรงข้าม แม้ชาวโรมันจะไม่เชื่อเช่นนี้เสียทีเดียว แต่ก็มีค่านิยมว่ารักร่วมเพศ (โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชาย) เป็นวิถีปฏิบัติของ “ชนชั้นสูง” เช่น พวก senator ทั้งหลาย

                   อีกตัวอย่างหนึ่งที่ดูเป็นเรื่องของ “ธรรมชาติ” แต่การศึกษาข้ามวัฒนธรรมแสดงให้เราเห็นว่าที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการสร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่า คือแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องของความตาย สังคมร่อนเร่บางชนเผ่าจะทิ้งคนแก่ที่เดินข้ามแม่น้ำไม่ไหวให้เผชิญกับความอดอยากตามลำพังในดินแดนที่อพยพจากมาโดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องเลวร้าย -ทั้งฝ่ายที่ทิ้งและฝ่ายที่ถูกทิ้ง บางวัฒนธรรมต้อนรับความตายด้วยความยินดีเพราะเป็นการกลับไปหาหรือไปรวมตัวกับพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน เรื่องวิธุรบัณฑิตทำให้เราได้รับรู้ว่าสังคมอินเดียมองการตายเหมือนการย้ายบ้านใหม่ คนที่ทำแต่ความดีอย่างวิธุรบัณฑิตจึงไม่กลัวความตายเพราะเชื่อว่าการตายคือการ “ย้าย” เข้าไปอยู่ในวิมานซึ่งย่อมดีกว่าบ้านในโลกมนุษย์ บางทีพวกที่ทำกามิกาเซ่และระเบิดพลีชีพทั้งหลายก็อาจมองความตายต่างไปจากเรายิ่งถ้าเป็นเรื่องของการแสดงออกด้วยแล้ว สังคมยิ่งกำหนดให้มีปฏิกิริยาต่างๆ กัน เช่น ประเพณีอีสานแต่ก่อน คนที่ไปร่วมงานจะไปแสดงความรื่นเริง (เฮฮา เกี้ยวพาราสี เล่านิทาน ฯลฯ) กันในงานศพเพราะเชื่อว่าการแสดงความโศกเศร้าจะยิ่งทำให้เจ้าภาพจมอยู่ในความทุกข์

                   ที่น่าสนใจคือปฏิกิริยาที่ถูกกำหนดด้วยประเพณีและความเชื่อเหล่านี้สามารถทำให้เกิด “ความรู้สึก” (ที่เรามักคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง ไม่สามารถ “สั่ง” ได้) เกี่ยวกับสถานการณ์ความตายต่างๆ กัน เช่น คนไทยพุทธจะรู้สึกไม่ดีถ้าเผาศพพ่อแม่อย่างรวดเร็ว (บางคน “รู้สึก” ไม่สบายใจราวกับเป็นลูกอกตัญญูถ้าทำเช่นนั้น) อย่างน้อย ก็ต้องตั้งสวดสัก 7 วันก่อน ส่วนคนมุสลิมจะฝังศพไม่ว่าของใครภายใน 24 ชั่วโมง ถ้านานกว่านั้น จะ “รู้สึก” ไม่ดี หรือคนอีสานสมัยก่อนจะถูกห้ามไม่ให้จัดงานศพให้คนที่ตายด้วยอุบัติเหตุ ถ้าฝืนทำก็จะรู้สึกไม่สบายใจ ในขณะที่สมัยนี้ถ้าไม่จัดงาน ก็จะ “รู้สึก” ว่าทำให้คนตายไม่ได้ไปสู่สุคติ แม้แต่ในสังคมไทยในปัจจุบันเอง การเสียชีวิตของคนคนหนึ่งควรจะทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าโศก เสียใจ โล่งใจหรือดีใจที่เขา “หมดเวรหมดกรรม” ไปเสียที ก็ยังเป็นคำถามอยู่

     ที่แน่ๆ ก็คือความคิดกับความรู้สึกบ่อยครั้งมักจะปนกันจนแยกจากกันแทบไม่ออก

 

             



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท