ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 4-7) การจัดการศึกษา การเลิกทาส


การจัดการศึกษา การเลิกทาส

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 4-7)
………………………………..

1. การจัดการศึกษา

            - สมัยรัชกาลที่ 4

               1. ให้มีการคัดลอกภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี คำพิพากษาต่างๆ ไว้ในสมุดหลายเล่มเพื่อการศึกษาของสามัญชนโดยปกติจะอยู่ที่วัดและมีพระเป็นผู้สอน

               2. ได้ผ่อนคลายปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถด้วยการจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ

               3. ทรงริเริ่มส่งนักเรียนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

            - สมัยรัชกาลที่ 5

               ได้มีการปรับปรุงการศึกษาครั้งสำคัญโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการดังนี้

               1. จัดตั้งโรงเรียนเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการและพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยมีการจัดตั้งโรงเรียนดังนี้        

                        ก. โรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2414 คือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในปี พ.ศ.2425 เรียกชื่อว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

                        ข. ตั้งโรงเรียนทำแผนที่

                        ค. ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูของกระทรวงธรรมการ

                        ง. ตั้งโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม

               2. จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรเพื่อให้การศึกษาหาความรู้

                   ในปี พ.ศ.2427 ได้ตั้งโรงเรียนมหรรณพาราม ขึ้นเป็นโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก เมื่อแรกตั้งมีการเล่าลือกันว่าจะเอาเด็กไปเป็นทหาร ราษฎรก็พากันหวาดกลัวไม่ยอมส่งบุตรหลานเข้าเรียน ต่อเมื่อรัชกาลที่ 5 ออกประกาศชี้แจงว่าการตั้งโรงเรียนตั้งเพื่อให้ราษฎรรู้หนังสือเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง กิจการโรงเรียนหลวงจึงเจริญขึ้นตามลำดับ

                   ต่อมาทรงมีพระราชดำริแยกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงออกจากกรมทหารมหาดเล็กและโปรดให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นมีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีคนแรก

                  การจัดวางระบบการศึกษาแบบใหม่เริ่มพัฒนาปรับปรุงขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2435 ดังนี้       

                  - การประกาศตั้งโรงเรียนมูลศึกษา พ.ศ.2435 ตั้งขึ้นตามวัด แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ มูลศึกษาสามัญชั้นต้นใช้เวลาเรียน 3 ปี และมูลศึกษาสามัญชั้นสูงใช้เวลาเรียน 1 ปี และได้มีการชักชวนให้เอกชนตั้งโรงเรียนเชลยศักดิ์ (โรงเรียนราษฎร์) โรงเรียนเชลยศักดิ์แห่งแรกได้แก่โรงเรียน คริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งเดิมชื่อสำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล                  

                  - ทำโครงการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2441 และ พ.ศ.2445 เรียกว่าโครงการแผนกการศึกษาโครงการแผนการศึกษา พ.ศ.2441 แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ภาคคือ 

                        ภาคแรก เป็นการศึกษาในกรุงเทพ

                        ภาคที่สอง ว่าด้วยการศึกษาในหัวเมือง รัชกาลที่ 5 ทรงมอบให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้รับผิดชอบ

                        โครงการแผนการศึกษา พ.ศ.2445 แบ่งสหการศึกษาเป็น 2 สาย คือสายสามัญศึกษาการสายวิสามัญ

                 - แบบเรียนที่ใช้เรียนมี 6 เล่ม เรียบเรียงโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ  วาหนิต์นิกร  อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์

                 - ให้มีการสอบทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่างประเทศเรียกว่าทุน คิงสกอลาชิป ปีละ 2 คน ส่งไปอเมริกาอละยุโรป      

            - สมัยรัชกาลที่ 6

               1. ได้มีการขยายการศึกษาไปสู่ราษฎร เน้นด้านการศึกษาหาเลี้ยงชีพ ด้านหัตถกรรม เกษตรกรรม พาณิชการ  วิชาครู วิชาการเสมียน

               2. พ.ศ.2456 ประกาศโครงการศึกษาฉบับใหม่แบ่งการศึกษาเป็นประเภทสามัญและวิสามัญ

               3. ตั้งโรงเรียนขึ้นตามมณฑลต่างๆ ทุกมณฑล

               4. ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตามแบบโรงเรียนประจำของอังกฤษ ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

               5. ออก พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.2464

               6. เก็บเงินศึกษาพลีจากชาวไทยที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี อย่างต่ำ 1 บาท อย่างสูง    3 บาท ตามฐานะ

               7. ตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษา เช่น พาณิชการ เพาะช่าง อุเทนถวาย และโรงเรียนฝึกหัดครู

               8. ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งยกฐานะมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเดิม

            - สมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

               ยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังคงดำเนินตามสมัยรัชกาลที่ 6

จงตอบคำถามต่อไปนี้

            1. การปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ระบบการศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

            2. การจัดการศึกษาที่เน้นการหาเลี้ยงชีพในสมัยรัชกาลที่ 6 หมายถึงอะไร และสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างไร

            3. นักเรียนคิดว่า ทุนเล่าเรียนหลวงหรือ คิงสกอลาชิป มีความจำเป็นหรือมีประโยชน์อย่างไร


2. การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี

            - สมัยรัชกาลที่ 4

               1. ประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 เป็นฉบับแรก โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และมีมหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษา

               2. ทรงตระหนักถึงสถานการณ์ของประเทศไทยว่ากำลังถูกคุกคามจากชาติตะวันตก จึงดำริว่าไทยควรปรับปรุงขนบธรรมเนียมให้เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติได้แก่

                        ก. โปรดให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า

                        ข. โปรดให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าในงานพระราชพิธีด้วย

                        ค. ให้ยกเลิกประเพณีห้ามราษฎรเข้าเฝ้าเวลาเสด็จพระราชดำเนิน ทรงอนุญาตให้ราษฎรรับเสด็จได้โดยสะดวก

                        ง. ฟื้นฟูประเพณีตีกลองร้องฎีกา (มีกลองวินิจฉัยเภรีแขวนไว้ใครเดือดร้อนต้องการยื่นฎีกาให้มาตีกลอง)

            - สมัยรัชกาลที่ 5

               1. ทรงตั้งสถานศึกษาสำหรับสงฆ์คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยหรือมหาธาตุวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาฝ่ายมหานิกาย และมหามกุฏราชวิทยาลัยสำหรับฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

               2. ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดให้ทูตานุทูตยืนเฝ้าถวายคำนับ

               3. ประเพณีการสืบสันตติวงศ์

               4. ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้าหรือกรมพระราชวังบวรเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต ทรงตั้งตำแหน่ง สยามมกุฏราชกุมารขึ้นแทน มกุฏราชกุมารพระองค์แรกคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

               5. ปรับปรุงประเพณีไว้ผมทรงมหาดไทย โดยให้ชายไทยในพระราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทย เป็นตัดผมยาวทรงดอกกระทุ่ม

               6. ใช้แบบเสื้อราชประแตนและสวมหมวกอย่างยุโรปแต่ยังนุ่งผ้าม่วงอยู่

               7. หลังจากกลับจากประพาสยุโรป สตรีไทยได้หันกลับไปนิยมแบบเสื้อของอังกฤษคือคอตั้งแขนยาว

               8. ตอนปลายรัชกาลสตรีไทยนิยมนุ่งโจงกระเบน ชายนุ่งกางเกงแบบตะวันตก

            - สมัยรัชกาลที่ 6

               1. ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง

               2. กำหนดคำหน้านามว่า นาย นาง นางสาว เด็กชาย และเด็กหญิง

               3. ออกพระราชบัญญัตินามสกุล

               4. ใช้พุทธศักราชเป็นศักราชทางราชการแทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก           

               5. เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างที่มีพื้นธงสีแดงล้วนและมีช้างเผือกอยู่ตรงกลางมาเป็น      ธงไตรรงค์

               6. เปลี่ยนการนับเวลาทางราชการโดยใช้เวลามาตรฐานตามเวลากรีนิชเป็นหลัก

            - สมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

               ยังคงเหมือนสมัยรัชกาลที่ 6

3. การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5

            1. ทาสมีฐานะทางสังคมต่ำที่สุดมีศักดินาเพียง 5 ไร่

            2. การเลิกทาสเป็นงานปฏิรูปสังคมอันดับแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงจัดทำควบคู่ไปกับการจัดระบบการศึกษาและการเลิกอากรบ่อนเบี้ย (อากรบ่อนเบี้ยคือรายได้ที่ได้จากการอนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันทำรายได้มาก แต่ทำให้ผู้คนติดการพนันและเป็นหนี้สินมากไม่มีเงินใช้หนี้ต้องขายลูกเมียไปเป็นทาสใช้หนี้)

            3. การเลิกทาสเริ่มกระทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2417 โดยดำเนินการอย่างสุขุมเป็นไปทีละขั้นตอน โดยมิให้กระทบกระเทือนอย่างรุนแรงแก่ฝ่ายเจ้าของทาสและตัวทาสเอง ทรงเริ่มด้วย

               ก. ประกาศให้เจ้าของทาสจดทะเบียนแยกประเภทของทาสไว้ให้เป็นระเบียบ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2417 ออก พ.ร.บ.พิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย กำหนดให้ลูกทาสที่เกิดปีมะโรง พ.ศ.2411 หลุดพ้นจากความเป็นทาสเมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์

               ข. กำหนดอัตราไถ่ถอนทาสไว้เป็นมาตรฐานคงที่ คือ ชายค่าตัว 8 ตำลึง หญิง 7 ตำลึง

               ค. ปี พ.ศ. 2448 ออก พ.ร.บ.เลิกทาสทั่วประเทศ

จงตอบคำถามต่อไปนี้

            1. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นการช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวตะวันตกใช่หรือไม่เพราะเหตุใด

            2. การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 มีมูลเหตุมาจากเรื่องใดและเมื่อเลิกทาสแล้วทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร

                  **ข้อมูลเพิ่มเติม**

        *เศรษฐกิจ สังคมศาสนาสมัย ร.1-ร.3* คลิกอ่านได้ครับ
        *ศิลปกรรมและความสัมพันต่างประเทศสมัย ร.1-ร.3* คลิกอ่านได้ครับ
        *กฎหมายเศรษฐกิจการศาลสมัย ร.4-ร.7* คลิกอ่านได้ครับ
        *ประวัติศาสตร์สมัยร.7-ปัจจุบัน(การปกครอง)* คลิกอ่านได้ครับ 
        *ประวัติศาสตร์ไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง(การปกครอง)* คลิกอ่านได้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 305262เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อ่านแล้วสนุกมากเลย

อ่านแล้วสนุกมากเลย

อ่า...งงอยู่นิดหน่อยนะ คือเราไปเซิร์ทในกูเกิ้ลเรื่องสมัยรัตนโกสินทร์ งงตรงที่ว่าบางเว็บก็บอกตอนต้นร.1-3 อีกเว็บก็บอก ร.4-7 แล้วตอนกลางไม่มีเหรอ? ใครรู้ช่วยบอกทีนะ เราต้องทำรายงานอ่ะ

ความรู้มากมายเลย

ขอบคุณมากครับ

ไว้โอกาศหน้าจะ

มาใช้บริการต่อ

เมื่อขาดความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท