ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3) ศิลปกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


ความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3)

...............................................................

1. ความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม

            - ด้านศิลปกรรม ได้รับการฟื้นฟูและจัดระบบขึ้นใหม่ จนกลับเจริญรุ่งเรืองเหมือนดังสมัยกรุงศรีอยุธยา จำแนกเป็นแขนงต่างๆ ได้ดังนี้

                        1. จิตรกรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นงานด้านจิตรกรรมยังคงคล้ายสมัยอยุธยา เช่นมีการวาดภาพในอาคารที่เป็นพระอุโบสถ หรือวิหาร มักจะวาดภาพเทพชุมนุม แต่การใช้สีจะสดและเข้มกว่าสมัยอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ลักษณะทางศิลปะมีศิลปะแบบจีนเข้ามาปนบ้าง มีจิตรกรฝีมือเอกคือ หลวงวิจิตรเจษฎาหรือครูทองอยู่ หรือที่เรียกกันว่า "คงแป๊ะ" มีฝีมือเยี่ยมมาก เช่น ภาพจิตรกรรมที่วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม

                        2. ประติมากรรม ประติมากรรมที่เยี่ยมที่สุดในสมัยนี้ ได้แก่ ผลงานประติมากรรมทางด้านแกะสลัก เช่น ฝีพระหัตถ์การแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม ของรัชกาลที่ 2 (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ด้านการหล่อมีน้อนเนื่องจากประชาชนไม่นิยมหล่อพระพุทธรูปเช่นสมัยอยุธยา

                        3. สถาปัตยกรรม ได้เจริญรอยตามแบบอยุธยาเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 1 และสมัยรัชกาลที่ 2 สถาปัตยกรรมที่สร้างอย่างประณีตงดงาม เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดประจำรัชกาลที่1) วัดอรุณราชวราราม (วัดประจำรัชกาลที่ 2) วัดราชโอรสาราม (วัดประจำรัชกาลที่ 3) ส่วนการสร้างพระพุทธรูป เจดีย์ ยังนิยมสร้างแบบย่อมุมไม้สิบสอง

                        4. การละคร นาฏศิลป์ การละครสมัยนี้มักเจริญควบคู่กับผลงานในด้านวรรณกรรม ลักษณะการละครสมัยนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ละครในและละครนอก นาฎศิลป์และดนตรีไทยเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะทรงเป็นกวีและศิลปิน กิจการละครและฟ้อนรำสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นค่อยๆ หมดความสำคัญในทางให้ความบันเทิงในราชสำนักลงในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรดการละคร คณะละครหลวงจึงจำเป็นต้องเลิก

                        5. วรรณกรรม มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากเพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์สนพระทัยในด้านอักษรศาสตร์และสนับสนุนโดยเฉพาะรัชกาลที่ 2 วรรณกรรมด้านกาพย์กลอนเจริญถึงขั้นสุดยอดจนได้รับสมญานามว่า "ยุคทองแห่งวรรณกรรมกาพย์กลอน" ตัวอย่างวรรณคดีที่สำคัญสมัยรัชกาลที่ 1 เช่น รามเกียรติ์ ราชาธิราช สามก๊ก สมัยรัชกาลที่ 2 เช่น อิเหนา         และมีกวีเอกอย่างสุนทรภู่ ซึ่งมีผลงานมาก เช่น เสภาขุนช้างขุนแผน นิราศภูเขาทอง สุภาษิตสอนหญิง

2. ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

            1. ความสัมพันธ์กับล้านนา ความสัมพันธ์กับล้านนาเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เพราะล้านนาต้องประสบกับการรุกรานจากพม่าบ่อยๆ และทางกรุงเทพก็ได้ให้ความช่วยเหลือ จึงทำให้ผู้ครองนครและประชาชนมีความรู้สึกต่อไทยว่าเป็นพวกเดียวกัน

            2. ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (เวียงจันทร์ จำปาศักดิ์ หลวงพระบาง) ระยะแรกมีลักษณะเป็นไมตรีต่อกันมากกว่าเป็นศัตรู การขัดแย้งที่สำคัญที่สุดระหว่างไทยกับล้านช้างคือ กบฎเจ้าอนุวงศ์ โดยที่เจ้าอนุวงศ์ได้ยกทัพมารุกรานหัวเมืองภาคอีสานของไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ถูกฝ่ายไทยต่อต้านโจมตีจนล่าถอยกลับไป เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เกิดวีรกรรมของวีรสตรีอีกท่านหนึ่งคือ คุณหญิงโม ภรรยาพระปลัดเมืองภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็น ท้าวสุรนารี

            3. ความสัมพันธ์กับเขมร เขมรเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา และคราวใดที่ไทยประสบความยุ่งยากภายในประเทศเขมรมักตั้งตนเป็นอิสระไม่ยอมอ่อนน้อมต่อไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไทยสามารถปกครองเขมรได้อีกโดยแบ่งการปกครองเป็นสองส่วน คือส่วนหนึ่งให้เจ้านายเขมรปกครองกันเอง และอีกส่วนหนึ่งคือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ มงคลบุรี ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ขุนนางไทยปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ  ในสมัยรัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์กับเขมรเสื่อมลงจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากญวนมีนโยบายจะล้มสถาบันกาตริย์ในเขมรและส่งข้าหลวงเข้าปกครองโดยตรง แต่ญวนทำไม่สำเร็จ เพราะไทยมีนโยบายที่จะกลับไปมีอิทธิพลในเขมรอีก และเกิดปะทะกับญวน ไทยกับญวนได้ยุติสงครามและตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้สถาปนากษัตริย์เขมรร่วมกัน

            4. ความสัมพันธ์กับพม่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะการทำสงครามกัน ซึ่งมีการทำสงครามกันถึง 12 ครั้ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ สมัยรัชกาลที่ 1 รบกัน 7 ครั้ง สมัยรัชกาลที่ 2   รบกัน 1 ครั้ง สมัยรัชกาลที่ 3 รบกัน 2 ครั้ง สมัยรัชกาลที่ 4 รบกัน 2 ครั้ง ศึกครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่าคือศึกเชียงตุงในสมัยรัชกาลที่ 4

            สงครามครั้งที่สำคัญที่สุดคือ สงครามเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะพม่ายกทัพใหญ่มาตีไทยจัดทัพเป็น 9 ทัพสมัยพระเจ้าปดุงของพม่า โดยพม่าได้จัดทัพไว้ดังนี้

            ทัพที่ 1 เป็นทัพบกและทัพเรือ ทัพบกเข้าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ชุมพรถึงสงขลา ทัพเรือตีหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันตกตั้งแต่ตะกั่วป่าถึงเมืองถลาง

            ทัพที่ 2 รวมพลที่ทวายเข้ามาทางด่านบ้องตี้ (ราชบุรี) เข้าตีราชบุรี เพชรบุรี ไปรวมกับทัพที่ 1 ที่ชุมพร

            ทัพที่ 3 ให้ตีหัวเมืองทางเหนือลงมาแล้วมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงเทพ

            ทัพที่ 4,5,6,7,8 ชุมนุมทัพที่เมาะตะมะแล้วเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ลงมาตีกรุงเทพ

            ทัพที่ 9 เข้าตีหัวเมืองเหนือทางริมฝั่งแม่น้ำปิง ตั้งแต่ตาก กำแพงเพชร แล้วให้มารวมกับทัพหลวงที่กรุงเทพ

            การจัดทัพของไทย

            ทัพที่ 1 ทางเหนือให้วังหลังเป็นแม่ทัพ ให้คอยตั้งรับทัพพม่าทางด้านเหนือไม่ให้เข้ามาถึงกรุงเทพ

            ทัพที่ 2 ทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) ให้วังหน้าเป็นแม่ทัพซึ่งด้านนี้เป็นด่านสำคัญ

            ทัพที่ 3 ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ให้คอยต้านทัพพม่าที่จะยกขึ้นมาทางด้านใต้โดยมีเจ้าพระยาธรรมากับเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพ

            ทัพที่ 4 เป็นทัพหลวง รัชกาลที่ 1 เป็นจอมทัพคอยคุมอยู่ที่กรุงเทพ

ความสัมพันธ์กับประเทศทางตะวันตก

            1. ความสัมพันธ์กับประเทศโปรตุเกส ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรตุเกสส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยมีอันโตนิโอ เดอวิเสน คนไทยเรียกว่าองตนวีเสน ได้เชิญสาส์นมาถวายรัชกาลที่ 1

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ข้าหลวงโ)รตุเกสที่มาเก๊า ส่งกาลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นทูตถือสาส์นมา การติดต่อเป็นไปอย่างราบรื่น และในปี พ.ศ.2363 กษัตริย์โปรตุเกสประสงค์จะขอตั้งสถานกงสุลในไทยและขอให้กาลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นกงสุงประจำ ไทยก็ยินยอมด้วยดีนับเป็นสถานกงสุลแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ และต่อมารัชกาลที่ 2 ได้ตั้งให้ คาลอส มานูเอล ซิลเวียราเป็นหลวงอภัยพานิช

            2. ความสัมพันธ์กับประเทศอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์เรื่องการเมืองและการทหารซึ่งมีผลทำให้การเจรจาไม่ค่อยราบรื่น เพราะอังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในหัวเมืองมลายูและยึดปีนัง (เกาะหมาก) ไว้เป็นของตน และพระยาไทรบุรีตกลงเซ็นสัญญาให้อังกฤษเช่าแล้วไม่คืน แต่อังกฤษก็พยายามผูกมิตรกับไทยโดยให้ ฟรานซิสไลท์ หรือกัปตันไลท์ นำดาบประดับพลอยและปิ่นด้ามเงินมาถวายรัชกาลที่ 1 ต่อมากัปตันไลท์ได้รับราชการอยู่ที่ไทย      รัชกาลที่ 1 ได้ตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาราชกัปตัน (กปิตัน) นับเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้บรรดาศักดิ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 อังกฤษส่ง จอร์น คอร์เฟอร์ด (ไทยเรียกการะฟัด) นำสาส์นจากมาควิส เฮสติงค์ ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในอินเดียมาเจรจากับไทยเรื่องการค้าและเรื่องเมืองไทรบุรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะอังกฤษไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมไทยแล้วยังดูถูกไทยว่าป่าเถื่อน ในสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษทำสงครามกับพม่าและประสงค์จะให้ไทยช่วยรบ จึงส่งทูตมาเจรจาหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญคือ ลอร์ด อัมเฮิสต์ ส่ง ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี มาเจรจาทำสนธิสัญญากับไทย โดยมีความมุ่งหมายในการเจรจา 4 ประการคือ

-          เพื่อรักษาสัมพันธไมตรี

-          เพื่อทำสัญญาค้าขาย

-          เพื่อขอกำลังไทยช่วยอังกฤษรบพม่า

-          เพื่อตกลงหัวเมืองไทรบุรีและมลายู                          

3. ความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐอเมริกา พ่อค้าชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เข้ามาค้าขายที่กรุงเทพในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เข้ามายังไทย ได้นำปืนคาบศิลามาถวายรัชกาลที่ 2 และต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงภักดีราชหรือหลวงภักดีราชกปิตัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ประธานาธิบดีแจ็คสัน ส่ง เอ็ดมันต์ โรเบิร์ต มาทำสนธิสัญญาการค้ากับไทยทำนองเดียวกับสนธิสัญญาเบอร์นีที่ไทยทำไว้กับอังกฤษ

 

3. อุปสรรคในการติดต่อกับต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            1. การสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศทำให้ประเทศทางตะวันตกที่เคยติต่อกับไทยหยุดชงักการมีไมตรี เพราะเหตุการณ์ภายในไม่สงบภายใน

            2. การคมนาคม ระยะทางการคมนาคมไม่สะดวก พาหนะไม่ให้ความสะดวกปลอดภัย เช่น เรือ เรือใบ เรือสำเภา

            3. ภาษา การใช้ภาษาต่างกันสื่อความหมายไม่ดีจึงทำให้ไม่เข้าใจจุดประสงค์ซึ่งกันและกัน ทำให้การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้

            4. ประเพณี และการแต่งกาย ข้าราชการไทยไม่นิยมใส่เสื้อทำให้ทางตะวันตกดูถูกดูถูกว่าคนไทยป่าเถื่อน ทูตจากประเทศทางตะวันตกจึงไม่อ่อนน้อมต่อข้าราชการไทยเท่าที่ควร จึงเกิดความไม่พอใจซึ่งกันและกัน

            5. ศาสนา ไทยนับถือศาสนาพุทธ ชาวยุโรปนับถือศาสนาคริสต์ เมื่อเข้ามาค้าขายในประเทศไทยก็ได้ชักชวนให้คนไทยเข้ารีต กษัตริย์ไทยจึงไม่พอพระทัยทำให้การเจรจาไม่ตกลง

            6. การค้าขาย ไทยจัดการค้าขายเป็นไปในลักษณะผูกขาด ทางราชการควบคุมเองโดยมีพระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานสำคัญในการค้าขายกับต่างประเทศ

            7. ภาษีอากร ฝ่ายไทยกำหนดขึ้นเองได้แก่ ภาษีสินค้าออก ภาษีสินค้าขาเข้า ภาษีเบิกร่อง พ่อค้าต่างชาติไม่พอใจวิธีการค้าของไทยเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และพ่อค้าต้องการจะค้าขายติดต่อกับราษฎรโดยตรง ไม่ต้องผ่านพระคลังสินค้า นอกจากนี้ยังต้องการให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีเสียใหม่ ประเทศต่างๆ ได้ส่งผู้แทนมาเจรจาเพื่อทำการค้าแต่การเจรจาไม่สำเร็จ

จงตอบคำถามต่อไปนี้                   

  1. นาฏกรรมของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยใด เพราะอะไร
  2. ในสงครามเก้าทัพฝ่ายไทยและฝ่ายพม่ามีการจัดทัพอย่างไร
  3. ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกชาติใดที่ไทยต้องเป็นภาระและหนักใจมากที่สุด เพราะอะไร

             **ข้อมูลเพิ่มเติม**
   
        *เศรษฐกิจ สังคมศาสนาสมัย ร.1-ร.3* คลิกอ่านได้ครับ
        *กฎหมายการศาลและเศรษฐกิจสมัย ร.4-ร.7* คลิกอ่านได้ครับ
        *การศึกษาและการเลิกทาส สมัย ร.4-ร.5* คลิกอ่านได้ครับ
        *การปกครอง ต่างประเทศและเสียดินแดนสมัย ร.4-ร.7* คลิกอ่านได้ครับ
        *ประวัติศาสตร์สมัยร.7-ปัจจุบัน(การปกครอง)* คลิกอ่านได้ครับ 
        *ประวัติศาสตร์ไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง(การปกครอง)* คลิกอ่านได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 305255เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ชอบเรื่องพวกนี้มากค่ะ

“การอ่านทำให้เกิดปัญญา ปัญญาทำให้เกิดจินตนาการ จินตนาการก่อความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การผลิตสิ่งที่มีประโยชน์ ต่อตนเองและสังคม สังคมที่ดีจึงเกิดมาจากสมาชิกสังคมที่รักการอ่าน”

ประวัติดีมากขอบคุณครับ

ดีมากค่ะรายงานหนูเสร็จแล้ว

เจ๊งมากค่ะ  หนูทำการบ้านเสร็จแล้ว  เย้

หนูเข้ามาอ่านดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท