สดุดีแด่อาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์


สดุดีแด่อาจารย์สุมาลี นิมมานนิตย์

วันที่ 7-9 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช จัดนิทรรศการประชุมวิชาการงาน World Palliative Care Day 3 วัน เพื่อเป็นวาระรำลึกถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทยหญิงสุมาลี นิมมานนิตย์ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บุกเบิก นำพาการดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างเป็นองค์รวม และการทำ palliative care ปูเป็นรากฐานทั้งในด้านการบริการและบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในคณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจารย์สุมาลีเสียชีวิตอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีที่สุดจากโรคมะเร็ง ณ รพ.ศิริราชตามเจตจำนงของอาจารย์เอง อาจารย์ได้นำเอาธรรมะเข้ามาปฏิบัติจริง และสานรวมกับการทำงานเป็นแพทย์ เป็นครู เป็นผู้ป่วย เป็นลูก และเป็นนักวิปัสนาจารย์ที่แท้ เป็นตัวอย่างครูแพทย์ในอุดมคติแกรุ่นน้องและกัลยาณมิตร เพื่อนแพทย์ทั่วไป

ในปี 2009 นี้จึงได้มีการริเริ่มจัดให้มีปาฐกถาสุมาลี นิมมานนิตย์ เป็นการเปิดประชุม World Palliative Care Day และจะเป็นประเพณีปฏิบัติต่อๆไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณ และเกียรติประวัติการทำงานเป็นครู การทำงานเป็นแพทย์ของอาจารย์ เป็นอนุสรณ์ และเป็นแบบอย่างแก่แพทย์รุ่นต่อๆไป

ในปีนี้ปฐมองค์ปาฐกคือศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งท่านมีความสนใจ และให้การสนับสนุนการทำ palliative care เป็นหนึ่งใน model การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ปร้บเปลี่ยน paradigm การรักษาพยาบาลในประเทศไทย มุ่งเน้นที่ความเป็นคน ความรักความเข้าใจ และการเจริญสติ ในการดูแลรักษาพยาบาลและการทำความเข้าใจชีวิต

อาจารย์สุมาลีเป็น nephrologist หรือหมอโรคไตผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเป็นที่ประจักษ์ แต่ข้อสำคัญคือ อาจารย์เป็นครูที่ีมีความเป็นครูทุกกระเบียดนิ้ว อาจารย์มีความรักลูกศิษย์และให้ความสำคัญกับบุคลิกการเป็นแพทย์ของลูกศิษย์ไม่น้อยไปกว่าความรู่้เชิงวิชาการแพทย์ ในช่วง 10+ ปีหลัง อาจารย์สุมาลีเล็งเห็นว่า การจะเป็นแพทย์ให้ได้ดี มีความสุข และเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง นักศึกษาแพทย์ควรจะมีพื้นฐานพัฒนาทางด้านจิตใจให้ดีด้วย ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา นักศึกษาแพทย์ศิริราชทุกคน จะได้ไปฝึกเจริญสติกับคุณแม่สิริ กรินชัย และอาจารย์ยังเชื้่อเชิญเพื่อนๆรุ่นน้องอาจารย์แพทย์ ให้ตามไปร่วมปฏิบัติธรรมด้วยกัน จนบัดนี้เมล็ดแห่งการเจริญสติกำลังค่อยๆงอกเงยผลิบาน ออกดอกออกผลขึ้นในบัณฑิตแพทย์รุ่นใหม่ และส่งผลงอกงามต่อๆไปในวงการแพทย์ไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้กระทั่งในช่วงสองสามปีสุดท้าย หลังจากที่อาจารย์รับทราบว่าตนเองมีโรคมะเร็งระยะลุกลาม อาจารย์กลับใช้สภาวะทางกายเป็นบททดสอบสิ่งที่อาจารย์มีศรัทธาและเชื่อมั่น อาจารย์ใช้วิธีการเจริญสติภาวนา เพื่ออยู่กับโรคภัยไข้เจ็บ จนกระทั่งคนภายนอกอาจจะดูไม่ออกเสียด้วยซ้ำว่าอาจารย์มีโรคลุกลามอยู่ภายในกาย เพราะภายนอกนั้น อาจารย์ยังปฏิบัติหน้าที่ เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ทำงานหนักกว่าเดิม ออกบรรยายตามที่ต่างๆ ให้ความรู้การดูแลตนเองและการทำความเข้าใจชีวิต อาจารย์สุมาลีได้แสดงให้เห็นว่า อาชีพครู อาชีพแพทย์ และการเป็นมนุษย์ที่มีความสุขสงบเป็นสรณะนั้น ทำได้จริงๆและทำได้อย่างไร อาจารย์สุมาลีได้สำแดงคุณานุประโยชน์แห่งการเจริญสติในทางปฏิบัติ ในการดำรงชีพท่ามกลางโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างกล้าหาญ มั่นคง และงดงามมีศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง

ผมยังจำได้ครั้งหนึ่ง ที่อาจารย์สุมาลีบรรยายเรื่อง palliative care และอาจารย์เล่าเรื่องที่อาจารย์เองต้องเป็นคนแจ้งข่าวร้ายแก่คุณแม่ของอาจารย์ (ซึ่งกลับกันกับสถานการณ์ปกติ ที่หมอเป็นคนแจ้งข่าวร้ายแก่คนไข้และญาติ) อาจารย์ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่างเป็นขั้นตอน เป็นลำดับ แก่คุณแม่ของอาจารย์ ณ ที่โต๊ะอาหารที่บ้าน แจ้งว่าเป็นอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง อาจารย์ได้นำเอาบทสวดคำสอนในโพชฌงค์ 7 มาช่วยกันวินิจวิเคราะห์กับคุณแม่ และนำมาปฏิบัติเพื่อใช้เผชิญกับโรคที่กำลังคุกคาม ตั้งแต่ สติ ธัมมะวิจัย วิริยะ ปิติ ปัทสัทธิ สมาธิ และถึงขั้นสุดท้ายของธัมมะที่ยากที่สุดคือ อุเบกขา จนกระทั่งเห็นซึ้งถึงประโยชน์ของการนำธรรมะมาใช้ในทางปฏิบัติจริง

ในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ ณ ที่นี้ ผมจึงใคร่ขอสดุดี และขอขอบพระคุณอาจารย์ ที่ได้แสดงตัวอย่างการดำรงชีพในฐานะเป็นครู และเป็นแพทย์ และสำคัญที่สุด ในการเป็นมนุษย์อันประเสริฐ ใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์แต่เพื่อนมนุษย์เป็นสรณะ ทำให้ชีวิตของอาจารย์ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ และความทรงจำอันยิ่งใหญ่แก่คนที่ได้มีโอกาสมาเกี่ยวข้องกับอาจารย์ ขอปวารณาว่า จะลอกเลียนแบบ ซึ่งคุณค่าและวิถีที่อาจารย์ได้สำแดงไว้ เท่าที่สติปัญญาความสามารถของผมจะเอื้ออำนวย

กราบสดุดี

หมายเลขบันทึก: 305223เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณสกลครับ ที่เขียนบันทึกในส่วนที่ผมไปไม่ทัน

ยังมีอีกเยอะครับ ผมขอเทปพี่รุ่งนิรันดร์ไว้แล้ว VCD ชุดสดุดีอ.สุมาลีชุดนี้ ทำได้สวยงานจริงๆครับ

ผมได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์ในช่วงสั้นๆ โดยเคยผ่านอบรม counseling กับอาจารย์ อาจารย์แนะนำผมหลายอย่างรวมถึงการก่อตั้งทีมกัลยาณมิตร อาจารย์ก็ให้สติว่า "ไม่ต้องรีบร้อน ค่อนเป็นค่อยไป(อาจารย์คงจะเห็นแต่ไฟในตัวผมที่อาจจะไหม้ทีมและไหม้ตัวเองได้ในเวลานั้น) "นับถืออาจารย์จากใจ ครู palliative คนแรก ๆ ของผม

เคยฟังอาจารย์บรรยายมาแล้วค่ะ ขอให้อาจารย์ไปสู่สุคติด้วยนะคะ

อาจารย์สกลค่ะ ไม่ทราบพอจะนำ VCD ชุดสดุดีของอาจารย์สุมาลี มานำเสนอใน blog ของอาจารย์ได้มั้ยค่ะ จะได้เข้ามาเรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง และมีโอกาสคงได้นำเสนอต่อให้ทีมกัลยาณมิตรที่สนใจด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ต้องขอบพระคุรอาจารย์ที่ได้แนะนำหลักคิด แนวคิดของ palliative care ในวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมานะค่ะ เสียดายที่ไม่ได้พบกับอาจารย์เต็มศักดิ์ค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์สกล ผมขออนุญาติยืมรูปอาจารย์สุมาลี ไปสอน นศพ. และ link รูปอาจารย์ไปเขียน blog คำสอนสุดท้ายจากอาจารย์สุมาลี คุรุ ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดไป

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท