ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี ตอน สงครามขยายอาณาเขต


ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี

 

 ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี ตอน สงครามขยายอาณาเขต
-----------------------------------------------

สงครามขยายอาณาเขต

            หลังจากไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 ทำให้ไทยต้องอ่อนอำนาจลงเพราะผู้คนเสียชีวิตมาจากสงคราม ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เมืองต่างๆ ที่เคยเป็นของไทยก็แยกตัวเป็นอิสระ ดังนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กอบกู้เอกราชจากพม่าได้แล้วและตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ พระองค์จึงคิดที่จะขยายอาณาเขตออกไปอีกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ดินแดนที่ได้ขยายอาณาเขตไปได้แก่เขมรและลาว

            การขยายอาณาเขตไปยังเขมร

            ในขณะนั้นดินแดนเขมรมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างพระรามราชา (นักองค์นนท์) กับพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) พระรามราชาสู้ไม่ได้เพราะพระนารายณ์ราชาขอความช่วยเหลือจากญวน พระรามราชาจึงหนีมาพึ่งไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงส่งสาส์นเรียกร้องให้พระนารายณ์ราชายอมสวามิภักดิ์ดังเดิม แต่พระนารายณ์ราชาไม่ยอม และยังตอบสาศ์นกลัมมาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีมาจากคนสามัญไม่ได้เป็นกษัตริย์ ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขัดเคืองพระทัยมาก จึงโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชานำทัพไปตีเขมร ในปี พ.ศ.2312 สามารถตีได้เมือง เสียมราฐ  พระตะบองและโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ทันตีเมืองหลวงของเขมรได้ซึ่งขณะนั้นคือเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร) ก็พอดีทางกองทัพไทยได้ทราบข่าวลือว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตจากการยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยไม่ทราบความจริงและกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายในกรุงธนบุรี แม่ทัพไทยทั้งสองท่านจึงยกทัพกลับ เหตุการณ์ในเขมรจึงยังไม่เรียบร้อย

            หลังจากปราบปรามชุมนุมต่างๆ หมดแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้ยกทัพไปตีเขมรอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2314 พระองค์เสด็จไปเองเป็นทัพหลวงไปทางเรือ ทัพบกมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ คราวนี้ทัพไทยประสพความสำเร็จสามารถยึดเมืองหลวงของเขมรได้ พระนารายณ์ราชาจึงหนีไปพึ่งญวน พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงแต่งตั้งให้พระรามราชาขึ้นครองราชย์   ต่อมาภายหลังพระนารายณ์ราชายอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และยอมรับพระรามราชาเป็นกษัตริย์เขมร  พระนารายณ์ราชายอมรับแต่เพียงตำแหน่งพระมหาอุปโยราช (เทียบเท่าวังหน้า) เหตุการณ์ในเขมรจึงสงบลงได้ระยะหนึ่ง

            ต่อมาในปี พ.ศ.2322 พระรามราชาสิ้นพระชนม์ นักองค์เองโอรสของพระนารายณ์ราชาได้ขึ้นครองราชย์แทนแต่อายุยังน้อย โดยมีเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขมรจึงหันไปพึ่งญวนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทางธนบุรีทราบข่าวจึงให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ไปตีเขมรอีก ถ้าสำเร็จให้อภิเษกพระเจ้าลูกยาเธอขึ้นครองเขมรต่อไป ขณะที่ไทยรบกับเขมรอยู่ฝ่ายญวนก็ให้การสนับสนุนเขมรอยู่เรื่อยๆ พอดีทางกรุงธนบุรีเกิดเหตุวุ่นวายด้วยพระสติของพระเจ้ากรุงธนบุรีฟั่นเฟือน แม่ทัพทั้งสองคนเกรงกรุงธนบุรีจะเกิดจราจลจึงรีบยกกองทัพกลับ ปล่อยให้เหตุการณ์ในเขมรวุ่นวายต่อไป

            การขยายอาณาเขตไปยังลาว

            ลาวรวมตัวกันไม่ได้ มีการแตกแยกกันอยู่เสมอ แยกเป็นแคว้นต่างๆ จึงทำให้ลาวอ่อนแอลง ในสมัยกรุงธนบุรีไทยขยายอาณาเขตไปยังลาวสองครั้ง

            1. การตีจำปาศักดิ์  เมืองจำปาศักดิ์ตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง จึงเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นเมืองใหญ่ของลาวทางใต้ สาเหตุที่ไปตีจำปาศักดิ์เพราะ ปี พ.ศ.2319 พระยานางรองซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของนครราชสีมาคิดเป็นกบฏ ไปขอขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์เพราะเจ้าเมืองนางรองเกิดขัดใจกับเจ้านครราชสีมา เจ้าโอ (โอ้) ก็รับไว้ด้วยความยินดี เพราะคิดว่าไทยอาจแพ้พม่าก็ได้ (ตอนนั้นไทยกำลังทำศึกกับพม่าคราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ) เมื่อเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปปราบเมืองนางรองสามารถจับเจ้าเมืองประหารชีวิตได้ ส่วนผู้ร่วมคบคิดหนีไปจำปาศักดิ์ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงส่งเจ้าพระยาสุรสีห์ไปช่วยอีกทัพหนึ่ง ไทยตีได้จำปาศักดิ์และดินแดนตอนใต้ของลาว หลังเสร็จศึกกลับมากรุงธนบุรีแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีได้แต่งตั้งให้เจ้าพระยาจักรีเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกไม่ว่าในสมัยใดไม่เคยมีขุนนางผู้ใดมีบรรดาศักดิ์สูงสุดเช่นนี้

            2. การตีเวียงจันทร์  ในตอนที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ทางกรุงศรีสัตนาคนหุต เกิดเหตุยุ่งยากเพราะเจ้ามหาชีวิตสิ้นพระชนม์ ทำให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติ ในที่สุดเจ้าสิริบุญสารได้ขึ้นครองราช ในตอนต้นสมัยกรุงธนบุรี เวียงจันทร์กับธนบุรีมีไมตรีต่อกัน ต่อมาเวียงจันทร์หันไปฝักใฝ่พม่ามากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมลงจนกระทั่งเกิดเหตุเรื่องพระวอเสนาบดีเวียงจันทร์ได้ทะเลาะกับเจ้าสิริบุญสารจึงได้หนีมาอยู่หนองบัวลำภู และเดินทางต่อมาจนถึงดอนมดแดง เพื่อขอสวามิภักดิ์กับไทย แต่เจ้าสิริบุญสารได้ส่งกองทัพมาปราบยังฝั่งไทยและจับพระวอฆ่า ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีพิโรธมาก จึงให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปทางนครราชสีมและให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพเรือไปตามลำน้ำโขงเพื่อตีเวียงจันทร์ในปี พ.ศ.2321 ขณะทัพไทยมีชัยชนะไปตามรายทางนั้น ผู้ปกครองหลวงพระบางคือเจ้าร่มฟ้าได้ขอสวามิภักดิ์ต่อไทยและส่งทัพมาช่วยไทยตีเวียงจันทร์ด้วย เจ้าสิริบุญสารเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงหนีไป คราวนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้กวาดต้อนผู้คนของเวียงจันทร์มาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในดินแดนไทยกลับคืนมาพร้อมกับพระบาง (พระบางไทยคืนให้แก่ลาวในสมัยรัชกาลที่ 1)

 

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ตอบคำถามต่อไปนี้

  1. ไทยยกทัพไปตีเขมรในครั้งแรกเนื่องมาจากสาเหตุใด และผลของสงครามเกิดผลดีหรือผลเสียต่อไทยอย่างไร
  2. สงครามระหว่างไทยกับลาวแม่ทัพไทยคนใดที่มีบทบาทมากที่สุดและมีบทบาทอย่างไร

 

หมายเลขบันทึก: 305221เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตามมาอ่านประวัติศาสตร์ครับ

....................................................................

น่าหนุก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท