การเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผ่านระบบเครือข่าย


Forex

การลง ทุนในธุรกิจการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราผ่านระบบเครือข่ายหรือ FOREX นั้นในปัจจุบันยังไม่มีนักวิชาการ หรือผลงานวิจัยใดที่สามารถสรุปยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจตลาด FOREX สมควรเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฏหมาย สามารถทำผลกำไรให้กับนักลงทุนได้อย่างยุติธรรม ไม่ถูกเอาเปรียบ สมควรที่จะให้ประเทศไทยสามารถเปิดธุรกิจด้านนี้ได้อย่างเสรี โดยไม่จำกัดการดำเนินธุรกิจอยู่แต่เพียงธนาคารหรือสถาบันการเงินใหญ่ๆ ซึ่งเรียกกันตามภาษาทางการเงินการคลังว่า การปริวรรตเงินตรา เท่านั้น

          ตามข้อเท็จจริงแล้ว กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไป ซื้อ/ขายเงินตราต่างประเทศในลักษณะเก็งกำไรจากอัตราการแลกเปลี่ยน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงจากความผันผวนของตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง  ได้มีการประกาศเตือนประชาชนว่าอย่าได้ไปหลงเชื่อ  แต่ถึงทุกวันนี้บริษัทที่ ทำธุรกิจประเภทดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และได้มีการพัฒนารูปแบบในการหลอกลวงประชาชนอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มบุคคลเหล่านี้อาศัยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และช่องว่างทางกฏหมายต่างๆ ในการหาช่องทางกระทำผิด

          ความเสียหายและผลกระทบจากธุรกิจ FOREX  หรือธุรกิจการเงินนอกระบบอื่นๆนั้นสร้างความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจเป็น อย่างมาก เงินที่ได้จากธุรกิจเหล่านี้ มิได้ถูกนำไปใช้ในการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการใช้จ่ายสิ้นเปลือง อาจถูกนำไปเพื่อการฟอกเงิน หรือถูกผันไปสู่ธุรกิจนอกกฏหมายอื่นๆ ต่อ  นอกจากนี้การระดมเงินนอกระบบมักจะเกิดขึ้นสวนทางกับนโยบายรัฐบาลซึ่งทำให้มี เงินออมในระบบน้อยลง ทั้งยังเกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจการเงินภายในระบบ ส่งผลให้เงินฝากของสถาบันการเงินไหลออกไปสู่นอกระบบ อาจมีเงินบางส่วนไหลออกสู่นอกประเทศด้วย ตลอดจนมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง  และเกิดความเดือดร้อนไปทุกจังหวัดทั่วประเทศทำให้ความเป็นอยู่ ภาวะทางสังคม สุขภาพจิตของผู้ถูกหลอกลวงอันจะมีผลกระทบไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม อีกด้วย

         พฤติกรรมในการดำเนินการของธุรกิจการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราผ่านระบบ เครือข่ายที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ณ ปัจจุบันในสังคมไทยนั้น เป็นการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยสาระสำคัญของพระราชกำหนดนี้มีถูกร่างขึ้นมาโดยมีความมุ่งหมาย 3 ประการ ดังนี้

1. เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว

2. เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินลงทุนคืน

3. เพื่อปราบการระดมเงินที่ผิดกฎหมายในช่วงระยะเวลานั้น

        นอกจากนั้นในการแก้ไขกฎหมายการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ครั้ง 2 พ.ศ. 2545 ยังได้มีการเพิ่มเติมถึงกรณีของการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วยเนื่อง จาก บทบัญญัติเดิม ยังไม่อาจใช้บังคับครอบคลุมแก่การกระทำดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อ โกงประชาชน และกำหนดให้การโฆษณาหรือประกาศ หรือการกระทำใดๆ ให้ประชาชนนำเงินเข้ามาร่วมลงทุนลักษณะดังกล่าว เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย ประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทน ความรับผิดของพนักงาน หรือลูกจ้างของนิติบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นคนต่างด้าว รวมทั้งให้มีการจ่ายสินบนและเงินรางวัล เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ประชาชน พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2545 เป็นต้นมาสาระสำคัญที่แก้ไข ดังนี้

  1. แก้ไของค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ประชาชน และกำหนดให้การโฆษณาหรือประกาศหรือการกระทำใดๆ ให้ประชาชนนำเงินเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือเก็ง กำไร เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
  2. กำหนดการประมาณการอัตราผลประโยชน์ตอบแทน จากการให้กู้ยืมเงินในกรณีไม่สามารถคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนเงินแน่นอนได้
  3. กำหนดความรับผิดของพนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคล ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นผู้ รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ต้องรับโทษในความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อย่างเดียวกับกรรมการและผู้จัดการของนิติบุคคล เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำผิด
  4. เพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิดซ้ำ
  5. กำหนดให้เนรเทศคนต่างด้าวซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

        หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้แยกออกได้เป็นสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นการห้ามประกอบกิจการซึ่งในร่างกฎหมายเรียกว่า “ กิจการระดมเงินนอกระบบ ” และเรื่องที่สองได้แก่ การห้ามการประกอบกิจการซึ่งเรียกว่า “ กิจการเงินต่อเงิน ” ซึ่ง FOREX เข้าข่ายความผิดนี้ เพราะเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีการใช้เงินตราเป็นตัวแปรสำคัญในการระดม เงินลงทุน นอกจากนั้นยังมิได้มีการซื้อ/ขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นเพียงการ ผันเงินจากนักลงทุน สู่บัญชีของกลุ่มผู้ที่ดำเนินธุรกิจนอกกฏหมายเหล่านี้เพียงเท่านั้น

ข้อเสนอแนะ

                ผู้เรียบเรียงมีความคิดเห็นว่าในการศึกษาครั้งนี้ควรแบ่งข้อเสนอแนะออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ข้อเสนอแนะต่อประชาชน และนักลงทุน

                ข้อเสนอแนะสำหรับประชาชน และนักลงทุน มีดังต่อไปนี้

  1. อย่าหลงเชื่อบุคคลหรือบริษัทที่ชักชวนให้นำเงินมาลงทุนในธุรกิจใดๆก็ตามที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงมากในเวลาอันรวดเร็ว
  2. เมื่อมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาชักชวนให้ลงทุน อย่าเพิ่งตัดสินใจในทันที ลองตั้งหลายๆคำถามที่เกี่ยวกับการลงทุนนั้น ถามคนที่มาชักชวนลงทุนว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน รายได้ที่ได้รับมีความเป็นไปได้หรือไม่
  3. ตรวจสอบข้อมูลของบุคคลและบริษัทอย่างรอบคอบว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อย เพียงใดจากเอกสารต่างๆ เช่น โบรชัวร์ เอกสารการชักชวนหรือการจ่ายผลตอบแทน การจดทะเบียนบริษัท การจดทะเบียนการค้า เป็นต้น
  4. ขอคำแนะนำ และตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับจากบริษัทกับหน่วยงานของทางราชการที่รับผิดชอบ
  5. หากพบเจอการกระทำที่คิดว่าเป็นการหลอกลวงให้ลงทุน ให้เก็บรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่ได้จากบริษัทนั้นให้มากที่สุด เช่น โบรชัวร์,เอกสารการรับ/จ่ายเงิน,เอกสารการชักชวนหรือแนะนำให้สมัครสมาชิก เป็นต้น
  6. หากทราบว่าตนเองหรือบุคคลที่รู้จักถูกกลุ่มขบวนการเหล่านี้หลอกลวง ให้ดำเนินการดังนี้
  • ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยแจ้งความได้ที่ สถานีตำรวจภูธรในท้องที่เกิดเหตุ กองบังคับการกองปราบปราม
  • ร้องเรียนได้ที่กลุ่มงานป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง  กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 โทร. 0-2273-9021 ต่อ 2627-35 หรือสายด่วนการเงินนอกระบบ 1359 www.mof.go.th  หรือ
  • กองบังคับการตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ถนนสาธรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทร.0-2237-1199 โทรสาร.0-2234-6806 www.ecotecpolice.com และ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทร 02-283-5353

 ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐบาล

 ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐบาลมีดังต่อไปนี้

  1. ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายหรือพระราชบัญญัติ ในบางมาตราหรือบางข้อ เนื่องจากสภาวะโลก และสังคมที่เปลี่ยนไปตามกระแสความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่ออาชญากร และรูปแบบการประกอบอาชญากรรมมีความซับซ้อนแยบยล มากขึ้นเพียงใด เครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมก็ควรมีการพัฒนาตามให้ทัดเทียมกัน เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในด้านการเลือกลงทุนที่ปลอดภัย และให้ผลตอบการลงทุนที่คุ้มค่ากับประชาชนหรือนักลงทุน
  2. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ทัดเทียมกับผู้กระทำผิดหรืออาชญากรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการตรวจสอบ  และดูแลประชาชนหรือนักลงทุน
  3. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนหรือนักลงทุน เกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับสถานภาพทางสังคมของแต่ละบุคคล
  4. จัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ มีอำนาจ ขอบเขตในการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ที่สำคัญควรเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับกลุ่มอำนาจใดๆ
  5. อาจศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้ FOREX เป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้กรอบมาตรฐานเดียวกับประเทศอื่นๆ เพื่อสกัดกั้นการไหลออกของเงินตราออกสู่ต่างประเทศ หรือกลุ่มธุรกิจนอกกฏหมายอื่นๆ

บรรณานุกรม

 ข่าวสารทิศทางประเทศไทย.  เศรษฐกิจใต้ดิน : การงอกงามใต้ร่มเงาโลกาภิวัฒน์. กรุงเทพฯ : 2546

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง ธุรกิจนอกกฏหมาย

   ความผิดมูลฐานและการฟอกเงิน. กรุงเทพฯ : 2547

ธนาคารแห่งประเทศไทย.  การเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ. 

   [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://www.bot.or.th.  (29 พฤศจิกายน 2550).

พีรพันธุ์ เปรมภูติ.  คู่มือพนักงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางการเงิน. กรุงเทพฯ :

   สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน.  2545

มิศรา สามารถ.  การฟอกเงิน.   กรุงเทพฯ : สถาบันดำรงราชานุภาพ. 2540

วีระพงษ์ บุญโญภาส. อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : นิติธรรม. 2549

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. ศูนย์บริการข้อมูลและกฎหมาย. การป้องกันและปราบปราม

   การฟอกเงิน. กรุงเทพฯ : สำนักงาน. 2537

สุรพล ไตรเวทย์. คำอธิบายกฎหมายฟอกเงิน : ปัญหา ข้อเท็จจริง คำอธิบาย   พระราชบัญญัติ

  ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. 2542

คำสำคัญ (Tags): #forex
หมายเลขบันทึก: 305180เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท