ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 4)ประวัติความเป็นมา


ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 4)

.......................................................

1. ประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

             ความเป็นมาของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะว่าเป็นเมืองเก่าก็ถูก เพราะมีชื่อและมีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่โบราณกาล แต่จะว่าเป็นเมืองใหม่ก็ได้เพราะเคยตั้งๆ ยุบๆ และเปลี่ยนแปลงกันมาหลาครั้งหลายหน เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายฉบับให้ข้อมูลตรงกันว่า ประจวบคีรีขันธ์เคยเป็นเส้นเดินทัพทั้งทัพไทยและทัพพม่า ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีประวัติที่น่าสนใจดังนี้

            สมัยกรุงศรีอยุธยา

            เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ.1693 ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาด้วย เดิมทีเดียวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีชื่อเรียกว่าเมืองบางนางรม หรือเมืองนารัง ตั้งอยู่ริมคลองบางนางรม ซึ่งชาวบ้านเรียกติดปากกันในสมัยนั้นว่าคลองอีรม เมืองบางนางรม(ประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) มีผู้คนอาศัยอยู่มานานแล้ว ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยาพม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เส้นทางที่พม่าใช้เดินทัพผ่านมาทางหนึ่งคือด่านสิงขร (อยู่ในเขตอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์) พม่าได้เดินทัพมาทางด่านสิงขรผ่านมาทางคลองวาฬ และบางนางรม เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้เมืองบางนารมนี้ก็ได้เลิกร้างไป ประชาชนอพยพไปอยู่ในเมืองอื่นๆ เพราะเกรงว่าพม่าจะมารุกรานอีก เนื่องจากอยู่ใกล้ช่องทางที่พม่าสามารถเดินทางผ่านมาได้โดยง่าย

            สมัยกรุงธนบุรี

             ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเพียงสั้นๆ ซึ่งขณะนั้นเมืองบางนางรมหรือนารังยังร้างอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเมืองบางนางรมก็ยังคงเป็นทางเดินทัพของพม่าที่เข้ามายังไทยอีก ดังที่กล่าวแล้วว่าสมัยกรุงธนบุรีเป็นช่วงการปกครองที่สั้นมาก ดังนั้นการเดินทัพของพม่าที่ผ่านไปมาทางเมืองบางนางรมจึงมีเรื่องราวปรากฏอยู่ไใมากนัก

            สมัยกรุงรัตนโกสินทร์    

               - สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระองค์เคยส่งกองทัพมาทางเมืองบางนางรมผ่านไปทางด่านสิงขร เพื่อยกทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ และเมืองร่างกุ้ง ขณะนั้นเมืองบางนางรมยังร้างผู้คนอยู่

               - สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่าเมืองบางนางรมที่ยังร้างอยู่เพราะผู้คนเกรงกลัวภัยสงคราม จึงได้โปรดให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ปากคลองบางนางรม แล้วก็เรียกเมืองใหม่นี้ว่าเมืองบางนางรมเหมือนเดิม แต่สภาพพื้นดินของเมืองบางนางรมไม่เหมาะต่อการประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ เพราะดินเป็นดินเค็มอยู่ใกล้กับทะเล เจ้าเมืองบางนางรมจึงได้ย้ายที่ทำการจากปากคลองบางนางรมไปตั้งที่เมืองกุย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า

               - สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ไม่มีหลักฐานบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองบางนางรม

               - สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวมท้องที่เมืองกุยบางส่วน เมืองคลองวาฬ และเมืองบางนางรมเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นเมืองใหม่แล้วพระราชทานนามว่า เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้เพื่อให้พ้องกับชื่อเมืองประจันตคีรีเขตหรือเกาะกง (ปัจจุบันเป็นของประเทศเขมร) คำว่า "ประจวบ" แปลว่าประสบ พบปะ "คีรี" แปลว่าภูเขา "ขันธ์" แปลว่าหมู่พวก กอง หมวด หรืออาจกล่าวได้ว่า ประจวบคีรีขันธ์ คือเมืองที่มีภูเขาอยู่รวมกันเป็นพืด

               อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ เมืองประจวบคีรีขันธ์มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกด้วยเพราะ      รัชกาลที่ 4 ได้คำนวณด้วยตำราดาราศาสตร์ว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนตรงบ้านหว้ากอ เขตเมืองประจวบคีรีขันธ์ และได้เชิญชาวต่างชาติมาดู เมื่อถึงวันที่ได้พยากรณ์ไว้ก็เกิดสุริยุปราคาจริงๆ

               - สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2437 ทรงโปรดให้จัดการปกครองท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาล พร้อมกับให้ยุบเมืองปีะจวบคีรีขันธ์ลงเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรี ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเมืองประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองเล็ก แต่ก็ยังตั้งที่ทำการหรือที่ว่าการอำเภออยู่ที่กุย จนถึง พ.ศ.2441 ได้โปรดให้ย้ายที่ว่าการเมืองประจวบคีรีขันธ์จากกุยมาตั้งทมี่อ่าวเกาะหลัก ด้วยเป็นที่ที่เหมาะสมกว่าและโอนระบบการปกครองจากกระทรวงกลาโหมไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย แต่พอถึง พ.ศ.2449 ได้โปรดให้รวมอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปราณบุรี ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรีรวมกับอำเภอกำเนิดนพคุณซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร ตั้งขึ้นเป็นเมือง ปราณบุรี เพื่อรักษาชื่อเมืองปราณบุรีไว้ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าเมืองปราณบุรีเป็นเมืองเก่าควรสงวนชื่อไว้ เมืองปราณบุรีที่ตังขึ้นนี้มีฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลราชบุรี ส่วนเมืองปราณบุรีเดิมก็ยังคงอยู่ที่ปากคลองปราณ (บ้านปากน้ำปราณปัจจุบัน) ณ สถานที่ตังอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาพักครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ปี ร.ศ.108

               - สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองโบราณชื่อไม่ตรงกับสถานที่ตั้งเดิม เช่นเมืองปราณบุรีตั้งที่เกาะหลัก กับเมืองปราณที่ตั้งอยู่ริมคลองปราณ นานไปจะเกิดความสับสนทางประวัติศาสตร์ จึงโปรดเก้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรีที่เกาะหลักเป็น "เมืองประจวบคีรีขันธ์" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2458 และได้ใช้ชื่อนี้มาจนกระทั่งทุกวันนี้                          

2. ความเป็นมาของอำเภอหัวหิน

            อำเภอหัวหินเป็นอำเภอใหม่ซึ่งแต่เดิมประมาณร้อยกว่าปีที่แล้วที่ตั้งของอำเภอหัวหินปัจจุบันมีสภาพเป็นป่าดงดิบ ไม่มีบ้านเรือนผู้คนอาศัยอยู่เลย แต่เหนือหัวหินขึ้นไปทางเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร มีหมู่บ้านอยู่หมู่หนึ่งคือหมู่บ้านบ่อฝ่าย และทางใต้ห่างออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร มีหมู่บ้านตะเกียบ ในระยะนั้นได้มีราษฎรจำนวนหนึ่งซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านบางจานและบางแก้วเขตจังหวัดเพชรบุรี ประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำมาหากินที่ฝืดเคืองมากขึ้น จึงได้อพยพครอบครัวมาหักร้างถางพงลงมาทางใต้ และมาหยุดอยู่ที่ตำบลหัวหินปัจจุบัน ในสมัยนั้นหัวหินมีชื่อเรียกว่า "บ้านสมอเรียง" คำว่าสมอเรียงมีเค้ามาจากคำว่าถมอเรียง ในภาษาขอมคำว่าถมอเรียง แปลว่าหินหรือศิลาเรียงกัน ซึ่งตรงกับความเป็นจริงในขณะนั้นที่น้ำทะเลลดลง ถ้ามองไปที่ชายทะเลแล้วจะเห็นหินเป็นก้อนๆ วางเรียงรายอยู่กลาดเกลื่น และเนื่องด้วยหินที่วางเรียงรายอยู่นี้ดูติดต่อกันเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อไปเรียกว่า "แหลมหิน" แล้วค่อยๆ เพี้ยนไปเป็นหัวหิน มาจนถึงทุกวันนี้

3. ความเป็นมาของอำเภอปราณบุรี

            อำเภอปราณบุรีแต่เดิมทีเดียวเป็นเมืองเก่ามีฐานะเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ.2444 ได้ประกาศให้เมืองปราณบุรีไปขึ้นกับเมืองเพชรบุรี และในปี พ.ศ.2449 ก็ได้พิจารณาให้เมืองปราณบุรีไปขึ้นอยู่กับแขวงเมืองชุมพร แต่เนื่องจากที่ตั้งของเมืองปราณบุรีกับแขวงเมืองชุมพรอยู่ห่างไกลกันมากไม่สะดวก จึงโปรดเกล้าให้รวมเมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ และเมืองกำเนิดนพคุณตั้งเป็นแขวงเมืองขึ้นใหม่มีสภาพเป็นเมืองจัตวาอีกเมืองหนึ่ง ส่วนการตั้งชื่อเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้รัชกาลที่ 5 ได้พิจารณาเห็นว่าชื่อของเมืองปราณบุรีเป็นชื่อเมืองเก่า สมควรได้สงวนชื่อไว้ จึงทรงพระราชทานชื่อเมืองที่ตั้งใหม่ว่า "เมืองปราณบุรี" โดยตั้งที่ทำการอยู่ที่เกาะหลัก ส่วนเมืองปราณบุรีเดิม (ที่ตั้งอำเภอปราณบุรีปัจจุบัน) ให้เรียกชื่อว่าเมืองปราณ และให้ขึ้นกับเมืองปราณบุรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ตั้งแต่นั้นมาราษฎรต่างก็พากันเรียกเมืองปราณเดิมว่า "เมืองเก่า" และเรียกกันติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงแก้ไขชื่อเมืองปราณบุรีที่ตั้งที่ว่าการที่เกาะหลัก (ประจวบคีรีขันธ์) ว่าเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกันการจำชื่อไขว้เขวกับเมืองปราณเดิม ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและใช้ชื่อว่าปราณบุรีตลอดมา  

4. ความเป็นมาของอำเภอกุยบุรี

            เมืองกุยเป็นเมืองเก่าที่มีชื่อมานานแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมืองกุยเป็นเมืองหน้าด่านเมืองหนึ่ง ที่พม่าจะต้องยกทัพผ่านเมื่อเข้ามาทางด่านสิงขร ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนางรมเป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ศาลาว่าการเมืองประจวบคีรีขันธ์มาตั้งที่กุยบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น เมืองประจวบคีรีขันธ์ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรี แต่ที่ว่าการอำเภอยังคงอยู่ที่กุยบุรี จนถึงปี พ.ศ.2441 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ไปอยู่ที่เกาะหลัก นับตั้งแต่ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ไปอยู่ที่เกาะหลักแล้ว เมืองกุยบุรีก็กลายเป็นตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงปี พ.ศ.2503 ได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอและได้ยกฐานะเป็นอำเภอกุยบุรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2506

5. ความเป็นมาของอำเภอทับสะแก

            อำเภอทับสะแก เดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่าประกอบด้วยป่าไม้เบญจพรรณ ระหว่างเทือกเขาตะนาวศรีกับอ่าวไทย เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นทำเลที่มีการทำมาหากินอย่างบริบูรณ์ทั้งบนบกและในทะเล ราษฎรจึงอพยพเข้ามาทำมาหากินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น 3 แห่ง คือ หมู่บ้านทับสะแก  หมู่บ้านห้วยยาง และหมู่บ้านอ่างทอง

            อำเภอทับสะแกมีประวัติเล่ากันมาว่า เดิมทีเดียวมีตาปะขาวผู้หนึ่งมาจากแห่งหนใดไม่ปรากฏ มาทำสวนเล็กๆ ในท้องที่ตำบลทับสะแกปัจจุบัน ไม่มีใครทราบชื่อประวัติความเป็นมาของตาปะขาวผู้นี้ คงเรียกกันว่า ตาแก่ ตาแก่ผู้นี้มาอยู่คนเดียวก่อนคนอื่นๆ ได้ปลูกทับ (กระท่อม) เป็นที่อยู่อาศัย ต่อมามีชาย 2 คนมาจากทางใต้ ชื่อ แทน กับ คง ได้เข้ามาจับจองที่ดินทำนาทำสวนด้วยกัน ต่อมาอีกไม่นานมีชายอีก 2 คนมาจากทิศตะวันออก ชื่อ ขุนด่านเจาะ กับ ขวัญแก้วขวัญเมือง บุคคลเหล่านี้มาชุมนุมกันโดยมีถิ่นฐานอยู่ใกล้เคียงกับตาแก่ผู้นั้น จึงเกิดเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านแห่งแรกขึ้น และโดยที่ไม่มีใครรู้จักตาแก่ผู้นั้น ทั้งสถานที่อยู่นั้นก็ไม่มีชื่อเรียกกันมาก่อน เมื่อผู้ใดประสงค์จะไปยังหมู่บ้านแห่งนั้นมักพูดกันว่า "ทับตาแก่" และมีผู้เรียกตามกันเรื่อยมาจนติดปาก ในระยะหลังต่อมานานๆ เข้าสำเนียงเรียกชื่อก็ผิดเพี้ยนไปเป็น ทับสะแก ซึ่งเป็นชื่อเรียกตำบลทับสะแกและอำเภอทับสะแกในปัจจุบัน

6. ความเป็นมาของอำเภอบางสะพาน       

            อำเภอบางสะพานแต่เดิมเรียกว่า บ้านบางสะพาน เข้าใจว่ามีประชาชนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

            ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชายกทัพไปปราบพระยาตะนาวศรี และได้มาประชุมพลที่บางสะพานบริเวณ หมู่ที่ 1,4 ตำบลร่อนทอง ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า บ้านศวร

            ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดให้เกณฑ์ราษฎรที่บางสะพานขุดทองคำไปถวาย และคงจะได้เปลี่ยนชื่อตำบลบางสะพานเป็นตำบลกำเนิดนพคุณตั้งวแต่ครั้งนั้น

            ทางการได้ยกฐานะตำบลกำเนิดนพคุณเป็นอำเภอครั้งใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่ได้ความคร่าวๆ ว่า พ.ศ. 2396 ผู้ว่าการเมืองกำเนิดนพคุณได้เป็นเมืองจัตวา และเป็นหัวเมืองหน้าด่านพม่า เช่นเดียวกับเมืองปราณ เมืองกุย ขึ้นตรงต่อสมุหกลาโหม

            สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2438 เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทยได้ยุบเมืองกำเนิดนพคุณเป็นอำเภอกำเนิดนพคุณ ขึ้นกับเมืองชุมพร มณฑลสุราษฎร์ธานี พ.ศ.2460 ทางการเห็นว่าที่ว่าการนี้ตั้งอยู่ใกล้สะพานรถไฟ ข้ามคลองขนาดใหญ่ (ปัจจุบันนี้สะพานนี้อยู่หน้าที่ว่าการอำเภอ) อันเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ประชาชนรู้จักชัดเจนยิ่งขึ้น จึงโปรดเก้าให้เปลี่ยนเป็นชื่ออำเภอเป็น "อำเภอบางสะพาน"มาจนทุกวันนี้

7. ความเป็นมาของอำเภอบางสะพานน้อย

            อำเภอบางสะพานน้อยเป็นอำเภอใหม่ เดิมเป็นกิ่งอำเภอบางสะพานน้อยขึ้นอยู่กับอำเภอบางสะพาน ตามหลักฐานที่พบไม่มีประวัติความเป็นมาเฉพาะ ได้ยกฐานะเป็นอำเภอบางสะพานน้อย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2524

 

หมายเลขบันทึก: 305151เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท