นิทรรศการ “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย”


เมื่อวานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังเสวนาในหัวข้อ “กราฟิกดีไซน์ไทย คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” ที่สยามดิสคัพเวอรี่ นักออกแบบกราฟิกที่มาร่วมงานเสวนาในวันนั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านงานออกแบบมาไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคุณปริญญา โรจน์อารยานนท์ เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขากราฟิกดีไซน์ปีล่าสุด และเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรตระกูลดีบี (DB Design) อันเป็นตำนานจนถึงปัจจุบัน / คุณไพโรจน์ ธีระประภา (สยามรวย – หรือรู้จักกันในนาม โรจ สยามรวย ผู้ออกแบบฟ้อนท์หมานคร ฯลฯ) / อ.ปิยลักษณ์ เบญจดล อาจารย์หัวหน้าภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ / คุณชุติมารี จาตุรจินดา (beourfriend) และคุณวิเชียร โต๋ว (ผู้ร่วมก่อตั้ง Propaganda ซึ่งแตกตัวออกมาจากบริษัท สามหน่อ จำกัด*)

บรรยากาศในการพูดคุยดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง (ในแบบคนกราฟิกชวนคุย) พิธีกรคือคุณพิชิต วีรังคบุตร (จาก TCDC) ถึงแม้พิธีกรจะดำเนินการพูดคุยไปอย่างไม่ราบรื่นนัก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าไม่ใช่นักนิเทศศาสตร์ที่จะพูดคุยให้ราบรื่นและผูกโยงเรื่องราวได้อย่างน่าฟังแบบมืออาชีพเขาทำกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า บทบาทการนำคุยกลับกลายเป็นคุณวิเชียร โต๋วนักออกแบบผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบมานานกลับร่วมให้ประเด็น จุดประเด็น โยนและรับลูกได้อย่างเข้ากันกับนักออกแบบท่านอื่นๆ ได้อย่างลื่นไหล

แต่ไม่ว่าการดำเนินเรื่องในการพูดคุยจะดีหรือไม่ก็ตาม หากเราเก็บเอาแต่สิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นข้อคิดที่ได้จากการร่วมฟังเสวนาหรือการจุดประเด็นแง่มุมบางส่วนที่เราอาจไม่เคยคิดถึง ผู้เขียนเองก็เห็นว่า นักออกแบบขั้นเทพเหล่านั้นได้ฝากข้อคิดอะไรดีๆ ไว้มากมาย (เพียงแต่ไม่รู้ว่าคนรับสารจะเข้าใจตามนั้นหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นนักศึกษาหรือผู้เพิ่งเริ่มทำงานระยะต้นเป็นส่วนใหญ่) แต่สำหรับผู้เขียนที่ได้ทำงานออกแบบมาในระยะเวลาพอสมควร ทำให้พอจะเข้าใจสิ่งที่นักออกแบบขั้นเทพได้กลั่นเป็นคำพูดและตกผลึกออกมาให้เราได้เก็บไปใช้ทบทวนกันในวันข้างหน้า เช่น

“...งานโฆษณามันเป็นงานเพิ่มยอดขาย แต่งานกราฟิกดีไซน์ มันเป็นงานสร้างภาพพจน์ เป็นโปรดักชั่น ลักษณะงานทั้งสองอย่างนี้ถึงได้มีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน...” คุณไพโรจน์ ธีระประภา

“...การอ่านหนังสือที่หลากหลาย ดูหนังฟังเพลง ตามแฟชั่นให้ทัน ฯลฯ เหล่านี้มันเป็น “วัตรปฎิบัติของนักออกแบบ” ที่ต้องทำกันอยู่แล้ว” คุณไพโรจน์ ธีระประภา

“...วิธีการสื่อสาร เป็นตัวกำหนดรูปแบบของงาน...” คุณวิเชียร โต๋ว

“...งานที่ดีดี ที่เราชอบ มักเป็นงานที่ไม่ได้เงิน เพราะผมจะมีข้อตกลงกับลูกค้าว่า ต้องห้ามแก้งานผมนะ นั่นแหละผมถึงจะทำ แล้วงานมันมักจะออกมาดีแบบที่เราชอบ” คุณไพโรจน์ ธีระประภา

“Change frame of reference…” คุณพิชิต วีรังคบุตร

“สมัยก่อนคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง พริ้นท์เตอร์ 1 เครื่อง สแกนเนอร์ 1 เครื่อง ราคารวมๆ กันนี่เท่ากับทาวน์เฮ้าส์หนึ่งหลังนะครับ ...ดังนั้นผมจึงเห็นว่า...ความไม่มีทรัพยากรถึงสำคัญน้อยกว่าความไม่มีแพสชั่น (Passion)” คุณวิเชียร โต๋ว

“ทำไมเราไม่สอนนักศึกษาให้คิดถึงการทำงานเพื่อสังคมดูบ้าง...” คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์

“...ยังไม่เคยเห็นนักศึกษาคนไหนที่เวลาได้คะแนนไม่ดี แล้วเขาจะขอแก้ตัวด้วยการทำงานใหม่มาส่งเลย ทั้งๆ ที่ถ้าเขาขอเราก็ยินดี...” อ.ปิยลักษณ์ เบญจดล

“...บางครั้งการทำธุรกิจที่มีบาปซ่อนอยู่ มันก็อาจส่งผลบาปนั้นกลับมาในรูปอื่น...” คุณปริญญา โรจน์อารยานนท์ **

หมายเหตุ :

*บริษัท สามหน่อ จำกัด เป็นบริษัทด้านงานออกแบบกราฟิกดีไซน์ที่มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ช่วงต้นๆ ปี 90  ประกอบด้วย คุณสาธิต กาลวันตวานิช คุณปุณลาภ ปุณโณทก และคุณวิเชียร โต๋ว ต่อมาได้แยกย้ายกันไปตั้งบริษัทที่มักมีงานต่อเนื่องถึงกัน โดย คุณสาธิต กาลวันตวานิช ตั้งบริษัท ฟีโนมีน่า ซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่งในวงการโฆษณาและหนัง ส่วนคุณวิเชียร โต๋วและคุณปุณลาภ ปุณโณทก มาตั้งบริษัทกราฟิกดีไซน์ในนาม "PROPAGANDA" หรือ "โปรปะกันดา"

**คุณปริญญา พูดถึงประเด็นนี้แบบตกผลึกทางความคิดมากๆ เพราะหนึ่งในโครงการที่พี่เขาเคยออกแบบ annual report เอาไว้แล้วได้รับคำชมอย่างมากมายคือ โครงการที่มาบตาพุด ที่พูดถึงแต่ในแง่สิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงงาน พูดถึงแต่ในแง่ที่เป็นบวกเพื่อเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในโครงการ แล้วพอถึงปัจจุบันพบว่ามีคนเจ็บป่วยเป็นมะเร็งกันเยอะกับโครงการดังกล่าว ประกอบกับในช่วงปี 40 ที่พี่เขาประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างรุนแรง เขาจึงคิดได้ว่า นี่แหละหนอ การประกอบธุรกิจที่มีบาปซ่อนอยู่...

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=5224  (นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2537)

หมายเหตุผู้เขียน : การตัดคำในบล็อกนี้เป็นที่น่าปวดหัวมาก ตัดคำไม่ได้ดั่งใจเลย

หมายเลขบันทึก: 304819เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท