ตำข้าวเม่า


ตำข้าวเม่า 

ศิวกานท์ ปทุมสูติ

.

ตำข้าวเม่า เป็นกิจกรรมหนึ่งในวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่ผมนำเข้ามาใส่ไว้ในหลักสูตรการอบรมเรียนรู้สำหรับครูและเด็กๆ เยาวชน เพื่อการเรียนรู้วิถีทุ่งวิถีไทย ซึ่งจัดขึ้นที่ ทุ่งสักอาศรม อู่ทอง สุพรรณบุรี ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ย้อนรอยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยให้แต่ละคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้แทนการอธิบายเล่าบอก  เมื่อทุกคนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงก็จะเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ และทำได้ ทำเป็นในสิ่งที่ตนได้ลงมือทำ  แม้บางคนจะทำได้ไม่ดี  แต่ก็ได้เรียนรู้ แก้ไข และปรับปรุงกันไปในขณะลงมือทำนั้น  นอกจากได้ทำ ก็ยังได้มิตรภาพของความร่วมไม้ร่วมมือ ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำงาน  กว่าที่ทุกคนจะได้ลิ้มลองรสชาติของข้าวเม่า ทั้งข้าวเม่าคลุกมะพร้าวน้ำตาลที่มีรสละมุนหวานมัน และข้าวเม่ารางกรอบอร่อย  ต่างก็ได้รสชาติของชีวิตกันอิ่มเหงื่ออิ่มใจแล้ว 

.

ข้าวเม่าถือว่าเป็นอาหารหวาน ไม่ใช่อาหารคาว กินเล่นเหมือนขนมอย่างหนึ่งของพื้นบ้าน  ซึ่งพื้นบ้านสุพรรณบุรีครั้งอดีตเมื่อประมาณ ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้น  มักจะตำข้าวเม่ากันราวๆ เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ตั้งแต่เริ่มเกี่ยวข้าวเบา (นาดอน) จนกระทั่งเกี่ยวข้าวหนัก (นาลุ่ม)  ทั้งตำกินกันในครอบครัว แจกจ่ายญาติพี่น้องเพื่อนบ้านเรือนเคียง  และนำไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน 

.

ในกิจกรรมตำข้าวเม่าพื้นบ้านจะเป็นกิจกรรมของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  เวลาที่ลูกสาวบ้านใดตำข้าวเม่าก็มักจะมีหนุ่มในละแวกหมู่บ้านที่เป็นเพื่อนหรือเป็นแฟนมาช่วยตำบ้าง  คั่ว-ตำ-ฝัดกันไป ขบเคี้ยวกินเล่นพลางพูดจาหยอกล้อกันบ้าง เกี้ยวพาราสีกันตามประสาหนุ่มสาว  แต่ทั้งนี้ก็อยู่ในสายตาของพ่อแม่และยายตา  ที่นั่งดูนั่งฟังอยู่บนบ้านหรือชานเรือน  บางทีท่านเหล่านั้นก็ลงมานั่งพูดนั่งคุยแบบเป็นกันเองที่บริเวณลานบ้านที่ตำข้าวเม่านั้นด้วย

.

นอกจากนี้ยังมีประเพณี “ขว้างข้าวเม่า” ที่อ้ายหนุ่มผู้ไม่ประสงค์จะเข้าไปเที่ยวคุยกับสาวตำข้าวเม่า  แต่อยากจะขอแบ่งข้าวเม่ากินบ้าง  ก็จะซื้อมะพร้าวและน้ำตาลทรายแดงผูกห่อผ้าขาวม้าแล้วขว้างเข้าไปยังบริเวณที่สาวๆ กำลังตำข้าวเม่ากันอยู่  ก็จะเป็นที่รู้กันว่า “ขอแบ่งข้าวเม่ากินบ้าง” โดยแลกกับมะพร้าวและน้ำตาลที่ขว้างเข้าไปนั่นเอง  หลังจากที่สาวเจ้าตำข้าวเม่าเสร็จก็จะนำข้าวเม่าคลุกมะพร้าวน้ำตาลห่อผ้าขาวม้ากลับมาแขวนไว้ที่ประตูรั้วหน้าบ้าน  หนุ่มๆ นักขว้างก็จะมาแอบนำเอาไปกินกัน  บางครั้งการขว้างข้าวเม่าก็อาจขว้างโดยแฟนหนุ่มของลูกสาวคนใดคนหนึ่งของบ้านนั้นก็ได้  เป็นนัยว่าทดลองใจว่าสาวเจ้าจะมีน้ำใจให้ปันหรือเปล่า  ทั้งนี้ก็ต้องระวังว่าจะต้องเลือกผ้าขาวม้าผืนที่เจ้าหนุ่มคนนั้นยังไม่เคยคาดพุงอวดให้สาวๆ ในหมู่บ้านเห็นมาก่อน  ไม่เช่นนั้นก็จำผ้าขาวม้ากันได้และรู้ว่าใครเป็นคนขว้าง (ยกเว้นกรณีที่มีเจตนาจะสื่อสารเป็นนัยให้รู้ว่าเป็นผ้าขาวม้าของใคร)

.

ขั้นตอนของการตำข้าวเม่ามีดังนี้

๑.เริ่มจากการเลือกเกี่ยวข้าวรวงจากกลางนา โดยเลือกข้าวที่มีลักษณะเมล็ดรวงใกล้จะแก่ ยังพอมีน้ำนมข้าวเป็นยางอยู่บ้าง 

๒.นำข้าวที่เกี่ยวนั้นมานวดด้วยเท้าให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง อาจนวดในกระด้งหรือในที่รองรับอื่นๆ ที่สะอาด 

๓.ฝัดเมล็ดข้าวเอาผง เศษฟาง และสิ่งสกปรกอื่นๆ ออก  แล้วเอาเมล็ดข้าวนั้นใส่ภาชนะไว้รอคั่ว ใส่เกลือลงไปคละเคล้าสักเล็กน้อย 

๔.มัดเศษฟางสดๆ ที่นวดเอารวงข้าวออกแล้วเป็นอุปกรณ์สำหรับคั่ว เป็นท่อนขนาดข้อมือ และยาวราวหนึ่งศอก 

๕.ก่อไฟในเตาถ่านหรือเตาฟืนก็ได้ ใช้ถ่านหรือฟืนไม้แห้งเป็นเชื้อเพลิง แล้วตั้งกระทะสำหรับเตรียมคั่ว 

๖.กอบเมล็ดข้าวเปลือกที่เตรียมไว้ประมาณสองหรือสามกำมือใส่ลงในกระทะ คั่วด้วยไม้คั่วที่มัดจากฟางข้าวสด ให้สังเกตว่าเมล็ดข้าวเปลือกในกระทะเริ่มมีลักษณะเป่งพองและสุกทั่วถึง เมื่อไรให้ยกลงใส่ครกตำข้าว (สังเกตจากการแตกตัวเป็นข้าวตอกราว ๕-๑๐ เมล็ด) 

๗.ลงมือตำด้วยสากมือ (ทำจากไม้แก่นความยาวประมาณหนึ่งวา-ดูรูปประกอบ) สลับกันตำสองหรือสามคน ลงสากไล่กันไป จนกว่าเม็ดข้าวจะแบนเป็นข้าวเม่า  ตอนใกล้จะแบนได้ที่ในแต่ละครกให้ใครคนหนึ่งล้วงมือลงไป “โยง” คือควักสลับกับการตำที่เหลือเพียงสากเดียว  เพื่อให้การตำทั่วถึงทุกเมล็ดข้าว  เมื่อใช้ได้แล้วให้ควักข้าวที่ตำแล้วนั้นลงใส่กระด้ง 

๘.นำข้าวที่ควักใส่กระด้งนั้นไปฝัดเอาผงแกลบทิ้ง และเก็บเอาเปลือกที่ยังหลงเหลืออยู่ออกให้เกลี้ยง  จึงถือว่าเป็นข้าวเม่าที่สมบูรณ์พร้อมนำไปบริโภคแบบต่างๆ ต่อไป

.

ข้าวเม่าโดยทั่วไปจะบริโภคกันสองแบบ  แบบแรกคือน้ำข้าวเม่าขยำคลุกเคล้ากับมะพร้าวแล้วโรงน้ำตาล  สมัยโบราณนิยมใช้น้ำตาลสีรำหรือน้ำตาลทรายแดงมากกว่าน้ำตาลทราย (ขัด) ขาว  ส่วนการบริโภคแบบที่สองจะใช้ข้าวเม่าที่สำเร็จจากการตำแล้วนั้นลงใส่กระทะคั่วอีกครั้ง  คั่วคราวนี้เรียกว่า “ราง” ซึ่งก็คือการคนไปมาเหมือนครั้งแรก แต่ต้องราไฟลงบ้าง ไม่ให้กระทะร้อนมากนัก  เพราะถ้าไฟแรงมากข้าวเม่าก็จะเกรียมไหม้กินไม่อร่อย  หรือถ้าไฟอ่อนเกินไปข้าวเม่าก็จะไม่กรอบและไม่อร่อยอีกเช่นกัน  ตรงนี้เป็นศิลปะที่ต้องลงมือปฏิบัติทดลองทำดู  พิสูจน์รสชาติด้วยการลองขบเคี้ยวก็จะรู้ว่าอย่างไรจึงจะพอดี 

.

ผมเองนั้นติดใจในรส “ข้าวเม่าราง” มาก  กระทั่งนำมาเขียนเป็นกวีนิพนธ์เล่มสำคัญหนึ่งของชีวิตชื่อ “ข้าวเม่ารางไฟ” (สร้างสรรค์ฉันทลักษณ์ใหม่ชุด “กาพย์หัวเดียว”) มีความตอนหนึ่งของ “คำนำ” ในการพิมพ์ครั้งที่สองว่า 

          ● “...วิถีชีวิตของผู้คนที่ผมรักมากที่สุด…ชีวิตของพวกเขาที่ไหนเลยจะต่างไปจากข้าวเม่าในกระทะไฟที่ถูกคั่วราง  พวกเขาไม่อาจเลือกกระทะและความอ่อนหรือแก่ของไฟที่ต้องอาศัยท่อนฟืนจากสังคม…อันเต็มไปด้วยความเสื่อมซับซ้อน  นอกเสียจากว่าพวกเขาจะได้ค้นหาฟืนและไฟที่มีค่าในชีวิตของพวกเขาเอง”

.

ตัวอย่างบทกวีจากกวีนิพนธ์ “ข้าวเม่ารางไฟ”

.

ข้าวเม่ารางไฟ 

(กาพย์สาวกระทายข้าว ๑๔) 

● ครกข้าวเม่า           ดังแว่วมา 

ทุกครั้งใจข้า             ก็ไหวสะทก 

สะทกคิด                 คะนึงคราว 

ช่วยเอ็งตำข้าว          จนเหงื่อข้าหก 

ข้าจะภาพ                เอ็งติดตา 

ทุกท่วงทีท่า             สากกระทบครก 

ข้าจำได้                  แม้กลิ่นเหงื่อ 

กลิ่นแป้งกลิ่นเนื้อ       เม็ดไฝไรศก 

ข้าจำลาย                ลูกไม้ขาว 

เสื้อคอกระเช้า           ผ้าซิ่นตีนจก 

ข้าจำได้                  ข้าจำได้ 

ท่าฝัดกระทาย           ข้าวแต่ละครก 

ข้าจำถ้อย                ข้าจำคำ 

ที่เอ็งเคยย้ำ              ที่ข้าเคยยก 

ข้ายังจำ                  คำเชยเชย 

ว่ารักใครเอ่ย             เหมือนน้ำท่วมอก 

หรือรักเขา                อยู่ข้างเดียว 

ดังนึ่งข้าวเหนียว        ขาดน้ำแห้งหก 

ฝนขาดฟ้า               นาขาดไถ 

น้ำตาใครไหล           ดังสายน้ำตก 

คำเอ็งเย้า                คำข้าหยอก 

ข้าวเม่าข้าวตอก        แตกดอกเต็มครก 

จนเสร็จพลาง           เอ็งรางไฟ 

ข้าวเม่าข้าวใหม่        เผลอไผลไหม้หมก 

สองกระทะ               เป็นลางไหม้ 

ครั้นข้ากินได้            เอ็งว่าตลก 

จากคืนนั้น                ด้วยสัญญา 

เอ็งจะคอยข้า            ปีหน้าเดือนหก 

ข้าขอบวช                เพียงพรรษา 

เอ็งก็โมทนา             ให้ข้าหยกหยก... 

● คำเอ็งเย้า             คำข้าหยอก 

ข้าไม่คิดดอก            จะยอกหัวอก 

กลางพรรษา             ร้อนผ้าเหลือง 

ข้าแทบจะเปลื้อง       มันแค้นแน่นอก 

ลูกผู้ใหญ่                 อ้ายนักเลง 

มันฉุดคร่าเอ็ง           ในวันฝนตก 

ดอกน้ำตา                เอ็งตกหล่น 

คือดอกน้ำฝน           ท่วมท้นในอก 

ฟ้าเปรี้ยงเปรี้ยง         ปานโทสะ 

ถึงข้าเป็นพระ            ปืนข้าเคยพก 

พระต้องรา               เณรต้องรั้ง 

กว่าข้าจะตั้ง             สติปลงตก 

...ถ้าเขารัก               เอ็งเหมือนข้า 

เถอะวันเวลา             คงช่วยฟูมฟก 

ฟกค่อยฟัก               ค่อยรักษา 

รักค่อยมีมา              ลูกห้าลูกหก 

แต่หากเขา               ไม่รักจริง 

ทำลายแล้วทิ้ง          เอ็งน้ำตาตก 

ข้าจะสึก                  ซับน้ำตา 

ข้าให้สัญญา             ข้าจะยอยก... 

● ครกข้าวเม่า           ดังแว่วมา 

ทุกครั้งใจข้า             เหมือนถูกตำครก 

ข้าวเม่ารัก                ถูกรางไฟ 

หลายปีผ่านมา          ไฟยังไหม้อก

...

.

เมื่อวันที่ ๓-๔ และ ๗-๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ทุ่งสักอาศรม ได้จัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้ “วิถีทุ่งวิถีไทย ในทุ่งสักอาศรม” ให้นักเรียน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม  จำนวน ๒ รุ่น รุ่นละ ๗๐-๙๐ คน ประกอบด้วยเนื้อหาการเรียนรู้  การอ่านการคิดเกี่ยวกับสภาพปัญหาสังคม วิถีทุ่งวิถีไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน การตำข้าวเม่า เผาข้าวหลาม ทำขนมไทย ไม้ไผ่จักสาน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นได้แก่การตำข้าวเม่าดังกล่าว เด็กๆ หนุ่มสาวเขาสนุกสนานกันอย่างไรบ้าง...ดูกันจากภาพได้เลยครับ

.

ขอขอบคุณคณะวิทยากรภูมิปัญญาไทย 

นายบัว สังข์วรรณะ  และคณะพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน

นายปัญญา ใคร่ครวญ  วิทยากรวิถีเกษตรธรรมชาติ / ตำข้าวเม่า

อาจารย์วิบูลย์ ปานบุญ  นักวิชาการท้องถิ่น / เพลงพวงมาลัย

นายชุม-นางลำไย  วิทยากรเผาข้าวหลาม

นางบุญธรรม  วิทยากรจักสาน

นายวิโรจน์ นุ้ยบุตร (ไม้ร่ม)  วิทยากรวิถีเกษตรธรรมชาติ / นักธรรมชาติชีวิต

นางสาวในดวงตา ปทุมสูติ  วิทยากรขนมไทย

นางละเอียด คล้ายคลัง  วิทยากรขนมไทย

นายอนุศักดิ์ ปานบุญ  วิทยากรวิถีเกษตรธรรมชาติ

.

.

.

..............................................................

.

.

.

.

.

.

.

.

หมายเลขบันทึก: 304344เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • อาตมาเคยตำข้าวเม่าจนมือแตก
  • แต่ก็สนุกและอร่อยดีคุ้มค่าเหนื่อย
  • ข้าวที่นำมาตำที่หนองบัว นครสวรรค์ เขาเรียกข้าวเหนียว คงเป็นข้าวชนิดเดียวกันนะอาจารย์
  • แต่ที่โยนผ้าขาวม้านี่ยังไม่เคยได้ยิน
  • ดีมากเลยที่อาจารย์ได้สืบสานวิถีไทย ให้เยาวชนได้เรียนรู้

เจริญพร

  • นมัสการครับพระมหาแล...ผมไม่แน่ใจนะครับว่าข้าวเหนียวกับข้าวเจ้าข้าวชนิดใดจะตำข้าวเม่าได้อร่อยกว่ากัน  แถบถิ่นบ้านผม...อู่ทอง สุพรรณบุรี นิยมตำด้วยข้าวเจ้ามากกว่า  พออ่านคำของท่านมหาก็เลยนึกอยากนำข้าวเหนียวมาลองตำดูบ้าง แต่รอบๆ ทุ่งสักอาศรม (อู่ทอง สุพรรณบุรี) ไม่ค่อยมีใครทำนาข้าวเหนียวกันเลยครับ

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • "...เลือกข้าวที่มีลักษณะเมล็ดรวงใกล้จะแก่ ยังพอมีน้ำนมข้าวเป็นยางอยู่บ้าง "
  • ยิ่งเห็นเด็ก ๆ เกี่ยวข้าวมีกำเศษฟางมาเป็นมัด ๆ ด้วยแล้ว ที่หนองบัวต้องเป็นข้าวเหนียวเลย
  • ฤดูหน้าอาจารย์ลองชวนเด็ก ๆ ทำสักครึ่งงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์
  • เมื่อก่อนชาวหนองบัวทุกบ้านจะทำนาข้าวเหนียวประมาณ ๑ งาน เอาไว้ทำข้าวเม่าโดยเฉพาะ
  • แต่เดี่ยวนี้ ไม่ทำกันซะแล้ว ไปซื้อจากตลาด
  • ตอนนี้ก็เหลือแต่ครกกับสาก...เป็นอนุสรณ์

นมัสการพระมหาแล...

ถ้อยคำความคิดคำนึงของท่านชวนให้ผมอยากสนุกเสวนาต่อครับ

...

  • ครกกับสาก เป็นอนุสรณ์ เป็นภาพสะท้อน สะเทือนสะทก
  • ในรอยไทย ในรอยทาง ลูกเลือนหลานร้าง นาไร่สายรก
  • ในรอยเท้า เขาทั้งหลาย ทอดทิ้งความหมาย ไกลจากสากครก
  • ใครฤๅผิด ใครฤๅพร่อง ถ้ามิใช่พี่น้อง แม่พ่อเพ้อพก
  • บริโภค ตามกระแส ไม่เหลียวไม่แล ปู่สากย่าครก
  • เดินเข้าห้าง ห่างวัดวา หลวงพี่หลวงน้า...เข้าป่าเข้ารก
  • โรงเรียนใบ้ คุณครูบอด ไม่สอนสืบทอด...ทำผลงานงกงก
  • สื่อสังคม โหมโฆษณา ฉวยเหยื่อโอชา น้ำตาใครตก
  • นักการเมือง นักกินเมือง กระด้างกระเดื่อง ต่อพระไตรปิฎก
  • พระคุณเจ้า และกระผม ผู้มิยอมจ่อมจม ต้องหยิบต้องยก
  • มาสิมา ตำข้าวเม่า ตำรากตำเหง้า มืดเมาสัปหงก

...

สวัสดีค่ะคุณครูกานท์

ดีใจ ตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสมาทักทายคุณครูอีกครั้งค่ะ

มาชมและชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ค่ะ

เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และซาบซึ้งถึง คุณค่าของมรดก วัฒนธรรม ประเพณี ส่วนผู้ใหญ่ก็ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสส่งมอบมรดกให้ลูกหลาน...

คุณครูสบายดีนะคะ

(^___^)

อายุบวร...

"คนไม่มีราก"

...เคยตำข้าวเม่ากินบ้างหรือเปล่า

ข้าวเม่าราง ก็กรอบอร่อยดีนะครับ

...

สวัสดีค่ะครู..

      ครูสบายดีหรือเปล่าคะ

      เมื่อตอนหนูเด็กๆ ผู้ใหญ่ที่บ้านจะตำข้าวเม่าทานกันเองทุกปี หนูจำได้ว่ากลิ่นของข้าวเม่าใหม่ๆหอมมากค่ะ

      ข้าวเม่าคลุกมะพร้าวโรยด้วยน้ำตาลก็อร่อยมากค่ะ(หนูชอบ)

      ตอนนี้ที่บ้านไม่มีใครตำทานเองนานแล้วค่ะ(เรี่ยวแรงถดถอยค่ะ) บรรยากาศแห่งความสนุกที่เคยสัมผัส กับกลิ่นข้าวเม่าหอมๆก็ห่างหายไป

      แต่หนูก็ได้มีโอกาสสัมผัสกลิ่นข้าวเม่า และ บรรยากาศการตำข้าวเม่าอีกครั้ง ที่นี่ไงคะ ..^__^..

     

                                                  ระลึกถึงครูเสมอค่ะ

                                                      ด้วยความเคารพ...ครูตุ๊กแก...

อายุบวรจ้ะ "ครูตุ๊กแก"

โอ...ภาพสองสาวเจียงใหม่ มาร่วมตำข้าวเม่าเหมาะเวลาดีแท้

.........................

๑๑-๑๗ ตุลาคม นี้ ครูไม่ได้อยู่อาศรม มีรายการเดินทางไปต่างด้าวต่างแดน

ขอฝาก "ครูตุ๊กแก" ดูแลบ้านหลังนี้ให้ครูด้วยนะ

ถ้ามีใครมาเยี่ยมมาเยือน ก็ช่วยต้อนรับ จัดน้ำฝนใสๆ ให้แขกชื่นใจ คลายร้อน...

จะฝากสองสาวในภาพก็เกรงใจเธอ แต่ถ้าเธอทั้งสองจะอาสาช่วยครูตุ๊กแก ครูกานท์ก็ไม่ปฏิเสธ

มีความสุขมากๆ นะครับ

...

 

มาดูแลบ้านให้ค่ะครู ..^_______^..

     เดินทางกลับด้วยความปลอดภัยนะคะ

               ด้วยความเคารพค่ะ

                   ..ครูตุ๊กแก..

ครูกานท์ กลับมาแล้ว

ขอบคุณ ครูตุ๊กแก ที่ช่วยดูแลบ้านนะครับ

เก็บเรื่องราวสนุกๆ จากเวียดนามมาเยอะเลย

มีโอกาสจะนำมาเล่าสู่กันอ่าน

แต่ตอนนี้ กลับมาถึงก็มีงานรอให้ต้องลุยก่อนอีกสองสามงาน

ครูตุ๊กแกสบายดีนะ...

อายุบวร

สวัสดีค่ะ ครูกานท์

ครูสบายดีหรือเปล่าคะ ไม่ได้เข้ามาทักทายเสียนานเลย ตอนนี้โรงเรียนของหนูเปิดเทอมแล้วค่ะ หนทางสบายขึ้นเอยะเพราะฝนไม่ตกแล้ว หนูอ่านเรื่องตำข้าวเม่าของครูแล้วมีความสุขจัง เพราะที่นี่(บนดอย) เขาก็ตำข้าวเม่าเหมือนกันค่ะ แต่เป็นข้าวเม่ากะทิชาวดอย หอมหวานอร่อยมากเลย อีกอย่างสุขใจไม่แพ้ข้าวเม่าสุพรรณเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท