สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
สสท. สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สันนิบาตสหกรณ์ฯ องค์กรสูงสุดของขบวนการสหกรณ์

การสหกรณ์ไทย


"งานเช่นสหกรณ์นี้ เวลาเป็นเป็นช้า. แต่เวลาตายตายเร็วที่สุด"

                   การสหกรณ์เกิดจากการบีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของผู้ใช้แรงงาน และผู้ผลิตขนาดเล็กในประเทศอังกฤษ ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ระหว่างปี ค.ศ. 1760 (พ.ศ.2303) และปี คศ. 1830 (พ.ศ. 2373) ทำให้เจ้าของกิจการขนาดเล็กล้มละลาย และกลายเป็นลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานในที่สุด เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ก็กดขี่และเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานทุกวิถีทาง สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไอร์แลนด์เหนือ เยอรมันนี ออสเตรเลีย และประเทศยุโรปอื่นๆ ดังนั้นจึงมีการชุมนุมผู้นำและนักคิดที่สำคัญจากหลายประเทศ มาช่วยกันหาทางช่วยเหลือและยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนยากจนเหล่านั้น ด้วยมาตรการต่างๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องมาจากขาดหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน นั่นคือ หลักการช่วยเหลือตนเอง (Self-Help) จึงทำให้เกิดการจัดตั้งองค์การธุรกิจพึ่งตนเอง และช่วยเหลือตนเองในรูปของ “การสหกรณ์” ขึ้น การสหกรณ์ได้แพร่หลายและมีการจัดตั้งในภูมิภาคเอเซีย และแปซิฟิค เป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว โดยในระยะแรกได้ส่งเสริมการจัดตั้ง ในประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย แล้วแพร่ขยายไปยังประเทศข้างเคียงในเวลาต่อมา จากการสหกรณ์ในเอเชียที่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศอินเดีย ทำให้รูปแบบการจัดตั้งเกิดจากสายอำนาจ เมื่อครั้งอังกฤษปกครองประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทย แม้จะไม่ได้เป็นเมืองขึ้น ก็ได้อิทธิพลจากอังกฤษมานาน จึงทำให้รูปแบบการจัดตั้ง และการดำเนินงานสหกรณ์ ได้รับแนวคิดจากประเทศอินเดีย จึงทำให้การสหกรณ์ของไทย มีชื่อว่า “สหกรณ์” (Sahakarana) จึงกล่าวได้ว่าเป็นชื่อที่ถือกำเนิดมาจากอินเดียนั่นเอง (ประดิษฐ์ มัชฉิมา : 2541)

              การสหกรณ์ในประเทศไทย ได้นำมาริเริ่มใช้โดย พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ [พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) ต้นตระกูลรัชนี] ทรงเป็นผู้วางรากฐานเมื่อครั้งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดี กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ กระทรงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2458 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของชาวนา ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ประกอบอาชีพในด้านการเกษตร (ปลูกข้าว พืช ผัก และผลไม้) แต่ทำไมยังคงมีหนี้สินอยู่มาก จึงทรงหาทางช่วยเหลือชาวนาให้พ้นอุปสรรคความเดือดร้อนดังกล่าว ด้วยวิธีการต่างๆ จนสรุปได้ว่านำวิธีการจัดตั้งสหกรณ์ มาใช้จะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชาวนา และเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่าวิธีอื่นๆ จึงได้ตั้ง“แผนกสหกรณ์” ขึ้นมาอีกแผนกหนึ่งในกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ทรงเป็นประธานในการคัดเลือกวิธีการสหกรณ์จากต่างประเทศ และนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม ในช่วงปลายปี 2458 ทรงริเริ่มให้มีการจัดตั้งสหกรณ์แบบไรฟ์ไฟเซน ซึ่งเป็นสหกรณ์หาทุน ทรงเชิญอุปราช และสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ มาหารือเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ว่าท้องที่ใดที่เหมาะสม และหลังจากนั้นทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก ตั้งแต่ปี 2459-2469 ทรงจัดสรรคนที่มีความรู้ และมีความเหมาะสมกับงาน ให้มาดูแลควบคุมงานสหกรณ์ ตลอดจนนำมาอบรมให้รู้จักวิธีการสหกรณ์ และทรง ทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นตัวอย่างในปี พ.ศ. 2459 ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีชื่อว่า "สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้" สหกรณ์ในช่วงนั้นสามารถทำได้โดยสะดวก จนทำให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์กันแพร่หลายมากขึ้น ตั้งแต่นั้นมา 

          ปัจจุบันประเทศไทยแบ่งสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท เพื่อพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยจำแนกตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มบุคคลและอาชีพที่ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ คือ
      1. สหกรณ์การเกษตร
      2. สหกรณ์ประมง
      3. สหกรณ์นิคม
      4. สหกรณ์ร้านค้า
      5. สหกรณ์บริการ
      6. สหกรณ์ออมทรัพย์
      7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ปรัชญา อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์
         ปรัชญาสหกรณ์ คือ ความอยู่ดี กินดี ของสมาชิกสหกรณ์อุดมการณ์สหกรณ์ คือ การช่วยเหลือตนเอง และช่วยซึ่งกันและกัน หลักสหกรณ์ ที่กำหนดขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2538 ณ นครแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติม หลักการสหกรณ์ใหม่อีกครั้งจากเดิมกำหนดไว้ 6 ประการ โดยมีเป้าหมายให้หลักการสหกรณ์มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ในปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมถึงการให้สมาชิกได้มีความเข้าใจและนำหลักการสหกรณ์ไปใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน จึงได้ประกาศให้สหกรณ์ทุกประเทศ ถือใช้โดยทั่วกัน คือ หลักการสหกรณ์ 7 ประการ ซึ่งได้กำหนดไว้ดังนี้

หลักการที่ 1 การเปิดรับสมาชิก โดยทั่วไปตามความสมัครใจ

หลักการที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามแนวทางประชาธิปไตย

หลักการที่ 3 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก

หลักการที่ 4 การมีการปกครองตนเอง และมีอิสระ

หลักการที่ 5 การให้การศึกษา การฝึกอบรม และข่าวสาร

หลักการที่ 6 การร่วมมือระหว่างสหกรณ์

หลักการที่ 7 ความห่วงใยต่อชุมชน

               วิธีการสหกรณ์ คือ การนำหลักการสหกรณ์ ทั้ง 7 ข้อไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งสหกรณ์แต่ละประเภท ก็มีวิธีการสหกรณ์ที่แตกต่างกันไป โดยมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ของแต่ละสหกรณ์ดังนั้น คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จะต้องวางแผนนำวิธีการสหกรณ์ มาดำเนินกิจการของสหกรณ์ และจะต้องเข้าใจถึงปรัชญา อุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้ทุกคนมีจิตสำนึกของการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์ประสบผลสำเร็จ ความสำเร็จของการบริหารจัดการสหกรณ์ความสำเร็จในการบริหารจัดการสหกรณ์จะเกิดขึ้น หรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน
           ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการคือ ความสามารถในการบริหารจัดการสหกรณ์ ซึ่งมิใช่รูปแบบของการบริหารประเภทที่ข้ามาคนเดียว จำเป็นต้องเกื้อกูลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ใช้หลักประชาธิปไตย รวมถึงสมาชิกต้องมีส่วนร่วมในกิจการทุกคน และผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ก็ต้องบริหารงานสหกรณ์โดยคำนึงถึงความรู้สึก และผลประโยชน์ของสมาชิกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะปัจจัยหลักที่สำคัญและทำให้สหกรณ์เจริญรุ่งเรืองได้คือ สมาชิกสหกรณ์ ถ้าเมื่อใดสหกรณ์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก สหกรณ์ย่อมดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จ และคงต้องควบกิจการ หรือเลิกกิจการอย่างแน่นอน ในการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ประสบผลสำเร็จ มีกลุ่ม คนที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ สมาชิก คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการ

             โดยทุกฝ่ายจะต้องมีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ ร่วมกันในการบริหารกิจการสหกรณ์ สมาชิก จะเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดในที่ประชุมใหญ่ กำหนดนโยบายทั่วไป และมอบหมายให้คณะกรรมการดำเนินการปฏิบัติ ออกกฎและ แก้ไขข้อบังคับ ลงทุนในสหกรณ์ การอุดหนุนสหกรณ์  และการมีส่วนร่วมในการบริหารงาน คือ การให้ความสนใจ ในการบริหารงานและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ มีความภักดี เข้าร่วมประชุมใหญ่ ไม่ก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายจัดการ ให้ความสนใจในการคัดเลือกคณะกรรมการเข้ามาบริหารงาน การลงทุนและฝากเงินเพื่อเพิ่มหุ้นให้สหกรณ์ และที่สำคัญยิ่งคือ สมาชิกต้องทำธุรกิจกับสหกรณ์คณะกรรมการดำเนินการ เป็นฝ่ายควบคุมกิจการ เสนอแนะในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง นโยบายทั่วไป กำหนดนโยบายของสหกรณ์ ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จัดจ้าง และอำนวยการงานฝ่ายจัดการ และเสนอรายงานต่อสมาชิก และในการดำเนินการใดๆ กรรมการคนใด จะกระทำการโดยเอกเทศไม่ได้ เว้นแต่ต้องได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการเสียก่อน และไม่ควรแทรกแซงกิจการของสหกรณ์ ไม่ออกคำสั่ง ขอร้อง หรือมุ่งหวังประโยชน์จากสหกรณ์ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกและญาติพี่น้องของตน ตรวจสอบกิจการเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก มีการวางแผนระยะยาวเพื่อสนองความต้องการของสมาชิกผู้จัดการ ทำหน้าที่ บริหารนโยบาย ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการ ปฏิบัติธุรกิจประจำวันของสหกรณ์ เสนอแนะโครงการและการปรับปรุงนโยบาย จัดจ้าง และบังคับบัญชาพนักงานของสหกรณ์ และต้องตระหนักว่าสหกรณ์เป็นองค์กรของประชาชน โดยมีสมาชิกเป็นเจ้าของและควบคุม สมาชิกเป็นผู้สละเวลา ทรัพยากรทางการเงิน และอุดหนุนสหกรณ์ของตน ฝ่ายจัดการ ที่ได้รับค่าตอบแทน จึงต้องมีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของสมาชิกอย่างเต็มกำลังความสามารถ การบริหารจัดการสหกรณ์ ที่ประสบผลสำเร็จได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วมในกิจการสหกรณ์อย่างแข็งขัน มีความปรองดอง และประสานความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปฏิทินแผนงานฝึกอบรม ประจำปี 2553 ของสถาบันพิทยาลงกรณและวิชาการ สามารถดาวน์โหลดได้
ตาม Link นี้
http://gotoknow.org/file/cooptraning/Action-Plan2553.pdf
 
 

การสหกรณ์ไทย

         สหกรณ์ถือกำเนิดมาจากปัญหาในปลายสมัยรัฐกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นอาชีพหลักของประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย คือการทำนา เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น นับเนื่องตังแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ทำให้ระบบ "เพื่อเลี้ยงตัวเองในชนบท" มาสู่ระบบเศรษฐกิจ "เพื่อการค้า" ความต้องการเงินทุนเพื่อขยายการผลิตและการครองชีพเพิ่มมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ 85 เปอร์เซ็นต์เป็นเกษตรกรอยู่ในฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุนต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้านายทุน "คหบดี" ซึ่งมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืมเหล่านี้ทุกวิถีทาง เช่น การกำหนดดอกเบี้ยในอัตราสูง การทำสัญญาส่งใช้เป็นข้าวเมื่อเก็บเกี่ยงแล้ว ในเรื่องช่างตวงวัดก็กำหนดเอาตามพอใจ ทำให้ชาวไร่ชาวนาเสียเปรียบเป็นอย่างมาก

         ระยะแรก การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้นใน ปีพ.ศ.2459 การจัดตั้งสหกรณ์ในระยะแรกจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ จนถึงสิ้น ปีพ.ศ.2470 ซึ่งเป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่เริ่มนำสหกรณ์เข้ามาในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ขึ้นมาเพียง 81 สมาคมเท่านั้น ซึ่งจัดตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรีและอยุธยา โดยมีเงินทุนให้กู้ยืมเพียง 300,000 บาทเศษ เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าสหกรณ์เป็นสิ่งที่สามารถจัดทำได้สำเร็จ จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471 ขึ้น และจัดหาทุนมาให้กู้ยืมมากขึ้น หลังจากนั้น 5 ปี ได้มีการขยายสาขาออกไปได้อีก 7 จังหวัด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การสหกรณ์จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์   สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง เมื่อปี พ.ศ.2495 ระยะอยู่ตัว หลังจากปี พ.ศ.2497 อัตราการขยายตัวของสหกรณ์ลดลงเนื่องจาก เป็นระยะที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสหกรณ์มาก่อน จนไม่สามารถจะดูแลให้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันกระทรวงสหกรณ์ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพการเปลี่ยนแปลงของสหกรณ์คือมีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2515 ซึ่งมีผลทำให้กรมสหกรณ์ทีดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เพียงกรมเดียว ส่วนกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ยังคงอยู่ในฐานะเดิมเพราะงานตรวจสอบบัญชีเป็นงานอิสระ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ขึ้นกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2515  ผลการดำเนินงานทางสหกรณ์ในธุรกิจต่างๆ ได้รับความเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกจนทำให้จำนวนสหกรณ์ จำนวนสมาชิก ปริมานเงินทุน และผลกำไรของสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันสหกรณ์ ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2551 ประมาณ 6,868 สหกรณ์ และสมาชิก 10,104,104 คน ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ที่กำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ  ดังนั้น  ขบวนการสหกรณ์ไทยได้ร่วมจิตใจจัดงาน "วันสหกรณ์แห่งชาติ" ขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด"สหกรณ์" พระองค์ท่านไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจดทะเบียนเท่านั้น แต่เป็น "พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย" ยังเป็นผู้ปูพื้นฐานและทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่และจัดตั้งขยายกิจการการสร้างความผาสุกแก่ประชาชนเพื่อการกินดีอยู่ดี เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ  ซึ่งในปีนี้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยองค์กรสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ไทยจัดวันสหกรณ์แห่งชาติ ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552

          ปัจจุบันสหกรณ์ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร  สหกรณ์นิคม  สหกรณ์ประมง  สหกรณ์บริการ  สหกรณ์ร้านค้า  สหกรณ์ออมทรัพย์  และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จากการที่มีภาคสหกรณ์ครอบคลุมทุกด้านของภาคเศรษฐกิจทำให้สหกรณ์ในประเทศไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะต่อประชาชนทุกระดับ สหกรณ์เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น สหกรณ์มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในหลายด้าน อาทิ
          1.  ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ  คือสหกรณ์ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่  การรักษาเสถียรภาพและตรึงราคาสินค้าและบริการและช่วยลดระดับราคาสินค้าบริโภคในตลาด  ในขณะเดียวกันก็จะช่วยยกระดับราคาสินค้าผลิตผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น  เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกรและกระจายรายได้ประชาชาติอย่างเป็นธรรม  โดยประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของและควบคุมธุรกิจและบริการของตนเอง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยการทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงิน   สถาบันการผลิต  สถาบันการตลาด  และสามารถทำหน้าที่การค้าระหว่างประเทศได้อีกด้วย
          2. ด้านการพัฒนาสังคม สหกรณ์ให้การศึกษา  การฝึกอบรม  และสารสนเทศ  ให้การศึกษาอบรมแก่สมาชิกทั้งด้านวิชาการและอุดมการณ์  การให้การศึกษาอบรมในด้านการอาชีพ  ตลอดจนทางด้านศีลธรรม  เพื่อให้สมาชิกเป็นคนดี  มีศีลธรรม  และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม 
          3. ด้านส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สหกรณ์เป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยเพราะสมาชิกของสหกรณ์มีสิทธิเท่าเทียมกันในการออกเสียงเลือกผู้แทนของตนเข้าไปบริหารสหกรณ์ หนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง ไม่ว่าสมาชิกสหกรณ์จะมีหุ้นมากหรือน้อย แต่มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเป็นเจ้าของสหกรณ์สามารถแสดงความคิดเห็นในการบริหารจัดการสหกรณ์ นับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

           วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ" เหตุเพราะเป็นวันที่สหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย คือสหกรณ์ "วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้" ที่อำเภอเมือง จังหวัด พิษณุโลกได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนสหกรณ์ (ในขณะนั้นคือกรมหมื่นพิทยาลงกรณ) ถือว่าท่านเป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรกของไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลสหกรณ์แห่งแรกในสยามประเทศ

          สหกรณ์ในประเทศต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าส่งผลดีในการพัฒนาประเทศ สำหรับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2458 นโยบายแห่งรัฐ เห็นสมควรนำวิธีการสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกและทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วใน อินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมันนี และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ "

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ขบวนการสหกรณ์ไทย**

 

 

 ข้อมูลจาก : โครงการวันสหกรณ์แห่งชาติ 2553 : 100 ปีการสหกรณ์ : อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ท้าทาย
ณ อาคารปฏิบัติการ คณะเศณษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่22 ก.พ. 2553


 

 

 

 

    

 

 

 

   

 

     

 

 

 

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 303802เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2009 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

แนวคิด หลักการ

และอุดมการณ์ของสหกรณ์

ประดิษฐ์ มัชฌิมา*

-------------------------------------------------------------------------------------

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสหกรณ์

สหกรณ์เป็นองค์การธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานคล้ายๆ กับหลักและอุดมการณ์ของทางศาสนา คือ มุ่งที่จะสอนให้คนเป็นคนดีมีศีลธรรม ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาเปรียบและเบียดเบียนกัน และให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังนั้น หลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์จึงมีความสำคัญต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์มาก หาไม่แล้วการสหกรณ์ก็คงจะไม่เจริญก้าวหน้าอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในหลายประเทศ เช่น ที่สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมันนี เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย อย่างเช่นทุกวันนี้

1.1 สหกรณ์คืออะไร

สหกรณ์คือ องค์การธุรกิจชุมชนที่จัดตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกเพื่อหาทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน โดยถือหลักความสมัครใจ หลักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลักความเสมอภาคและความเป็นธรรมหลักประชาธิปไตย หลักการไม่แสวงหากำไร หลักความเป็นกลางทางศาสนาและการเมือง หลักการให้การศึกษาอบรม หลักสันติภาพและการช่วยเหลือชุมชนและสังคม หรืออีกนัยหนึ่ง “สหกรณ์” คือองค์การธุรกิจสังคมที่จัดตั้งและดำเนินการโดยสมาชิกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน และเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของสมาชิกและชุมชนให้สูงขึ้นอย่างสันติวิธี โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง หลักความสมัครใจ หลักประชาธิปไตย หลักความเสมอภาคและความเป็นธรรม และหลักการศึกษา เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินงาน

....................................................................

* อดีต

- อาจารย์ภาควิชาสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์

ระหว่างปี 2506-2515

- ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2516-2520

- ผู้เชี่ยวชาญการสหกรณ์ขององค์การสหประชาชาติในอินโดนีเซียและซิมบับเว ระหว่างปี 2524-2532 และ

- อดีตผู้เชี่ยวชาญการสหกรณ์ขององค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ ประจำภาคเอเชีย และ

แปซิฟิก (อินเดีย) ระหว่างปี 2533-2538

1.1 ลักษณะและหน้าที่สำคัญของสหกรณ์

จากนิยามข้างต้นเราจะเห็นได้ว่าสหกรณ์มีลักษณะสำคัญ 8 ประการคือ

1) เป็นองค์การธุรกิจ

2) เป็นองค์การสังคม

3) เป็นองค์การประชาธิปไตย

4) เป็นองค์การช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

5) เป็นองค์การไม่แสวงหากำไร

6) เป็นองค์การการศึกษา

7) เป็นองค์การสันติภาพ และ

8) เป็นองค์การที่มีอุดมการณ์และปรัชญาชีวิตเพื่อชุมชนและสังคม

1) องค์การธุรกิจ คุณลักษณะอันแรกของ สหกรณ์ก็คือ สหกรณ์เป็นองค์การธุรกิจเพราะวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งและดำเนินงานสหกรณ์ ก็เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกร่วมกัน ดังนั้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นได้ สหกรณ์จะต้องประกอบธุรกิจหรือให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่สมาชิก ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้

2) องค์การสังคม สหกรณ์เป็นองค์การทางด้านสังคมอย่างหนึ่ง เพราะสหกรณ์มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกและของชุมชนให้ดีขึ้น และมีคุณภาพขึ้น เช่นหน้าที่ในด้านการศึกษาอบรม การพัฒนาอาชีพ การสาธารณสุขและอนามัยและสิ่งแวดล้อม และหน้าที่ในการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย อย่างที่ญี่ปุ่น สวีเดน ทำสำเร็จแล้ว และอินเดียและอีกหลายประเทศกำลังทำอยู่ในขณะนี้

3) องค์การประชาธิปไตย สหกรณ์มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากองค์การธุรกิจอื่นๆ คือ มีการบริหารและการควบคุมการดำเนินงานตามหลักประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงเท่าเทียมกัน คือหนึ่งคนหนึ่งเสียง โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความรู้ ฐานะ รายได้ หรือเกียรติยศ หรือจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ในสหกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดความเสมอภาค และความเป็นธรรมที่แท้จริงในสังคมสหกรณ์ เพราะ หากไม่เป็นไปตามหลักการที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็เป็นการยากที่จะสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรม และสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่สมาชิกได้

4) องค์การช่วยเหลือตนเอง ปรัชญาและอุดมการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสหกรณ์คือ สมาชิกสหกรณ์ต้องช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น สหกรณ์ต้องพึ่งตนเองทั้งในด้านความคิด ด้านเงินทุน และด้านการดำเนินงาน เพราะ สหกรณ์เป็นของสมาชิก ดำเนินการโดยสมาชิก และเพื่อสมาชิก จะไปหวังพึ่งใครอื่นไม่ได้ จริงอยู่แม้ในหลายประเทศรัฐบาลจะได้พยายามสนับสนุนการสหกรณ์อยู่บ้างก็ตาม แต่ในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นสหกรณ์จึงต้องพึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองตลอดไป จึงจะยืนหยัดอยู่ได้

5) องค์การไม่แสวงหากำไร คุณลักษณะที่เด่น และสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสหกรณ์ก็คือ สหกรณ์ดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไร แต่มุ่งที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก ทั้งนี้เพราะสหกรณ์ดำเนินธุรกิจกับสมาชิก และเพื่อสมาชิกเป็นสำคัญ แต่หากมีกำไรหรือส่วนเกิน (Surplus) เกิดขึ้น สหกรณ์ก็จะจัดสรรและแบ่งคืนให้แก่สมาชิกตามปริมาณธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ และแบ่งเงินปันผลค่าหุ้นให้บ้างตามสมควรเท่านั้น

6) องค์การการศึกษา ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสหกรณ์ก็คือ สหกรณ์เป็นองค์การทางการศึกษา ทั้งนี้ เพราะสหกรณ์ยึดหลักการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคน และการพัฒนาสหกรณ์ เพื่อที่จะสามารถยกมาตรฐานและระดับความรู้ของสมาชิก กรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ให้สูงขึ้น และขณะเดียวกันก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมืออันดีระหว่างสมาชิกและสหกรณ์ ระหว่างสหกรณ์และสหกรณ์ และระหว่างสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สหกรณ์จึงเป็นเสมือนหนึ่งศูนย์ปฏิบัติการด้านการศึกษาอบรมของชุมชนและสังคมด้วย

7) องค์การสันติภาพ สหกรณ์เป็นองค์การสันติภาพอย่างหนึ่ง เพราะสหกรณ์มุ่งที่จะยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของสมาชิก ของชุมชน และของสังคมให้สูงขึ้นด้วยสันติวิธี โดยยึดถือหลักความสมัครใจ หลักประชาธิปไตย หลักความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นการสร้างสันติภาพอันถาวร ฉะนั้นสังคมสหกรณ์จึงเป็นสังคมที่สงบสุข สมแล้วที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์การแห่งสันติภาพ

8) ปรัชญาชีวิตและสังคม จากคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราตระหนักดีว่าสหกรณ์เป็นองค์การที่มีอุดมการณ์และปรัชญาชีวิตเพื่อชุมชนและสังคมอย่างหนึ่ง เพราะสหกรณ์มุ่งที่จะสร้างความอยู่ดีกินดีและสร้างสันติภาพให้แก่สมาชิก ชุมชนและสังคม ด้วยความเสมอภาค และความเป็นธรรม และด้วยความสมัครใจ โดยไม่มีการถือพวกหรือถือเขาถือเราแต่อย่างใด ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมดโดยไม่จำกัดอายุ เพศ ชาติตระกูล ฐานะ รายได้หรือเกียรติยศ ฉะนั้น สังคมสหกรณ์จึงเป็นสังคมที่สมบูรณ์แบบที่สุด แม้จะทำได้ยากที่สุดแต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่มนุษย์จะพึงทำได้ อย่างที่ทำสำเร็จมาแล้วในสวีเดน เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ เป็นต้น ซึ่งต่อไปข้างหน้า “สหกรณ์” อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและการขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของมวลมนุษย์ก็เป็นได้

1.3 องค์ประกอบของสหกรณ์

สหกรณ์เป็นองค์การธุรกิจที่จัดตั้ง บริหาร และจัดการ โดยสมาชิกและเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1. สมาชิก

2. สำนักงาน

3. วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน

4. ระเบียบข้อบังคับ

5. คณะกรรมการดำเนินงาน (บริหาร)

6. เจ้าหน้าที่ดำเนินงาน (จัดการ)

7. ทุนดำเนินงาน

8. การดำเนินธุรกิจ

9. มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

1.4 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ก็คือ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้สามารถช่วยเหลือตัวเองในการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพ และเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของสมาชิกและของชุมชนให้สูงขึ้น แต่วัตถุประสงค์โดยกว้างๆ มีดังนี้

1. เพื่อร่วมมือกันและผนึกกำลังกันในการดำเนินธุรกิจและเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง

2. เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

3. เพื่อส่งเสริมอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก

4. เพื่อการประหยัด ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้

5. เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม

6. เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก

7. เพื่อสร้างสวัสดิการและความอยู่ดีกินดีให้แก่สมาชิก ชุมชน และสังคม

8. เพื่อพัฒนากลไกการบริหารและการปกครองตนเอง และ

9. เพื่อสร้างสันติสุข และสันติภาพอันถาวรให้แก่สังคมและแก่มวลมนุษยชาติ

1.5 ประโยชน์ของการสหกรณ์

สหกรณ์มีคุณประโยชน์แก่สมาชิก ประเทศชาติ ชุมชนและสังคมของโลกมาก คือสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ (Removed poverty) ขัดเกลาสมาชิกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม และเสียสละเพื่อส่วนรวมได้ (Improved character) และกำจัดสิ่งไม่ดีงามต่างๆ เช่น การดื่ม การพนัน ความเกียจคร้าน และโง่เขลา และความเห็นแก่ตัวในหมู่สมาชิกได้ (Eliminated evils) ซึ่งคุณประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้สามารถแยกออกได้เป็น 6 ประการด้วยการคือ (1) ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (2) ทางการบริหารและการปกครอง (3) ทางด้านสังคม (4) ทางศีลธรรมจรรยา (5) ทางด้านการศึกษา และ (6) ทางด้านสันติภาพของมวลมนุษย์

1. เศรษฐกิจ

1.1 ส่งเสริมอาชีพ ทำให้มีงานทำ และมีรายได้

1.2 ส่งเสริมการออมทรัพย์ และให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

1.3 ขยายธุรกิจการค้า และจัดหาและให้บริการแก่สมาชิกตามที่ต้องการ

1.4 ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

1.5 มีความอยู่ดีกินดี

1.6 มีฐานะมั่นคง

2. การบริหารและการปกครอง

2.1 เป็นหน่วยธุรกิจที่บริหารและจัดการกันเองโดยอิสระ

2.2 ดำเนินงานตามหลักประชาธิปไตย

2.3 พึ่งตนเอง มีลักษณะเหมือนองค์การบริหารและปกครองท้องถิ่น

2.4 สร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม

2.5 ช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐในด้านการส่งเสริมอาชีพ การศึกษา สาธารณสุข และอนามัย และการแก้ปัญหาชุมชนและสังคม

3. สังคม

3.1 ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและยากไร้

3.2 สร้างสวัสดิการสังคม และสร้างบริการสาธารณะให้แก่ชุมชน

3.3 พัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และอนามัยท้องถิ่น

3.4 พัฒนาชุมชนและกิจการสังคม

3.5 ปรับปรุงและแก้ไขภาวะสิ่งแวดล้อม

3.6 แก้ไขความขัดแย้งในสังคม

4. ศีลธรรม

4.1 ปลูกฝังศีลธรรมจรรยาและคุณธรรมในสังคม

4.2 ส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมให้เป็นผู้บริหารและผู้นำชุมชน

4.3 สร้างความอยู่ดีกินดี ลดอาชญากรรม และลดการเอารัดเอาเปรียบในสังคม

5. การศึกษา

5.1 ส่งเสริมการศึกษา และพัฒนาอาชีพ

5.2 สร้างโรงเรียน

5.3 สร้างสวัสดิการเด็ก เยาวชน และสตรี

6. สันติภาพของมวลมนุษย์

6.1 ร่วมมือกันในการส่งเสริมการศึกษา อาชีพ และสวัสดิการของสังคมมนุษย์ โดยไม่มีอุปสรรคขวางกั้นทางเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการปกครอง

6.2 ร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้า และสันติภาพให้แก่มวลมนุษยชาติโดยไม่มีขอบเขตและพรมแดน (Without boundary)

1.6 ประเภทของสหกรณ์

ประเทศไทยได้มีการแบ่งสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท คือ (1) สหกรณ์การเกษตร (2) สหกรณ์ประมง (3) สหกรณ์นิคม (4) สหกรณ์ออมทรัพย์ (5) สหกรณ์ร้านค้า (6) สหกรณ์บริการ และ (7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

จะอย่างไรก็ตาม โดยหลักของสากลนิยมแล้ว ประเทศต่างๆ มักจะจัดประเภทของสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

1. สหกรณ์ผู้ผลิต ซึ่งมีทั้งสหกรณ์ผู้ผลิตทางการเกษตรและทางอุตสาหกรรมเฉพาะสหกรณ์ผู้ผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ สหกรณ์เครดิต สหกรณ์ผู้ผลิตข้าว สหกรณ์ผู้ผลิตยาง มะพร้าว ยาสูบ ถั่วเหลือง สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ผู้ผลิตนม สหกรณ์ประมง และสหกรณ์ปศุสัตว์

2. สหกรณ์ผู้บริโภค ได้แก่ ร้านสหกรณ์ สหกรณ์โรงพยาบาล ร้านสหกรณ์ในสถาบันการศึกษา และบางครั้ง ก็รวมถึงสหกรณ์ผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย

3. สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และธนาคารสหกรณ์ด้วย

4. สหกรณ์อุตสาหกรรม ได้แก่ สหกรณ์ผู้ผลิตปุ๋ย สหกรณ์ผู้ผลิตเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และอาจจะรวมถึงสหกรณ์ฟอกหนัง สหกรณ์ผู้ผลิตอาหาร (คนและสัตว์) และสหกรณ์อุตสาหกรรมรูปอื่นๆ ด้วย

5. สหกรณ์อเนกประสงค์ ได้แก่ สหกรณ์ที่ทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งด้านการผลิต ด้านการจัดซื้อ ด้านการธนาคาร (ในศรีลังกา) ด้านการแปรรูป ด้านการตลาด ด้านการประกันภัย และการจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคด้วย

6. สหกรณ์ประกันภัย ได้แก่ สหกรณ์ประกันภัยในรูปต่างๆ และ

7. สหกรณ์บริการ ได้แก่ สหกรณ์เดินรถ สหกรณ์เคหะสถาน (ในบางประเทศเรียก สหกรณ์บริการ) สหกรณ์ฌาปนกิจสงเคราะห์ ฯลฯ

1.7 สหกรณ์รูปสำคัญ

สหกรณ์การเกษตรเป็นสหกรณ์รูปที่สำคัญที่สุดของสังคมเกษตรกรรม ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งสหกรณ์เครดิต สหกรณ์ผู้ผลิต สหกรณ์นิคม สหกรณ์คิบบุทในอิสราเอล สหกรณ์นารวมในรัสเซีย และสหกรณ์อเนกประสงค์ในอีกหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ศรีลังกา ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่โดยทั่วไปแล้วสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ที่ทำการผลิตหรือส่งเสริการผลิตการเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิตข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ยาง มะพร้าว พืชผักและผลไม้ และรวมถึงสหกรณ์ผู้ผลิตนม สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคมกสิกรรม และสหกรณ์ปศุสัตว์ด้วย

หน้าที่สำคัญของสหกรณ์การเกษตรมีดังนี้

1. การให้สินเชื่อการเกษตร (Credit)

2. การจัดหาอุปกรณ์การผลิต เช่น เครื่องมือ เมล็ดพันธุ์พืชและสัตว์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชมาจำหน่าย (Farm Supply)

3. การรวบรวมพืชผลหรือผลิตผลออกขาย (Marketing)

4. การแปรรูปผลผลิต (Processing) เช่นการสีข้าว หรือการแปรรูปนม เป็นต้น

5. การส่งเสริมการเกษตร (Farm extension)

6. การให้การศึกษา (Member education)

7. การจัดสวัสดิการสังคม (Social welfare)

8. การพัฒนาสังคม (Social and Community Development)

9. การแก้ไขและส่งเสริมสภาพสิ่งแวดล้อม (Enviromental improvement) และ

10. อื่นๆ

2. มูลเหตุและแนวคิดในการจัดตั้งสหกรณ์

การสหกรณ์ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ในรูปของร้านสหกรณ์ เมื่อ ค.ศ.1827 (พ.ศ.๒๓๗๐) หรือประมาณ 179 ปีมาแล้ว ซึ่งต่อมาได้แตกสาขาเป็นสหกรณ์รูปต่างๆ และแพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

การสหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศอังกฤษ ประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ยากจนและไร้การศึกษา ฉะนั้น จึงได้มีผู้คนคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสะดวกสบายขึ้น ในที่สุดก็มีผู้ค้นพบว่า การช่วยเหลือกันตามวิธีการสหกรณ์นั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด จึงได้มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๐ ปรากฏว่าดำเนินการได้ผล แม้จะประสบอุปสรรคในระยะแรกตั้ง ก็ได้แก้ไขด้วยดีตลอดมาจนสามารถแพร่หลายไปทั่วโลก ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าสหกรณ์เป็นวิธีดำเนินธุรกิจเพียงแบบเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประเทศประชาธิปไตย สหกรณ์เป็นระบบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น และขณะเดียวกันสหกรณ์ก็ไม่ต้องการให้การเมืองหรือนักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย เพราะปรากฏว่านักการเมืองมักจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากสหกรณ์เสมอ ทำให้เกิดการถือพวกถือพ้อง บางครั้งก็เอาคนที่ไม่มีความรู้หรือไม่คุ้นเคยต่องานสหกรณ์เข้ามาบริหารงาน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่งานสหกรณ์และบั่นทอนความก้าวหน้าของสหกรณ์ด้วยบางแห่งก็ล่มจมไปเลย ดังนั้น ผู้นำในทางสหกรณ์ของอังกฤษในยุคเริ่มแรกจึงได้กำหนดหลักความเป็นกลางในทางศาสนาและการเมืองเข้าไว้ในหลักของสหกรณ์ด้วย ทั้งนี้เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดการแตกแยกในขบวนการสหกรณ์และป้องกันไม่ให้สหกรณ์ตกเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ทางการเมืองหรือของนักการเมืองด้วย

2.1 กำเนิดของการสหกรณ์ในประเทศอังกฤษ

การสหกรณ์ในอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ ปรากฏว่าในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ระหว่างปลายศตวรรษที่ ๑๘ ถึงกลางศตวรรษที่ ๑๙ นั้น คนงานในอังกฤษมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นมาก เพราะต้องทำงานหนัก รายได้ต่ำ ซ้ำยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของโรงงานและพ่อค้าคนกลางนานาประการ จึงดำเนินชีวิตอยู่อย่างอัตคัดขัดสน อาศัยอยู่ในที่คับแคบไม่ถูกสุขลักษณะ นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บและอาชญากรรม เด็กๆ ถูกปล่อยให้อยู่ตามยถากรรม ขาดการศึกษาและขาดการดูแลที่ถูกต้อง เป็นที่น่าเวทนาแก่ผู้พบเห็นยิ่ง ดังนั้น

โรเบอร์ต โอเวน (Robert Owen) (ค.ศ.๑๗๗๑-๑๘๕๘) ผู้จัดการโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งของนิวลานาร์ค ซึ่งเป็นเด็กที่เคยยากจนมาก่อน ได้ตระหนักในความจริง (ความทุกข์ยาก) อันนี้ดี จึงได้คิดหาทางแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ให้ดีขึ้น เขาเชื่อว่า คนเราจะดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีไม่อำนวย มนุษย์ในสังคมก็จะดีขึ้นไม่ได้ และในทางตรงกันข้ามหากสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็จะดีขึ้น มีความสุขขึ้น และประพฤติตัวดีขึ้น เขาจึงพยายามช่วยเหลือคนงานให้มีบ้านอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ ให้มีเวลาทำงานน้อยลงและให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น

โรเบอร์ต โอเวน ในฐานะเจ้าของและผู้จัดการโรงงานทอผ้าจึงดำเนินงานตามแผนของตนทันที โดยในขั้นแรกได้จัดบ้านพักให้คนงานได้อยู่อย่างถูกสุขลักษณะในบริเวณโรงงาน แม้จะเป็นห้องเล็กๆ แต่ก็สะอาดและน่าอยู่ พร้อมกับอบรมให้คนงานเป็นคนที่มีระเบียบวินัยและรู้จักการประหยัด ขณะเดียวกันก็ได้เปิดร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้แก่คนงานในบริเวณโรงงานอีกด้วย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานดีขึ้น ปรากฏว่ามีผู้เดินทางมาชมกิจการของโอเวนจำนวนมาก การดำเนินการช่วยเหลือคนงานตามวิธีของโอเวนนี้ ต่อมาได้มีผู้น้ำไปแก้ไขปรับปรุงและตั้งเป็นสมาคมดำเนินงานทำนองสหกรณ์ขึ้น

ที่จริงการดำเนินงานแบบสหกรณ์ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาเป็นเวลานานแล้ว คือปี พ.ศ.๒๓๐๓ (ค.ศ.๑๗๖๐) คนงานท่าเรือซึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐบาลแห่งเมืองวูลลิซ และแชดทัม (Woolwich and Chatham) ได้ช่วยกันจัดตั้งโรงงานทำแป้งข้าวโพด (Corn Mills) ขึ้น โดยมีวิธีดำเนินงานคล้ายๆ วิธีการสหกรณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ป้องกันการค้ากำไรเกินควรจากเจ้าของโรงงานอื่นๆ ซึ่งต่อมาได้มีผู้นำแบบอย่างไปจัดตั้งเป็นสมาคมทำนองสหกรณ์ขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่สู้จะได้ผลนัก เพราะขาดแคลนทั้งความรู้ เงินทุน และประสบการณ์

ต่อมานายแพทย์วิลเลียม คิง ได้นำความคิดของ โรเบอร์ต โอเวน ไปแก้ไขปรับปรุงให้รัดกุมขึ้น โดยให้คนงานรวบรวมเงินทุนกันเข้ามาและตั้งเป็นร้านสหกรณ์ขึ้นและพร้อมๆ กันนั้น ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ “นักสหกรณ์” (the Co-operator) เพื่อเผยแพร่ความคิดด้านสหกรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๘๒๘ (พ.ศ.๒๓๗๑) ด้วย

ดังนั้น ร้านสหกรณ์แห่งแรกของโลก จึงได้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๘๒๗ (พ.ศ.๒๓๗๐) หรือประมาณ 179 ปีมาแล้ว โดยในปีแรกมีร้านสหกรณ์ตั้งขึ้นเพียง ๔ แห่ง คือ ๒ แห่ง ตั้งขึ้นที่เมืองไบรตัน และอีก ๒ แห่ง ตั้งขึ้นที่เมือง เวอททิง และต่อมาได้ขยายขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วอังกฤษ และอีก ๒ ปีให้หลัง มีร้านสหกรณ์ตั้งขึ้นทั่วอังกฤษกว่า ๓๐๐ แห่ง

ร้านสหกรณ์เหล่านี้ในระยะเริ่มแรกก็ดำเนินการล้มเหลว แต่พวกคนงานก็ไม่มีใครย่อท้อ ได้ค้นคิดหาวิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งปี ค.ศ.๑๘๔๔ (พ.ศ.๒๓๘๗) คนงานทอผ้าแห่งเมือง รอชเดล กลุ่มหนึ่งจำนวน ๒๘ คน ได้รวมทุนกันเข้ามาจำนวน ๒๘ ปอนด์ สำหรับจัดตั้งร้านสหกรณ์ขึ้นที่ตรอกคางคก ในเมืองรอชเดล ให้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Rochdale Society of Equitable Pianeers และดำเนินการได้ผลคือ

1. สามารถเปิดร้านจำหน่ายสินค้าในหมู่สมาชิกได้สำเร็จ ด้วยการร่วมทุนและร่วมกำลังกันโดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลภายนอกแต่อย่างใด

2. แก้ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางได้ ด้วยการร่วมมือกันทำธุรกิจเสียเอง

3. ยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้สูงขึ้น ด้วยสามารถซื้อของได้ถูกต้อง (ทำให้เกิดการประหยัดและการออม) ด้วยการมีอาชีพและมีงานทำ (ทำให้เกิดรายได้) และด้วยการให้การศึกษาแก่สมาชิก (ทำให้เกิดความรู้)

4. สร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมขึ้น เพราะไม่ถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป

5. สร้างสันติสุขให้เกิดแก่ชุมชนและสังคมได้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่มีการศึกษาและมีรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีน้อยลง และนอกจากนั้นสมาชิกสหกรณ์ก็ประพฤติตัวดีขึ้นด้วย คือ เลิกดื่ม และเลิกเล่นการพนัน ทำให้มีรายได้ (จากการประหยัด) มากขึ้น และหันมาเอาใจใส่ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ในครอบครัวมากขึ้น เป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคมไปในตัว

ร้านสหกรณ์แห่งรอชเดล นี่แหละที่เป็นต้นกำเนิดและเป็นต้นตำรับของการสหกรณ์ของโลกในปัจจุบัน เพราะหลักและวิธีปฏิบัติต่างๆ (Rules of conducts) ที่ร้านสหกรณ์รอชเดลกำหนดขึ้นในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนโน้น ยังถือเป็นหลักปฏิบัติได้อยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นสหกรณ์ทั่วโลกจึงได้เจริญรอยตามวิธีการของร้านสหกรณ์รอชเดล เรื่อยมา แม้ว่าในระยะหลังๆ จะมีสหกรณ์ประเภทต่างๆ เกิดขึ้นมากมายก็ตาม หลักใหญ่ๆ ก็ยังถือตามหลักสหกรณ์รอชเดลอยู่เช่นเดิม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หลักสหกรณ์รอชเดล ดังกล่าวข้างต้นนั้นที่สำคัญมี ดังนี้

1) การเปิดรับสมาชิกทั่วไป (Open Membership)

2) การควบคุมตามหลักประชาธิปไตย (Democratic Control)

3) การจำกัดดอกเบี้ยทุนเรือนหุ้น (Limited interest on share capital)

4) การแบ่งเงินปันผลตามส่วนแห่งธุรกิจที่ทำกับสหกรณ์ (Patronage Refund)

5) การค้าด้วยเงินสดและจำหน่ายสินค้าในราคาตลาด (Cash trading at market rates)

6) การส่งเสริมการศึกษา (Membership Education)

7) การเป็นกลางทางศาสนาและการเมือง (Political and religious neutrality)

2.2 กำเนิดของสหกรณ์เครดิตในเยอรมันนี

นอกจากอังกฤษแล้ว การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมยังได้ส่งผลสะท้อนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมไปยังอีกหลายประเทศในยุโรปอีกด้วย เช่น ที่เยอรมันนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลี และลักเซมเบิก เป็นต้น แต่เยอรมันนีได้รับผลกระทบกระเทือนมากที่สุด เพราะประเทศเยอรมันนีเป็นประเทศเกษตรกรรม เมื่อเครื่องจักรเครื่องมือเข้ามาแทนที่ พวกลูกจ้างและคนงานส่วนหนึ่งก็ตกเป็นคนว่างงานหรือไม่ก็ยอมรับค่าจ้างแต่เพียงเล็กน้อย ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างข้นแค้นและพวกชาวนาก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ฝืดเคืองมากเช่นกัน เพราะผลิตได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เนื่องจากถูกสินค้าราคาต่ำจากสหรัฐอเมริกาตีตลาดอย่างหนัก ซ้ำร้ายยังเกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปีระหว่างปี 1846 และ 1848 อีกด้วย ผู้คนจึงอดอยากยากจนและเป็นหนี้ ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่น องค์การการกุศล และองค์การศาสนาในแคว้นต่างๆ จึงได้หาทางช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ขึ้น ด้วยการแจกอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้แก่ผู้ยากไร้ รวมทั้งได้ตั้งโรงงานผลิตขนมปังราคาถูกอออกจำหน่าย และตั้งสมาคมจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ราคาถูกให้แก่เกษตรกรอีกด้วย แต่แล้วก็ต้องล้มเลิกไป เพราะทำได้ไม่ตลอด เนื่องจากขาดแคลนทั้งเงินทุนและขาดทั้งผู้สนับสนุน แสดงให้เห็นว่าการสังคมสงเคราะห์ หรือการช่วยเหลือแบบให้เปล่านั้น ไม่สามารถจะช่วยเหลือคนยากจนในระยะยาวได้ เพราะขาดหลักการดำเนินงานที่สำคัญหลายประการ เช่น (1) ขาดแกนกลางหรือศูนย์รวมกำลัง (องค์กรของตนเอง) (2) ขาดการพึ่งตนเอง (แรงกระตุ้นและแรงจูงใจ) (3) ขาดความสำนึกในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีระบบ (ความสมัครใจ) (4) ขาดการร่วมมือกัน (ความรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาร่วมกัน) และ (5) ขาดการศึกษา (ความโง่เขลา)

ภายใต้ภาวการณ์บีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว ทำให้มีผู้ค้นคิดหาทางที่จะช่วยเหลือคนยากจนเหล่านี้ขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายคน แต่ที่สำคัญได้แก่ เฮอร์มัน ซูลซ์ (Hermann Schulze) ผู้ให้กำเนินสหกรณ์เครดิตสำหรับชาวเมือง และ เฟรดริด วิลเฮล์ม ไรฟไฟเซน (Friedrich Wilhelm Raiffeisen) ผู้ให้กำเนิดสหกรณ์เครดิตสำหรับชาวชนบท แต่ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นไปทั่วโลกในเวลาต่อมา คือ ไรฟไฟเซน

ประวัติการตั้งสหกรณ์เครดิตสำหรับชาวเมือง และสหกรณ์เครดิตสำหรับชาวชนบทมีอย่างย่อๆ ดังนี้

2.2.1 สหกรณ์เครดิตสำหรับชาวเมือง

สหกรณ์เครดิตสำหรับชาวเมือง (Urban Credit Society) หรือ Urban Bank ได้ตั้งขึ้นครั้งแรกที่เมืองเดลิตซ์ ในประเทศเยอรมันนี เมื่อปี ค.ศ. 1850 (ค.ศ.2393) โดย เฮอร์มัน ซูลซ์ (Hermann Schulze) ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในนามของ ซูลซ์ เดลิตซ์ (Schulze Delitzsch) ผู้พิพากษาแห่งเมืองเดลิตซ์เป็นผู้จัดตั้ง เพื่อให้คนงานช่างฝีมือและพ่อค้าขนาดเล็กในเมืองได้กู้ยืมไปทำทุนและประกอบอาชีพ โดยเป็นสหกรณ์ชนิดจำกัด มีแดนกว้าง และยึดหลักการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นหัวใจของการดำเนินงาน ซึ่งต่อมาสหกรณ์ดังกล่าวได้แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปหลายประเทศ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนต์ เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส เป็นต้น

2.2.2 สหกรณ์เครดิตสำหรับชาวชนบท

สหกรณ์เครดิตสำหรับชาวชนบท (Village Credit Society หรือ Rural Bank) ได้จัดตั้งขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกที่เมืองเฮดเดสดอร์ฟ ประเทศเยอรมันนี เมื่อปี ค.ศ.1862 (พ.ศ.2405) โดยมีเฟรดริค วิลเฮล์ม ไรฟไฟเซน (F.W.Raiffeisen) นายกเทศมนตรีแห่งเมือง เฮดเดสดอร์ฟ เป็นผู้จัดตั้ง เพื่อให้เกษตรกรได้กู้ยืมไปทำทุนและประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นสหกรณ์เครดิตขนาดเล็กชนิดไม่จำกัด และต่อมาได้เป็นต้นแบบของสหกรณ์ให้กู้ยืมเพื่อการผลิตการเกษตรทุกประเภท เช่น สหกรณ์หาทุน สหกรณ์เครดิตเพื่อผลิตกรรม สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ผู้ผลิตการเกษตรรูปต่าง ๆ รวมทั้งธนาคารสหกรณ์ในชนบท และสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนด้วย ดังนั้นเมืองไทยของเราจึงเป็นหนี้บุญคุณต่อท่านผู้นี้มาก เพราะสหกรณ์รูปแรกของไทย(สหกรณ์หาทุน) ได้ถอดรูปแบบมาจากสหกรณ์ของท่านก่อน และวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จนกลายมาเป็นสหกรณ์การเกษตรในปัจจุบัน แม้สหกรณ์รูปอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ของไทยเรา ก็ได้แนวคิดมาจากการจัดตั้งและการดำเนินงานมาจากสหกรณ์เครดิต(หาทุน) เช่นกัน

สหกรณ์เครดิตแบบ Raiffeisen มีลักษณะสำคัญ ดังนี้

1. เป็นสหกรณ์ขนาดเล็กในหมู่ชาวนา มีแดนแคบ สมาชิกรู้จักกันดี สามารถตรวจสอบและควบคุมกันได้

2. หุ้นมีมูลค่าต่ำหรือไม่มีเลย และสมาชิกมีความรับผิดชอบต่อหนี้สินร่วมกันแบบไม่จำกัด

3. ให้กู้เพื่อการผลิต อัตราดอกเบี้ยต่ำ และไม่มีเงินปันผล

4. ให้เงินกู้ระยะยาว ระหว่าง 1-10 ปี โดยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ

5. กำไรสหกรณ์จะถูกกันไว้เป็นทุนสำรองทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งปันกัน

6. เจ้าหน้าที่สหกรณ์ทำงานให้เปล่า โดยไม่มีผลตอบแทนใด ๆ

7. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมอาชีพ และส่งเสริมศีลธรรมในหมู่สมาชิก

8. นิยมให้กู้แก่ผู้มีลักษณะนิสัยดี คือ

8.1 มีความสามารถในหน้าที่การงาน

8.2 มีความซื่อสัตย์สุจริต

8.3 เป็นคนประหยัด

8.4 มีความตั้งใจจริง

8.5 มีความขยันหมั่นเพียร

8.6 มีคุณธรรม เป็นเชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป และ

9. ยึดหลักเรื่อง Self-help and mutual-help and self-support ตามแนวทางของ Delitzsch มาดำเนินการ

3. หลักและอุดมการณ์ของสหกรณ์

หลักสหกรณ์ (Principles of Co-operation) หมายถึง ข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ทางธุรกิจที่สหกรณ์จะต้องถือปฏิบัติ(Rules of business conducts) เช่น การเปิดรับสมาชิกโดยทั่วไป การดำเนินงานตามหลักประชาธิปไตย การจำหน่ายสินค้าด้วยเงินสด และการให้การศึกษา ฯลฯ เป็นต้น ส่วนอุดมการณ์สหกรณ์ นั้น หมายถึง หลักการของสหกรณ์ ที่อาบและฉาบด้วยหลักธรรม และคุณธรรมอันดีงามอันเป็นจุดหมายสูงสุดของการสหกรณ์ ที่สหกรณ์ควรจะยึดถือเป็นข้อปฏิบัติ เช่น การช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การประหยัด การดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม การไม่แสวงกำไร และการให้การศึกษาอบรม เป็นต้น เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมาย และขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิก กรรมการและเจ้าหน้าที่กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นผลเสียต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ด้วยซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ และเป็นผลดีต่อชุมชนและสังคมด้วย ซึ่งในบางครั้งหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์อาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน หร

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 14 ประการ ที่ส่งเสริมให้ผู้นำมีจริยธรรม

********

1.การบริหารจะต้องเป็นการบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติ

เพื่อความเจริญของประเทศ และเพื่อความผาสุกของประชาชน การบริหารจะต้องไม่เอาประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ญาติพี่น้อง ประโยชน์ของบริวารเข้ามาเกี่ยวข้อง

2.จะต้องบริหารด้วยความสามัคคี

เพราะจะนำไปสู่ความร่วมมือและความเข้มแข็ง ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ

3.จะต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

พระองค์ทรงรับสั่งว่าจะต้องซื่อสัตย์สุจริตทั้งในความคิด การพูด และการกระทำ ผู้บริหารจะต้องดูแลคนรอบข้างตัวเราให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารจำต้องเพิ่มเติมคำว่าเสียสละและจงรักภักดีเข้าไปด้วย

4.จะต้องเป็นการบริหารที่ถูกต้อง

คือถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎเกณฑ์ เที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และให้ประสิทธิภาพสูง ผู้บริหารจะต้องมีมาตรฐานเดียวเสมอหน้ากัน ทั่วถึงกัน ต้องไม่มีหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย หรือใช้มาตรฐานตามอารมณ์มาตรฐานตามกิเลส

5.จะต้องเป็นการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ

คือการประสานงาน ประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน

6.ต้องบริหารด้วยความเฉียบอย่างต่อเนื่อง

อย่างเช่นพระมหาชนก ผู้บริหารจะต้องไม่กลัวลำบาก กลัวเหนื่อย ดำรงความมุ่งหมายอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญอุปสรรค และอดทนต่อความยากลำบาก

7.ผู้บริหารต้องไม่หวาดกลัวต่ออิทธิพลใดๆ และต้องอยู่กันคนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง

8.ผู้บริหารจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง อย่างลึกซึ้ง อย่างกว้างขวางทั้งทางลึกและทางกว้าง

9.ผู้บริหารจะต้องมีความสำนึกในความรับผิดชอบ และเห็นความสำคัญของงาน

ความรับผิดชอบหมายรวมถึงความตั้งใจที่จะปฎิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามกฎที่กำหนด การเห็นความสำคัญของงาน ความสำนึกในความรับผิดชอบ และความตั้งใจในการปฎิบัติหน้าที่ ต้องทำพร้อมและควบคู่กันไป

10.ผู้บริหารจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและฉลาด มีความถูกต้องเหมาะสม

การที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานทฤษฎีใหม่ที่ได้ยินจนชินหูว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการชี้แนวทางในการดำรงชีวิตใหม่ให้พวกเราพออยู่พอกินทำให้เกิดการสมดุลการดำรงชีพอย่างประหยัดและฉลาด

11.ผู้บริหารจะต้องมีสติปัญญา สามารถพิจารณาปัญหาได้กว้างไกลรอบคอบทุกแง่มุม

ผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสาขาอาชีพของตน

12.ผู้บริหารต้องแน่วแน่ที่จะแก้ไขในสิ่งผิด

ผู้บริหารจะต้องกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ผิด และแน่วแน่ที่จะแก้ไข การบริหารย่อมผิดพลาดได้ แม้จะรอบคอบระมัดระวังแล้ว ดังนั้น ดารแก้ไขสิ่งที่ผิดจึงไม่ใช่เรื่องน่าละอาย การทำชั่วประพฤติชั่วต่างหากที่น่าละอาย

13.ผู้บริหารจะต้องบริหารแบบปิดทองหลังองค์พระปฎิมา

หมายถึง การไม่โอ้อวดมุ่งแต่ผลงาน ไม่หวังคำชมเชย ภูมิใจแต่ความสำเร็จ

14.ผู้บริหารทุกระดับที่มีผู้ใต้บังคับบัญชา

ผู้บริหารต้องประพฤติปฎิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา

************************

หลัก 6 ประการในการสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาล เกิดจากคำว่า  ธรรม  +  อภิบาล  เป็นวิธีการที่ดีในการใช้อำนาจเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรธรรมภิบาลประกอบไปด้วยหลักการต่างๆ หลายหลักการ แล้วแต่ผู้ที่จะนำเรื่องของธรรมาภิบาลไปใช้ และจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่ากัน ตลอดจนขึ้นกับบริบทของประเทศ บริบทของหน่วยงานอีกด้วย

อย่างไรก็ดี มีหลักการสำคัญ 6 หลักการ ที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า เป็นหลักการสำคัญของธรรมาภิบาลคือ

หลักนิติธรรม (rule of law)

หลักคุณธรรม (ethics)

หลักการมีส่วนร่วม (participation)

หลักสำนึกรับผิดชอบ (accountability)

หลักความโปร่งใส (transparency)

และหลักความคุ้มค่า (value for money)

สถาบันพระปกเกล้าได้จัดทำตัวชี้วัดธรรมาภิบาล และให้คำอธิบายแต่ละหลักการพอสรุปได้ดังนี้

หลักนิติธรรม เป็นเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจ (ไม่ก้าวก่ายการทำงานของแต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายบริหารย่อมไม่ก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ) การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หลักความชอบด้วยกฎหมาย ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาหลัก "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย" และหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รวมเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติตามกฎหมาย

หลักด้านหลักคุณธรรม คือการปลอดการทุจริต ปลอดจากการทำผิดวินัย และปลอดจากการทำผิดมาตรฐานวิชาชีพนิยมและจรรยาบรรณ รวมถึงการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่ปลอดจากคอร์รัปชั่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การทำลาย หรือการละเมิดจริยธรรม ธรรมปฏิบัติ และกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาชีพต่างกันก็จะมีแนวปฏิบัติหรือจริยธรรมที่ต่างกัน อาทิ ผู้ปกครองประเทศย่อมต้องยึดหลักคุณธรรมเป็นสำคัญ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

หลักด้านความโปร่งใส คือความโปร่งใสด้านโครงสร้าง (เช่น การมีระบบงานที่ชัดเจน การมีคุณธรรมในการคัดเลือกบุคลากร) ความโปร่งใสด้านการให้คุณให้โทษ และความโปร่งใสด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกระบวนการซึ่งประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสแสดงทรรศนะและเข้าใจร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา กำหนดนโยบาย และการตัดสินใจของรัฐ ประกอบด้วยการให้ข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้อง การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน การวางแผนร่วมกัน และการพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

หลักสำนึกรับผิดชอบ เป็นเรื่องของความพร้อมที่จะรับผิดชอบ ความพร้อมที่จะถูกตรวจสอบได้ โดยการมีเป้าหมายที่ชัดเจน การสร้างการเป็นเจ้าของร่วมกัน การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน การมีแผนการสำรอง การติดตาม และประเมินผลการทำงาน

หลักความคุ้มค่า เป็นการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวมในการบริหารการจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งเหล่านี้เป็นผลในการปฏิบัติอันเกิดจากการใช้หลักธรรมาภิบาลนั่นเอง ประกอบด้วยการประหยัด การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความสามารถในการแข่งขัน

บทบาทของผู้บริหารที่แท้จริง

ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจถือเป็นเพราะบุคลิกลักษณะพิเศษประการหนึ่ง คือผู้บริหารที่มีภาวะผู้น้ำจะไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าที่มาของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานจะเป็นอย่างไร ไม่แยกเขาแยกเรา ดังคำกล่าวของ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่ว่า “ ไม่ว่าแมวสีขาวหรือดำ ขอให้จับหนูได้เป็นใช้ได้” ความลำบากใจของผู้บริหารจึงอยู่ที่จะกำกับดูแลให้คนของตนเองไม่ไปรังแกคนอื่น โดยอ้างอำนาจนายได้อย่างไร ผู้บริหารที่ไม่มีภาวะผู้นำนอกจากไม่กำกับดูแลแล้วยังไม่ท้ายอีกต่างหาก

ในทางปฎิบัติที่เป็นจริง การที่ผู้บริหารไม่ไว้ใจคนในองค์กรที่มีอยู่เท่ากับผู้บริหารไม่ไว้ใจผู้อื่น สิ่งที่ได้คือคนอื่นก็ไม่ไว้วางใจผู้บริหารเป็นการตอบแทนเช่นกัน ตามหลักกฎแห่งกรรมของพุทธศาสนาหรือหลักฟิสิกส์ คือปฏิกิริยา Action เท่ากับ Reaction ความคิดไม่ไว้วางใจใครจึงเป็นจุดเริ่มของการขาดภาวะความเป็นผู้นำแต่นี้เป็นต้นไป

การจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จผู้บริหารต้องมีภาวะผู้นำ ซึ่งปฏิเสธมิได้เช่นกันว่าผู้บริหารในเมืองไทยโดยเฉพาะในองค์กรของรัฐ ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำในความหมายของสากลหาได้ยาก อย่างไรก็ดี การศึกษาเรียนรู้ภาวะผู้นำอาจช่วยให้ผู้บริหารฉุกคิดได้เช่นกันว่า ถ้าตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารจะต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐานของความมีภาวะผู้นำ อย่างน้อยเป็นการเตือนสติหรือชี้นำแนวทางในการบริหารจัดการองค์กรไปในทิศทางที่พึงปรารถนาขององค์กร โดยทั่วไปผู้บริหารควรมีลักษณะบทบาทดังนี้

1. วางเงื่อนไขและจัดการคนในกลุ่ม ฝ่ายงาน ส่วนงาน ให้ปฎิบัติตาม

2. สร้างวิธีคิด วิธีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

3. ชอบแก้ไขปัญหา อาสาแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางพฤตินัย นิตินัยและ / หรือการปฏิบัติงาน

4. กำหนดทิศทางขององค์กร กำหนดวัตถุประสงค์ของฝ่ายงานส่วนงานที่สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร

5. เป็นผู้จัดการทรัพยากรขององค์กรในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุเป้าหมาย

6. กำหนดงาน กิจกรรมกระบวนการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Optimal Mean)

7. มีบทบาทต่อการตัดสินใจขององค์กร

8. กำกับให้มีการปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง การติดตามประเมินผลและเข้าไปแก้ปัญหาเมื่อเกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน

9. มีทักษะและความช่ำชองในการปฏิบัติงาน ดังนั้น ต้องมีความรู้ในศาสตร์บริหาร

10. คิดและปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องและแสวงหาโอกาสที่จะพัฒนางานขององค์กร ฝ่ายงาน ส่วนงาน หรือหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ

11. จูงใจและกระตุ้นส่งเสริมพนักงานให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

12. เป็นผู้นำในการทำงานให้ผู้อื่นได้เอาแบบอย่างและร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิผล

13. สามารถประสานงาน ประสานแผนและประสานงานกับองค์กรอื่นได้ดี

14. มีคุณธรรมของผู้บริหาร คือมีพรหมวิหารสี่ ได้แก่ ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ลักษณะบทบาททั้ง 14 บทบาท เป็นปัจจัยบ่งชี้ภาวะผู้นำได้เป็นอย่างดี และมิได้หมายความว่าผู้นำจะมีลักษณะบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อาจมีหลายลักษณะบทบาทผสมผสานมากน้อยขึ้นอยู่กับผู้นำแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังหมายถึงระดับของภาวะผู้นำที่ดีอาจจะประกอบด้วยบุคลิกลักษณะหลายบทบาทอยู่ในตัวคนๆ เดียวในลัษณะของความเข้มข้นต่างกันด้วย กล่าวคือมิได้หมายความว่าผู้บริหารมีบทบาทครบทั้ง 14 บทบาทจะเป็นผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำเหมือนกัน ยังต้องดูองค์ประกอบหรือปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดบทบาทดังกล่าวข้างต้นอาจมีไม่เท่ากัน

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10573

เศรษฐกิจพอเพียงกับยุทธศาสตร์การตลาด

คอลัมน์ คลื่นความคิด

ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายให้กับนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ แขนงวิชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของกองทัพบก จำนวนกว่า 100 คน ที่กรมยุทธศึกษาทหารบก ในหัวข้อ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้วยยุทธศาสตร์การตลาดยุคใหม่ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟังเป็นอย่างมาก ผู้เขียนเลยถือโอกาสนำรายละเอียดมาเล่าสู่แฟนคอลัมน์คลื่นความคิดให้รับทราบกัน

แท้ที่จริงแล้วแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีแก่นสาระสำคัญคือ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณและพอดี

ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งสั้นและยาว

เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและมีความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภและไม่ตระหนี่จนเกินไป

แนวทางปฏิบัติและผลที่คาดว่าจะได้รับ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดหนึ่งของยุทธศาสตร์การตลาดยุคใหม่ที่มุ่งเน้นสังคมเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยมีความคิดที่ว่าธุรกิจควรกำหนดความจำเป็น ความต้องการ และผลกระทบของกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ด้วยการส่งมอบความพึงพอใจที่ดีกว่าคู่แข่งขันในท้องตลาด เพื่อรักษาหรือพัฒนาวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและสังคมให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แนวคิดการตลาดเพื่อสังคมต้องตอบสนองสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจโลกและการไม่ใส่ใจปัญหาสังคม ธุรกิจที่ดำเนินงานตามแนวคิดนี้จึงต้องเข้าถึงความรู้สึกและจิตใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับต้องมีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบ เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและสังคมได้รับความพึงพอใจและความบริบูรณ์พูนสุขในระยะยาว (long-run welfare) นั่นเอง

จริงอยู่ที่ธุรกิจต้องการผลกำไรตอบแทน ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการก็ต้องการความพึงพอใจจากสิ่งที่ตนเองต้องการ และที่สำคัญ สังคมที่ทั้งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งนั้นก็ต้องเกิดความสมบูรณ์พูนสุขด้วยเช่นกัน แนวคิดนี้ต้องการสร้างความสมดุลให้กับชีวิต เศรษฐกิจ สังคมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

แต่การที่ธุรกิจจะดำเนินการตามแนวคิดนี้ได้นั้น จะต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้ที่ประกอบด้วยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวัง รวมถึงเงื่อนไขคุณธรรมอันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน และการรู้จักแบ่งปันมาผสมผสานกันภายใต้กรอบของความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี นี่แหละถึงเรียกว่าการประสานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับยุทธศาสตร์การตลาดยุคใหม่ให้เข้ากันอย่างกลมกลืน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจสังคมและประเทศชาติสืบไป!

คุณธรรมสำหรับผู้บริหารการศึกษา

ศ.ดร.วัลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ความหมายของคุณธรรม

คำว่า “คุณธรรม” ในพจนานุกรม แปลว่า “คุณงามความดี” จึงเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากมีแต่หลายๆ คนก็ไม่เคยรู้ว่าตนเองมี “คุณธรรม” จริงหรือไม่ บางคนแกล้งกล่าวว่า “คุณธรรม” ก็คือ “คุณ น่ะ ทำ” “ฉันไม่ทำหรอก” บางคนก็อาจจะคิดว่าผู้บริหารการศึกษาต้องมีคุณธรรมอยู่แล้วมีใครไม่มีคุณธรรมบ้าง คำว่า คุณธรรม จึงอาจจะตีความหมายแตกต่างกันไปแล้วแต่คนจะเข้าใจ ในบทความนี้จึงขอเสนอคุณธรรมผู้บริหารการศึกษา ซึ่งควรได้รับการพัฒนาในตัวผู้ที่อยู่ในสังคมการศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวิทยาการ และการฝึกอบรม ในศาสตร์สาขาการศึกษานี้โดยตรง ควรมีการประพฤติปฏิบัติอยู่ในคุณธรรม ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึง ความดี ความงาม ความประเสริฐดังกล่าวแล้วข้างต้น

คุณธรรมผู้บริหารการศึกษา หมายถึง ความคิดและการกระทำที่ผู้บริหารการศึกษา พึงได้ฝึกฝนอบรมให้เป็นผู้มีลักษณะนิสัยอันเอื้อต่อการจรรโลงการศึกษาให้ก้าวไกล เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ในขณะเดียวกันก็มีการแสดงพฤติกรรมที่ปรากฏเป็นประโยชน์ เป็นที่ชื่นชอบ และเป็นที่ยอมรับแก่สังคม ว่าเป็นความประพฤติที่ดีงาม ถูกต้องตามสังคมไทย

ความดีความงาม โดยนัยกว้างของคุณธรรมนั้น มีหลักที่ตรงกันไม่ว่าจะเป็นหลักศาสนาใดแม้ว่า ความงาม อาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มบุคคล เช่นเดียวกันกับที่เราพิจารณาดอกไม้ คนบางกลุ่มอาจจะนิยมดอกมะลิเพราะมีกลิ่นหอม บางกลุ่มอาจนิยมดอกกล้วยไม้เพราะมีลักษณะที่งดงาม สีสันสวยงาม แต่บางกลุ่มนิยมดอกกุหลาบที่ทั้งสดสวย หนามแหลม แล้วมีกลิ่นหอมด้วย แต่ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าดอกอุตพิษเป็นดอกไม้ที่น่ารังเกียจ การเปรียบเทียบเช่นนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีความแตกต่างกันในความคิดเห็นและความนิยมชอบแต่ในหลักการแล้วมีแกนของการยอมรับในความจริงว่าดีหรือไม่ดีตรงกัน หรือใกล้เคียงกันมาก

ผู้บริหารการศึกษาควรจะมีความดี ความงาม อะไรบ้างนั้นเป็นข้อเสนอให้พิจารณาและถ้าเห็นด้วยก็นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความดี ความงามในตนเอง ในทีนี้จะแยกเป็น 3 ประเด็น คือ

“ใจ” หมายรวมไปถึงความดีความงาม “ความดี” คือสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ “ความงาม” คือสิ่งที่เกิดจาก ความคิด จิตใจ

“การให้” คือการปฏิบัติที่ดีงามต่อคนอื่น และ

“ความก้าวไกล” คือ สิ่งที่จะกระทำต่อเนื่องอันจะเกิดประโยชน์ต่อศาสตร์การศึกษาอย่างสร้างสรรค์

ความหมายของผู้บริหารการศึกษา

ผู้บริหารการศึกษา หมายถึง ผู้ที่รับผิดชอบดูแลจัดการการศึกษาส่วนใหญ่ได้ผ่านการอบรม การปฏิบัติงานในสถานศึกษา การปลูกฝังในศาสตร์การศึกษา การมีความรู้และมีประสบการณ์มานานพอสมควร ผู้บริหารการศึกษาจึงหมายถึง ผู้ควบคุม กำกับและจัดการสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือระดับการศึกษา ที่มีหน้าที่ดูแลอาจารย์ บุคลากร นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนสถาบันการศึกษาให้ดำเนินภารกิจโดยชอบธรรมจนบรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน

คุณธรรมผู้บริหารการศึกษา

คุณธรรม หรือ คุณงามความดี ที่นักบริหารการศึกษาพึงมีในบทความนี้จะเสนอ 3 ประเด็น คือ

1. ใจ อันหมายถึง ความงามซึ่งเกิดจากภายใน

2. ให้ อันหมายถึง การกระทำที่ดี

3. ไกล อันหมายถึง การไกลจากสิ่งต่ำทราม และการก้าวไกลไปในศาสตร์การศึกษา

ผู้บริหารจะต้องสร้าง “ใจ” “ ให้” และ “ไกล” โดยมีแนวคิดดังนี้

1. ใจ

ตามหลักพุทธศาสนา กล่าวว่า บุคคลทั้งหลาย “มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน” การทำงานทั้งหลาย หากมีใจที่มั่นคง ตั้งมั่นย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในการทั้งปวงได้ ผู้ที่ต้องการทำภารกิจให้สำเร็จ จึงต้องมีใจบากบั่น มุ่งมั่นที่จะสำเร็จ เมื่อมีใจมุ่งมั่นกับความสำเร็จอยู่ ย่อมจะมีกำลังใจทำอย่างไม่ย่นย่อท้อถอย แม้จะประสบอุปสรรคนานาประการก็ตาม พลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานทุกอย่างดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ แต่ในสถานการณ์เฉพาะหน้ากลับทำได้โดยไม่รู้ตัว แสดงให้เห็นว่าพลังกายนั้นมีศักยภาพสูงเพียงแต่สร้างใจให้มีพลังแข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว เช่น คนแบกตุ่มนั้น มีจิตมุ่งมีการหนีไฟอย่างเดียว เลยยกตุ่มหนีไฟไปด้วยได้อย่างที่ไม่รู้ตัว คนที่สร้างใจได้แข็งแกร่งย่อมจะทำงานได้เต็มพลังความสามารถสร้างใจนั้นผู้ที่มีใจที่พัฒนาแล้วจะต้องลักษณะใจดังนี้

1.1 ใจที่มีคุณธรรม

ใจที่มีคุณธรรมจำเป็นต้องมีการสร้าง มีการปรับ มีการพัฒนา เพื่อให้ใจมีพลังที่จะทำ

คุณงามความดี การสร้างใจที่ตั้งมั่น คือการทำใจให้สูงส่ง ทำใจให้ละเว้นความชั่วสร้างใจที่ทำคุณงามความดีได้ง่าย หรือใจที่มุ่งมั่นที่จะทำดี การทำดีนั้น จำเป็นต้องฝืนความรู้สึก ฝืนธรรมชาติ ของคนบางคน เช่น การที่จะไม่โกรธคนนั้นยากมาก คนที่จะสร้างใจจะต้องฝืนไม่ให้โกรธ การที่จะไม่พอใจคน ไม่พอใจสถานการณ์ ไม่พอใจสิ่งแวดล้อมรอบด้านเป็นสิ่งที่ทำง่าย แต่ถ้าจะทำให้พอใจจะต้องฝืนความรู้สึกฝืนใจ ฝืนความคิด จึงจะทำให้พอใจอยู่ได้ดังนั้นใจที่มีคุณธรรม คือใจที่ฝืนจากความชั่วความไม่ดี ความไม่พอใจ มาสู่ความพอใจ หรือในที่สุดก็จะนำมาสู่ความเป็นกลาง คือ ไม่รู้สึกว่าพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งรอบด้าน ผู้บริหารการศึกษาจำเป็นต้องสร้างใจที่เป็นธรรม เพราะบุคลากรที่อยู่ใต้บังคับบัญชา มีลักษณะหลายประเภท อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจได้ง่าย

1.2 มีจิตใจดีต่อผู้อื่น

การสร้างใจให้มีจิตใจดีต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมที่สำคัญของผู้บริหารการศึกษา ดังได้

กล่าวแล้วว่า ภารกิจหลักในฐาน “ผู้บริหาร” ก็ต้องมีจิตใจดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เห็นใจผู้น้อยในด้านความรับผิดชอบ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความคิด และเวลา ผู้บริหารต้องจัดการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องรอให้ผู้น้อยร้องขอ ถ้าผู้บริหารเห็นว่าสิ่งใดที่จะทำให้การทำงานดีขึ้น ผู้บริหารย่อมไม่รั้งรอที่จะทำประโยชน์นั้นให้แก่ทุกๆ คน โดยไม่คิดดีแต่เฉพาะบางกลุ่ม บางประเภทเท่านั้น

ผู้บริหารจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ร่วมงาน ให้อภัย ให้โอกาส พูดคุย สนทนา จูงใจให้ผู้ร่วมงานสนใจการพัฒนางานและพฤติกรรมของตนเองให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันต้องเป็นกลางที่จะช่วยฟื้นฟู ความรัก ความสามัคคี ขององค์กรให้เกิดขึ้น

การสร้างจิตใจดีต่อผู้อื่น จึงเป็นคุณธรรมที่ผู้บริหารการศึกษาพึงสร้างจิตของตนเองให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีงาม ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่จะชักชวนให้กระทำในสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนโดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชาของตน

1.3 จิตที่ดีต้องมีการฝึก

ใจที่มีการตั้งมั่นอยู่ในระดับความดี ต้องมีการฝึกอย่างถูกต้องการฝึกจิตมีแนวทาง

มากกว่า 40 วิธี ขึ้นอยู่กับจิตหรือลักษณะของคนที่แตกต่างกันไป การฝึกนั้นควรมีครูผู้สอน ด้วยเหตุว่าจิตนั้นเป็นนามธรรมที่ควบคุมความคิดและการการะทำของคน จิตที่ดีนำไปสู่การคิดที่ดีและการกระทำที่ดีดังรูป

คนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า การฝึกควบคุมพฤติกรรมคือการฝึกจิต นับเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากการควบคุมพฤติกรรมเป็นส่วนที่ทำได้ง่าย เช่น ถ้าเราอยากจะลอกรายงานของเพื่อน เพียงห้ามมือไม่ให้หยิบงานของเพื่อนก็ลอกของเพื่อนไม่ได้แล้ว ส่วนการห้ามความคิด เน้นขั้นที่สูงกว่าโดยที่ผู้นั้นจะต้องมีคุณธรรมและเหตุผลที่ถูกต้อง ว่าการคิดที่จะกระทำเช่นนั้นมันผิดอย่างไร และมีผลอย่างไร เมื่อฝึกมาถึงขั้นจิตที่ดีได้แล้วจะเป็นอัตโนมัติที่จะบอกตนเองว่า สิ่งที่ชั่วไม่ทำ ไม่คิดจะทำและไม่กระทำเป็นอันขาด

การฝึกจิต จึงไม่ใช่การฝึกระงับกายไม่ให้ประพฤติหรืปฏิบัติอันเป็นพฤติกรรมภายนอก แต่เป็นการฝึกสิ่งที่อยู่ภายในตนให้มีสติรู้จักผิดชอบชั่วดี แม้แต่จะคิดไม่ดีจิตก็คอยกระตุกหรือควบคุมไว้ไม่ให้คิดเลยเถิดไปสู่สิ่งที่ไม่ดีและไม่ให้เผลอไผลไปประพฤติไม่ดีอีกด้วย

1.4 จิตที่ไม่ดี

จิตที่ไม่ดี คือ จิตที่ไม่ได้รับการฝึกให้สูงส่งบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ผู้มีจิตไม่ดีจึงมีลักษณะ

เป็นคนคิดไม่ดี พูดไม่ดี ได้โดยไม่รู้สึกอับอายหรือเกรงกลับต่อการทำผิด เช่น

(1) การคดโกง ใช้เวลาราชการหรือเวลาขององค์กรไปทำประโยชน์ส่วนตน ไม่

ทำงานเต็มเวลา เต็มศักยภาพ หรือ เรียกว่า เป็นคนไม่ซื่อสัตย์สุจริต และคนไม่ซื่อสัตย์สุจริตนั้นไม่ทำบาปเป็นไม่มี คนที่มีลักษณะเช่นนี้ ต้องการการฝึกจิตอย่างมาก การคดโกงไม่ใช่เพียงแค่คดโกงเวลา การคดโกงทางวิชาการเพื่อการเลื่อนขั้นเลื่อนอันดับ เป็นสิ่งที่ผิดอย่างร้ายแรงในวงการการศึกษา ดังนั้นการให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการให้หรือลอกผลงานของคนอื่นเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับโทษขั้นรุนแรงด้วย

(2) อัตตาสูง นึกว่าตนเองเก่ง คิดดูถูกว่าผู้อื่นไม่เก่งเท่าตัว คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น จึง

ประมาทปัญญาไม่ยอมรับฟังหรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้หมดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาให้มีปัญญาสูงส่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะคนที่จะเป็นทีรักของคนทั่วไปนั้นต้องมี “สมานัตตา” คือทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ดูถูกเหยียดคนอื่นว่าต่ำกว่าตน ถ้าลดอัตตาลง จะทำให้ได้รับผลโยชน์รู้จักฟังคนอื่นได้ เมื่อมีอัตตาสูงก็ย่อมเห็นแก่ตัวมาก พระเทพกวีท่านว่า “สังคมจะเป็นธรรม เพราะไม่เหยียบย่ำผู้อื่น” ดังนั้นถ้าเราไม่คิดว่าเราสูงกว่าคนอื่น เราก็จะละจิตไม่ดีในข้อนี้ไปได้ โดยเฉพาะผู้บริหาร ซึ่งโดยตำแหน่งจะต้องสูงกว่าคนอื่น มีสิทธิให้คุณให้โทษผู้อื่นอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกใจให้รู้ว่าการมีตำแหน่งบริหารมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเป็นธรรม ความเมตตา ความเข้าใจ และการให้อภัยต่อผู้ที่ทำงานในสายงานทุกคน

(3) ทำร้ายผู้อื่น คนที่ชั่วย่อมคิดร้ายต่อผู้อื่น พูดให้ผู้อื่นเสียขวัญเสียกำลังใจ เสียใจและ

เสียหาย ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ลำบาก ทุกข์ใจ คนชั่วย่อมสบายใจที่จะคิดว่าคนอื่นเลว “ชั่ว” คนชั่วมักจะพูดในสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์หรือสร้างสรรค์สิ่งใด นอกจากนี้คนชั่วมักสบายใจที่จะกระทำในสิ่งที่ทำให้คนอื่นๆ เดือดร้อนเสียหายอีกด้วย ผู้บริหารอยู่ในฐานะที่ต้องเป็นผู้สร้างสรรค์มากกว่าทำลาย จึงต้องไม่ทำร้ายคนด้วยการพูดหรือการกระทำ

(4) ไม่เกรงใจ คนบางคนไม่มีสมบัติผู้ดี ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี เมื่อขาดความ

เกรงใจคนก็ทำให้ผู้นั้นขาดคุณสมบัติความเป็นผู้ดี เช่น ผู้บริหารกำลังประชุมอยู่ ผู้เข้าประชุมก็ลุกเข้าลุกออกอย่างไม่เกรงใจ ในขณะกำลังประชุมก็พูดโทรศัพท์ ทั้งผู้ที่นำการประชุมและผู้ที่อยู่ในการประชุมพูดคุยกันในที่ประชุมอย่างไม่เกรงใจคนอื่น บางกรณีการพูดการจาไม่เกรงใจผู้ใหญ่ ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ทำตัวเสมอผู้ใหญ่ก็เป็นลักษณะของความไม่เกรงใจ คนที่ชั่วมากย่อมไม่มีความเกรงใจคนอื่นมาก ความไม่เกรงใจทำให้ไปรบกวนเวลา รบกวนสมาธิ รบกวนสมอง รบกวนทรัพย์สินของคนอื่น โดยไม่สมเหตุสมผล ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องรู้จักเกรงใจผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ควรทำอะไรตามอำเภอใจ

(5) อิจฉาริษยา คนบางคนเห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้ จะมีการเปรียบเทียบอยู่เสมอว่าทำไม

เธอได้ทำไมฉันไม่ได้ “ทำไมเธอจึงขอผลงานได้เลื่อนตำแหน่ง ทำไมฉันส่งไปถึงไม่ได้” หรือ “คนๆ นี้โง่กว่า ฉันตั้งมากทำไมถึงได้ ทำไม่ฉันส่งจึงไม่ได้ตำแหน่งดีกว่า” การไม่มองตนเอง แต่กลับไปมองผู้อื่นในลักษณะเหยียดหยามหรือไม่อยากให้เขาดีกว่าเด่นกว่าเป็นลักษณะของจิตที่ชั่ว ผู้บริหารจะต้องพัฒนาจิตของตนเองให้สูงไว้เพื่อไม่ให้คิดไม่ดีต่อลูกน้อง หรือผู้ร่วมงาน

(6) ความเกียจคร้าน ความที่ทอดทิ้งการงาน ก็ทำให้งานไม่เจริญก้าวหน้า ติดขัด และ

คั่งค้างหรือมิฉะนั้นก็รีบทำให้เสร็จๆ ไปจนงานไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ความเกียจคร้านจึงทำให้บุคคลไม่ก้าวหน้า ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่องานส่วนรวมของสถาบัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขยัน อดทน มุ่งมานะทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลประโยชน์ของลูกน้องถ้าไม่รีบดำเนินการอาจจะทำให้เกิดผลเสียได้

จิตที่ไม่ดีจะจำสิ่งที่ไม่ดี จะเก็บสิ่งที่ไม่ดีไว้ในจิตทำให้ไปกระทบต่อความคิดและการกระทำของบุคคลนั้น ยังมีจิตไม่ดีอีกมากมายไม่อาจจะกล่าวได้หมดจึงยกมาเป็นตัวอย่างเพียงตัวอย่างบางประเด็นดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการที่จะพยายามหรือละลดจิตที่ไม่ดี ดังกล่าวลงเสียบ้างเพื่อทำให้จิตบริสุทธิ์ขึ้น และเคยชินต่อสภาพการคิดดีทำดี

1.5 ใจที่ควรฝึก

ใจที่ควรฝึก เพื่อความเป็นผู้มีคุณธรรม นอกจากจะละจิตที่ไม่ดีดังกล่าวแล้วควรจะมี

การฝึกใจให้มีลักษณะที่ดีดัง “เก้าใจ”ต่อไปนี้ (วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา 2536)

เก้าใจ

เปิดใจให้เปิดกว้าง มองโลกอย่างสุขเสรี

เข้าใจ ความชั่วดี จนหรือมีไม่สำคัญ

เห็นใจ ใครใครบ้าง เพื่อจักสร้างความสัมพันธ์

น้ำใจ มีให้ปัน ความสุขสันต์ย่อมตามมา

ร่วมใจ ใฝ่กุศล ช่วยเหลือคนทุกเวลา

ตัดใจไม่นำพา กิเลสตัณหาย่อมสิ้นไป

ทำใจให้วางเฉย จักลงเอยโดยสงบได้

มิตรจิตรมิตรใจ จักช่วยให้โลกร่มเย็น

ไม่เอาแต่ใจตน ทุกทุกคนปราศทุกข์เข็ญ

ทำใจกันให้เป็น โลกจะเว้นจากชั่วทราม

คุณธรรมจักเกิดได้ ด้วยสร้างใจให้งดงาม

เก้าใจดังกล่าวนาม พาคนข้ามสู่ความดี

การที่จะฝึกให้มีใจ “ทั้งเก้า” ที่ทำให้มีคุณธรรมดังคำประพันธ์นี้ จะโน้มนำคุณงามความดีมาสู่ตน โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษา ซึ่งจะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและคนในสังคมยิ่งต้องพยายามฝึกใจตนเองให้เป็นใจที่ดีเสียก่อนจึงจะนำไปสู่ความคิดที่ดีและความประพฤติปฏิบัติที่แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่พึงประสงค์ได้

2.การให้

เมื่อได้พัฒนาใจให้อยู่ในระดับแห่งความดีงามซึ่งเป็นการพัฒนาภายในแล้วก็พัฒนาออกมาภายนอกโดยพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นคุณธรรมนั่นก็คือ นักบริหารการศึกษาควรมีคุณธรรมข้อ “การให้” การอยู่ในสังคมการศึกษานั้น ภารกิจหลัก คือ การให้ ให้ความรู้ ให้บริการ ให้ความสะดวก ให้ความเจริญก้าวหน้า ให้ความสำเร็จ ดังนั้นนักบริหารการศึกษาจึงพัฒนาตนให้เป็นผู้ให้ การให้มีหลายประการให้ที่นี้จะขอกล่าวถึงการให้เพียง 3 ประเด็นคือ

2.1 ให้ประโยชน์

นักบริหารการศึกษา พึงถือประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตัว ผู้บริหาร พึงมีคุณธรรม “การให้” ที่สูงส่งมากกว่าคนทั่วไปเพราะถ้าบุคคลใดมาอยู่ในตำแหน่งของการให้ แต่จิตใจและการกระทำมีปฏิกิริยาต่อต้านการให้โดยคิดไม่ถึงหรือใจคับแคบก็ดี ย่อมจะทำให้การบริหารงานบกพร่องการให้ของนักบริหารคือ

(1) การให้ความสะดวก นักบริหารต้องพิจารณาว่า การทำงานนั้น ผู้บริหารทำคนเดียว

ไม่ได้จะต้องให้คนอื่น ๆ ช่วยทำกันหลายระดับ นักบริหารจึงต้องให้ความสะดวก เช่น เรื่องของอุปกรณ์ใช้สถานที ตลอดจนการเงิน การจัดการอันเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินภารกิจเพื่อส่วนรวม

(2) ให้ขวัญกำลังใจ ผู้ที่ให้ผู้อื่นทำงานให้ก็ต้องรู้จักที่จะให้ขวัญกำลังใจเพื่อแสดงให้

เห็นว่าเมื่อได้ใช้งานแล้ว ได้เห็นผลงานของผู้นั้น ด้วยความชื่นชม ภูมิใจ พึงพอใจในผลงานแม้ว่าบางครั้งงานอาจจะไม่สมบูรณ์ก็ควรให้ข้อแนะนำที่จะทำให้ดีขึ้นมากกว่าจะติเตียนหรือพูดทางลบ

(3) ให้ความยุติธรรม การที่อยู่ในตำแหน่งสูง มีลูกน้องมากมายหลายฝ่ายหลายระดับ

จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอะไร ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสถาบันจะคิดแบ่งแยกพวกเขาพวกเราไม่ได้เป็นอันขาด เพราะตามภาระหน้าที่จะต้องกำกับดูแลติดตามประเมินงานของผู้ใต้บังคับทุกคนด้วยความซื่อตรง เป็นธรรม

(4) .ให้ความก้าวหน้า การสนับสนุนให้ผู้ที่ร่วมงานประสบความก้าวหน้าในชีวิตเป็น

สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องให้เพื่อที่จะได้ประโยชน์ต่อสถาบันโดยส่วนรวมเป็นผลพลอยได้ ด้วยการสนับสนุนด้านนี้รวมไปถึงการพิจารณาให้ได้รับการศึกษาต่อสูงขึ้น การได้ตำแหน่งการงานดีขึ้น หรือให้โอกาสที่จะได้รับเกียรติทำหน้าที่อันเป็นที่ยกย่องในสังคมนั้นๆ

คุณธรรมหลายประการ ของผู้บริหารและของอาจารย์มีความคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะในด้านการให้ขวัญกำลังใจ การให้ความยุติธรรม การให้ความก้าวหน้า และที่สำคัญของอาจารย์ก็คือ การให้ความรู้ความคิด ทัศนคติที่ดีแก่ศิษย์ เพื่อส่งเสริมให้ได้เจริญก้าวหน้าและมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้

2.2 ให้ความดี

การให้ความดีนั้น ก็คือให้ในสิ่งที่เป็นธรรม ถูกต้อง สร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดจิตสำนึกในเรื่องของความดี นักบริหารการศึกษาต้องเป็นผู้ที่ใฝ่ดีและมอบสิ่งที่ดีๆ ให้แก่สังคม เมื่อได้สร้างจิตที่ดีจะกำหนดกรอบพฤติกรรมความดีหรือสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ให้แก่ตนเอง เช่น ดังอุดมการณ์ที่ว่า “จะเกิดมาเพื่อทำงานเพื่อส่วนรวม” เมื่อมีงานอะไรบุคคลเหล่านี้จะไม่ปฏิเสธ จะมีความสุข และยินดีจะช่วยงานส่วนรวม ซึ่งบางงาน อาจจะไม่ใช่งานในหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็ยินดีที่จะช่วยลักษณะการกระทำนั้น เป็นการทำให้สังคมได้เห็นว่าการทำดีคืออะไร คนที่ดีมีลักษณะอย่างไร เป็นการให้ความดีแก่ สังคม คนในสังคมบางคนมีการประพฤติปฏิบัติจากการดูเยี่ยงอย่างจากคนดีในสังคม โดยไม่ต้องมีการสอนหรือการบอกแต่ประการใด การให้ความดีแก่คนในแวดวงการศึกษาจึงเป็นการสร้างสังคมการศึกษาที่ดี ถ้าทุกคนเกิดความสำนึกว่าเราจะต้องให้ความดีแก่คน และปฏิบัติเช่นนั้นจริงๆ ก็ย่อมจะทำให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่ดีของคนดี

2.3 ให้ความชื่นใจ

นักบริหารการศึกษาควรพยามยามมีคุณธรรมข้อ “พรหมวิหาร 4” เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่ในหลักศาสนา คือ คนที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ผู้ที่มีวุฒิภาวะที่ไม่เป็นผู้ใหญ่คือคนที่ไม่เคยให้ความชื่นใจให้แก่ผู้อื่น ความชื่นใจ อาจทำได้โดย 2 ทางคือ

(1) ทางวาจา การพูดเป็นทักษะที่ยากมาก คุณธรรมที่เกี่ยวกับปาก จึงเป็นหัวข้อคุณธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในหลายๆ ข้อ เช่น การที่จะทำให้คนรักนั้น ต้องรู้จักพูดดี พูดเพราะ หรือปิยวาจา สุนทรภู่เคยกล่าวไว้ว่า

“จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู” หรือ “หญิงเรียกแม่ ชายเรียกพ่อ ยอไว้ใช้ มันชอบใจข้างปลอบไม่ชอบดุ”

คนที่มีคุณธรรมจึงเป็นผู้ที่จะต้องฝึกปากให้มีคุณธรรม หัดพูดภาษาธรรม นั่นคือ หัดพูดอะไรที่สร้างสรรค์ก่อให้เกิดประโยชน์ อย่าพูดอะไรที่คนฟังแล้วกลุ้มใจ ฟังแล้วก็ให้เกิดความทุกข์จึงต้องรู้จักพูดอะไรที่แสดงความเกรงใจผู้อื่นบ้าง การพูดอะไรที่กระทบกระเทือนคนอื่นย่อมจะต้องไม่พูด เช่น การพูดนินทาอาจารย์เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ แม้จะเป็นความจริงตามความคิดของตนเอง แต่มันอาจไม่จริงตามสายตาคนอื่นหรือคนที่ถูกวิพากษ์ การพูดทำลายสถาบันของตัวเอง การพูดทำลายศาสตร์ของตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรพูดอย่างยิ่งเป็นการผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ เนื่องจากสมาชิกของสังคม วิชาชีพต้องปกป้องศักดิ์ศรี ความน่าเชื่อถือของวงการตนเอง

นักบริหารการศึกษาที่จะฝึกคุณธรรมข้อการใช้ปากนี้ ต้องคิดเสมอว่า “ปากคืออาวุธร้าย ที่จะทำให้เกิดการทะเลาะเลาะแว้ง ความไม่พอใจ เป็นอาวุธที่ทำร้ายผู้อื่น” เมื่อปากเป็นอาวุธร้าย ผู้ที่มีปากจึงควรระมัดระวังในการใช้ โดยพูดแต่สิ่งที่ดี พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์เท่านั้น นักบริหารการศึกษาที่มีคุณธรรมจะใช้ปากเพื่อนำความชื่นใจมาสู่ผู้ฟังเท่านั้น

2. ทางการกระทำ นอกจากจะใช้ปากนำความชื่นใจแล้ว ก็กระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดความชื่นใจ เช่น ผู้บริหารจะแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยการส่งเสริมความสะดวกในการทำงาน ด้วยการให้ปันสิ่งของ หรือด้วยการแสดงออกถึงความชื่นชมปิติยินดีที่ผู้อื่นได้ดี เหล่านี้เป็นการแสดงออกให้เห็นในคุณธรรมที่แสดงให้คนอื่นทราบว่าเราชื่นชมเราสนับสนุน และเรายินดีที่เขาได้รับในสิ่งที่ดี นั่นคือคุณธรรมของการให้ผู้อื่นได้ความชื่นอกชื่นใจ

3 การก้าวไกล

นักบริหารการศึกษาที่มีคุณธรรมจะไม่คิดอะไรใกล้ๆ แต่จะคิดไปถึงการณ์ไกลหรืออนาคตโดยมีจิตมุ่งมั่นรองรับด้วยการกระทำที่มุ่งไปสู่ความก้าวหน้าของศาสตร์การศึกษา ก็คือ นักบริหารการศึกษา จะซื่อสัตย์ในวิชาชีพการศึกษา การที่นักบริหารการศึกษามีความพยายามที่จะประยุกต์ความรู้มาสู่การปฏิบัติงานเพื่อทำให้ผู้อื่นเห็นว่าผู้ที่เรียนมาทางศาสตร์การบริหารการศึกษา จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ดีหว่าหรือแตกต่างจากผู้ที่มิได้เรียน นักบริหารการศึกษาจะต้องใช้ปัญญาในศาสตร์การศึกษา “ปัญญาเป็นคุณธรรมที่จำเป็น” และให้สอดคล้องกับที่พุทธองค์ตรัสไว้ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ที่ทรงกล่าวดังนี้ก็หมายถึงว่าแสงอื่นๆ ในโลกจะส่องได้เฉพาะบางเวลาบางสถานการณ์ แต่ปัญญาทำให้คนเห็นแจ้งได้ตลอด

การใฝ่หาความรู้ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา จึงเป็นคุณธรรมที่นักบริหารการศึกษาพึงแสวงหา เพื่อที่จะช่วยกันเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ศาสตร์การศึกษา การมีสติปัญญา ย่อมทำให้มีความรู้รองรับการตัดสินใจและการปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับทฤษฎีหรือแนวการศึกษาที่มีผู้ได้ศึกษาหาแนวทางไว้

การใฝ่อนาคต นับเป็นคุณธรรมที่สำคัญในการทำให้ศาสตร์มีความก้าวหน้า มีความแข็งแกร่งมั่งคง สมควรที่นักบริหารการศึกษาจะฝึกปฏิบัติตามให้มีความก้าวหน้าใฝ่หาปัญญา สร้างศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับแก่คนทั่วไปในสังคม

คุณธรรมในข้อ “การก้าวไกล” อาจจะสรุปได้ ดังนี้

1. ใฝ่อนาคต

คนเราเมื่อรักดี หวังความก้าวหน้า หวังอนาคตที่ดี ย่อมจะพยามยามทำวันนี้ให้ดีที่สุด แม้ว่าให้ชีวิตจริงของคนทั่วไปจะประสบปัญหา อุปสรรค และความผิดพลาดมากมาย ผู้ที่ใฝ่อนาคต ก็จะพยายามดำรงตนให้มีปัญหาและความผิดพลาดน้อยที่สุด

2. อดทน

ความสำเร็จในชีวิตมักจะมีคุณธรรม ข้อ “อดทน” ช่วยค้ำจุน ยามใดที่มีความย่อท้ออยากจะเลิกทำสิ่งใดก็ตาม นอกจากมีความอยากที่จะมีอนาคตที่ดีแล้วยังต้องมีความอดทนต่อความยากลำบากทั้งปวง ที่จะเอาชนะสิ่งที่ขัดขวางต่างๆ นั้นได้

3. มานะพากเพียร

คนที่จะประสบความสำเร็จจะขาดคุณธรรมข้อมานะพากเพียรไปไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ชีวิตที่ก้าวไกล จึงจะต้องเป็นคนที่มีความพยายาม มีความมานะ มีจิตใจที่จะเอาชนะอุปสรรคปัญหาทั้งหลายมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ

4. ใฝ่เรียน

นักบริหารการศึกษา ควรจะไม่ทอดทิ้งการอ่าน การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อจะได้สติปัญญารอบรู้ในสรรพสิ่ง อันจะนำมาเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นและประโยชน์ส่วนตนได้ การใฝ่เรียนทั้งศาสตร์การสอน ศาสตร์ที่รับผิดชอบ และศาสตร์ด้านธรรมะ อันจะทำให้ชีวิตบริบูรณ์ขึ้น

บทสรุป

คุณธรรมนักบริหารการศึกษา ประกอบด้วยการสร้างความงามจากภายในนั่นก็คือ การสร้างใจให้มีคุณธรรม และด้วยใจที่ดีงามนี้ย่อมนำไปสู่ความคิดที่ดี และการกระทำที่ดี นักบริหารการศึกษาจึงควรสร้างใจให้อยู่ในระดับสูงส่ง ห่างไกลจากใจชั่ว ทำจิตให้ดีงาม เมื่อสร้างความงามภายในคือ “ใจ” ได้แล้วก็สร้างความดี อันเป็นการกระทำภายนอก คือ การ “ให้” ซึ่งหมายถึงให้ประโยชน์ ให้ความดี และให้ความชื่นใจและสุดท้ายก็คือ “ไกล” หมายถึงการก้าวไกลไปสู่อนาคตที่มั่งคงด้วยการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และใฝ่ดี

นักบริหารการศึกษาควรมีคุณธรรมดังกล่าว เพื่อการพัฒนาความแข็งแกร่งมั่นคงให้แก่ศาสตร์การศึกษา คุณธรรมที่นำเสนอมานี้เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมอีกหลายประการที่ควรจะได้พัฒนา ดังนั้น นักบริหารการศึกษาควรจะได้แสวงหาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองสืบไป

คนที่คิดว่าตัวเองเป็นผ้นำ แต่ไม่มีผ้ตามแสดงว่ากำลังเดินเล่นอย่เฉย ๆ

คำว่าผู้นำในเชิงบวก คือแบบอย่างที่ดี ที่ควรประพฤติและปฏิบัติตาม

เจ้านายคือผูผลักดันลูกน้อง ผ้นำคือผู้ฝึกสอน เจ้านายต้องอาศัยอำนาจโดยนิตินัยรองรับ แต่ผู้นำอาศัยไมตรีจิต และความนิยม

เจ้านายจุดประกายความกลัว แต่ผู้นำจุดประกายศรัธาแรงกล้า เจ้านายมักพูดคำว่า ผม แต่ผู้นำมักพูดคำว่า เรา

เจ้านายชอบแก้ตัวเวลาเกิดปัญหา แต่ผู้นำชอบแก้ไขเวลามีปัญหา

มองตนเองออกหรือยังว่าตัวเองเป็นเจ้านาย หรือผู้นำ

เลือกแล้วหรือยังที่จะใกล้ชิดเจ้านาย หรือผู้นำ

สวัสดีชาวโลก

สหกรณ์ อาชีพพระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถลึกซึ้งในการที่ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการสหกรณ์ให้ประชาชนทุกท้องที่ที่มีโครงการช่วยเหลือตามพระราชประสงค์ ให้รวมกลุ่มกันดำเนินธุรกิจในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ตามหลักวิธีการสหกรณ์ ทำมาหากินได้ดีขึ้น อยู่รวมกันด้วยความไว้วางใจซึ่ง กันและกัน และมีความผาสุกร่มเย็นโดยทั่ว ถึง ยังประโยชน์แก่พสกนิกรให้ได้รับความสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพ และมีความสุขในการดำรงชีพอย่างใหญ่หลวง พระองค์ได้พระราชทานวิธีการและแนวทางอันถูกต้อง เกี่ยวกับการพัฒนางานสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบและหวังผลสำเร็จได้ บนรากฐานของการช่วยตนเอง และช่วยซึ่งกันและกัน ตามหลักและวิธีการสหกรณ์ที่แท้จริง ทั้งเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ จารีตประเพณี และวัฒนธรรมของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ผลสำคัญอย่างหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนางานสหกรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรากฏเด่นชัดในโครงการจัดสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ในลักษณะหมู่บ้านสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งในด้านการจัดสหกรณ์การเกษตร และเป็นศูนย์พัฒนาชนบท เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเกษตรกรทั่วไป เริ่มด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นปฐม ต่อมาได้จัดให้มีขึ้นอีกหลายโครงการทั่วทุกภาคของประเทศไทย โครงการเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของกระทรวงและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้พัฒนาเป็นสหกรณ์การเกษตรที่มั่นคงในที่สุด อันได้แก่สหกรณ์กลัดหลวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สหกรณ์ทุ่งลุยลาย จังหวัดชัยภูมิ สหกรณ์โป่งกระทิง จังหวัดราชบุรี สหกรณ์โนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ สหกรณ์ทุ่งลิปะสะโง จังหวัดปัตตานี สหกรณ์สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้วิธีการ ตามพระราชดำริดังกล่าวได้กลายเป็นแบบฉบับสำหรับการจัดสหกรณ์ที่ดินให้เกษตรกรยากจนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองได้เข้ามาอาศัย ประกอบอาชีพ และดำเนินธุรกิจร่วมกันตามแบบสหกรณ์ในประเทศไทย โดยใช้หลักและวิธีการสหกรณ์แก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ของสมาชิก เริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งผลิตผลไปจำหน่าย ทั้งเป็นแหล่งให้การศึกษา ส่งเสริม เผยแพร่ และสาธิตการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรแก่เกษตรกรอีกด้วย ในด้านการจัดหาทุนเพื่อกิจการการผลิตพืชผลและการหาตลาดสำหรับพืชผลและผลิตผลที่สมาชิกสหกรณ์ผลิตได้นั้นได้ทรงแนะนำส่งเสริมที่ผ่านการทดลองให้เป็นแบบอย่างมาแล้วด้วยพระองค์เอง ให้สมาชิกสหกรณ์ได้รู้จักวิธีการออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน การจัดหาน้ำและการบำรุงดิน การใช้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ดี เหมาะสมและมีผลิตภาพสูง การใช้เครื่องมือและวิธีการที่จะช่วยทุ่นแรงและประหยัด การเก็บรักษาพืชผลและผลิตผล การแปรรูปพืชผลและผลิตผลของสมาชิกเพื่อจำหน่าย ตลอดจน การจัดธนาคารข้าว รวมทั้งการเริ่มงานธนาคาร แรงงานสัตว์ คือ ธนาคารโค กระบือ และการเชื่อมประสานงานฝ่ายต่าง ๆ ของสหกรณ์ เพื่อบริการแก่สมาชิกในรูปสหกรณ์อเนกประสงค์ ซึ่งทำธุรกิจหลายอย่างที่จำเป็น ตามความต้องการของสมาชิก ยังผลให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับความสะดวกในการประกอบอาชีพ และมีรายได้จากผลิตผลของตนสูงขึ้น อันเป็นที่ประจักษ์แก่เกษตรกรและพสกนิกรโดยทั่วไป จากวันนั้นถึงวันนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ต่างปลื้มปีติและนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้ได้มีโอกาสเพื่อการผลิตและการตลาดที่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลไกทางการค้าของสังคมยุคปัจจุบันได้ ณ วันนี้สหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสมาชิก ตลอดถึงนิคม สหกรณ์ สหกรณ์นิคม ทั่วทั้งแผ่นดินไทยต่างรับทราบเป็นอย่างดีว่า วิถีชีวิตที่ดีขึ้นและมั่นคงในทุกวันนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยพระราชดำริให้มีการนำหลักการสหกรณ์ และการจัดตั้งสหกรณ์มาใช้ในสังคมการผลิตภาคการเกษตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง. [email protected]

ขอคุณ ข้อมูลจาก : http://www.dailynews.co.th

ประวัติศาสตร์การสหกรณ์
          ประวัติการสหกรณ์ ระหว่างศตวรรษที่ 18-19ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรปมีการนำเอาเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คือเกิดภาวะการว่างงาน และเศรษฐกิจตกต่ำทั่วไปการเปลี่ยนแปลง อย่างใหญ่หลวงครั้งนี้เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ ชาวอังกฤษต้องประสบกับปัญหาความเดือดร้อนอย่างมากมาย จากการที่นายทุนใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน มีการปลดคนงานออกจากโรงงาน ส่วนผู้ประกอบ การรายย่อย ต้องเลิกล้มกิจการไป
           สภาพสังคมทั่วไปมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายทุน และทางฝ่ายกรรมการ นายทุนพยายามแสวง หากำไรจากการลงทุนมากที่สุด โดยการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายกรรมกรทุกวิถีทาง จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ บรรดากรรมกรที่ถูกบีบคั้นทั้งหลายจึงเริ่มแสวงหาหนทาง ที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากของพวกตนประกอบกับเวลานั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความคิด อยากจะช่วยพยุงฐานะของสังคมให้ดีขึ้น ได้เสนอแนวทางปรับปรุงสภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม โดยการร่วมมือ ระหว่างผู้ที่เดือดร้อนให้รู้จักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แนวความคิดดังกล่าวได้ก่อให้เกิดระบบสหกรณ์ขึ้นในเวลาต่อมา
          บุคคลแรกที่สอนให้คนทั่วไปรู้จักคำว่า "สหกรณ์" คือโรเบอร์ต โอเวน ชาวอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิด การสหกรณ์ขึ้นในโลก และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการสหกรณ์ เดิมโอเวนเป็นคนที่ยากจน แต่ความเฉลียวฉลาดและรู้จักวิธีการทำมาหากินจึงทำให้เขาได้มีโอกาสเป็นผู้จัดการและมีหุ้นส่วนเป็นเจ้าของโรงงาน เขาเป็นนายจ้าง ที่มีความหวังดีต่อกรรมกร จึงได้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ทั่วไปของคนงานให้ดีขึ้น
          หลังจากนั้นโอเวนได้หาวิธีช่วยเหลือกรรมกรอื่นๆ โดยสอนให้รู้จักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อขจัดปัญหา ความเดือดร้อนต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการของระบบสหกรณ์ โอเวนเสนอให้จัดตั้ง "ชมรมสหกรณ์" (Co-operative Community)ให้ชมรมสหกรณ์นี้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆใช้เองโดยไม่ใช้เครื่องจักรทรัพย์สินของชมรม เป็นของส่วนรวม เพื่อมิให้สภาพนายทุนปะปนอยู่ในชมรม การจัดตั้งชมรมสหกรณ์นี้ จะต้องใช้เงินทุน และที่ดินเป็นจำนวนมากและโอเวนก็ได้พยายามเผยแพร่แผนการจัดตั้งชมรมสหกรณ์ เพื่อให้คนทั่วไป ได้เข้าใจสหกรณ์ในฐานะสมาคมเพื่อเศรษฐกิจ แต่โอเวนยังไม่สามารถจัดตั้งชมรมสหกรณ์ในประเทศอังกฤษได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพสังคมในสมัยนั้น โอเวนจึงได้เดินทางไปประเทศอเมริกา และทดลองจัดตั้ง ชมรมสหกรณ์ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ นิวฮาโมนี รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2368 ให้ชื่อว่า นิวฮาโมนี (New armony) แต่ได้ล้มเลิกไปในระยะเวลาต่อมา เนื่องจากไม่ได้คัดเลือกสมาชิกและไม่มีกิจกรรมเพียงพอให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปกครองและศาสนา อย่างไรก็ตามแนวความคิดของโอเวนก็มีอิทธิพลต่อนักปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เขาได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับความร่วมมือร่วมใจระหว่างมนุษย์ ในอันที่จะช่วยตนเองและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น อีกท่านหนึ่งคือนายแพทย์วิลเลี่ยม คิง อาศัยอยู่ในเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้นิยมให้ความคิด ทางสหกรณ์ของโอเวน แต่เห็นว่าโครงการของโอเวนต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เป็นจริงได้ยากนายแพทย์คิงจึงเริ่มต้นจากการชี้แจงให้คนงานรวมทุนกันคนละเล็กละน้อยตั้ง "สมาคมการค้า" (Trading Assiciation) ในรูปสหกรณ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2370 เป็นรูปร้านสหกรณ์จำหน่ายสินค้า แต่มีข้อแตกต่างไปจากร้านสหกรณ์ในปัจจุบันคือ กำไรที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของร้าน สหกรณ์นี้จะไม่นำมาแบ่งปันกัน แต่จะเก็บสมทบไว้เป็นทุนเพื่อใช้ขยายงานของร้านสหกรณ์ต่อไป จนสามารถจัดตั้งชมรมสหกรณ์ตามแบบโอเวนได้ ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวทำให้ร้านค้าแบบสหกรณ์ในรูปแบบนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการ เก็บกำไรทั้งหมดไว้ไม่จ่ายคืนแก่สมาชิก ทำให้สมาชิกไม่ศรัทธาสหกรณ์ อย่างไรก็ตามกิจการของนายแพทย์คิง ก็คล้ายกับร้านสหกรณ์ในปัจจุบัน ฉะนั้นในวงการร้านสหกรณ์สมัยนี้จึงให้เกียรติแก่ท่านมาก
          ต่อมาเมื่อมีสมาชิกเพิ่มและธุรกิจการค้าขยายใหญ่ขึ้นก็ได้มีการทำธุรกิจกับบุคคลภายนอกด้วย นักสหกรณ์รอชเดล หรือที่เรียกกันว่า"ผู้นำแห่งรอชเดล" ได้กำหนดหลักปฎิบัติไว้ 10 ประการ ซึ่งมีสาระสำคัญหลายประการที่ถูกยึดถือ เป็นหลักสหกรณ์สากลมาจนถึงปัจจุบันแม้เวลาจะล่วงเลยมาเป็นเวลานาน แต่ร้านสหกรณ์รอชเดลก็ยังคงอยู่และกลายเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งกว่านั้นวิธีการของร้านสหกรณ์สำหรับผู้บริโภคแบบนี้ ได้เผยแพร่หลาย ออกไปสู่ ประชาชนกลุ่มอื่นๆปัจจุบันร้านสหกรณ์ที่ถือหลักการสำคัญๆ อย่างเดียวกันนี้ มีอยู่ในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนสหกรณ์ประเภทอื่นๆ เช่น สหกรณ์ที่ช่วยเหลือสมาชิกให้กู้ยืมเงินไปทำทุน หรือสหกรณ์เครดิต หรือสหกรณ์สินเชื่อก็เช่นเดียวกันสหกรณ์เหล่านี้เกิดจากความขัดสน และความเดือดร้อนของเกษตรกรและกรรมกร เนื่องจากหาเงินกู้ยืมมาประกอบการทำมาหากินได้ยาก และแม้ว่าจะกู้มาได้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพง จนไม่สามารถหารายได้มาให้เพียงพอกับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ เป็นเหตุให้มีหนี้สินมาก
           เมื่อปี พ.ศ. 2393 นายเฮอร์มัน ชูลซ์ ชาวเยอรมัน ผู้พิพากษาแห่ง เมืองเดลิตซ์ ได้คิดจัดตั้งสหกรณ์ ประเภทหาทุนขึ้นในหมู่ชาวเมือง ผู้เป็นช่างฝีมือและพ่อค้าขนาดเล็ก โดยรวบรวมขึ้นเป็นองค์การเพื่อจัดหาทุนให้สมาชิกกู้ยืม และในปี พ.ศ. 2405 นายฟริดริค วิลเฮล์มไรฟไฟเซน ชาวเยอรมัน นายกเทศมนตรี เมืองเฮดเอสดอร์ฟ ได้จัดตั้งสหกรณ์ หาทุนขึ้นในหมู่ชาวชนบท ซึ่งเป็นเกษตรกรโดยจัดเป็นองค์การ เพื่อจัดหาทุนให้แก่สมาชิกกู้ยืมเช่นเดียวกัน ในเวลาต่อมาการรวมกันเป็นสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนก็ได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ อันเป็นประโยชน์และเป็นตัวอย่างในการจัดตั้งสหกรณ์แก่ชาวบ้าน และชาวเมืองมาจนถึงปัจจุบัน ขอบคุณข้อมูล

จาก..http://www.thaicooperative.com/pagehistory.html

สหกรณ์ : องค์การไม่แสวงกำไร [Non-profit organization]

 โดย  ร.ต.สอาด  แก้วเกษ

 

สหกรณ์  เกิดขึ้นมาในโลกมากกว่า 160 ปี  เริ่มครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ  ในปี พ.ศ. 2387  ในหมู่คนโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า  เมืองร็อชเดล  โดยร่วมกันแก้ปัญหาความเดือดร้อนในทางเศรษฐกิจและแนวความคิดเช่นนี้ได้แพร่หลายทั่วโลก  ในปัจจุบันมีองค์การระดับนานาชาติ  เรียกชื่อว่า “องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (ไอ ซี เอ)”  สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  สำนักงานสาขา 3 สาขา  อยู่ที่ประเทศอินเดีย  ประเทศแทนซาเนีย  และประเทศไอเวอรี่โคสท์ มีองค์การสหกรณ์ระดับประเทศเป็นสมาชิก  224  องค์การ  จาก  91 ประเทศ  ประกอบด้วยสมาชิกบุคคลธรรมดามากกว่า 800  ล้านคน  ทั่วโลก

สหกรณ์เป็นการประกอบการทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งในหลายแบบ  ซึ่งการประกอบการแบบอื่น  เช่น  ประเภทเจ้าของคนเดียว  เป็นห้างหุ้นส่วน  เป็นบริษัท  ล้วนตั้งขึ้น โดยหวังหากำไรจากการลงทุนเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ  [Profit motive]  แต่สหกรณ์เป็นการประกอบทางเศรษฐกิจของเอกชนที่มุ่งให้บริการทางธุรกิจแก่สมาชิกเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ [Service  motive]

จริงอยู่  แม้การดำเนินงานของทุกองค์การธุรกิจ  ย่อมเกิดกำไร  แต่กำไรที่เกิดขึ้นในสหกรณ์นั้นมีลักษณะทั่วโลกก็พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า  กำไร  ทั้งนี้เพราะถือว่าไม่มีที่ว่างสำหรับให้เกิดกำไรในวิสาหกิจสหกรณ์  เนื่องจากสมาชิกเป็นเจ้าของและขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้บริการของกิจการนั้นรวมอยู่ในคน ๆ เดียวกัน

สหกรณ์ใช้คำว่า  ส่วนเกิน [Surplus] ส่วนเหลื่อมสุทธิ [Net margins]  เงินได้สุทธิ  [Net earning]   ส่วนที่คิดเกิน [Over Charges]  ส่วนที่จ่ายขาด  [Under payment]  ส่วนออม [savings]  ผลได้ทางเศรษฐกิจ [Economic results]    แทนคำว่า กำไร แต่ในกฎหมายไทยยังใช้คำว่ากำไรเช่นเดียวกับธุรกิจแบบอื่น

เนื่องจากสหกรณ์เป็นสถาบันอันเป็นสากลที่มีอยู่ทั่วโลก  และมีหลากหลายแบบในหลายกลุ่มบุคคล  ในประเทศไทยมีสมาชิก  8  ล้านคน  แบ่งสหกรณ์ออกเป็น  7 ประเภท  ในทางวิชาการนั้น  นักสหกรณ์และนักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามอธิบายความหมายและลักษณะของสหกรณ์  เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจไว้เป็นจำนวนมาก  ตัวอย่างเช่น

ชาร์ลจี๊ด [Charles Gides] นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส  กล่าวว่า  ”สหกรณ์คือสมาคมที่มุ่งกำจัดเสียซึ่งกำไร” เพราะเขาเห็นว่าความยุ่งยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกล้วนเป็นผลมาจากการแสวงหากำไร  วิธีการสหกรณ์สามารถขจัดข้อยุ่งยากนั้นได้

อิสราเอล แพ็คเกล [Israel Packel]  อธิบายว่า  สหกรณ์เป็นสมาคมที่ให้บริการทางเศรษฐกิจโดยไม่คิดกำไร  สมาชิกสหกรณ์ในฐานะผู้ประกอบการและผู้รับบริการ  ต่างเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมกิจการโดยเท่าเทียมกัน

มาร์วิน  เอ  ชาร์ส  [Marvin A. Schaars]  กล่าวว่า  สหกรณ์เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ  ซึ่งสมาชิกเป็นทั้งเจ้าของ  ผู้อุดหนุน  และควบคุมการดำเนินงานในลักษณะที่ไม่ได้หวังกำไร  แต่ให้บริการในราคาทุน [At cost]   

สำหรับประเทศไทย  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน  ปี  พ.ศ.  2493  ฉบับสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์  200  ปี  อธิบายว่า “สหกรณ์ น. งานร่วมมือกัน,วิธีจัดการอย่างหนึ่ง  ที่บุคคลพอใจร่วมมือกันเพื่อบำรุงความเจริญทางเศรษฐกิจ  โดยแบ่งกำไรเสมอกัน”

ฉบับ พ.ศ. 2525 อธิบายว่า “สหกรณ์ น. งานร่วมมือกัน  เช่น  ทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เพื่อหากำไรหรือเอาประโยชน์อื่น ๆ ในงานนั้น ๆ ร่วมกัน, วิธีการอย่างหนึ่งที่บุคคลพอใจร่วมที่บุคคลพอใจร่วมมือกันเพื่อบำรุงความเจริญในทางเศรษฐกิจ  โดยแบ่งกำไรเสมอกัน

ฉบับ พ.ศ. 2525  พิมพ์ครั้งที่ 6 อธิบายว่า “สหกรณ์ น. งานร่วมมือกัน  เช่น  ทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เพื่อหากำไร หรือเพื่อประโยชน์อื่น ๆ ในงานนั้น ๆ ร่วมกัน, (กฎ) คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยซึ่งกันและกันได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์  เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์”

ฉบับ พ.ศ. 2542  พิมพ์ครั้งที่  1  อธิบาย “สหกรณ์ น. งานร่วมมือกัน  เช่น  ทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเพื่อหากำไรหรือเพื่อประโยชน์อื่น ๆ ในงานนั้น ๆ ร่วมกัน, (กฎ) คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยซึ่งกันและกัน  และได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์  เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์”

มีข้อสังเกตว่าในพจนานุกรมจะกล่าวถึงกำไรในทุกฉบับ ไม่ว่าจะเพื่อกำไรหรือแบ่งกำไรเสมอกัน ซึ่งเรื่องนี้ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากแนวปรัชญาสหกรณ์สากลในหมู่ผู้อ่านทั่วไปที่คิดว่าสหกรณ์เป็นองค์การแสวงหากำไรเช่นเดียวกับธุรกิจแบบอื่น  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาส่งเสริมสหกรณ์

ในเรื่องกำไรนั้น  แม้ในกฎหมายสหกรณ์ พ.ศ. 2471, 2511 และ 2542  จะมิได้ระบุความหมายของสหกรณ์ว่าเป็นองค์การที่ไม่แสวงกำไรไว้ในกฎหมาย  แต่ใน พ.ร.บ. สมาคมเพิ่มเติมพุทธศักราช 2459 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ฉบับแรกของไทย  ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า

สหกรณ์คือสมาคมชนิดหนึ่งที่ราษฎรผู้ทำการเพาะปลูกและหากินด้วยการทำของขายรวบรวมกันตั้งขึ้นเพื่อยังความจำเริญให้แก่หมู่ด้วยวิธีรวมกำลังกัน  บำรุงตนเองและประหยัดการใช้จ่ายแต่ที่พอควร  มิใช่ตั้งขึ้นเพื่อจะหากำไรมาจำแนกในหมู่สมาชิกนั้น

เพื่อให้คำนิยาม  สหกรณ์  เป็นไปตามอุดมการณ์สหกรณ์  หลักการ และวิธีการสหกรณ์สากล  และให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า  สหกรณ์มิใช่องค์การที่ตั้งขึ้นเพื่อหากำไร  เห็นสมควรมีการทบทวนคำนิยามของสหกรณ์เสียใหม่  ทั้งนี้อาจพิจารณาตามความหมายของสหกรณ์ตามที่องค์การ ไอ ซี เอ  กำหนดไว้ล่าสุด  ในปี  2538  ว่า

A  cooperative  is  an  autonomouse  association  of  persons  united  voluntarily  to  meet  their  common  economic, social  and cultural  need  and  aspirations  through  a  jointly  owned  and  democraticalled controlled enterprise.

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แปลเป็นภาษาไทยว่า “สหกรณ์เป็นองค์การปกครองตนเองของบุคคลซึ่งรวมกลุ่มกันโดยสมัครใจในการดำเนินวิสาหกิจที่พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกันและควบคุมตามหลักประชา  ธิปไตย  เพื่อสนองความต้องการอันจำเป็นและความหวังร่วมกันทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม”

ร.ต.สอาด  แก้วเกษ

อดีตผู้อำนวยการกองฝึกอบรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์    

 27 ธันวาคม 2549

 โทรศัพท์  0 297 5724

           

            บทความนี้ ร.ต.สอาด  แก้วเกษ  ได้ใช้เป็นเอกสารแนบประกอบการขอให้นายกราชบัณฑิตสถานพิจารณาทบทวนคำนิยาม “สหกรณ์”  ไว้  ซึ่งเลขาธิการราชบัณฑิตสถาน  ได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550  และร.ต.สอาด  แก้วเกษ  ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550  ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  เห็นชอบให้นำมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

            คณะกรรมการชำระพจนานุกรม  แห่งราชบัณฑิตยสถาน  ได้พิจารณาแล้วมีมติแก้ไขบทนิยามของคำว่า  “สหกรณ์”  เป็นดังนี้

สหกรณ์         น.  องค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยการลงหุ้นร่วมกัน  จัดการร่วมกันในการผลิต  การจำหน่ายสินค้า  หรือบริการตามความต้องการหรือผลประโยชน์อย่างเดียวกันของบรรดาสมาชิก  สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิ์ออกเสียงได้หนึ่งเสียงในการบริหารสหกรณ์  โดยไม่ขึ้นกับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่  เช่น  สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร  สหกรณ์โคนม, (กฎ)

                   คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม  โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

บทนิยามที่แก้ไขใหม่นี้  ราชบัณฑิตยสถานจะได้นำไปแก้ไขในการจัดพิมพ์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ครั้งต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท