ครู คือผู้อำนวยการการเรียนรู้ ที่ “เสียสละ ทุ่มเท” และควรแก่การยกย่อง "จริงๆ"


เงินเดือนไม่กี่หมื่นบาท ยังกล้าลงทุนในการสอน (ตามที่แจ้งมาในเอกสาร) ได้ถึงเดือนละเป็นแสน ที่ไม่น่าจะมีงบจาก สพท. หรือ ของโรงเรียน สนับสนุนได้

หลังจากการตรวจงานของครูที่ขอตำแหน่ง “อาจารย์ ๓” หรือ “ครูชำนาญการพิเศษ” มากว่า ๒ ปี ทำให้ผมต้องพยายามทำความเข้าใจ และวิเคราะห์กรอบภารกิจ  ความรู้ ความสามารถ และพัฒนาการของ “ครู” ว่าควรจะเป็นอย่างไร

ผมพบว่ามีประเด็นสำคัญบางประการที่น่าจะนำมาแลกเปลี่ยน ณ ที่นี่

ผมจะขอพูดถึงเฉพาะครูที่มีความ “ชำนาญการ” และ “ชำนาญการพิเศษ”

และขอข้ามประเด็นของ “ผู้ทำหน้าที่สอน” แบบธรรมดาๆ ยังไม่แสดงตัวแม้แต่จะเป็น“ครู” ธรรมดาๆ ที่ยังไม่ “ชำนาญการ” ใดๆ (และแน่นอน ไม่มีอะไรที่ “พิเศษ”) แต่อยากได้ตำแหน่ง “ชำนาญการ” และ “ชำนาญการพิเศษ” และ “เงินเพิ่ม”

ในการประเมิน ผมพบว่า “ครู” จะส่ง

  • แผนการสอน
  • เอกสารประกอบการสอน
  • รายงานผลการปฏิบัติงาน และ
  • สรุปผลการปฏิบัติงาน (วฐ ๒/๑)

ที่ทำให้ผมพอจะมองออกว่า ลักษณะของกรอบการปฏิบัติงานเป็นเช่นใด

โดยเฉพาะ

  • แผนการสอน และเอกสารประกอบการสอน ที่มีการปูฐานทางความรู้ และความคิดทางวิชาการที่แน่นหนามาก มากจนผมไม่แน่ใจว่า ครูประถมและมัธยมคนหนึ่ง จะต้องรู้ เข้าใจ ถึงปัญหา แผนงาน และขั้นตอนการทำงานพัฒนาการศึกษาของชาติ ถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะ เอกสารทางวิชาการด้านการศึกษา ที่ผมอ่านแล้วได้ความรู้ด้านเทคนิค “การสอน” และการสร้างเอกสารประกอบการสอน อย่างมากมาย ตั้งแต่
    • วิสัยทัศน์ทางการศึกษาทุกระดับ
    • การค้นคว้าจากห้องสมุด  ได้แก่ วารสาร งานวิจัย
    • หลักสูตร เป้าประสงค์ทุกระดับ ทุกประเภท
    • เทคนิคการสอนแบบต่างๆ กับนักเรียนแบบต่างๆ
    • ความรู้ที่ใช้ในการสอน ก็คิดค้นมาเอง สร้างมาด้วยความสามารถของตนเอง ไม่ลอกใครมาเลยแม้แต่น้อย
    • การเตรียมเอกสารประกอบการสอนแบบต่างๆ ลงลึกไปจนถึง ขนาดตัวหนังสือ สีกระดาษ รูปประกอบ จำนวนหน้า ที่เหมาะสม
    • การลงทุนทำงาน แบบทุ่มเทจริงๆ แม้โรงเรียนชั้นประถมที่ตัวเองสอนจะมีคอมพิวเตอร์เก่าๆ อยู่สองสามเครื่อง ก็ยังอุตส่าห์พัฒนาการสอนแบบใช้แผ่นซีดี หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์
    • โรงเรียนห่างไกลที่มีงบประมาณน้อยนิด ก็ยังสามารถลงทุนผลิตบทเรียนสำเร็จรูปที่สวยงาม ชุดหนึ่งไม่ต่ำกว่าสองสามพันบาท ให้นักเรียนแต่ละคนได้เรียน ที่ถ้ามีนักเรียนชั้นละ ๒๐ คน ก็คงต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นบาทต่อเสี้ยวของวิชาที่ตัวเองสอน ๑๒ ถึง ๒๐ ชั่วโมง ที่น่าจะนับได้ว่า เสียสละแบบสุดๆจริงๆ (คาดว่าจะใช้เงินเดือนส่วนตัวทั้งหมดทุกเดือน ในการเตรียมเอกสารประกอบการสอนให้กับนักเรียนทุกคน ทุกปี)
  • การประเมิน ที่ครอบคลุม ทั้งด้านความพึงพอใจ ความสนใจ ความเข้าใจ และผลคะแนน

    • รวมถึงการวัดความรู้ทั้งก่อนและหลังเรียน
    • การวิเคราะห์ผลทางสถิติ ที่ผมพยายามอ่านอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ที่แสดงว่า ครูประถม/มัธยมเหล่านั้น มีความรู้ทางวิชาสถิติมากกว่าผม ผมไม่สามารถประเมินเขาได้ ก็เลยต้องข้ามประเด็นนี้ไป ดูแต่ผลสรุปเพียงอย่างเดียว
    • การอภิปรายผล สรุปการเรียนรู้ของทั้งครู และนักเรียน
  • และ เอกสารสรุปผลการปฏิบัติงานแบบรอบด้าน ในโรงเรียน  (วฐ ๒/๑) ที่อธิบายถึง การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การประกวด การแข่งขัน ที่ได้รับรางวัลมากมาย แบบน่าทึ่งจริงๆ

    • มากเกินกว่าที่ผมจะมองครูเหล่านี้จะเป็น “คนธรรมดา” หรือ “ครูธรรมดาๆ”
    • จึงสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูชำนาญการพิเศษ” อย่างสมศักดิ์ศรี จริงๆ

จากบทเรียนดังกล่าว ทำให้ผมมาจินตนาการว่า ครูชำนาญการพิเศษ เหล่านี้น่าจะช่วยทำให้การศึกษาไทยพัฒนาไปได้แน่นอน

เพราะ เขาทำทุกอย่างที่แสดงว่า เป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ของนักเรียนอย่างเยี่ยมยอด หาใครเสมอเหมือนได้ยาก

ไม่ว่าเด็กจะเรียน “แย่” หรือมีปัญหาทางครอบครัว หรือมีปัญหาส่วนตัวอย่างไร ครูเหล่านี้ก็สามารถสอนให้เด็กได้คะแนนผลการเรียน เกิน ๘๐ % ขึ้นไปทุกคน ที่ผมยอมรับจริงๆ ว่าผมยังทำไม่ได้

นักศึกษาที่ผมสอนส่วนใหญ่จะได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๐ % ที่ผมยอมรับด้วยดุษฎี ว่า มีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งมีผลการเรียนกับผมต่ำว่า ๗๐% และมีได้เกิน ๘๐ % ไม่เกิน หนึ่งในห้าของห้อง ที่ผมยินดีให้เกรด A ด้วยความเต็มใจ

แต่ครูเหล่านี้ทั้งหมดทุกคนที่ขอตำแหน่งมา ทั้งที่ผ่านการประเมินและไม่ผ่านการประเมิน สามารถสอนนักเรียนแต่ละคนได้คะแนนการเรียนเกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ได้แบบยกชั้น ถ้าไม่ยกย่องกันตอนนี้แล้วจะไปรอตอนไหน

ผมจึงขอคารวะ ยกย่อง และยินดีให้ท่านเหล่านั้นผ่านไปรับเงินเดือน ผลตอบแทนที่สูงขึ้นไป

และหวังว่าเงินตอบแทนที่ท่าได้รับเพิ่มจะช่วยลดภาระการเตรียมเอกสารประกอบการสอนของท่านให้กับนักเรียน ได้บ้าง บางส่วนก็ยังดี

ยังไงก็ช่วยประหยัดกันหน่อย อย่าใช้เกินเดือนละห้าหมื่นบาทนะครับ จะทำให้ท่านติดหนี้มากขึ้นไปอีก

ห้าหมื่นบาทนี่ผมประเมินขั้นต่ำมากๆ จากภาระงานของท่านที่แจ้งมาในเอกสาร และแผนการสอน

 และค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • เอกสารประกอบการสอน เช่นบทเรียนสำเร็จรูป ใช้ได้ครั้งเดียว แล้วทิ้งเลย ชั่วโมงละ ๕๐ บาทต่อคน นักเรียน เฉลี่ย ๒๐ คนต่อห้อง สอน ยี่สิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวม ประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อสัปดาห์ หรือประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน
  • อย่างอื่นที่เสนอมา ว่าใช้สอนนักเรียนไปแล้ว ผมอยากจะคิดต้นทุนตามที่ท่านบอกตามท่าน แต่ไม่กล้าคิด เพราะคิดทีไร ก็ทำให้รู้สึกสงสารท่านเหล่านั้นจริงๆ

ถึงว่า ครูส่วนใหญ่ที่ว่าเป็นหนี้กันมาก คงมาจากความทุ่มเทในการเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ให้กับนักเรียนนี่เอง

เงินเดือนไม่กี่หมื่นบาท ยังกล้าลงทุนในการสอน (ตามที่แจ้งมาในเอกสาร) ได้ถึงเดือนละเป็นแสน (ที่ไม่น่าจะมีงบจาก สพท. หรือ ของโรงเรียน สนับสนุนท่านได้)

ไม่ยกย่องวันนี้ และรีบให้ตำแหน่งกันวันนี้ จะรอไปยกย่องกันวันไหนครับ

จริงไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 303775เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2009 04:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • รู้สึกแย่ทุกที ที่มีใครวิพากษ์ครูในลักษณะเช่นนี้ โดยเฉพาะเนื้อหาประโยคที่แดกดัน ไม่ตรงไปตรงมาอย่างพึงกระทำ จึงรู้สึกแย่เข้าไปใหญ่
  • มิใช่ไม่ยอมรับว่าบางส่วนจริง แต่บางส่วนก็คงไม่ใช่ ที่สำคัญกว่านั้น ปัจจัยสำคัญต่างๆที่ทำให้เกิดลักษณะเช่นนี้ในการทำผลงานของครูมีมาก(ยืนยันได้จากการเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีประเมินอีกแล้ว เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น) เสียดายที่ผู้เขียนมิได้กล่าวถึงปัจจัยต่างๆเหล่านี้แม้แต่ประการเดียว
  • ขอบคุณที่ทำให้ได้คิด-ได้รู้สึกครับ

แม้ผมไม่ได้เป็นครูแต่มีภรรยาเป็นครูโดยวิชาชีพและได้ผ่านการส่ง เมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาบอกได้เลยว่าหลักการนั้นดี แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่ การขอวิทยฐานะน่าจะนำเชิงประจักษ์มาเป็นหลัก ภรรยาผมไม่ยอมทิ้งการสอนเพื่อมาทำ คศ.3 แต่เครียดมากเวลาไม่มี ไหนจะงานโรงเรียนผมใกล้ชิดจะรู้เลยว่าเป็นครูไม่ง่าย การเป็นครูที่ดีนั้นยิ่งยากกว่าครับ

สวัสดีครับอาจารย์

ดุเด็ดเผ็ดมันครับ

แต่ก็เห็นด้วยและเห็นใจในสิ่งที่ อ.ธนิตย์ แสดงความเห็น

ผมขอแจมหน่อย

  • ระบบ และวิธีการที่กำหนดและทำกันอยู่มันคือต้นเหตุของความเลวร้าย
  • ครูหลายคนเห็นความเลวร้ายแล้วพยายามหันหลังให้มัน  แต่ทำได้ไม่นานก็มีภาวะกดดันทั้งจากโรงเรียนและเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  เลยกัดฟันทำสิ่งที่ใจตัวเองยังต่อต้าน
  • ครูบางคนตาลุกวาวเมื่อเห็นว่าจะได้เงินเพิ่ม กระโจนเข้าใส่แบบไม่ลืมหูลืมตา  เป็หมายชัดเจนคือเงิน และตำแหน่ง  เบียดเบียนเวลาในการทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ก็ยอม
  • ครูบางคน เห็นช่องว่าทำตามกรอบที่เขากำหนดก็พอได้  โดยผสมผสานไปกับการทำหน้าที่  ได้ตำแหน่ง ได้เงินเพิ่ม  และไม่ทิ้งลูกศิษย์
  • ฯลฯ
  • แต่สัดส่วนของกลุ่มไหน ในพื้นที่ใดจะมีเท่าไหร่ ผมไม่อาจยืนยัน แต่พูดไปตามที่ได้เห็น ได้สัมผัส ได้พูดคุยกับครูจำนวนไม่น้อยครับ
  • อิ อิ อิ

ประเด็นสำคัญก็คือ

ผมต้องการสะท้อนว่า

บางอย่างมันเกินความเป็นคนธรรมดา ที่คนธรรมดาจะทำได้

ผมเห็นใจครูทุกคน แต่ผมไม่เห็นใจคนที่ "ตั้งเกณฑ์แบบ เป็นไปไม่ได้"

และจากการหารือ กับ สพท กรรมการประเมิน เพื่อหาทางออกร่วมกัน

พบว่า "วิทยากรฝึกอบรม" ที่ชี้นำการทำงาน อาจกลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง

กำหนดให้ครูทั้งหลายต้องทำตัวให้ "ผิดธรรมดา" ทุกเรื่อง

ผมเคยแอบถามอาจารย์บางคนว่า "ทำไมจึงทำอย่างนั้น"

เขาบอกว่า "วิทยากรบอกให้ทำอย่างนั้น ก็เลยทำตาม"

พอไปถามวิทยากรว่า "ทำไมต้องให้เขาทำอย่างนั้น"

ก็ได้คำตอบว่า "ครูเขาไม่ชอบคิด ชอบลอกอย่างเดียว ก็เลยบอกไปอย่างนั้น"

ผมไม่แน่ใจว่าอะไรจริงไม่จริง

แต่นี่คือข้อมูลที่ได้รับมาครับ

และผมมีความเชื่อว่า "ความจริงที่ไม่สมบูรณ์ ดีกว่าความสมบูรณ์ที่ไม่จริงครับ"

และอีกประการหนึ่ง

ผมไม่ได้ยืนยันว่าอะไรจริงไม่จริงนะครับ

ทั้งหมดที่เขียนในบันทึกนั้น ผมว่าตามเอกสารของ "ทางราชการ" ที่ลงนามรับรองโดย "ผู้บริหารสถานศึกษา- ผอ. โรงเรียน"

และส่งมาให้ผมโดย ผอ. สพท.

ถ้าท่านไม่เชื่อว่าส่วนใดเป็นจริง ท่านก็ต้องไปคุยกับ ผอ. ทั้งสองระดับที่รับรองมาดังกล่าว

ผมเป็นเพียงผู้อ่าน และไม่ขอยืนยันใดๆ ครับ

ผมว่าไปตามเอกสารหลักฐานที่ผมมี เพียงอย่างเดียวครับ

อย่างอื่นผมไม่มีความรู้ ไม่มีข้อมูลครับ

ก็พูดได้แค่ว่า "จริงตามที่มีเอกสารราชการรับรองครับ"

หรือถ้าท่านว่าไม่จริง และไม่เชื่อเอกสารทางราชการ ท่านก็ไปฟ้อง หรือว่ากันเองครับ

ผมจำเป็นต้องเชื่อตามนั้นครับ อย่างน้อยการประเมินของผมต้องว่าตามเอกสารหลักฐานครับ

ทำชุ่ยๆ ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารยืนยัน โดนฟ้องเมื่อไหร่ก็แพ้คดีติดคุกทันที

หวังว่าคงจะพอเข้าใจนะครับ

ขอบคุณครับ

ครูที่อยากสอนให้นักเรียนได้ความรู้ก็มีจริงๆ

ผู้เรียนขอยืนยัน

เรียน ดร แสวง รวยสูงเนิน

การประเมินวิทยฐานะครู นับวันครูต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น

เกณฑ์ใหม่จะเน้นที่ผลงานที่เกิดกับผู้เรียน ครูจะต้องทุ่มเทเพื่อเด็กมากขึ้นแน่นอน

คุณภาพผู้เรียนคือคุณภาพครู

แม้การประเมินจะเปลี่ยนครูประถมบ้านนอกเขาไม่ได้หวั่นกลัวหรอก

เกณฑ์จะเปลี่ยนอย่างไร เขาก็พยายามที่จะทำตามทั้งที่บางครั้ง ต้องทำแบบโสตาย

น่าสงสารครูจะต้องเป็นหนูลองยาอีกนานแค่ไหน ผลงานทางวิชาการคือกำแพงเมืองจีน

ที่ครูประถมต้องเดินข้ามผ่าน

อาจารย์ช่วยเสนอแนะที หาทางออกดีๆ สำหรับคนวงการศึกษา และคนทำงานเพื่อเด็กที่สร้างสรรค์

ผมเห็นด้วยกับการพัฒนาคุณภาพครู การสอน และการเรียน

แต่ที่ผ่านมา เราแทบไม่ทำอะไรนอกจากเอกสาร

โดยรวมส่วนใหญ่นะครับ

ครูที่ดีไม่ค่อยมีเวลาทำเอกสารขอตำแหน่ง

คนที่ขอตำแหน่ง ต้องเบียดบังทั้งเวลาราชการ และเวลาของครอบครัว ไปทำ

งบประมาณก็ทั้งส่วนตัวทั้งราชการ

เขาต้องใช้ทรัพยากรมากมาย เพียงเพื่อได้รับตำแหน่ง และเงินเพิ่ม

งานจะพัฒนาไหม นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

บางคนก็ทำจริง บางคนได้ตำแหน่งแล้วลอยตัว ไม่ทำอะไรเลยก็มี

ผมจึงเคยเสนอในบันทึกก่อนๆไว้แล้วไงครับ ว่าทางออกมีแน่นอน แต่ใครจะกล้าทำ

เราจะมีคนมีอำนาจหน้าที่ ที่กล้าคิดเพื่อประเทศชาติไหม

ยอมเสียประโยชน์ส่วนตนบ้าง

ทำจากของจริง อยู่กับความจริง ผมคิดได้เท่านี้ครับ

     ผมมาอีกรอบเพื่อมาสารภาพว่า  ผมสอนมา 30 กว่าปี จนเพิ่งลาออกจากราชการไปเมื่อปลายปี 50  ออกมาพร้อมคำนำหน้าชื่อว่า "นาย" เหมือนตอนเข้ารับราชการเมื่อปี 17

      ผมไม่เคยส่งผลงานเพื่อขอตำแหน่ง  แต่งานที่ผมทำลองไปสืบๆดูก็ได้ว่าทำอะไรมาบ้าง มากน้อยแค่ไหน .. ผมไม่อยากไปร่วมสังฆกรรมกับระบบที่ผมสะอิดสะเอียนครับ  ที่จริงระบบไม่ถึงกับเลวร้ายนักหรอก  มี ผศ. รศ. ดีๆ สมฐานะ สมตำแหน่งก็มากมาย  แต่ผมรับไม่ได้ที่ระบบการประเมิน  ยอมให้คนเห็นแก่ตัวจัด และฉ้อฉล ผ่านไปลอยนวลอยู่กับตำแหน่งและกินเงินภาษีชาวบ้านมากกว่าคนทำงานอีกมากมาย  ที่เจ็บปวดแทนตัวเองและเพื่อนฝูงอีกหลายๆคนก็คือ  ทำไมไม่มีกระบวนการพิเศษที่จะประเคนตำแหน่งให้แก่คนจริง คนทำงาน ที่มีมากมายในซอกหลืบขององค์กร  ท่านทนดูอยู่ได้อย่างไรกัน  ผมงงครับ

ก็ทุกคน "ชินชา" และ "ด้าน" หมดแล้วครับ

อิอิ

ตอนนี้ระบบถูกทำลายหมดแล้ว

ต้องหามุขใหม่ๆครับ

ระบบราชการไทยก็เป็นอย่างนี้เอง

อยากได้แต่ตำแหน่ง แต่ไม่เคยคิดจะทำงาน

ตอนเป็นชั้น ตรี โท เอก พิเศษ ก็ดันกันจนติดเพดาน

เปลี่ยนมาเป็นซี ก็ดันจนได้ซี ๘ ซี ๙ ๑๐ ๑๑  โดยไม่เคยดูว่าแต่ละซี นั้น ต้องทำอะไร รับผิดชอบอะไร แค่ไหน

พอได้แล้วก็ไม่ทำอะไร แต่ก็ยังอยากได้

ผมไปอ่านมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

แค่ ซี ๖ ก็หาคนทำได้ยากแล้ว

ผมว่าปัจจุบันเราอยู่กันประมาณ ซี ๓-๔ เท่านั้นแหละ แต่ก็เบ่งท้องขอถึง ซี ๘ ซี ๙

ผมไม่เข้าใจว่าจะเอาอะไรมาแก้ นึกไม่ออกเหมือนกัน

นึกได้แค่ว่า รับกันเป็นรายปี ทำได้แค่ไหนก็ให้ซีนั้น เป็นปีๆไป

ความสามารถลดลง ก็ลดซีลง

แต่อย่างว่า คงไม่มีใครเห็นด้วยแน่นอน

อนิจจาเมืองไทย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท