ฟื้นความมั่นใจ เกษตรกรรุ่นใหม่ ด้วยหัวใจแห่งการเรียนรู้


“พอปัจจุบันเราเน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนด้วยระบบการศึกษาที่เหมือนกันหมดทั้งประเทศ ประกอบกับการเรียนการสอนที่อ่อนการปฏิบัติ อัดเนื้อหาจากตำราให้ครบหลักสูตร ส่งผลให้ทักษะที่จำเป็นในการหาความรู้ และสร้างการเรียนรู้ เช่น การตั้งคำถาม การจดบันทึก การจับประเด็น การนำเสนอ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย ทั้งครูและเด็กนักเรียนจึงต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ พร้อมกัน เมื่อครูก็ต้องฝึก เด็กนักเรียนก็ต้องฝึก ให้เด็กจดบันทึก ครูก็จดบันทึก กระบวนการนี้ทำให้เด็กหลายคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง และเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของครูในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ซึ่งแม้หลักสูตรจะยังไม่ปรับแต่เขาก็รับสิ่งที่เราตั้งใจให้อย่างเปิดใจ”

         บนถนนสายเอเชีย ก่อนถึงทางแยกเข้าจังหวัดสิงห์บุรี ผู้คนที่ผ่านไปมาจะต้องสะดุดตากับป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่มีข้อความเชิญชวนที่เย้ายวนใจ “เรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรี มีรายได้ระหว่างเรียน” อะไรจะโปรโมชั่นดีขนาดนี้ ตอนแรกนึกว่าป้ายหาเสียงของพรรคการเมือง นี่เรียกว่าล้มทับนโยบายรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง  แต่พินิจดูอีกทีกลับเป็นป้ายรับสมัครนักศึกษาของ วิทยาลัยเกษตรและเทคโลยี ดูผ่าน ๆ ก็นับว่าเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในท้องถิ่น

        แต่หากมองกลับกัน ในเมื่อสังคมไทยถือได้ว่าเป็นสังคมเกษตรกรรม เราสร้างบ้าน สร้างเมือง จนเป็นที่ทัดเทียมนานาประเทศก็ด้วยต้นทุนทางทรัพยากร ที่เป็นฐานของสังคมเกษตร แล้วทำไมวิชาชีพเกษตร จึงกลายเป็นวิชาชีพที่มีจำนวนนักศึกษาลดลง  

       ทั้งที่นโยบายของรัฐบาล ทุกรัฐบาลประกาศชัดว่าจะส่งเสริมภาคเกษตรซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการเอง ก็ผลักดันนโยบายปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง

       วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาด้านการเกษตรระดับพื้นฐานเปิดสอนในระดับชั้น ปวช.และปวส. ในสาขาวิชาวิชาชีพเกษตรเพื่อมุ่งสร้าง ว่าที่ เกษตรกรที่ติดอาวุธทางปัญญากลับไปพัฒนาการเกษตรในท้องถิ่น เรียกได้ว่ามุ่งเน้นผลิตเกษตรกรที่มีความรู้มากกว่าการผลิตนักวิชาการด้านการเกษตร

       แต่จากข้อมูลจำนวนสถิติ นักเรียนนักศึกษา ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ในช่วงเวลาประมาณ 14 – 15 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้สนใจเรียนด้านอาชีวศึกษาเกษตรลดลงมาตามลำดับ อย่างน่าใจหาย

      นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าตลอดระยะเวลา 14-15 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้จบการศึกษาสาขาด้านการเกษตรมักไม่ค่อยประกอบอาชีพด้านการเกษตรทั้งที่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่นิยมไปทำงานบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ก็มุ่งเป็นนักวิชาการเกษตร  

     น้อยคนที่มุ่งมั่นตั้งใจกลับไปประกอบอาชีพอิสระด้านการเกษตรในชุมชนของตนเอง ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรอาชีวะเกษตร แต่ก็จะถูกสังคมรอบข้างมองว่าตกงาน ไม่มีทางไปจึงต้องกลับมาอยู่บ้าน

     เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพเกษตรของสังคมลดลง  ซึ่งจากข้อมูลของโครงการศึกษากระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่ามาจากสาเหตุสำคัญ 5 ประการ

  1. ค่านิยมของผู้ปกครองและสังคมในการทำงานที่ต้องมีเงินเดือนประจำจึงจะถือว่ามีความมั่นคง
  2. มุมมอง ความเชื่อต่อการเรียนเกษตร ที่ว่าไม่ต้องใช้ความรู้ ทักษะ มากนัก เรียนง่าย ใครๆ ก็เรียนได้ คนที่เรียนเกษตรจึงถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาถ่าน
  3. สื่อสารมวลชน ที่เสนอข่าวด้านลบในอาชีพเกษตร เช่น ราคาข้าวตกต่ำ การที่เกษตรกรมีหนี้สิน
  4. หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาชีพเกษต ที่มีกระบวนการเรียนการสอนแบบแยกส่วน หลักสูตรมีรายวิชาที่ไม่ยืดหยุ่นผู้เรียนไม่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง
  5. วิธีการสอนของครูที่ไม่สร้างความเชื่อมั่นว่าแก่ผู้เรียนว่าสามารถนำไปประกอบอาชีพได้

       หากตั้งคำถามในภาพรวม แบบไม่ลงรายละเอียดก็จะได้รับคำตอบว่า เหตุมาจากนักศึกษาที่มาเรียนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ไม่ได้มีความตั้งใจในการประกอบกาชีพเกษตร เป็นเด็กที่ขาดแคลนทุนในการศึกษาเล่าเรียนจึงมาเรียนที่วิทยาลัยเกษตร ส่งผลให้ไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้

      แต่ข้อค้นพบสำคัญของทีมวิจัยหลังจากไปจัดเวทีหาเพื่อนมาร่วมทำงานและการจัดเวทีเก็บข้อมูลนักศึกษาในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี และศิษย์เก่าทั้งที่ประกอบอาชีพเกษตรและไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตร ทำให้ทีมวิจัยต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ เพราะ ร้อยละ หกสิบ ของนักศึกษาที่เข้าร่วมเวทีเรียนรู้เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจมาเรียนเกษตร และยังมีฐานมาจากครอบครัวประกอบอาชีพเกษตร ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

     ในเมื่อต้นทุนก็พร้อมแล้วเกิดอะไรขึ้นกลางทางกับนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ ???  เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการเรียนรู้ในระหว่างทางที่ลดทอนความมั่นใจในการประกอบอาชีพเกษตร???

       การค้นหาข้อมูลเริ่มลงลึกในรายละเอียดประเด็นของการเรียนการสอนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านเวทีพูดคุย การลงสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งครู นักเรียน รุ่นพี่ ศิษย์เก่า บางคนต้องตามไปจนถึง อ.ภูเรือ จ.เลย เพื่อพูดคุยให้เห็นสถานการณ์การเรียนการสอนอาชีวะเกษตรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ข้อคนพบสำคัญคือวิธีการเรียนการสอนในอดีตนั้นเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การลงงาน การปฏิบัติงานจริงในแปลงเกษตร จนเกิดทักษะการเรียนรู้  ความกล้าในการประกอบวิชาชีพที่มาจากการลองผิดลองถูก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของนักศึกษาในวิทยาลัยที่กล่าวว่า “ความไม่มั่นใจเกิดจากการไม่ได้ลงมือทำ”

     ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าต่อการดำเนินงานของทีมวิจัย ควบคู่ไปกับข้อมูลจากการถอดบทเรียนจากกระบวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเรียนรู้บทเรียนความสำเร็จเล็ก ๆ ของรุ่นพี่ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา  รวมไปถึงกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นในวิชาชีพเกษตร

      อาจารย์เอกชัย ยุทธชัยวรกุล หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ ชี้ให้เห็นจุดสำคัญในการเรียนรู้ ของทีมวิจัยว่า “พอปัจจุบันเราเน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนด้วยระบบการศึกษาที่เหมือนกันหมดทั้งประเทศ ประกอบกับการเรียนการสอนที่อ่อนการปฏิบัติ อัดเนื้อหาจากตำราให้ครบหลักสูตร ส่งผลให้ทักษะที่จำเป็นในการหาความรู้ และสร้างการเรียนรู้ เช่น การตั้งคำถาม การจดบันทึก การจับประเด็น การนำเสนอ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย ทั้งครูและเด็กนักเรียนจึงต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ พร้อมกัน เมื่อครูก็ต้องฝึก เด็กนักเรียนก็ต้องฝึก ให้เด็กจดบันทึก ครูก็จดบันทึก กระบวนการนี้ทำให้เด็กหลายคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง และเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของครูในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ซึ่งแม้หลักสูตรจะยังไม่ปรับแต่เขาก็รับสิ่งที่เราตั้งใจให้อย่างเปิดใจ” 

      การเรียนรู้ข้อมูลผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นฐานการสร้างความเชื่อมั่นในวิชาชีพเกษตรส่งผลให้นักศึกษาเกิดทักษะในการเรียนรู้ สามารถพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรปกติเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในวิชาชีพเกษตร เกิดทักษะการเป็นผู้นำและมีจิตอาสาในการพัฒนาชุมชน กระทั่งนักศึกษาสามารถเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนกิจกรรมจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือซีเมนต์ไทย  ที่สำคัญที่สุดทีมวิจัยที่เป็นนักศึกษาสามารถค้นหาความชัดเจนในเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนการดำเนินชีวิต ผลักให้คุณค่าและความสำคัญของวิชาชีพเกษตรฝังลึกอยู่ในเบื้องลึกของทีมวิจัย เกิดการปรับเปลี่ยนทิศทางในการเรียนจากเดิม

     ทีมวิจัยส่วนหนึ่งวางเป้าหมายในการกลับไปประกอบอาชีพในท้องถิ่น และส่วนหนึ่ง ตัดสินใจเรียนต่อ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากผลการวิจัย

     จากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวทีมวิจัยและเด็กนักศึกษา ทั้งในเรื่องความกล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก การก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในระดับกลุ่มและวิทยาลัย ผสมกับทักษะการเรียนรู้ การฟัง การบันทึก การจับประเด็น ที่สำคัญคือความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาจารย์ผู้สอนหลายท่านสนใจในการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงที่มาของความเปลี่ยนแปลงนี้

     จนเกิดการรวมตัวกันของอาจารย์ผู้สอนจำนว ๘ ท่าน ปัดฝุ่นหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเกษตรศาสตร์มาพัฒนาเป็นหลักสูตรบูรณาการการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ ที่เน้นการเรียนรู้จากฐานการปฏิบัติและบนฐานการพัฒนาทักษะกระบวนการค้นหาความรู้ โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตของคนไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม มีความพอเพียง พอดี และยั่งยืน และจบไปทำงานอยู่ที่ความสุขในชีวิตไม่ใช่อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว เนื่องจากถ้าเน้นให้ผู้เรียนหาเงินจะเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมุ่งสร้างแต่ความเห็นแก่ตัว แบ่งพรรคแยกพวกเพื่อผลประโยชน์และก้าวร้าว ตลอดจนสร้างผู้เรียนให้มีกระบวนการเรียนรู้ฝังติดในตัวเอง สามารถเลือกความรู้มาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพและแก้ปัญหาได้ เนื่องจากความรู้มิได้มีอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น

    ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดการเรียนการสอนและทดลองจัดการเรียนการสอนผ่านงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยใช้กระบวนการเรียนรู้บนฐานงานวิจัย ใช้กิจกรรมพัฒนาทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ เช่น ทักษะการฟัง การสังเกต การคิดวิเคราะห์ การถาม การจดบันทึก การสรุปบทเรียน ใช้เกมส์และกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเองที่มีต่อกลุ่ม และประโยชน์ของการทำงานร่วมกัน การศึกษาดูงานอาชีพด้านการเกษตรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายช่วยในการตัดสินใจ การศึกษาเรียนรู้รับฟังแนวคิดจากรุ่นพี่และเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตร การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรที่อยู่อย่างมีความสุข และวิถีชีวิตของคนทำงานโรงงานอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนโดยการทดลองทำอาชีพจริง โดยครูให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษา บูรณาการวิชาเรียนตามวงจรการผลิต เช่น วิชาการออกแบบการผลิตในช่วงเตรียมนา วิชาศัตรูพืชในช่วงระหว่างการผลิต เน้นย้ำให้เด็กนักเรียนแสวงหาความรู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้นักเรียนสามารถออกไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    

ความพยายามในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ร่วมกันระหว่างครูและนักศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการพัฒนาระบบการศึกษาอาชีวะเกษตร ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและเจตนารมณ์ของหลักสูตร อย่างแท้จริง แต่สิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าคือการพัฒนาปรากฏชัดที่ตัวเด็ก ในฐานะครู อาจารย์เอกชัย ค้นพบว่า “จากการทดลองกระบวนการเรียนการสอน มาระยะหนึ่งผู้เรียนมีเป้าหมายชัดเจน มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพเกษตรและตั้งใจว่าเมื่อจบการศึกษาจะประกอบอาชีพอิสระด้านการเกษตร หลายคนที่เปลี่ยนความคิดจากการที่จะทำงานบริษัทมาเป็นการประกอบอาชีพเกษตรที่บ้านโดยไม่กลัวเสียงวิจารณ์ จากคนข้างบ้าน เป็นผู้รู้หน้าที่พร้อมกับความรับผิดชอบจริงๆ กล้าที่จะเสนอแนวความคิด มีความอยากจะเรียนรู้ มีความสุขในการทำงานให้สังคม และแสวงหาความรู้อย่างไม่สิ้นสุด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อว่าถ้ามีการนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมมาใช้อย่างจริงจังและจริงใจโดยมองประโยชน์ของผู้เรียนและสังคมเป็นหลัก การศึกษาอาชีวะเกษตรคงไม่พบกับทางตันอย่างที่หลายๆคนพูดไว้”

      ภาพป้ายโฆษณาเชื้อเชิญคนเข้ามาเรียนเกษตร ถูกแทนที่ด้วยภาพนักเรียนที่สนใจมาสมัครเรียนหลักสูตร ปวส.สาขาเกษตรศาสตร์ อย่างล้นหลามจนต้องปิดรับสมัคร ภาพอาจารย์เอกชัยกับเด็กกลุ่มหนึ่งเหน็ดเหนื่อยกับการสร้างการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ ถูกแทนที่ด้วยวงพูดคุยของกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตร ปวส. สาขาเกษตรศาสตร์ คงเป็นภาพที่ทำให้เด็กหลายคนดีใจที่มีหลักสูตรที่ตอบสนองการเรียนรู้ และเป้าหมายชีวิต คงเป็นภาพที่ครูหลายคนใฝ่ฝัน ละคงเป็นภาพความหวังของสังคมไทย ที่มีเกษตรกรมืออาชีพรุ่นใหม่  และคงไม่เห็นภาพอนาคตรัฐบาลไทย สั่งข้าวเป็นสินค้านำเข้าอันดับหนึ่งแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 303659เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2009 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท