ประภัสสร
นางสาว ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง

ผ้าทอ ผู้ไท


เมื่อนำความรู้ของนักวิชาการมาผสานเข้ากับความชำนาญของช่างทอผ้าพื้นบ้าน เราก็ได้เรียนรู้ว่า.......

แม้ว่าจะมีความสนใจในเรื่องผ้ามานานพอสมควร และเป็นนักสะสมผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ แต่ก็ไม่เคยเลยที่คิดจะซื้อหาหรือสะสมผ้าแพรวาของชาวผู้ไท ใน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เหตุเพราะความงามแบบประณีตเกินไปที่ไม่พ้องกับรสนิยมส่วนตัวประการหนึ่ง และราคาที่ค่อนข้างสูงอีกประการหนึ่ง แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อราว 5 ปีก่อน มีงานบางอย่างที่ทำให้ต้องไปเยี่ยมถิ่นผู้ไท และจับพลัดจับผลูต้องไปเป็นล่ามแปลให้ช่างทอผ้าชาวผู้ไทที่ไปแสดงงานวัฒนธรรมในอเมริกา ทำให้ความสัมพันธ์กับช่างทอผู้ไทเริ่มต้นขึ้นและพัฒนาต่อมาจนกลายมาเป็นผลงานอย่างที่เห็น

 

ส่วนหนึ่งของผ้าไหมสีธรรมชาติของ กลุ่ม ผ้าทอ ผู้ไท

ในโครงการฟื้นฟูและพัฒนาผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ 

หมายเลขบันทึก: 303017เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2009 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะสวยมากค่ะ..ไปแวะซื้อที่ศูนย์แพรวาที่บ้านโพนค่ะ

สวัสดีค่ะ น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ

รู้สึกกับผ้าทอลายประณีตแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับคุณประภัสสรค่ะ การนำมาคลี่คลายและลดทอนลวดลายบางส่วนจะทำให้ผ้ามีเสน่ห์เหมาะกับการใช้ในปัจจุบันยิ่งขึ้นนะคะ

ส่วนการอนุรักษ์ลวดลาย รูปแบบ วิธีการแบบดั้งเดิมระดับฝีมือชั้นครูก็ควรต้องทำเพื่อสืบทอดและรักษาไว้ซึ่งมรดกทางปัญญานะคะ

ขอบคุณที่ไปเยี่ยมกันค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่แวะเข้ามาชมและให้กำลังใจกัน อันที่จริงลวดลายทั้งหมดที่ใช้ในการออกแบบมาจากผ้าแซ่ว หรือ ผ้าต้นแบบแม่ลายที่เปรียบเสมือนสมุดคู่มือลายทอของช่างทอชาวผู้ไท สิ่งที่ดิฉันได้เข้าไปประยุกต์ คือการจัดวางโครงสร้างลายใหม่ ให้ทันสมัยขึ้นค่ะ เพราะแพรวาแบบดั้งเดิมจะทอลายเรียงเป็นแถวและมีเส้นคั่นลายแต่ละแถว การให้สีที่ทำกันอยู่เดิมก็ไม่ได้สร้างจังหวะให้เกิดโครงสร้างอะไรใหม่ ๆ แพรวาทั่วไปจึงดูเหมือนกันไปหมด จะต่างกันก็แค่สีเท่านั้น

ลายของกลุ่มผ้าทอผู้ไท ส่วนหนึ่งพัฒนาขึ้นจากการให้ความรู้ช่างทอเกี่ยวกับผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆในโลกที่มีเทคนิคการทอใกล้เคียงกับผู้ไท เช่น ผ้าเม็กซิกัน kilimของตะวันออกกลาง รวมถึงส่าหรีของอินเดียด้วยค่ะ ตอนที่เราเริ่มเล่นแร่แปรธาตุกันใหม่ ๆ ช่างทอรู้สึกหนักใจ เพราะเป็นอะไรที่ต่างไปจากความคุ้นเคยเดิม ๆ ( ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาหัตถกรรมไทยในภาพรวมอยู่แล้ว ) ต้องปรับสมองประลองเชาว์กันพอควร จนไปได้ยินเขาแอบพูดกันว่า เอาไงเอากันอย่างดีก็แค่ตายคากี่ แต่คิดว่าที่เขายอมทดลองกับเรา เพราะบอกเขาไปว่านี่อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เขามีงานทำและรายได้อย่างต่อเนื่องกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแพรวาดั้งเดิมเริ่มมาถึงทางตันแล้ว

จนเมื่อเราต่างก็ผ่านเส้นความหวาดหวั่นนั้นไปได้ งาน 8 ชิ้นแรกที่ทำเอาช่างทอหัวหมุนอยู่บ้าง สำเร็จออกมาและได้รับความสนใจและชื่นชม และที่สำคัญคือ ขายได้ ช่างทอก็เริ่มเชื่อมั่นและรู้สึกดีที่ได้ค้นพบศักยภาพในตัวเองที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ว่าความรู้ในการทอแพรวาซึ่งเป็นเทคนิคขั้นสูงมากที่เขาได้รับการบ่มเพาะอยู่ในตัวมานานนั้น สามารถนำมาทำอะไรใหม่ ๆได้อีกเยอะ มีคำถามหนึ่งที่ช่างทอมักจะถามดิฉันอยู่เสมอว่า อาจารย์รู้ได้อย่างไรว่าจะทำลวดลายแบบนั้นแบบนี้ได้ และมันก็ทำได้จริง ๆ ทั้งที่ทอผ้าก็ไม่เป็น ???? คำตอบของดิฉันตรงนี้ก็คือ ดิฉันก็มีสิ่งที่ได้รับการบ่มเพาะมาเช่นกันทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และประสบการณ์ในการทำงานพิพิธภัณฑ์ เมื่อเราต่างก็มีวัตถุดิบดี ๆอยู่ในตัว เมื่อนำมาใช้ส่งเสริมกันมันก็เกิดเป็นอะไร ๆ อย่างที่เรากำลังทำอยู่นี่แหละค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท