คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนหนึ่งไม่รู้จัก เมื่อทำบาป ใครจะบาปมากกว่ากัน


ก้อนเหล็กซึ่งเขาเผาไฟจนแดงโชน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นเหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ ก็ถ้าจะให้คน สองคนนี้หยิบก้อนเหล็กแดงนั้น คนไหนจะหยิบได้เต็มมือและถูกความร้อนเผามากกว่ากัน
วันนี้ตอนเย็นเดินเล่นในร้านหนังสือซีเอ็ด....ได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อเรื่อง "รู้ก่อนตาย ไม่เสียดายชาติเกิด" ของท่าน ว.วชิรเมธี อ่านบทสนทนาของพระยามิลินท์และพระนาคเสน ว่าดังนี้....
คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนหนึ่งไม่รู้จัก เมื่อทำบาป ใครจะบาปมากกว่ากัน
 
พระยามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน คนหนึ่งรู้ว่าทำอย่างไรเป็นบาป และเมื่อบาปนั้นมีโทษอย่างไร อีกคนหนึ่งไม่รู้เสียเลย คนสองคนนี้ทำบาปด้วยกัน ใครจะบาปมากกว่ากัน
 
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร คนไม่รู้บาปมากกว่า
 
พระยามิลินท์: ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่าเธอ ก็ทางบ้านเมือง ผู้ที่ไม่รู้กฎหมายกระทำผิดบางอย่าง ย่อมได้รับความลดหย่อนผ่อนโทษเบากว่าผู้รู้กฎหมาย
 
พระนาคเสน: ขอถวายพระพร ก้อนเหล็กซึ่งเขาเผาไฟจนแดงโชน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นเหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ ก็ถ้าจะให้คน สองคนนี้หยิบก้อนเหล็กแดงนั้น คนไหนจะหยิบได้เต็มมือและถูกความร้อนเผามากกว่ากัน
 
พระยามิลินท์: คนรู้จะหยิบได้สนิทหรือเธอ ต่อคนไม่รู้จึงหยิบได้เต็มมือ เมื่อเช่นนั้นก็ต้องถูกความร้อนเผามากกว่าคนรู้
 
พระนาคเสน: นั่นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้น คือผู้ที่รู้เหตุ รู้ผลแห่งบาปกรรมโดยจริงใจมีอยู่อย่างไร ขณะเมื่อตนกระทำบาปอยู่ ย่อมเกิดความละอายใจและความหวาดกลัวว่า ตนมิสมควรจะกระทำเช่นนั้น ด้วยเกรงว่าภายหลังจะต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะบาปกรรมนั้นตามให้ผล เป็นอันว่ามิกล้าที่จะกระทำบาปต่อไปอีก ส่วนผู้ที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเป็นบาปและการกระทำนั้นมีโทษเพียงไร ย่อมไม่มีความตะขิดตะขวงใจ อาจทำได้ตามอำเภอใจ แม้บาปหนักๆ ก็ทำได้ โดยที่ตนไม่รู้ว่า การกระทำนั้นๆ ตนจะต้องเป็นผู้รับผลอย่างสาหัส ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แล จึงว่าคนไม่รู้บาปมากกว่า
 
พระยามิลินท์: เธอว่านี้ชอบแล้ว
 
เมื่ออ่านแล้วพิจารณาแล้วส่วนหนึ่งก็เห็นด้วย แต่อีกส่วนในใจก็แย้งว่าก็คนไม่รู้เค้าไม่ได้กระทำโดยเจตนา แม้ว่าจะเป็นการกระทำบาปหนัก แต่จิตเขาไม่ได้รับว่าว่าบาป ในขณะที่คนที่รู้แล้วกระทำ เค้ากระทำโดยเจตนา แล้วก็ไม่แน่เสมอไปที่เค้าจะเกิดความละอายขณะกระทำ แล้วทำไมคนไม่รู้บาปมากกว่า ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินเหยียบมด คนที่ไม่รู้ว่าเหยียบมดแล้วบาป เหยียบโดยไม่ตั้งใจ ทำไมถึงจะบาปมากกว่าผู้ที่จงใจที่จะเหยียบเพื่อฆ่ามดตัวนั้น?

 

ข้าพเจ้าอ่านแล้ว ด้วยสมองอันน้อยนิดเท่าเมล็ดถั่วแต่ความโง่มีอยู่มาก ทำให้เกิดความสงสัยไม่เข้าใจ....คงต้องอาศัยท่านผู้รู้ นำแสงสว่างแห่งปัญญามาช่วยสร้างความกระจ่างแจ้งแก่ปัญญาอันน้อยนิดของข้าพเจ้า

 

หมายเลขบันทึก: 302262เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

เคยอ่านเล่มนี้ และเกิดสงสัยเหมือนๆกันค่ะ

คิดๆดูแล้ว น่าจะเป็นที่การมองโลกในแง่ดีของพระนาคเสนนะคะ

ที่มองว่าคนที่รู้ว่าทำแล้วบาป จึงละอาย จึงทำบาปน้อย แต่คนไม่รู้ ไม่ละอาย จึงทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ

เอ ...ถ้ารู้ว่าทำแล้วบาป แต่ไม่ละอาย ก็น่าคิดเหมือนกันนะคะ

อีกอย่าง ท่านพูดถึงปริมาณการกระทำ ว่าคนไม่รู้ทำได้มากกว่าคนที่รู้

ไม่ได้พูดถึงผลการกระทำนี่นา...

กลับไปคิดต่อก่อนค่ะ :-p

สวัสดีครับ ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นนะครับ

ผู้รู้โทษของบาป ถ้ากำเหล็กร้อนเต็มมือก็จะร้อนเต็มมือครับ แต่รู้ทั้งรู้ก็ไม่น่าทำ เพราะรู้อยู่แล้วโอกาสทำบาญจึงมีน้อยกว่าผู้ไม่รู้ ถ้าทำก็จะร้อนเต็มมือครับเหมือนผู้ไม่รู้

ผู้ไม่รู้โทษของบาป อาจจะไม่รู้ว่าโทษของบาป คือ อะไร แต่ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดี เช่นกำเหล็กร้อนเต็มมือ ไม่รู้ว่าอะไรแดงวาบวาบ แต่สุดท้ายก็จะได้รับความร้อนเต็มมือเช่นกัน คือ รู้จักสิ่งที่เป็นทุกข์ เช่น ความร้อนที่สามัญชนก็รู้ได้

ผู้รู้ และ ไม่รู้ ถ้าทำสิ่งไม่ดีก็จะได้รับผลที่เหมือนกัน คือ ความทุกข์ที่ใครๆก็รู้จัก ไม่ต้องอาศัยหลักการอะไรมาก

แต่ถ้าผู้รู้ โทษของบาปแล้วยังไปกำเหล็กร้อนเต็มมือ เขาก็อาจจะบาปที่รู้แล้วแต่ยังทำผิดศิล ความรู้สึกนั้นจะย้อนมาทำลายเป็นบาปตัวใหม่เพิ่มเข้าไปเพราะความทุศีล

กรณีเหยียบมด

ถ้าผู้ที่ไม่จงใจเหยียบ แล้วเหยียบมดตาย เขาก็บาปที่ฆ่ามดไปหนึ่งตัว

ผู้ที่จงใจเหยียบมด แล้วเหยียบมดตาย เขาก็บาปที่ฆ่ามดไปหนึ่งตัว บวกกับ บาปที่มีใจที่จงใจกระทำผิด มีจิตใจอาฆาต พยาบาท ไร้เมตตา เป็นบาปแถมมาด้วยครับ

ดังนั้นผู้จงใจเหยียบมดตายจะบาปกว่าผู้ไม่จงใจนะครับ

พระเจ้ามิลินทปัญญาคงตั้งใจสอนว่า ผู้รู้โทษของบาป จะทำบาปได้น้อยกว่า เพราะมีหิริ โอตปะ ละอายต่อบาป มากกว่าผู้ไม่รู้

ถ้าทำกรรมหนึ่งครั้งก็รับวิบากหนึ่งครั้ง

ทำเท่าไรกับสถานการ์เดียวกันก็รับวิบากเท่านั้นครับ

ขอบพระคุณครับ

บทสนทนาตรงนี้

ท่านต้องการจะสื่อถึงหิริและโอตัปปะ

ว่าคนเราจะสัมผัสอะไรสักอย่างก็ควรรู้เท่าทันอย่างมีสติว่าสิ่งนั้นควรกระทำหรือไม่

ควรเรียนรู้ศึกษากับสิ่งที่เรากำลังปฏิสัมพัทธ์อย่างมีสติ..

เพราะบางครั้งปาบจะมาในรูปแบบของรูปธรรมอยู่บ่อยครั้ง

(พูดแบบสมองอันน้อยนิดเท่าเมล็ดงาขอรับดาวฟ้า)

 

 

แวะมารับธรรมะ ก่อนคืนนี้จะทำบาป อิอิ

ขอบพระคุณคุณณัฐรดาและคุณ phornphon

สำหรับข้อคิดเห็นค่ะ...นับเป็นการช่วยแตกกิ่งก้านสาขาความคิดให้กับผู้ไม่รู้ ได้เข้าใจในหลักธรรมมากยิ่งขึ้น

ขอบพระคุณพระคุณเจ้าธรรมฐิตสำหรับข้อชี้แนะค่ะ....

บาปที่มาในแบบของรูปธรรม? เช่นอะไรเจ้าคะ?

ขอตัวอย่างเพื่อสร้างความกระจ่างค่ะ....

ปล. หากสมองท่านเท่าเมล็ดงา คงจะเป็นงาหลายเมล็ดที่รวมกันได้หลายกิโลเจ้าค่ะ แล้วก็น่าจะเป็นงาที่คั่วแล้วนำไปสกัดน้ำมันงา เพราะความคิด จิตของท่านได้ผ่านการฝึกฝน กลั่นกรองมาแล้ว เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ยังประกอบด้วยความโง่อยู่มาก เช่น ดาว เป็นต้น

Pเอ้ายังงี้นะดาวฟ้า..

พรุ่งนี้ตอนไปทำงานพบใครสักคนที่ไม่รู้จักก็ได้แล้วชี้หน้าด่าหรือตบสักเปรี้ยง..

แล้วดาวฟ้าจะเห็นเองว่า..ปาบที่มาในรูปธรรม..เป็นเช่นไร

แต่ธรรมฐิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนะ..

สาาาธุๆๆ

อ้าว.... ท่านอาจารย์ธรรมฐิต แนะนำอย่างนี้แล้วว่าไม่เกี่ยวข้องได้ไงเจ้าคะ เกิดพรุ่งนี้ดาวทำขึ้นมาจริงๆ เนี่ย ท่านก็บาปด้วยแหล่ะเจ้าค่ะ ในฐานะคน(ไม่ใช่สิ..พระ)ที่เป็นผู้แนะนำ

ขอขอบพระคุณยิ่ง ด้วยใจจริงที่กรุณา...สำหรับข้อวิสัจนาและคำแนะนำดีๆ เจ้าค่ะ(แต่ดาวไม่ทำตามหรอกนะเจ้าคะ)

น้องดาวฟ้าครับ

       ยังขอไม่แสดงความเห็นในประเด็นที่ถาม

       แต่แกล้งแฉลบไปดูมุมอื่นซะงั้น...

       พระเจ้ามิลินท์ หรือ Menander นี่เป็นชาวกรีก คงจะได้รับอิทธิพลของปรัชญากรีกมาเยอะทีเดียว คือ ถาม ถกเถียง (แต่ไม่เอาสีข้างเข้าถู...เหมือนนักการเมืองบางประเทศ..อุ๊บส์) จนพอใจ แล้วก็สรุป

       ที่น่าคิดคือ ทั้งคู่เป็นผู้มีปัญญาสูงมาก ย่อมทำให้...

             - ถกเถียงกันไม่กี่ประโยคก็รู้เรื่อง...ทั้งๆ ที่เรื่องนี้น่าจะคุยกันยาว

             - แต่คนอื่นอาจจะไม่รู้เรื่องจริงๆ เพราะว่าไม่รู้ว่า "บริบท" หรือ "ประสบการณ์ร่วม" ของ 2 ท่านนี้เป็นอย่างไร (ไม่รู้ภูมิหลังของเรื่องราวที่คุยกัน)

             - ยิ่งคนอื่นที่เกิดหลังมานานนับพันปี ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง....ก็ย่อมเป็นไปได้ที่อาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่เข้าถึง กรอบการคิดของคนในยุคนั้นๆ

        ที่ว่าไปนี้อาจมีคนแย้งพี่ว่า ธรรมะเป็นอกาลิโก คือ ไม่ขึ้นกับเวลา พี่ก็คิดว่าโดยหลักการก็น่าจะใช่ แต่รายละเอียดหรือสภาพทางวัฒนธรรม ก็อาจจะมีผลต่อวิธีการคิดได้เหมือนกัน ดูอย่างการยกตัวอย่าง "ก้อนเหล็กซึ่งเผาแดงจนโชน" นั่นปะไร...

 

--------------------------------------------------------------------

        นำเรื่องต่อไปนี้มาฝาก อาจจะมีแง่มุมที่สนใจก็ได้ครับ

 

                    เทพ คือ สัญลักษณ์แห่งชนชั้น?  ตอนที่ 1 & ตอนที่ 2

 

ขอบคุณค่ะพี่ชิว เดี๋ยวจะตามไปอ่านเรื่องที่ฝากไว้....แต่ตอนนี้ขอไปนอนก่อน

เมื่อคืนอยู่เวรไม่ได้นอน ปวดหัวๆ เดี๋ยวยิ่งอ่านเรื่องที่พี่ชิวฝากไว้จะยิ่งปวดหัวมากขึ้น 555

สวัสดีครับ ขอร่วมคิดด้วยครับ

ทำชั่วก็รู้ทันว่าทำชั่วย่อมมีจิตที่เป็นกุศลบ้าง

ตัวรู้นั้นเป็นกุศลจะคอยสั่งสมไปเมื่อพลังมากขึ้นก็จักไม่ทำชั่วนั้นอีก

ความรู้จะเป็นเครื่องตัด(เป็นภูมิ) ไม่ใช่ตัวยึดถืออย่างที่เราคิด

ถ้า บาปเป็นไข้หวัด คนหนึ่งมีสุขภาพแข็งแรงดี อีกคนสุขภาพไม่แข็งแรง

เมื่อคนสุขภาพแข็งแรงดีเป็นหวัดอาจจะไม่เป็นไรมากเหมือนผู้มีสุขภาพไม่แข็งแรง(ถ้าตัวอย่างแบบนี้อาจเข้าใจง่ายครับ)

บาปนะบาปแน่แต่ผลหนักเบาต่างกัน เป็นหวัดเหมือนกัน แต่ผลต่างกันไม่ใช่เพราะเป็นน้อยกว่า แต่ภูมิต่างกัน

อีกอย่างหนึ่งนี้เป็นเพียงคำถามตอบ(ตัวอย่างที่ยกมานั้นอาจทำให้เข้าใจยาก)

ซึ่งความจริงแล้วคนที่รู้บาปแล้วทำบาปนั้นมีน้อยกว่าคนไม่รู้

พุทธศาสนาสอนว่ารู้แ้ล้วไม่ทำไม่ถือว่ารู้ เพราะไม่เกิดมรรคไม่เกิดผล

ศาสนานี้ตั้งขึ้นเพื่อให้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ได้ตั้งขึ้นเพี่อพูดเล่น สอนเล่น... หรือเพื่อโอ้อวดรู้

คุณเอกชน ขอบคุณค่ะสำหรับความคิดเห็นที่ทำให้เห็นภาพพจน์มากขึ้น

เรื่องบุญบาปเป็นเรื่องของนามธรรม จึงต้องหาสิ่งมาเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งบางตัวอย่างก็เข้าใจยาก ทั้งนี้ขึ้นกับผู้เปรียบเทียบยกตัวอย่างและกำลังสติปัญญาของผู้รับสาร

ในความคิดเห็นดาวเห็นว่า เรื่องบุญบาปลึกซึ้งละเอียดอ่อนมาก ยากที่จะสามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด ตอนนี้ก็ค่อยๆศึกษาทำความเข้าใจค่ะ....อาจจะนานหน่อยเพราะดาวมีความโง่เขลาอยู่มาก แต่ก็จะพยายามอย่างเต็มกำลังสติปัญญาค่ะ

ขอบพระคุณอีกครั้งสำหรับข้อคิดเห็นที่ช่วยต่อยอดสติปัญญาค่ะ

คนหนึ่ง ชอบลักขโมย โดยที่ไม่รู้ว่าบาป เขาก็จะขโมยไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอเมื่อคนรู้ว่า การขโมยนั้นบาป เขาจะขโมยอีกอยู่หรือแม้ว่าสันดานอาจจะแก้ยาก ก็คงจะขโมยแบบรู้จักพอบ้างจนเมื่อ หิริ โอตัปปะ มากพอ เขาก็จะหยุดขโมย นั่นเองนี่คือตัวอย่าง ลำดับการกลับใจ ลดอกุศล เพิ่มกุศลโดยทั้งนี้ เราก็ต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมอื่นๆ ร่วมๆกันไป เช่น ศรัทธา วิริยะ ขันติ สติ ศีล สมาธิ ปัญญา จนเต็มเปี่ยม ถึงพระนิพพานเทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท