วิชาพุทธประวัติ ปริเฉทที่ ๕ ตรัสรู้


ทรงพบพระเจ้าพิมพิสาร

หลังบรรพชาแล้ว พระองค์เสด็จไปสู่อนุปิยอัมพวัน แขวงมัลลชนบท ผ่านไป ๗ วัน จึงเสด็จเข้าเขตมคธชนบท   ได้เสด็จผ่านกรุงราชคฤห์   พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แคว้นมคธได้เสด็จมาพบตรัสถามถึงชาติสกุล ตรัสชวนให้อยู่จะพระราชทานอิสริยยศยกย่อง (ยินดีแบ่งราชสมบัติให้ปกครอง) พระองค์ไม่ทรงรับ แสดงพระประสงค์ว่ามุ่งจะแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุโมทนา แล้วตรัสขอปฏิญญาว่า “ หากตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาเทศนาโปรดพระองค์ด้วย”    พระองค์ทรงรับปฏิญญาของพระเจ้าพิมพิสารทุกประการ

 

ทรงศึกษาในสำนักต่างๆ

ระหว่างนั้นเสด็จไปศึกษาอยู่ในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ฌานสมาบัติ ๗* และอุททกดาบส รามบุตร ได้ฌานสมาบัติ ๘** แต่เห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ จึงเสด็จออกจากสำนักทั้งสอง จาริกไปในมคธชนบทถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหา

วาระที่สอง ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ

วาระที่สาม ทรงอดพระกระยาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อยจนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย

ขณะที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่นั้น มีปัญจวัคคีย์ คือโกณฑัญญะ วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสสชิ คอยเฝ้าปรณนิบัติทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่า   หากพระองค์ได้บรรลุธรรมแล้วจักทรงสั่งสอนพวกตนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง

 

อุปมา ข้อ ปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระองค์

            พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยานานถึง ๖ ปี ก็มิได้บรรลุพระสัมมา-สัมโพธิญาณ   ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ ที่พระมหาบุรุษไม่เคยทรงสดับ มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระองค์ว่า

๑. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กายยังไม่หลีกออกจากวัตถุกาม ใจก็ยังระคนด้วยกิเลสกาม แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนเพราะการทำความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ย่อมไม่อาจตรัสรู้ได้  เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ  ใครก็ไม่อาจนำมาสีกันเพื่อให้เกิดไฟได้  ย่อมเหน็ดเหนื่อยเปล่า

๒.  สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด  มีกายหลีกออกจากวัตถุกามแล้ว  แต่ใจยังระคนด้วยกิเลสกามอยู่  แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนเพราะการทำความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ย่อมไม่อาจตรัสรู้ได้ เหมือนไม้สดอันชุ่มด้วยยาง แม้วางบนบก  ใครก็ไม่อาจนำมาสีกันเพื่อให้เกิดไฟได้  ย่อมเหน็ดเหนื่อยเปล่า

๓. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด มีกายหลีกออกจากวัตถุกามแล้ว ทั้งใจก็ไม่ระคนอยู่ด้วยกิเลสกาม แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนเพราะการทำความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ย่อมสามารถที่จะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งสนิท ทั้งวางไว้บนบกไกลจากน้ำ  บุคคลย่อมสีให้เกิดไฟขึ้นได้

 

ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระองค์จึงทรงสันนิษฐานว่าการบำเพ็ญทุกกรกิริยาไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเลิกเสีย กลับมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ  ปัญจวัคคีย์เห็นเช่นนั้นก็คิดว่า พระองค์ได้คลายความเพียร กลับมาเป็นคนมักมากเสียแล้ว คงไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดเป็นแน่ จึงพากันหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

 

เหตุการณ์วันตรัสรู้

เวลาเช้า นางสุชาดา บุตรีกุฎุมพีแห่งบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวสุกหุงด้วยน้ำนมโค) พระองค์ทรงรับข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาด  เสด็จสู่ท่าแม่น้ำเนรัญชรา  เสวยข้าวมธุปายาสหมดแล้ว  ทรงลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา อธิษฐานการตรัสรู้ธรรม จากนั้นเสด็จไปประทับอยู่ในดงไม้สาละ

เวลาเย็นเสด็จไปสู่ต้นอัสสัตถพฤกษ์    ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ จากโสตถิยพราหมณ์ ทรงปูต่างบัลลังก์ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ทางทิศตะวันออก  เสด็จนั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก อธิษฐานในพระหฤทัยว่า หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จักไม่ลุกขึ้น แม้เนื้อและโลหิตจะเหือดแห้ง เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตาม

พระยามารยกพลเสนามารมาแสดงฤทธิ์เพื่อต้องการให้พระมหาบุรุษตกใจกลัวและเสด็จหนีไป  พระมหาบุรุษเสี่ยงพระบารมี ๑๐ ทัศ* เข้าช่วย ยังพระยามารและเสนามารให้ปราชัย ก่อนพระอาทิตย์อัสดง

จากนั้นพระองค์ก็เริ่มทำความเพียรทางจิตจนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันนั้น ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี ที่ใต้ร่มไม้ “อัสสัตถพฤกษ์**  ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (คือ พุทธคยา ในปัจจุบัน)

ญาณ ที่พระองค์ได้บรรลุในวันตรัสรู้

ปฐมยาม ทรงบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือพระญาณที่ทำให้ระลึกอดีตชาติของพระองค์ได้

มัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ หรือ ทิพพจักขุญาณ คือพระญาณที่ทำให้รู้จุติ(เคลื่อนที่, ตาย)และอุบัติ(เกิด)ของสัตว์ทั้งหลาย

ปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือพระญาณที่ทำให้พระองค์ทรงสามารถทำลายกิเลสาสวะให้สิ้นไป  ได้แก่ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ นั่นเอง

 

พระนามพิเศษหลังตรัสรู้

อะระหัง   เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากอาสวะกิเลส

สัมมาสัมพุทโธ  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง

อะระหังและสัมมาสัมพุทโธ  สองบทนี้เป็นพระนามใหม่ของพระองค์ มิได้มีใครตั้งให้ แต่เป็นเนมิตกนาม คือนามที่เกิดขึ้นตามเหตุแห่งลักษณะและคุณสมบัติ

 


* สมาบัติ ๗ ได้แก่ ปฐมฌาน  ทุติยฌาน  ตติยฌาน  จตุตถฌาน  อากาสานัญจายตนฌาน
วิญญาณัญจายตนฌาน  และอากิญจัญญายตนฌาน

** สมาบัติ ๘ ก็คือเพิ่มจากสมาบัติ ๗ อีกหนึ่ง ได้แก่  เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

*  พระบารมี ๑๐ ทัศ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

** ต้นโพธิ์ หรือพระศรีมหาโพธิ์ หมายถึง ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้

หมายเลขบันทึก: 302027เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการพระคุณเจ้า

มาอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในพุทธประวัติเจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท