อาหารฮาลาลเป็นวาระแห่งชาติ


กรุงเทพธุรกิจรายวัน 28 กันยายน 2552 ตีพิมพ์เรื่อง "ปัดฝุ่นฮาลาลเป็นวาระแห่งชาติ" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ขอความกรุณาแวะไปเยี่ยมเยียนเว็บไซต์ "กรุงเทพธุรกิจรายวัน" กันครับ

บทความคัดลอกจาก "กรุงเทพธุรกิจรายวัน"

ปัดฝุ่นสินค้าฮาลาลขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ วางแผนระยะยาว 10 ปี โตเท่าตัว พร้อมเจรจา ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ เนสเล่ย์ ซับเวย์ เสนอตัวขอเป็นซัพพลายเออร์

แม้ว่าการพัฒนาสินค้าฮาลาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ป้อนประเทศในโลกมุสลิม จะมีการวางแผนกันมานาน แต่เหตุที่ยุทธศาสตร์และแนวทางยังไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกันคณะกรรมกลางอิสลาม ผู้มีหน้าที่ประทับตราฮาลาลในสินค้าประเภทต่างๆ นั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับจากบางประเทศ ทำให้แผนนี้ต้องสะดุดลง จนต้องกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้

ศรีรัตน์ รัษฐปานะ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าฮาลาล ที่มี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนการพัฒนาศักยภาพสินค้าฮาลาล เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันทั้งในเชิงมูลค่า และปริมาณการส่งออกไปยังประเทศในโลกมุสลิมและไม่ได้อยู่ในโลกมุสลิม

โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลติดอันดับ 7 ของโลก ในปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าฮาลาล 3,389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปี 2549 ถึง 48%

และในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าฮาลาล 3,958 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 80%

จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ผลิตสินค้าฮาลาลที่ครองส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ กลับไม่ใช่ประเทศมุสลิม ปัจจุบันบราซิล เป็นผู้ผลิตสินค้าฮาลาลเป็นอันดับหนึ่งของโลก

มีส่วนแบ่งการตลาด 14% รองลงมาคืออินเดีย มีส่วนแบ่งการตลาด 8 % อันดับ 3 คือ สหรัฐ มีส่วนแบ่งการตลาด 9%

อันดับ 4 คือ ฝรั่งเศส มีส่วนแบ่งการตลาด 6% อันดับ 5 จีน มีส่วนแบ่งการตลาด 6% และเนเธอร์แลนด์มาเป็นอันดับ 6 มีส่วนแบ่งการตลาดเท่ากันกับไทยที่ 5%

การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ให้สินค้าฮาลาลเป็นวาระแห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ โดยจะเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2553-2562

จัดเป็นแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการเป็นระยะ10 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราเติบโตของสินค้าฮาลาล50-100%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาด้านการตลาด โดยแผนที่เตรียมไว้ได้แก่ การเพิ่มโอกาสในการทำตลาดใหม่ในหลากหลายกลยุทธ์ ทั้งการเจาะตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม แต่มีประชาชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ แอฟริกา รัสเซีย อเมริกา

โดยเฉพาะคนมุสลิมในสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพในการนำเข้าสินค้าฮาลาลถึง 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากตลาดรวมสินค้าฮาลาลที่มีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในจำนวนนี้เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร มูลค่าถึง 632,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 16% ของสินค้าฮาลาลที่เข้าสู่ตลาดมุสลิมทั้งหมด

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพในการเจาะตลาดประเทศมุสลิม ได้แก่ สินค้าอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีความถนัด โดยเฉพาะ ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋อง น้ำมันพืช กุ้ง ปลาแช่แข็ง ผลไม้กระป๋อง อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และนม

การจัดทำ "แฟรนไชส์" อาหารมุสลิมจากประเทศไทย ถือเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจในตลาดโลกหลายราย

หันมาให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดคนมุสลิมมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวด้านกำลังซื้อของคนมุสลิม นั่นเอง

ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก ที่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดมุสลิม อาทิ เนสท์เลย์ ที่แยกสินค้าฮาลาล ออกจากสินค้าที่ไม่ใช่ฮาลาล 

โดยในปี 2551 มูลค่าสินค้าฮาลาลในผลิตภัณฑ์ของเนสเล่ย์ มีมูลค่าสูงถึง 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโรงงานสำหรับผลิตสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะมากถึง 75 โรงงาน จากโรงงานในเครือของเนสเล่ย์ที่มี อยู่ 456 โรงงาน

หรือแม้กระทั่งผู้ผลิตสินค้าฟาสท์ฟู้ดรายใหญ่ อย่างเคเอฟซี ในอังกฤษจะแยกสาขาที่ขายสินค้าฮาลาลเป็นการเฉพาะ ในเขตที่คนมุสลิมอาศัยอยู่มาก รวมไปถึง ซับเวย์ (Subway) ธุรกิจแฟรนไชส์ ชื่อดังก็หันมาขายฮาลาลในอังกฤษและไอร์แลนด์

ขณะเดียวกัน ประเทศที่ส่งออกสินค้าฮาลาลอยู่แล้ว ก็รุกหนักมากขึ้น ด้วยการขยายการลงทุนด้านสาธารณูปโภค รองรับการค้าขายสินค้าฮาลาล 

อาทิ เนเธอร์แลนด์ได้ผลักดันให้กรุงรอตเตอร์ดัม เมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป สร้างคลังสินค้าฮาลาล (ฮาลาล แวร์เฮ้าส์) โดยเฉพาะ เพื่อแยกสินค้าฮาลาล ออกจากเนื้อหมูและแอลกอฮอล์

ล่าสุดประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย ก็ลงทุนสร้างคลังสินค้า เพื่อเชื่อมโยงสินค้าฮาลาลจากท่าเรือมาเลเซีย ไปยังท่าเรือรอตเตอร์ดัม

เธอยังระบุว่า โอกาสสำคัญที่สินค้าฮาลาลของไทย จะทำตลาดคู่ไปกับบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ครองตลาดอยู่แล้ว

อย่าง เนสท์เลย์ และซับเวย์  ก็จะต้องเร่งเข้าไปเจรจากับผู้ผลิตเหล่านี้เพื่อขอเป็น "ซัพพลายเออร์" รวมไปถึงการร่วมทุนกับผู้ผลิตเหล่านี้ 

รวมไปถึงการหาโอกาสเชื่อมโยงการเป็นพันธ์มิตรทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่จะทำให้ไทยได้พัฒนาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดมุสลิมให้มากขึ้น

ส่วนการสร้างคลังสินค้าฮาลาลในมาเลเซียนั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับสินค้าฮาลาลของไทยมากนัก

เนื่องจากท่าเรือในไทยก็ยังมีศักยภาพในการรองรับสินค้าฮาลาล แม้จะยังไม่ได้สร้างคลังสินค้าฮาลาล ก็ตาม และคาดว่าจะมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย ที่หันไปใช้บริการท่าเรือของมาเลเซีย

ศรีรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า การแข่งขันในตลาดฮาลาลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ต้องหันมาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าฮาลาล ทั้งในประเทศที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

เนื่องจากทางมาเลเซีย มีภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ เพราะเป็นประเทศมุสลิม เพียงแต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าฮาลาลในปริมาณมาก

เมื่อเทียบกับไทยที่มีความพร้อมด้านการผลิต แต่การที่ไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ทำให้กลุ่มผู้นำเข้าบางกลุ่มยังคงขาดความเชื่อมั่น

เธอยังบอกว่า ประเทศไทยจะต้องมีกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการประชาสัมพันธ์คุณภาพของสินค้าฮาลาลที่ผลิตในไทย โดยนำผู้แทนรัฐบาลและภาคเอกชน รวมถึงคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ที่ทำหน้าที่ออกใบรับรองฮาลาล 

เดินทางไปพบรัฐบาล และนักธุรกิจรายใหญ่ของตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดหลักในการนำเข้าสินค้าฮาลาล และตลาดที่ไม่ใช่มุสลิม ก็เป็นช่องทางใหม่ที่ไทยควรจะเจาะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ในเบื้องต้น

โดยมีเป้าหมายให้นักธุรกิจไทย ได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้ารายใหญ่ และจับคู่ธุรกิจ รวมถึงสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนร่วมกัน

นอกจากนี้ หากนักธุรกิจไทยยังขาดแคลนเงินทุน รัฐบาลก็จะต้องเชื่อมโยงนักธุรกิจเหล่านี้ ให้เข้าถึงสถาบันการเงิน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ก็ต้องเข้ามาผลักดันการลงทุน

หมายเลขบันทึก: 301605เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท