สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 7 ไม่มีการส่งเสริมกิจกรรม


วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดเดียวที่จัดเวทีส่งเสริมการแสดงเพลงอีแซวสุพรรณฯ มานาน เป็นยิ่งกว่าการอนุรักษ์ เป็นยิ่งกว่าการสืบสานศิลปะท้องถิ่น

สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 7)

ไม่มีการส่งเสริมกิจกรรมที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน) 

         ถ้าในสังคมไม่ขาดผู้นำที่จะสานต่อภูมิปัญญาในหลาย ๆ ด้าน เอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะศิลปะการแสดงท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านก็จะมีทายาทสืบสานต่อ ๆ กันอย่างไม่มีวันสูญหายไปอย่างแน่นอน

         ผมตั้งคำถามเด็ก ๆ ที่ผมสอน ชั้น ม.6/1-6/4 ว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้เยาวชนไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ปัญหาหรือสาเหตุที่เยาวชนมองเห็นมีมาก บางประเด็นก็ไม่สามารถที่จะนำเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ เพราะมีผลกระทบในวงการ ผมจึงต้องเลือกเอาบางประเด็นที่มองเห็นความชัดเจนในปัญหา สำหรับในบาทความตอนที่ 7 นี้ ผมขอยกเอาสาเหตุที่ว่า “ไม่ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย” ผมถามต่อไปอีกว่า ใคร องค์กรใด หรือสถาบันใดที่นักเรียนคิดว่าไม่ได้ให้การส่งเสริมในการจัดกิจกรรมที่แสดงถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่

-       ชุมชนหรือสังคมเวลามีกิจกรรมในระดับท้องถิ่นไม่จัดกิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญา

-       องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สภาวัฒนธรรมตำบล อำเภอ จังหวัด

-       สถานศึกษา ไม่มีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

-       บริษัท ห้างร้าน สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมจัดการแสดงที่เป็นสากล

-       เทศกาลต่าง ๆ ไม่มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย

          ความจริงยังมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน แต่ผมคิดว่า เท่าที่เอ่ยมาพอที่จะครอบคลุมในประเด็นได้แล้ว จึงขอนำเสนอภาพเท่าที่ผ่านตามานานหลายสิบปี

เพื่อเสริมความเห็นในประเด็นที่นักเรียนของผมแสดงความเห็นเอาไว้

         

         

          ชุมชนหรือสังคมเวลามีกิจกรรมในระดับท้องถิ่นไม่จัดกิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญา ทั้งนี้เพราะเมื่อเวลาจัดการแสดงพื้นบ้านแล้วคนดูน้อย ขนาดหาลิเกมาให้ดู คณะที่ไม่ดังจริง ๆ คนดูก็บางตา ไม่คุ้มค่าที่ลงทุนสู้จัดการแสดงที่คนนิยมยังดีกว่า ถ้าคิดกันอย่างนี้ก็นับวันที่จะไม่มี่ให้เห็น ยกตัวอย่างเช่น บนเวทีการแสดง ณ สถานที่หนึ่ง เขาเลือกคณะนักแสดงที่ยังไม่มีชื่อเสียงมานำเสนอ แต่คณะที่มีชื่อเสียง ในระดับประเทศ เขาบอกว่า ไม่ต้องมาเล่นบนเวทีนี้ เนื่องจากว่า มีชื่อเสียงมากแล้ว (คิดได้อย่างไร) แบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจว่า สิ่งที่ได้เห็นทำได้เพียงแค่นี้เอง จึงไม่ได้ให้ความสนใจ

          องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สภาวัฒนธรรมตำบล อำเภอ จังหวัด หน่วยงานนี้ มีบทบาทโดยตรงที่จะจัดการสนับสนุน ส่งเสริมในศิลปวัฒนธรรมทุกด้านที่มีลักษณะเด่น ๆ ในท้องถิ่นได้ออกมาสู่สายตาของประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2545 ในงานสำคัญระดับจังหวัด มีการจัดกิจกรรมย้อนยุค นำเอาของเก่า ๆ การแสดงแบบเดิม วิถีชีวิตเดิมมาจัดแสดงในบริเวณงาน ผมก็เห็นมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สภาวัฒนธรรมมีอยู่ทุกระดับ จะต้องทำหน้าที่สืบหาและให้การสนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่มีความไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น อย่าง ปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่ง ทำหน้าที่รักษาภูมิปัญญาหลายด้านมานานเกือบ 60 ปี รับใช้สังคมมานับพันครั้ง (หลายสถานที่) แต่หน่วยงานระดับหนึ่งไม่ทำความรู้จัก มองไม่เห็นคุณค่าเสียได้

          สถานศึกษา ไม่มีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ความจริงโรงเรียน สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมในแต่ละภาคเรียน ในแต่ละปีหลายครั้ง มีการจัดประชุมรวมคนจำนวนมาก แต่เรื่องของภูมิปัญญาไม่มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนในการนำเสนอผลงาน มีบ้างก็น้อยมาก บางครั้งถูกบรรจุเอาไว้ในกำหนดการของงาน แต่กลับถูกนำเอาออกไปไม่ต้องแสดงก็ได้ ไม่มีเวลาดู (จะต้องไปที่อื่น ๆ อีก) ในบางโรงเรียนมีแขกมาเยี่ยมเดือนละหลาย ๆ ครั้ง กิจกรรมที่จัดหรือนำเสนอก็จะเป็นการนำเสนอภาพจากวีซีดี พูดบรรยายเล่าเรื่องราวให้ฟัง ส่วนห้องปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จสูง ๆ ลืมแนะนำไปอย่างน่าเสียดาย

          บริษัท ห้างร้านสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมจัดการแสดงที่เป็นสากลมากว่าที่จะให้การสนับสนุนเพลงพื้นบ้าน บริษัทใหญ่ ๆ เขาบอกว่า ทางบริษัทของเราไม่มีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนการแสดงเพลงพื้นบ้าน (คนดูไม่มาก) แต่ถ้าเป็นการแสดงเพลงลูกทุ่ง หรือกิจกรรมประกวดเพลงลูกทุ่ง หรือดนตรีสากล วงสตริงเขายินดีให้การสนับสนุนจะใช้งบประมารเท่าไรตั้งงบประมาณเสนอมาได้ 

          เทศกาลต่าง ๆ ไม่มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ในประเด็นนี้ก็ยาก เพราะงานตามเทศกาลจะอยู่ตามวัด วัดวาอารามต่างก็มีคณะกรรการจัดงาน ความคิดของคณะกรรมการก็แปลกแยกกันไป อย่างเช่น มีวัดหนึ่ง เขาจัดงานสำคัญ และจัดเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้าน มีเพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด แต่ว่าคนจัดเขาจัดเอาวงเพลงที่อยู่ในเครือข่ายของเขามาแสดง ผมเห็นใจคนดูที่ต้องมายืนดูลูกหลานของเขาแสดง พอวงลูกหลานเล่นเสร็จก็ไปมอบรางวัลแล้วก็รวมตัวกันจากเวทีการแสดงไปทั้งกลุ่ม พอวงต่อไปขึ้นไปแสดงก็เหมือนเดิม คนดูมาดูลูกหลานของเขาเล่น ดูแล้วก็เหมือนว่าเวทีนั้น มีเพลงหนึ่งวง คนดูหนึ่งกลุ่มเท่านั้นเอง

         

         

          ส่วนที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดเดียวที่จัดเวทีส่งเสริมการแสดงเพลงอีแซวสุพรรณฯ มานาน เป็นยิ่งกว่าการอนุรักษ์ เป็นยิ่งกว่าการสืบสานศิลปะท้องถิ่น เพราะที่นี่คือแหล่งกำเนิดเพลงอีแซวตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ในวันนี้วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร มีน้าจำลอง รุญเจริญ เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดตอน 

(ติดตามตอนที่ 8 สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

 

หมายเลขบันทึก: 301438เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • สภาวัฒนธรรมท้องถิ่นหลายที่ยุบตัวเองไปทีละแห่งสองแห่ง
  •  ตัวเองไม่ดูเรื่องราวศึกษาความเป็นมาของตัวแล้วจะให้ใครมาสืบสานดีละ
  • ชุมชนก็นิยมหลงลืมของดีที่มีอยู่ พลอยเป็นกับเขาไปด้วย

ขอเจริญพร

  • ใช่แล้วครับ พระคุณท่าน พอได้งบประมาณไปก็วนเวียนอยู่ในวงการของตนเอง
  • สังคมเปลี่ยนไป หากไม่มีแรงต้านเอาไว้บ้าง ไม่ช้าไม่นานสิ่งที่ดี ๆ คงหมด
  • กรอบขอบพระ คุณท่านมหาแล มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท