ทำไมครูเอกชนจึงควรได้รับเงินวิทยฐานะ


รัฐบาลปฏิรูปการศึกษารอบสองอย่าลืมเหลียวมองครูเอกชน

ความเป็นมาและความสำคัญของการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

 

        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชนไว้โดยกำหนดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยการบริหารและจัดการศึกษาของเอกชนเป็นไปโดยอิสระภาครัฐเป็นเพียงผู้กำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ทั้งนี้รัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเอกชนด้านการศึกษา และต้องให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษี และสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษาแก่สถานศึกษาเอกชนตามความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐานและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง

      พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาฉบับแรกของไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงได้กำหนดให้ครูและผู้บริหารมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พร้อมทั้งได้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอเหมาะสมกับฐานะทางสังคมและวิชาชีพ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการจัดการศึกษา" ในการเป็นประธานเปิดงานวันการศึกษาเอกชน 2552 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่า เอกชนมีบทบาทสำคัญ  ในการจัดการศึกษา โดยสามารถพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ด้วยดีตลอดมา ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา การศึกษาเอกชน มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  มีการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมีระบบ

          ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนการสอน ประกอบกับความคล่องตัวในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนที่สนใจใฝ่ศึกษาและรับวิทยาการใหม่ๆมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิผล ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาที่จบจากสถานศึกษาเอกชนมีความเป็นเลิศในทางวิชาการและวิชาชีพ สามารถพัฒนาอาชีพและสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ

          สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเห็นความสำคัญของโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เพราะเอกชนเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการจัดการศึกษาไทย สามารถแบ่งเบาภารกิจและภาระงบประมาณของภาครัฐในการช่วยจัดการศึกษา

         ในขณะเดียวกันภาคเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพไม่น้อยกว่าการศึกษาภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สทศ.ในระยะที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพโดยเกณฑ์เฉลี่ยมากกว่าภาครัฐ

  1.            นอกจากนั้นผลงานของโรงเรียนเอกชนยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก มีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนจำนวนมาก ที่ได้รับรางวัลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อเป็นการสานต่อแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าผลการประชุมกำหนดนโยบายและทิศทางการจัดการศึกษาเอกชน ได้กำหนดทิศทางและมาตรการส่งเสริมการศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2552 ที่ได้ทำไว้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ซึ่งก.พ.ร.เห็นว่า การเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาควรเพิ่มสัดส่วนการจัดการศึกษาโดยเอกชน และหน่วยงานอื่นให้สูงขึ้นการให้ภาคเอกชนช่วยจัดการศึกษาจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐก็สามารถจัดการศึกษาได้มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และเมื่อพิจารณาจากต้นทุนการจัดการศึกษา ก็พบว่าโรงเรียนเอกชนใช้น้อยกว่าโรงเรียนรัฐ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาเอกชน      ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ครูโรงเรียนเอกชนมีวิทยฐานะเช่นเดียวกับครูโรงเรียนรัฐ

      ดังนั้นจึงได้มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 165/2552 ลงวันที่ 9 เมษายน 2552 และคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ 278/2552  ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับวิทยฐานะของผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน 2 คณะ

 

       คณะที่ 1 ดร.เดชา  ทองสุวรรณ  เป็นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการได้มาซึ่งเงินวิทยฐานะผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน

       คณะที่ 2 ดร.จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์  เป็นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินวิทยฐานะผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน

 

        ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะทำงานศึกษาและกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับวิทยฐานะของผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน (ชุดที่ 1) ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่  15  กันยายน 2552 มอบให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับวิทยฐานะของผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน   ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วย 1) ดร.บรรจง  ชมภูงศ์  เป็นประธานคณะทำงาน  2) ดร.วรายุทธฺ  พัฒนาศิริรักษ์  เป็นรองประธานคณะทำงาน  3) ดร.ลือชัย  จันทร์โป๊  เป็นคณะทำงาน  4) นายประพันธ์  ทรรศนียากร  เป็นคณะทำงาน  5) นายอนุพงศ์  มกรานุรักษ์  เป็นคณะทำงาน     6) นางนวลอนงค์  นวลเขียว เป็นคณะทำงาน  7) นางฐิติพร  วิวัฒน์วานิช  เป็นคณะทำงาน และ 8) ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ  เป็นคณะทำงานและเลขานุการ  โดยให้คณะทำงานมีหน้าที่ศึกษากฎหมาย ระเบียบ และความเป็นไปได้ในการดำเนินงานเกี่ยวกับวิทยฐานะของผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน เรื่องการเงินและการได้มาของเงินโดยทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

       ขณะนี้คณะทำงานได้ประชุมรอบแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 25  กันยายน 2552 ณ สำนักงานสภาคริสตจักรในประเทศไทย เขตราชเทวี  กรุงเทพมหานคร สำหรับรายละเอียดความคืบหน้าโปรดติดตามต่อไป

หมายเลขบันทึก: 301042เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2009 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้ประสบความสำเร็จ เพื่อคูรเอกชนไทย

ดูคณะกรรมการรับผิดชอบเกี่ยวกับด้านวิทยฐานะของครูเอกชนแล้วล้วนแต่มีระดับ ดร.ตั้งหลายท่าน...มีความรู้ความสามารถพอที่จะสานต่อเรื่องวิทยฐานะครูเอกชน....รีบทำให้เร็วหน่อยให้สมเป็นเอกชน....และหากจะให้เป็นเอกภาพของชาติเกี่ยวกับระบบ...ควรให้ครูของรัฐสามารถย้ายมาี่เอกชน...ครูเอกชนย้ายมาโรงเรียนรัฐได้....คงจะดีไม่น้อย....ขอให้พลังใจคณะทำงาน...ให้สำเร็จนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท