หมายเหตุสังคม : ย้อนอดีต: ฟาโรห์สตรีที่ฟื้นคืนจากการสาบสูญ


ข่าวการ "ค้นพบ" พระศพของพระนางฮัตเชปสุต (Hatshepsut) พระราชินีอียิปต์โบราณ ได้รับการรายงานโดยสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง แต่ก็เป็นเพียงข่าวเล็กและมีการรายงานเพียงชั่วระยะเวลาที่สั้นมาก ส่วนสื่อไทยก็เห็นจะมีแต่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษคือบางกอกโพสต์เท่านั้นที่ลงข่าวนี้ถึงหนึ่งหน้าเต็มๆ แต่ก็เพียงชั่ววันเดียวเท่านั้น

 

ย้อนอดีต : ฟาโรห์สตรีที่ฟื้นคืนจากการสาบสูญ

ข่าวการ "ค้นพบ" พระศพของพระนางฮัตเชปสุต (Hatshepsut) พระราชินีอียิปต์โบราณ ได้รับการรายงานโดยสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง แต่ก็เป็นเพียงข่าวเล็กและมีการรายงานเพียงชั่วระยะเวลาที่สั้นมาก ส่วนสื่อไทยก็เห็นจะมีแต่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษคือบางกอกโพสต์เท่านั้นที่ลงข่าวนี้ถึงหนึ่งหน้าเต็มๆ แต่ก็เพียงชั่ววันเดียวเท่านั้น

ข่าวเกี่ยวกับพระนางได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนน้อยกว่าข่าวการจะลงหรือไม่ลงเล่นการเมืองของพลเอกสนธิ
บุณยรัตกลิน นายสมัคร สุนทรเวชจะได้เป็นหัวหน้า (อดีต) พรรคไทยรักไทยหรือไม่ นายทักษิณ ชินวัตรจะขาดคุณสมบัติในการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้เพราะถูกกล่าวหาว่ามัวหมองในทางคดีความหรือเปล่า

ในทางหนึ่ง ก็เข้าใจปรากฏการณ์เกี่ยวกับข่าวในลักษณะนี้ได้ตรงที่ว่าข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปัจจุบันย่อมดูเหมือนว่าจะสลักสำคัญเหลือเกินต่อการดำเนินชีวิตของเรา แต่ในอีกทางหนึ่ง หากเราดึงตัวเองออกไปจากปัจจุบัน เดินทางไปสู่อนาคต เราก็ย่อมจะตระหนักได้ว่าข่าวเกี่ยวกับพลเอกสนธิ นายสมัครหรือนายทักษิณเป็นเพียงบรรทัดเล็กๆ ของประวัติศาสตร์ไทย หรือจุดไข่ปลาในหน้าประวัติศาสตร์โลก ในขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางฮัตเชปสุตนั้นเคยสำคัญอย่างยิ่งยวดตลอด 21 ปีแห่งรัชสมัยของพระนางในประวัติศาสตร์อียิปต์เมื่อ 3,512 ปีมาแล้ว ทั้งยังกลับมาถูกกล่าวถึงอีกในปัจจุบัน และเรื่องราวของพระนางก็จะอยู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดไป"

ข่าวเรื่องการ "ค้นพบ" พระศพของพระนางฮัตเชปสุตนั้นสืบเนื่องมาจากคำประกาศของดร.ซาฮี ฮาวาสส์ (Dr. Zahi Hawass) นักโบราณคดีอียิปต์วิทยาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของอียิปต์เองและของโลก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมานี้

การ "ค้นพบ" ที่น่าตื่นเต้น

อันที่จริง มัมมี่ของพระนางฮัตเชปสุตได้ถูก "ค้นพบ" มาแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1903 โดยนายเฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ผู้ค้นพบสุสานพระเจ้าตุตอังคอามูน (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อตุตังคาเมน) แต่ไม่มีใครทราบว่าร่างสตรี 2 ร่างในหลุมขุดค้นที่กำหนดรหัสว่า KV 60 (หมายถึงหลุมหมายเลข 60 ในบริเวณ "หุบผาแห่งกษัตริย์") นั้นคือใคร เนื่องจากศพถูกเคลื่อนย้ายมาเพื่อหนีการโจรกรรม (เช่นเดียวกับมัมมี่พระศพอื่นๆ หลายพระองค์)

นอกจากโลงหินที่มีจารึกว่าซิต-รา (Sit-ra) แล้ว ก็ไม่พบร่องรอยใดๆ ภายในห้องนั้นอีกพอที่จะช่วยให้สันนิษฐานได้ว่าสตรีร่างเล็กที่อยู่ในโลงหินและร่างที่ใหญ่กว่าและมีหน้าอกขนาดใหญ่ซึ่งวางอยู่กับพื้นข้างๆ โลงหินใบนั้นคือใคร

นายคาร์เตอร์เคลื่อนย้ายมัมมี่ "นอนโลง" เข้ามาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงไคโร ในขณะที่มัมมี่ "นอนพื้น" ก็อยู่ที่เดิมตลอดมาจนกระทั่งต้นปีนี้

เมื่อมีการศึกษามัมมี่ "นอนโลง" โดยละเอียดจนสามารถปะติดปะต่อกับหลักฐานอื่นๆ และระบุได้ว่าซิต-ราคือพระพี่เลี้ยงนางนมของราชินีฮัตเชปสุต ดร.ฮาวาสส์จึงหันกลับมาสนใจมัมมี่ "นอนพื้น" อีกครั้งและได้พบรายละเอียดว่าซี่ฟันกรามด้านบนหลุดหายไป ส่วนแขนขวาอยู่ในท่างอข้อศอกซึ่งตรงกับท่าของมัมมี่กษัตริย์หรือราชินีทั้งหลายที่แขนทั้งสองจะอยู่ในท่างอข้อศอกและทบกัน ทาบทับอยู่บนหน้าอก เพื่อจับถือสัญลักษณ์แห่งองค์กษัตริย์คือไม้เท้าปลายงอ (crook) กับไม้เท้าปลายแส้ (flail)

โชคเข้าข้างดร.ฮาวาสส์ตรงที่ระหว่างปี 1903 ถึงปัจจุบัน ได้มีการค้นพบไหดองอวัยวะใบหนึ่งซึ่งมีพระนามของพระนางฮัตเชปสุตประทับอยู่ในการขุดค้นหลุมพระศพแห่งหนึ่ง แถมในไหใบนี้ ยังได้พบฟันกรามซี่หนึ่งซึ่งเมื่อศึกษารูปทรงสัณฐานแล้ว ก็ตรงกันกับโพรงฟันของมัมมี่ "นอนพื้น" ได้อย่างเหมาะเจาะพอดี

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่ขณะตระเตรียมทำร่างให้เป็นมัมมี่นั้น ด้วยความเผอเรอ พระผู้ที่ลงมือได้ทำฟันหลุดออกมาโดยบังเอิญ จึงทำการบรรจุฟันซี่นั้นตามลงไปในไหดองอวัยวะ (การทำมัมมี่จะต้องผ่าตัดเอาอวัยวะ 4 อย่าง คือ ตับ ปอด ไส้และกระเพาะแยกออกมาดองใส่ไห 4 ใบต่างหาก)

เพื่อให้หลักฐานข้างต้นมีน้ำหนักมากขึ้น ดร.ฮาวาสส์ได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญทางพันธุกรรมนำเอาเซลจากกระดูกเชิงกรานและต้นขาของมัมมี่ "นอนพื้น" ไปทดสอบหารหัสพันธุกรรมมาทาบกับรหัสพันธุกรรมของอามอส เนเฟรตารี (Amos Nefretari) ผู้เป็นยายของพระนางฮัตเชปสุต

ผลของการทดสอบหารหัสพันธุกรรมตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นทำให้ดร.ฮาวาสส์ประกาศด้วยความมั่นใจว่าบัดนี้การค้นหาพระนางฮัตเชปสุตได้สิ้นสุดลงแล้ว พระนางได้ถูก "ค้นพบ" เป็นครั้งที่สองในระยะเวลาที่แตกต่างกันถึงกว่าหนึ่งศตวรรษ

ใครคือพระนางฮัตเชปสุต

พระนางฮัตเชปสุตเป็นพระธิดาองค์โตที่เกิดจากพระมเหสีของฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 1 (Thutmosis I) เมื่อพระราชบิดาสวรรคตลง พระนางก็แต่งงานกับน้องชาย (พี่ชาย") ต่างมารดา แล้วขึ้นครองบัลลังก์ร่วมกันในฐานะฟาโรห์ธุตโมซิสที่สองและพระมเหสีตลอดระยะเวลา 15 ปี เมื่อฟาโรห์สิ้นพระชนม์ลง พระนางฮัตเชปสุตได้ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนเจ้าชายองค์น้อย โอรสของสวามีซึ่งเกิดกับพระสนม

เวลาผ่านไปสามปี พระนางฮัตเชปสุตก็ทรงขึ้นครองราชย์อย่างเต็มตัวโดยประกาศเป็นฟาโรห์ฮัตเชปสุต แล้วครองราชย์ต่อมาอีกถึง 21 ปี (ระหว่างปี 1479-1458/7? ก่อนคริสตกาล)

แม้อียิปต์โบราณจะมีฟาโรห์สตรีเช่นพระนาง 6 หรือ 7 พระองค์ แต่แทบทุกกรณีเป็นการใช้อำนาจร่วมกับพระสวามีหรือราชโอรสบุญธรรมทั้งสิ้น กรณีของพระนางฮัตเชปสุตและพระนางคลีโอพัตราที่ 7 ซึ่งครองบัลลังก์อียิปต์ตามลำพังอย่างยาวนานถึง 20 ปีเศษนั้น ต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษและวิเศษจริงๆ

ดีร์ เอล บาฮารี

ในรัชสมัยของพระนางแม้จะไม่มีศึกสงครามใหญ่ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่อียิปต์เจริญรุ่งเรืองทั้งทางการทูตและการค้าที่เฟื่องฟู ในรัชสมัยของพระองค์ อียิปต์ได้ขยายการค้ากว้างไกลลงไปถึงนูเบียและพันต์ (โซมาลีแลนด์ในปัจจุบัน?) ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพจำหลักบนฝาผนังของมหาวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อประกาศกฤษดาภินิหารของพระนางเองในหุบผาแห่งกษัตริย์บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า ดีร์ เอล บาฮารี (Deir el-Bahari)

บนฝาผนังเทวสถานแห่งนี้ ฟาโรห์ฮัตเชปสุตได้ให้ช่างจำหลักภาพของทหารอียิปต์ที่รับบัญชาของพระองค์ออกเดินทางโดยเรือ มีภาพการสร้างเรือแล้วถอดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อลำเลียงข้ามทะเลทรายทางด้านตะวันออก นำไปประกอบเป็นลำเรือขึ้นใหม่ที่ชายฝั่งทะเล ก่อนแล่นใบเลาะชายฝั่งลงไปทางด้านใต้ ต่อจากนั้นจึงเดินเท้าต่อไปยังพันต์เพื่อ "นำเข้า" ผงทองคำและยางไม้หอมจากต้นเมอรฮ์ (Myrrh) และต้นแฟรงคินเสนซ์ (Frankincense) ซึ่งใช้เป็นเครื่องหอมในพิธีกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการทำมัมมี่

ตลอดรัชสมัย พระนางจำหลักรูปของพระองค์ไว้ในที่ต่างๆ เป็นรูปฟาโรห์ชาย มีเคราปลอม (ceremonial beard) อันเป็นรูปลักษณ์ที่ฟาโรห์ทุกพระองค์จะกระทำกัน ทั้งในรูปประติมากรรมบุคคล ในรูปของสฟิงค์ จำหลักบนฝาผนังอาคารและเทวสถาน จำหลักบนผิวลำต้นเสาโอเบลิสค์ ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยพระนามและเรื่องราววีรกรรมต่างๆ ของพระองค์ ทั้งที่ได้ทรงกระทำจริงและที่เป็นไปเพื่อการสรรเสริญเยินยอพระเกียรติยศ

การสาบสูญ

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเมื่อเจ้าชายรัชทายาทต้องรอเวลาอยู่นานถึง 2 ทศวรรษ ย่อมจะมีความผูกใจต่อแม่เลี้ยงด้วยความแค้นเคืองอย่างสาหัส

ฉะนั้น เมื่อพระนางฮัตเชปสุตสิ้นพระชนม์ลง (ดร.ฮาวาสส์พบว่ามัมมี่ของพระนางมีพระชันษา 50 และทรงทนทุกข์ทรมานด้วยโรคเบาหวานและมะเร็งตับ) เจ้าชายรัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 ได้ ก็ทรงทำการ "ลบ" พระนามของพระนางฮัตเชปสุตซึ่งปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ ออก

นี่ไม่ใช่การแก้แค้นธรรมดาของฟาโรห์พระองค์ใหม่ที่รอคอยความตายของพระราชมารดาเลี้ยงมาตลอด 21 ปี แต่เป็นการลบประวัติศาสตร์และการดำรงอยู่ของ "ศัตรู" ของพระองค์ ในขณะเดียวกับที่ประกาศความมีตัวตนอยู่ของพระองค์ควบคู่กับการบันทึกเรื่องราวของประวัติศาสตร์หน้าใหม่

มีเหตุผลที่ชวนให้เชื่อว่าการชำระประวัติศาสตร์เช่นนี้คงจะได้ค่อยๆ เริ่มทำจากพื้นที่ที่ห่างไกลก่อน (เพราะอาจเป็นพื้นที่ที่ความนิยมในตัวพระนางค่อนข้างเจือจาง) และได้ดำเนินไปตลอดรัชสมัยอันยืดยาวถึง 33 ปีของพระองค์ ทั้งยังต่อเนื่องไปจนถึงฟาโรห์พระราชโอรสของพระองค์อีกด้วย

การ "ต่อย" จำหลักพระนามของบุคคลทิ้ง หรือต่อยทำลายบางส่วนของร่างกาย เช่น ปาก แขน ขา เป็นเคล็ดที่จะทำให้บุคคลนั้นๆ มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ อันจะทำให้ "กา" (Ka) หรือจิตวิญญาณไม่อาจจดจำร่างเดิมของตนได้ ชีวิตหลังความตายของบุคคลนั้นก็จะไม่สามารถพบความสุขอันเป็นนิรันดร์ (eternal life) ในโลกหน้าได้เลย

แต่พระนางฮัตเชปสุตไม่เหมือนใครๆ เมื่อคราวขึ้นครองราชย์ พระนางได้ทรงสร้างตำนานของพระองค์เองว่าทรงเป็นราชธิดาของฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 1 และขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นพระธิดาของจอมเทพอามูน (Amun) ด้วย ดังนั้น พระองค์จึงทรงเฉลิมพระนามขณะเป็นฟาโรห์ว่ามาอัตการา (Maatkara) ซึ่งแปลว่าผู้เป็นที่รักของสุริยเทพอามูน และขณะที่คนอื่นๆ มีกาเพียงหนึ่ง แต่พระนางทรงมีถึง 9 กา

เรื่องราวของพระนางฮัตเชปสุตสาบสูญหายไปจากความทรงจำของคนจากการ "ลบประวัติศาสตร์" ทิ้งโดยพระราชโอรสเลี้ยง แล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยการตายของภาษาไฮโรกลิฟเนื่องมาจากความผันแปรของประวัติศาสตร์ ความรับรู้เกี่ยวกับอียิปต์โบราณสูญหายไปจากโลกมนุษย์จวบจนฌอง-ฟรองซัวส์ ฌองโปลิยง (Jean-Francois Champollion) สามารถอ่านภาษาอียิปต์โบราณได้เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง

เรื่องราวของพระนางฮัตเชปสุตกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งเมื่อนักโบราณคดีพบเสาโอเบลิสค์สภาพดีเยี่ยมถูกล้อมด้วยคอกกำแพงปิดบังไว้ที่มหาวิหารคาร์นาค (Karnak) เมื่อรื้อคอกกำแพงออก ก็พบเสาที่พระนางได้ทอดอุทิศถวายให้กับมหาวิหารตามจารีตของบรรดากษัตริย์และเจ้านายทั้งหลายที่กระทำต่อเนื่องกันมา และแม้พระราชโอรสเลี้ยงจะได้พยายามบดบังเรื่องราวของพระนางโดยสร้างกำแพงล้อมรอบเอาไว้ แต่กฤษดาภินิหารของพระนางก็ไม่มีใครสามารถบดบังได้ สมกับที่พระนางทรงอ้างว่ามีถึง 9 กาโดยแท้จริง

สรุป

หากจะมีบทสรุป เรื่องราวข้างต้นนี้คงจะไม่ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนใดๆ ในปัจจุบัน ไม่ทำให้การเมืองของอียิปต์หรือของโลกดีขึ้น ไม่ทำให้การใช้พลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร้สติของมนุษย์ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเอื้ออาทรต่อคนยากคนจนมากขึ้น

เรื่องราวของพระนางฮัตเชปสุตเป็นสิ่งที่อยู่เหนือและพ้นสมัย เช่นเดียวกับอีกหลายสิ่งหลายอย่างอันเป็นอุดมคติที่มนุษย์พยายามแสวงหา หากแต่ความเขลาได้ชักนำให้เราพึงพอใจอยู่กับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า และอุดมคติก็กลับกลายเป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม....

ขอ้มูลจากหอจดหมายเหตุสังคม

หมายเหตุ

รูปประกอบทั้งหมด (ยกเว้นรูปวิหาร) เป็นรูปมัมมี่และรูปจำหลักของพระนางฮัตเชปสุตที่ทรงสร้างไว้ในที่ต่างๆ ในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน

หมายเลขบันทึก: 300607เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

มีเค้าเหมือนนะคะ  โหนกแก้ม  ไม่ใช่หมอ ล่ะค่ะ  แต่สงสัยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูอ้อย ที่แวะเข้ามาเยี่ยม เป็นภาพจริงครับ ผมก็ว่าเหมือนเช้นกันครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ อ.บุญเย็น

ผมสงสัยอยู่สองประเด็นครับ

- ประเด็นแรก ในเมื่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระนางฮัตเชปสุตถูกพระโอรสนอกอุทรพยายามลบล้างแล้ว เราสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับพระนางอย่างไรครับ

- อีกประเด็นหนึ่งจากข้อความที่ว่า "นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่ขณะตระเตรียมทำร่างให้เป็นมัมมี่นั้น ด้วยความเผอเรอ พระผู้ที่ลงมือได้ทำฟันหลุดออกมาโดยบังเอิญ" ผมคิดว่า "ฟัน" มิใช่สิ่งที่ทำให้หลุดได้โดยง่าย แม้ว่าจะเป็นของผู้วายชนม์แล้วก็ตามครับ

ขอบคุณครับ

สมกับที่เป็นนักสังคมวิทยาจริงๆ เลยค่ะ

นอกจากรายละเอียดของการ "ค้นพบ" พระศพของพระนางฮัตเชปสุต (Hatshepsut) พระราชินีอียิปต์โบราณ และการเปรียบเปรยกับข่าวของมนุษย์การเมืองแล้ว

ยังมีบทสรุป ของเรื่องราวแบบ "แสบๆ คันๆ " ทำไม? ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ในทางที่ดีขึ้นเลย...

ขอบคุณสาระความรู้ที่นำมาบอกเล่า....ช่วยทำให้เกิดสติปัญญาให้กว้างขวาง ไม่เป็นกบในกะลา ทำให้รู้ว่ายังมีเรื่องราวที่เรายังต้องเรียนรู้อีกมากมาย

มีความสุขกับการทำงานนะคะ

มาชม

เป็นประวัติศาสตร์เรื่องราวอีกซีกหนึ่งของโลกที่น่าสนใจในศาสตร์นี้นะครับ...

สวัสดีค่ะ

แวะมาศึกษาเรื่องราวของพระนางฮัตเชปสุต

ซึ่งสมัยนั้นพระนางคงเก่งมากมาย

น่ายกย่องจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะ มาเติมความรู้ทางประวัติศาสตร์ค่ะ

แม้ไม่ได้ทำให้โลกปัจจุบันดีขึ้น แต่อาจารย์ก็เรียบเรียงมาได้อย่างน่าสนใจค่ะ

สวัดสดีค่ะ มาเรียนรู้ เปิดหน้าประวัติศาสตร์ของอีกซีกโลกหนึ่ง   

การศึกษาความรู้ทางประวัติศาตร์โบราณ ทำให้ได้รู้ว่าผู้หญิงก็เก่งมาตั้งแต่โบราณแล้วจริงๆนะคะ โยเฉพาะอียิปเนี่ยผู้หญิงมีอิทธิพลมากจริงๆค่ะ อิอิ

คนแก่ๆ ชอบเรื่องเก่าๆคะ

สวัสดีครับขอบคุณป้าเหมียวที่แวะเข้ามาค้นหาประวัติศาสตร์ร่วมกันครับ

mommam

เมื่อ ศ. 25 ก.ย. 2552 @ 13:22

#1572342 [ ลบ ]

สวัสดีครับขอบคุณครับที่แวะเข้ามาร่วมค้นหาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมกัน

สวัสดีครับ ครูใจดี ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมบันทึกของบุญเย็น

ขอลคุณครุบคุณครู เอมอร กศน.อยุธยา ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตรืร่วมกัน

อยากได้บทสรุปมากกว่านี้ค่ะ...คือแบบว่าสรุปเป็นความคิดเห็นของคุณอ่าค๊

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท