พุทธวิธีในการสอน (2)


ผู้มีศิลปะในการสอน ย่อมเป็นครูได้ตลอดกาล

คุณสมบัติของครูในทางพระพุทธศาสนามี ลักษณะ  7  ประการ  ตามนัยพระบาลีว่า

                             ปิโย   ครุ  ภาวนีโย               วตฺตา  จ  วจนกฺขโม

                             คมÚภีรจ  กถํ  สุตฺวา         โน  จฏฺาเน   นิโยชเย ฯ

                   1.  น่ารัก               2.  หนักแน่น              3.  น่ายกย่อง

                   4.  คอยว่ากล่าว      5.  อดทนต่อถ้อยคำ     6.  อธิบายเรื่องยากให้ง่าย

                   7.  ไม่ชักชวนในเรื่องที่ไม่ใช่ฐานะ ฯ

 

            ปิโย    -  น่ารัก

               องค์คุณแห่งการสร้างเสน่ห์น่ารัก

                   สีลทสฺสนสมฺปนฺโน                  ธมฺมฏฐํ  สจฺจวาทินํ

                   อตฺตโน  กมฺม  กุพฺพานํ            ตํ  ชโน  กุรุเต  ปิยํฯ

              แปลความว่า    ประชาชนย่อมกระทำบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล    ทัศนะ  ตั้งอยู่ในธรรมมีปกติกล่าวความสัตย์  ผู้กระทำการงานของตน  ให้เป็นที่รักฯ

              บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยองค์คุณตามพระคาถาพุทธพจน์  ย่อมเป็นที่รักของประชาชน  และประชาชนทั้งหลายย่อมมีจิตศรัทธาในบุคคลนั้น  ดังต่อไปนี้

              1.  ทฏฺฐุกาโม                  ประสงค์จะได้ประสบพบเจอ

              2.  วนฺทิตุกาโม                ประสงค์จะกราบไหว้

              3.  จตุปจฺจเยน  ปูเชตุกาโม  ประสงค์จะบูชาด้วยปัจจัย  4

             ครุ     - หนักแน่น

              คือ  เป็นคนมีใจคอมั่นคง  เป็นคนมีเหตุผล  ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์  ไม่ถืออัตตาธิปไตย  และมีความรู้มั่นคง  กล่าวคือ  เป็นคนทั้งหนัก  ทั้งแน่น คือ  หนักด้วยเหตุผล  และแน่นด้วยวิชาความรู้  กล่าวโดยสรุปมีลักษณะ  3  ประการ คือ

              1.  ทฏฺฐุกามโม      ประสงค์จะได้ประสบพบเห็น

              2.  วนฺทิตุกาโม      ประสงค์ที่จะกราบไหว้

              3.  จตุปจฺจเยน  ปูเชตุกาโม       ประสงค์จะบูชาด้วยปัจจัย  5

          ภาวนีโย               -   น่ายกย่อง

              ประกอบด้วยลักษณะ  5  ประการ ดังนี้

                   1.  ปริสุทฺธสีโล        มีศีลบริสุทธิ์

                   2.  ปริสุทฺธาชีโว       มีอาชีวะบริสุทธิ์

                   3.  ปริสุทฺธมฺมเทสโน  มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์  คือ  อธิบายธรรมได้แจ่มแจ้ง

                   4.  ปริสุทฺธเวยฺยากรโณ มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์  คือ  มีคำพูดไพเราะ

                   5.  ปริสุทฺธญาณทสฺสโน  มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์  คือ  มีความรู้และความคิดถูกต้อง

          กล่าวโดยสรุป คือ “ยถาวาที  ตถาการี” สอนอย่างไร ปฏิบัติได้อย่างนั้น

            วตฺตา      -      คอยว่ากล่าว

              คือ  เอาใจใส่คอยว่ากล่าวตักเตือน  แนะนำพร่ำสอนศิษย์ของตน  ดังพระบาลีว่า  “อิทํ  น  กปฺปติ”  เป็นอาทิ  แปลว่า  สิ่งนี้ควร  สิ่งนี้ไม่ควร  เป็นต้น

          วจนกฺขโม     -  อดทนต่อถ้อยคำ

              คือ  เป็นคนมีขันติธรรมสูง  สามารถอดทนต่อถ้อยคำกล่าวล่วงเกินของศิษย์ได้  เก็บความรู้สึกไม่พอใจไว้ได้  ไม่แสดงกิริยาอาการที่ไม่พอใจที่ผิดปรกติ  ให้ปรากฏออกมานอกหน้า

          คมฺภีรญฺจ  กถํ  กตฺวา    -     อธิบายเรื่องยากให้ง่าย

              คือ  พยายามอธิบายชี้แจงทำความกระจ่างแจ้งในข้อที่ลี้ลับให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายๆ  โดยปราศจากความคลุมเครือเสมือนเปิดของที่ปิด  เป็นต้

 

          โน  จฏฺฐาเน   นิโยชเย ฯ     -     ไม่ชักชวนในเรื่องที่ไม่ใช้ฐานะ

              คือไม่แนะนำชักชวนศิษย์ของตนในทางที่ไม่เหมาะสม  ไม่ถูกต้อง  ไม่ดีงาม  คำว่า  ไม่ใช่ฐานะ  ได้แก่ วัตถุประสงค์ของการสอนวิชาเฉพาะ  มี  3  ประการ คือ

  1. สอนให้เกิดความรู้
  2. สอนให้เกิดความเข้าใจ
  3. สอนให้เกิดความจำได้

 

ความรู้จำแนกออกได้เป็น  ประเภท คือ

          1.  สัญชานนะ   ความรู้เกิดจากการจำแบบอย่างกันสืบๆ  มา

          2.  วิชานนะ  ความรู้เกิดจากการคิดค้นคว้าหาเหตุผล  โดยใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองความจริงได้ด้วยตนเอง

          3.  ปฏิเวธะ     ความรู้แตกฉาน  รู้ตลอดสาย  รู้ตลอดหมด  รู้อย่างทั่วถึง  รู้จบครบถ้วนกระบวนความ

          ความเข้าใจ  คือ  ทราบถึงความมุ่งหมาย  จุดประสงค์ของเรื่องนั้น ๆ  โดยย่อได้  ขยายได้  เปรียบเทียบได้

          ความจำได้  คือ  สามารถนำไปใช้ได้  เมื่อยามต้องการ  โดยสอดคล้องปากและขึ้นใจ

 

พระธรรมกิตติวงศ์   (2548,  หน้า  96-103)   กล่าวถึง  หลักการสอนทั่วไปไว้ว่า 

         1.  ก่อนสอน 

                  พระภิกษุได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นผู้สอนพระปริยัติธรรม  ถือว่าเป็นบุคคลพิเศษสูงสุด  เท่ากับได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดาให้เป็นตัวแทนของพระองค์  นำพระศาสนธรรมของพระองค์ไปเผยแพร่  ณ  ที่นั้นๆ  เพื่อดำรงพระศาสนาต่อไปชั่วกาลนาน  เหมือนเหล่าสาวกในปางก่อนได้ปฏิบัติต่อกันมา ถือว่าเป็นงานมีเกียรติสูงส่ง  ทำหน้าที่ที่ทำได้โดยยาก  มิใช่ทำได้ทุกรูปทุกนาม

              เพราะฉะนั้น  ก่อนที่จะลงมือสอน  พึงปฏิบัติ  ดังนี้

              ก.  ตั้งกัลยาณจิตเป็นกุศล  ว่าจะสอนเพื่อหวังบุญหวังกุศล  เพื่อเผยแพร่ศาสนธรรม  ตามหน้าที่ของพุทธสาวก  มิใช่สอนเพื่อคำสั่งเจ้าอาวาสหรือของใคร  หรือมิใช่สอนแบบเสียมิได้หรือพอถึงเวลาก็ไปสอน

              ข.  ตั้งปณิธานแน่วแน่  ว่าจะสอนให้ดีที่สุดจนเต็มความสามารถ  ไม่ว่านักเรียนจะมีมากหรือน้อยเท่าไร  ก็ตั้งใจสอนเสมอเหมือนกันหมด  โดยยึดแบบพระบรมครู  ซึ่งพระองค์ทรงเสียสละเวลาเป็นวันไปโปรดเพียงคนเดียวบ่อย ๆ 

              ค.  เตรียมหนังสือหลักสูตรและหนังสืออุปกรณ์อื่น ๆ  ให้พร้อม  ก่อนลงมือสอนแล้วตรวจดูหลักสูตรให้ตลอดทั้งหมด  ดูให้เข้าใจทุกตอน

              ง.  วางแผนระยะยาวไว้คร่าวๆ  ว่า  หลักสูตรวิชานี้จะสอนนานเท่าไร  บทไหนหมวดไหนตอนไหนจะใช้เวลาสอนกี่ชั่วโมง  กี่วัน  เป็นต้น  พร้อมทั้งกำหนดไว้ล่วงหน้าว่า  ในตอนนั้นๆ  จะเน้นตรงไหน  อย่างไร

              เมื่อเป็นดังนี้  ก็จะเป็นครูที่ดี  มีความกระตือรือร้นในการสอน  และจะสอนได้ดีเยี่ยม  หากไม่เช่นนี้แล้วจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการสอน  ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะสอน  พลอยทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายไปด้วย

 

2.   การวางแผนก่อนสอน

              การวางแผนก่อนสอน  เป็นกิจเบื้องต้นที่สำคัญมาก  เท่ากับได้วางโครงการสอนไว้ล่วงหน้า  เวลาสอนจริงๆ  ก็ดำเนินไปตามขั้นตอนนั้น  การสอนจึงจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ  การวางแผนนี้  ถ้าวางไว้เป็นตัวหนังสือซึ่งเรียกว่า  บันทึกการสอนได้ก็จะเป็นการดีและเป็นประโยชน์มาก  อาจใช้ได้ทุกปี  ทุกครั้งที่สอนโดยมิต้องกลับมาวางแผนกันอีก  เมื่อถึงปีใหม่  แผนที่วางนั้น  ควรมีหลักใหญ่ๆ  ดังนี้

        ก.  ความมุ่งหมาย  หมายถึง  จุดประสงค์ที่จะสอนแต่ละตอน  มีเพื่ออะไร  โดยต้องการให้ผู้เรียน                          

               -  มีความรู้อะไร

               -  มีทักษะความสามารถแค่ไหน

               -  มีทัศนคติความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร

        ขเนื้อเรื่อง  หมายถึง  เรื่องที่จะสอนนั้นเป็นเรื่องอะไร  มีเนื้อหาสาระอย่างไร จะสอนกว้างแคบแค่ไหน  จึงจะสมภูมิชั้นของนักเรียน

       ค.  วิธีสอน  จะใช้แบบไหน  เช่น

               -   บรรยาย

               -   อภิปราย

      ง.  อุปกรณ์  หมายถึง  สิ่งที่ช่วยให้การสอนเป็นของง่ายขึ้น  เพราะมีเครื่องช่วยให้มองเห็นเรื่องที่สอนได้ชัดเจน  เช่น  หนังสือ  รูปภาพ  แม้ชอล์ก  และกระดานดำ  ก็จัดเป็นอุปกรณ์เหมือนกัน

      จ.  วัดผล  หมายถึง  การวัดระดับความรู้ความเข้าใจของนักเรียน   ซึ่งผู้สอนได้ถ่ายทอดไปให้แล้วอาจวัดได้โดย

               -  การสังเกต

               -  การสอบถามขณะนั้น

               -  การทดสอบด้วยการให้ทำแบบฝึกหัด

        แผนที่กล่าวนี้เป็นแผนกว้าง ๆ  ซึ่งต้องวางไว้ก่อน  ขณะสอนจริง ๆ  อาจยืดหยุ่นได้ตามสถานหรืออาจมีเพิ่มเติมอีกก็ได้  ตามความจำเป็น   ทั้งนี้อยู่ในดุลยพินิจและความฉลาดสามารถของผู้สอน

 

3.  ขณะทำการสอน

       ขณะทำการสอนจัดเป็นขั้นลงมือทำการ  มีข้อปลีกย่อยมากมาย  ไม่อาจกล่าวให้หมดสิ้นได้  แต่มีข้อสังเกตที่พอกำหนดให้เป็นแนวสำหรับผู้สอนได้  กล่าวคือ  ผู้ทำหน้าที่ครูสอน  ในขณะสอนนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักต่อไปนี้ คือ

ก.  บุคลิกและกิริยาท่าทาง

       บุคลิกของผู้สอนจะต้ององอาจ  ผึ่งผายมีความเชื่อมั่นในตนเอง  รูปร่างเล็กใหญ่ไม่สำคัญ  เพราะเป็นรูปธรรมนามธรรม  สิ่งที่จะส่งเสริมบุคลิกได้คือ  การนุ่งห่มเรียบร้อย  การแสดงความยิ้มแย้มแจ่มใส  แสดงถึงความเต็มใจสอน  ความเป็นกันเอง   การพูดจาคมคายมีน้ำหนักและเชื่อมั่นตลอดทั้งกิริยาและท่าทาง เช่น  การเดิน  การนั่ง  การยืน  เป็นต้น  ครูผู้มีกิริยาและบุคลิกท่าทางดี  จะเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจและเต็มใจเรียนด้วย

ข.  เสียง

      เรื่องเสียงเป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะการสอนส่วนมากใช้แบบบรรยาย  จึงต้องอาศัยการพูดเป็นพื้น  ครูจะต้องฝึกเรื่องเสียงนี้มาก ๆ  คือ  พูดให้ดังพอได้ยินกันทั่วห้อง  มีกังวาน  มีความชัดถ้อยชัดคำ  ถูกหลัก  ไม่ช้าและไม่เร็วเกินไป  ครูมีเสียงแหบแห้งเสียงเบาเกินไป  พูดไม่ชัดพูดแบบไม่มั่นใจ  มักทำให้ผู้เรียนเบื่อและหลับในห้องเรียน

ค. สายตา

        ครูต้องมองไปทางผู้เรียนขณะสอน  และมองกวาดให้ทั่วถึงช้า ๆ และค่อย ๆ ไม่ใช่ก้มดูหนังสือไปพูดบรรยายไป หรือหันเข้าหากระดาน หันข้างหันหลังให้ผู้เรียน ผู้เรียนจะเบื่อหน่าย  และคิดว่าครูไม่สนใจตัว  หากได้มองดูผู้เรียนอยู่เสมอ   นอกจากจะทำให้ผู้เรียนไม่กล้าหลับหรือ  ทำอย่างอื่นแล้ว  ยังได้สังเกตว่าใครมีความสนใจไม่สนใจในตัวด้วย

ง.  อิริยาบถ

        ครูจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอขณะสอน  มิใช่นั่งแช่อยู่ที่โต๊ะครูอย่างเดียว  ต้องเดินไปเดินมาข้างหน้าชั้นหรือในชั้นบ้าง  มิใช้พูดอย่างเดียว  สิ่งที่ครูเขียนบนกระดานจะทำให้เกิดจุดสนใจหรือเป็นจุดสนใจของนักเรียน  ปรากฏว่า  ครูที่ยืนสอน  และเขียนบนกระดานบ่อย  ได้รับความสนใจจากผู้เรียนมากกว่านั่งอยู่บนโต๊ะพลางสอนไปพลาง

       ทั้งหมดนี้จัดเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่งของครู  จัดเป็นเทคนิคการสอนแบบ ทั่วไป  มิได้จำกัดวิชา

 

4.  วิธีสอน

      ปัจจุบันนี้  วิธีสอนหรือหลักการสอนมีมากแบบด้วยกัน  ต่างก็มีเหตุผลว่าแบบนั้น ๆ  เป็นแบบการสอนที่ดีทั้งสิ้น  ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงในตำราทางโลก  ใคร่ขอเสนอวิธีสอนตามแบบพระพุทธศาสนา  ซึ่งส่วนมากเป็นแบบของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น  พระองค์ทรงใช้ได้ผลดีมาแล้ว  แลเป็นแบบที่เกจิอาจารย์ประมวลแสดงไว้เป็นแนวทาง คือ

ก.   แบบ  4  โก

            -   สันทัสสโก   สอนให้เห็น      -   สมาทปโก   สอนให้เชื่อ

            -   สมุตเตชโก สอนให้กล้า      -   สัมปหังสโก สอนให้สนุก

ข.  แบบโบราณ

           -  สุ     สอนให้รู้จักฟัง             -  จิ     สอนให้รู้จักคิด

           -  ปุ     สอนให้รู้จักถาม           -  ลิ     สอนให้รู้จักจด  (จดจำ - จดจาร)

ค.  แบบอริยสัจ

           -  ทุกข์       สอนให้รู้จักปัญหา  ให้เห็นปัญหา

           -  สมุทัย     สอนให้รู้จักสาเหตุของปัญหา

           -  นิโรธ      สอนให้รู้จักวิธีแก้ปัญหาด้วยการทดลอง  เก็บข้อมูล

           -  มรรค      สอนให้รู้จักสรุปผล  และหยิบยกไปใช้ในชีวิต

       วิธีสอนทั้งหมดนี้  จะเป็นไปแบบไหนก็ตาม  เมื่อสรุปรวมยอดอันเป็นแนวทางสำหรับยึดถือปฏิบัติแล้ว  ก็ถือผู้สอนจะต้องเน้นหรือหาวิธีการอันใดมาสอน  เพื่อให้ผู้เรียนได้รับผลสมบูรณ์  สิ่งที่ควรเน้นหนักในการสอนคือ

            1.  ต้องสอนให้ผู้เรียนรู้เห็นจริงในสิ่งที่จะได้รู้ได้เห็น

            2.  ต้องสอนให้มีเหตุผล  ให้ผู้เรียนพิจารณาไตร่ตรองตามแล้วเห็นจริงได้

            3. ต้องสอนให้อัศจรรย์   คือผู้ประพฤติปฏิบัติตามย่อมได้รับผลจริงตามที่สอน

เทคนิคการสอน

      เทคนิคในการสอน  ก็คือศิลปะหรือลีลาในการสอนนั่นเอง  ครูผู้สอนจะต้องใช้ศิลปะลีลาในขณะสอนอย่างมาก  ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้เรียนและเพื่อให้จุดประสงค์ของการสอนบริบูรณ์ตามที่ต้องการ  ครูผู้สอน  มีนักเรียนติด  อยากจะให้สอนประจำนั้น  ก็คือครูผู้มีเทคนิคในการสอนดีเท่านั้น  จริงอยู่  คุณสมบัติของครู  มี  2  ประการ คือ

                   1.  มีความรู้ดี

                   2.  มีความสามารถดี

       ใน  2  อย่างนี้ต้องประกอบกันก็จริงอยู่  แต่ถ้าพูดถึงความจริงแล้วจะเห็นว่า  คุณสมบัติประการสุดท้ายคือ  ความสามารถดีนั้น  สำคัญกว่าคุณสมบัติข้อแรก  เพราะความสามารถในที่นี้หมายถึงความสามารถในการถ่ายทอดความรู้  ซึ่งก็ได้แก่  เทคนิคหรือศิลปะในการสอนนั่นเอง

       ถ้าจะแย้งว่า  ถ้าครูไม่มีความรู้  ซึ่งก็ได้แก่  เทคนิคหรือศิลปะในการสอนนั้น  แต่อย่าลืมว่าผู้ถูกมอบหมายให้เป็นครูนั้น  จะต้องมีความรู้เป็นพื้นฐานดีพอควรอยู่แล้ว  ลองสังเกตเปรียบเทียบดูครูผู้มีความรู้ดี  มีเปรียญสูง แต่ขาดความสามารถไม่มีศิลปะในการสอน  ย่อมจะเป็นนักสอนที่ดีไม่ได้  และจะสอนนักเรียนไม่รู้เรื่องด้วย  เพราะไม่เข้าใจวิธีการถ่ายทอด     อีกรูปหนึ่ง  ความรู้เพียงนักธรรมเอกแต่ลีลาการสอนดี  มีศิลปะในการสอนการพูด  รู้จักถ่ายทอดความรู้ดี  นักเรียนย่อมติดรูปนี้มากกว่า  เพราะเรียนแล้วไม่ง่วง  แม้จะได้รับความรู้จากครูรูปแรกก็ตาม  แต่ก็อาจสอบผ่านได้  และยังได้แบบแผนและเทคนิคการสอนติดตัวไปใช้เวลาเป็นครูเขาต่อไปอีกด้วย 

        ดังนั้น เทคนิคในการสอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก   และมากกว่าความรู้ที่จะถ่ายทอดเสียด้วยซ้ำไป  ขอให้จำไว้เบื้องต้นว่า  ผู้มีศิลปะในการสอน  ย่อมเป็นครูได้ตลอดกาล 

        ดังกล่าวมาแล้วว่า  เทคนิคในการสอนมีมากอย่างและมีมากแบบ  ไม่อาจแสดงให้หมดสิ้นได้  ต่อไปนี้จะกล่าวพอเป็นแนว ๆ  ให้เห็นเท่านั้น

 เทคนิคการสอนแบบ  โก

      1.   สันทัสสโก        สอนให้เห็น

          สอนให้เห็น  คือสอนให้ผู้เรียนเห็นของจริง  จะได้เห็นก่อนสอนหรือเมื่อสอนจบแล้วก็ได้  เช่น  จะสอนเรื่องโทษของการล่วงละเมิดพระวินัย  อาจนำภาพพระถูกจับสึกมาให้ดูก่อนก็ได้  อาจยกตัวอย่างพระในวัด (หากมี)  ให้ดูว่า  ทำผิดวินัยแล้วถูกลงโทษอย่างไรก็ได้  หรือเล่าเรื่อง  พระภิกษุอาทิกัมมิกะ  ในสิกขาบทนั้นๆ  ว่ามีวิปฏิสารอย่างไรก็ได  อย่างครั้งนี้เป็นการสอนให้เห็นด้วยใจ  ไม่ใช่ด้วยตา

          การสอนแบบนี้  พระพุทธองค์เคยทรงใช้มา  เช่น  จะทรงสอนเรื่องผลของบาป  ก็ทรงชี้ให้ดูไฟที่กำลังไหม้ป่าก่อน  แล้วทรงสอนว่า  ไฟนรกร้อนกว่าไฟป่า เป็นต้น

          ผู้สอนแบบนี้  ต้องเป็นนักอ่าน  เป็นนักสังเกต  และสามารถหาตัวอย่างปัจจุบันมาให้ผู้เรียนเห็นได้ตัวอย่างปัจจุบันย่อมดีกว่าตัวอย่างในอดีตซึ่งไม่มีใครรู้ใครเห็นจริง ๆ

      2.   สมาทปโก        สอนให้เชื่อ

          สอนให้เชื่อ คือ สอนให้ผู้เรียนเกิดศรัทธาในข้อที่สอน ไม่ใช่ศรัทธาหรือเชื่อผู้สอน  ให้มีความยึดถือ  ที่จะทำให้ยอมรับในสิ่งที่สอน  แบบนี้ผู้สอนจะมีศิลปะมีวาทะโน้มน้าวดี  พูดด้วยความเชื่อมั่นว่าที่สอนนี้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ  มิใช่ผู้สอนเองก็ไม่มั่นใจเท่าไรนัก  พูดข้างๆ คูๆ  ไม่เด็ดขาดลงไป  หรือพอถูกถามเข้าก็ตอบหลบเลี่ยงไป  หรือแบ่งรับแบ่งสู้  อย่างนี้  ผู้เรียนก็ยากที่จะเชื่ออย่างที่สอน  อนึ่งความเชื่อนี้ก็สืบเนื่องมาจากรู้เห็นจริงนั้นเอง  คือ  เมื่อสอนให้เขาเห็นจริงได้แล้ว  ก็มักจะเชื่อถือติดตามมาด้วย

          การสอนโน้มน้าวให้เชื่อให้ยอมรับ  จะต้องมีข้ออุปมาเปรียบเทียบ  มีตัวอย่างให้รู้ให้เห็น  มีคำพูดคมคายเชื่อมั่นในตนเอง  พูดคำเดียว  ไม่ใช้แบ่งรับแบ่งสู้  แต่ไม่ต้องถึงกับลงทุนสาบานให้เชื่อ

      3.   สมุตเตชโก       สอนให้กล้า

          สอนให้กล้า  คือ สอนให้มีความกล้าหาญที่จะลงมือปฏิบัติตาม  ได้แก่  ปลุกใจให้เกิดความองอาจ  กล้าหาญ  โดยการพูดจูงใจ  การชมเชย  การให้รางวัล  เป็นต้น  ความกล้าที่จะทำตามนี้มักสืบเนื่องมาจากความเชื่อถือ  โดยการพูดจูงใจ  การชมเชย  การให้รางวัล  เป็นต้น  ความกล้าที่จะทำตามนี้มักสืบเนื่องมาจากความเชื่อถือ  ซึ่งถูกสอนมาแล้วนั้นเอง  การสอนโดยวิธีให้เห็นของจริงให้ลงมือทำจริงในเรื่องนี้ก็เป็นแนวทางให้เกิดความกล้าทำต่อไป เช่นกัน

      4.   สัมปหังสโก      สอนให้สนุก

          สอนให้สนุก คือ  สอนให้ผู้เรียนเกิดความสนุกในเวลาเรียน  ไม่เบื่อ ไม่ง่วง  แต่ตั้งใจฟังข้อนี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะบุคคล  ผู้สอนให้สนุกได้มักได้เปรียบเสมอ  และผู้เรียนจะติดด้วย  แต่ทั้งนี้  ต้องให้สนุกในเนื้อหาไม่ใช่สนุกนอกหลักสูตรจนเกินไป  จะกลายเป็นจำอวดไป  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเบื่อได้เหมือนกัน

 จุดหมายปลายทางของการสอน

         มีข้อควรคำนึงอีกอย่างหนึ่ง คือ  การสอนจะสมบูรณ์ได้ต้องให้ผู้เรียนได้ถึงจุดหมายที่ต้องการ จุดหมายที่ว่านี้  มี  5  ประการ คือ

                   1.  จำได้                  2.  หมายรู้                3.  ดูออก

                   4.  บอกถูก               5.  ทำเป็น

        ใน  5  ประการนี้  ผู้สอนจะต้องเน้นให้มี  และต้องใช้เทคนิคต่างๆ  เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายนี้ 

                  เทคนิคในการสอนให้  จำได้

                   -  แนะวิธีท่องจำได้

                   -  ให้ท่องบทเรียนต่อไป  โดยเฉพาะหัวข้อ

                   -  ทบทวนแบบเรียนก่อนสอนทุกวัน

                   -  ถามแบบเมื่อถึงเวลาสอน  (ถามด้วยปากเปล่า)

                   -  ออกแบบทดสอบโดยถามแบบทุกครั้ง

              เทคนิคในการสอนให้  หมายรู้

                   -  อธิบายความหมายให้ฟังจากสิ่งที่ง่ายไปหายาก

                   -  อธิบายความหมายโดยการยกอุปมา  สาธก

                   -  ให้ผู้เรียนออกมาอธิบายหน้าห้อง

                   -  ออกปัญหาถามให้อธิบายความ

                  เทคนิคในการสอนให้  ดูออก

                   -  เล่าเรื่อง  สาธกก่อน  แล้วให้ตัดสินว่าตรงกับเรื่องที่สอนข้อใด

                   -  ให้หาตัวอย่างมาก  เพื่อให้เข้ากับเรื่องที่กำลังสอน

                   -  ให้วิจารณ์จากเหตุการณ์หรือเรื่องรอบ ๆ  ตัว

                  เทคนิคในการสอนให้  บอกถูก

                   -  ถามปัญหาให้ตอบด้วยปากเปล่า

                   -  ให้อธิบายสิ่งที่เรียนไปแล้ว

                   -  ทดสอบด้วยข้อเขียน  ทั้งแบบให้อธิบาย  และชี้ถูกชี้ผิด

                  เทคนิคในการสอนให้  ทำเป็น

                   -  เรียกมาสาธิตให้ดู

                   -   ติดตามความประพฤติ  การกระทำ

                   -  แก้ไขที่บกพร่องทันทีที่พบเห็น

เทคนิคการแก้ปัญหาในห้องเรียน

       ในห้องเรียน  มักมีปัญหาให้ครูผู้สอนต้องแก้ไขเสมอ  เช่น  ผู้เรียนไม่สนใจ  คุยกันบ้าง  นั่งหลับบ้างหนีออกมานอกห้องบ้าง  ทำความยุ่งยากและความท้อแท้ให้เกิดกับผู้สอนอยู่ไม่น้อย  ข้อนี้ผู้สอนจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไข    มิใช่ปล่อยเลยตามเลย       ใครจะทำอย่างไรก็ช่าง  มีหน้าที่สอนอย่างเดียว  สอนหมดเวลาก็เลิกกัน  มิใช่เช่นนั้น  ไหนๆ  ก็ลงทุนลงแรงสอนแล้วควรจะให้เกิดผลบ้าง

       การแก้ปัญหาต่าง ๆ  นี้  ครูผู้สอนต้องมีเทคนิคพอสมควร  ต่อไปนี้ขอเสนอแนะวิธีแก้ไขให้โดยให้ครูผู้สอนเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ  อย่างสลับกัน  ก็อาจแก้ปัญหาได้

ผู้เรียนชอบหนีโรงเรียน  ไม่เข้าห้องเรียน

         ข้อเสนอแนะ

                -  สำรวจข้อบกพร่องของครูผู้สอนว่าบกพร่องอย่างไรหรือไม่

                -  พยายามใกล้ชิดและทำตัวเป็นกันเองกับผู้เรียนรูปนั้น

                -  ขอความร่วมมือจากเจ้าอาวาสหรือพระพี่เลี้ยงของรูปนั้น

                -  ปรับปรุงวิธีการสอนของครูเสียใหม่  เพื่อสนองความต้องการ

                  -  หาข้อบกพร่องของผู้เรียน  พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

  ผู้เรียนชอบคุยกัน  ในขณะสอน

          ข้อเสนอแนะ

                -   หยุดสอนชั่วขณะจนกว่าผู้ที่คุยจะหยุดพูด

                -   หยุดสอนแล้วถามเรื่องที่คุย

                -   ตักเตือนหรือตำหนิทันที  ตามควรแก่กรณี

                -   แยกผู้ที่ชอบคุยให้อยู่ห่างกัน

               -   อบรมเกี่ยวกับมารยาท  ในการฟังและการพูด

ผู้เรียนชอบหลับ  ในขณะสอน

        ข้อเสนอแนะ

             -  สำรวจและปรับปรุงวิธีการสอนของครู

             -  ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่น  หยุดพักประมาณ  15  นาที

             -   ถามผู้ชอบง่วงบ่อยๆ  เพื่อให้ประสาทตื่นตัว

             -   แนะนำให้ไปล้างหน้า

             -   หานิทานหรือเรื่องนอกบทเรียนที่สนุกๆ  มาเล่าแทรก

             -   ให้ผู้เรียนออกมาเล่าเรื่องแปลกๆ  ให้กันฟัง

       ขอเสนอแนะเหล่านี้  เป็นเพียงตัวอย่างที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วทั้งนั้น  ครูผู้สอนอาจมีเทคนิคเป็นของตัวเองต่างหาก  ซึ่งถ้าใช้ได้ผลก็เป็นอันถูกต้องและสมควรทั้งสิ้น แต่วิธีสอนต้องไม่ซ้ำกันบ่อยนัก  จะทำให้เกิดความเคยชิน  และไม่ได้ผลในกาลต่อมา

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 300551เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท