คุณธรรมและจริยธรรม (๕)


3.  แนวทางและวิธีการปลูกฝังจริยธรรม

          คุณธรรมจริยธรรมเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการพัฒนาการด้านสติปัญญาและการอบรม กล่อมเกลาให้รู้จักผิดชอบชั่วดีของสังคม คุณธรรมจริยธรรมจึงเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ ทั้งในระบบนอกโรงเรียนและในโรงเรียน การศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและกำกับให้ตนเองเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมอันพึงประสงค์ด้วยการปลูกฝังพื้นฐานด้านจริยธรรมในด้านต่าง ๆ กระบวนการปลูกฝัง ดังที่ ประภาศรี สีหอำไพ (2543) ได้วางกรอบกระบวนการสังคมประกิต

 

          3.1  การศึกษาเพื่อการปลูกฝังจริยธรรม การศึกษาเป็นการให้ความรู้ในเรื่องจริยธรรม การให้การศึกษา รวมถึงการอบรมบ่มนิสัย ให้เรียนรู้สิ่งที่ถูกผิด และการตักเตือนให้เกิดความสำนึกในความถูกต้องและความผิด

          1) การปลูกฝังพื้นฐานด้านวิชาการ การเรียนการสอน การศึกษาของไทยมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หลักสูตรต่าง ๆ ที่นำมาใช้จะมีลักษณะแนวทางที่เป็นไปในทางเดียวกันกับพุทธปรัชญา

          2) การปลูกฝังพื้นฐานด้านชีวิตและสังคม การปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในการดำรงชีวิตทางด้านสังคมก็จะนำพระธรรมที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นหลักในการคิดและการแก้ปัญหาในเชิงคุณธรรมจริยธรรม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคมและจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น

          3) การปลูกฝังพื้นฐานด้านจิตวิทยา เป็นพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยการคิด การหยั่งเห็น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีการไตร่ตรองจนเกิดความเข้าใจ จนเกิดเป็นจิตสำนึก การศึกษาจึงต้องมุ่งอบรมให้บุคคลคิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น ซึ่งมีความมุ่งหมายปลายทาง คือให้คิดดี ทำดีและแก้ปัญหาได้ดี การศึกษาจิตวิทยาทำให้เข้าใจธรรมชาติความต้องการของมนุษย์เพื่อให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นด้วย การสร้างแรงจูงใจตนเองเพื่อให้สามารถพัฒนาไปสู่ความดีงามได้

          เนื่องจากจริยธรรมคุณธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการได้รับประสบการณ์และจากการอบรมสั่งสอน ชี้แนะให้มองเห็นความผิด ชอบ ชั่ว ดี  บุคคลมักจะได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากกลุ่มที่เป็นตัวแทนทางสังคมที่ทำหน้าที่  รับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูให้บุคคลในสังคมเป็นผู้ที่ตระหนักรู้และมีพฤติกรรมที่กล่าวได้ว่า เป็นผู้มีจริยธรรมคุณธรรม คือ ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน สื่อสารมวลชน และศาสนา บุคคลในกลุ่มสังคมเหล่านี้ต้องพยายามค้นหาวิธีการเพื่อพัฒนาและปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรม

          3.2 การพัฒนาจริยธรรมคุณธรรมด้วยการปลูกฝังค่านิยม การปลูกฝังค่านิยม เป็นวิธีการปลูกฝังที่เริ่มต้นด้วยกระบวนการในขั้นพื้นฐาน  ซึ่ง ประภาศรี  สีหอำไพ (2543 หน้า 242) ได้เสนอแนะวิธีการปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมไว้หลายประการ เช่น

          1) กำหนดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาตามคุณธรรมจริยธรรมอย่างสอดคล้องกัน

          2) เสนอตัวอย่างพฤติกรรมที่พึงปรารถนา พร้อมทั้งแสดงให้เห็นผลดีผลเสีย

          3) ประเมินพฤติกรรมที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับคุณธรรมและจริยธรรมโดยใช้เกณฑ์ผลของพฤติกรรมต่อตนเอง หมู่คณะและสังคม

          4) แลกเปลี่ยนและวิจารณ์การประเมินในกลุ่ม

          5) ฝึกปฏิบัติให้บุคคลกระทำด้วยใจสมัครและให้ประเมินผลสำเร็จด้วยตนเอง

          6) ย้ำให้บุคคลรับเอาพฤติกรรมที่สอดคล้องกับจริยธรรมและคุณธรรมโดยให้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของตน

          7) การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและการชักชวนให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสมกับจริยธรรมและคุณธรรม

          8) พัฒนาค่านิยมจากระดับญาติพี่น้อง ไปสู่หมู่คณะและสังคม เช่น เริ่มต้นจากความกตัญญู ความเสียสละ ความสามัคคีในหมู่พี่น้อง หมู่คณะ และสังคม ไปจนถึงประเทศชาติ 

          9) จัดกิจกรรมเสริม เช่น กิจกรรมรณรงค์ นิทรรศการ การประชุม สัมมา การอภิปราย การศึกษากรณี การจัดงานประเพณี เป็นต้น

          3.3 การพัฒนาจริยธรรมคุณธรรมด้วยการใช้สติปัญญา มนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยสติปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแม้ว่าจะมีสติปัญญาที่ไม่เท่ากัน สติปัญญาเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สามารถพัฒนาให้เพิ่มพูนความสามารถได้ สติปัญญา คือ ความฉลาด ผู้ที่มีสติปัญญาดีคือผู้ที่สามารถคิดแก้ไขปัญหาได้ดีเนื่องจากเข้าใจปัญญาได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการพัฒนาจริยธรรมคุณธรรมของนักบริหารนั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ที่เหนือผู้อื่น วิธีการพัฒนาด้วยการใช้สติปัญญาจึงน่าจะกระทำได้อย่างเป็นผลดี วิธีการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรมด้วยการใช้สติปัญญา  ประภาศรี สีหอำไพ (2543 หน้า 243) เสนอแนะ เช่น

          1) กลุ่มสัมพันธ์ การสร้างความเข้าใจสมาชิกในแง่มุมที่เป็นเชิงบวกและการปรับพฤติกรรมความคิดของกลุ่ม

          2) การสืบสวนสอบสวน เป็นการใช้วิธีซักถามเพื่อให้ได้คำตอบของผลของการกระทำที่นำไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับสังคม

          3) การแสดงบทบาทสมมติ เพื่อให้เกิดแนวความคิดในการแก้ปัญหาในเชิงคุณธรรมและจริยธรรมร่วมกัน

          4) การเล่นเกมส์ เพื่อนำการเล่นเกมส์มาสู่หลักการของความคิดที่จะทำให้คู่ต่อสู้แพ้ซึ่งอาจเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์สะท้อนกลับมายังตนเอง

          5) การใช้สื่อโสตทัศนอุปกรณ์ ให้ดูตัวอย่างภาพการแสดงพฤติกรรมเพื่อนำมาวิเคราะห์

          6) การจัดค่ายจริยธรรม เพื่อให้บุคคลทีประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสถานการณ์ที่จำเป็น

          การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมปัญญาเป็นแนวทางที่ทำให้ได้มีโอกาสคิดในสถานการณ์ที่ตนเองเป็นบุคคลภายนอกหรือผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากบุคคลมักจะมองไม่เห็นแนวทางเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาทางจริยธรรมจึงอาจมีสภาพคล้ายเส้นผมบังภูเขาได้

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

จำเริญรัตน์ เจือจันทร์. (2548). จริยศาสตร์: ทฤษฎีจริยธรรมสำหรับนักบริหารการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: โอ.เอส. พริ้นต้ง เฮ้าส์

ดวงเดือน พันธุมนาวิน  (2538)  ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมกับพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการไทย. มมป. เอกสารอัดสำเนา.

ติน ปรัชญาพฤทธิ์. (2536). วิชาชีพนิยมของระบบราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: วิวัฒนาการและผลกระทบต่อสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ประภาศรี สีหอำไพ. (2543). พื้นฐานการศึกษาทางศาสนาและจริยธรรม. กรุงเทพมหานคร:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ป๋าเปรมยก 14 พระราชดำริ สอน จริยธรรมผู้นำ 10 กุมภาพันธ์ 2549 หนังสือพิมพ์ มติชน หน้า 11

พระเทวินทร์ เทวินโท. ( 2544 ). พุทธจริยศาสตร์. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง

พระเมธีธรรมาภรณ์. (2544). รุปแบบการปลุกฝังคุณธรรมและอาชีพของคนไทยสมัยก่อนกับสภาพปัจจุบัน. ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (บรรณาธิการ) ความรู้คู่คุณธรรม รวมบทความคุณธรรม จริยธรรมและการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หน้า 103-117)

วริยา ชินวรรโณ. (2546). บทนำ : จริยธรรมในวิชาชีพ.  วริยา ชินวรรณโณ (บรรณาธิการ) จริยธรรมในวิชาชีพ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ (หน้า 1-38)

วิชา มหาคุณ. (2546). บทนำ : จริยธรรมในวิชาชีพ.  วริยา ชินวรรณโณ (บรรณาธิการ) จริยธรรมในวิชาชีพ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ (หน้า 134-144)

ส. เสถบุตร. ( 2536). New Model English-Thai Dictionary. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช.

สุภัททา ปิณฑะแพทย์. (2527). จิตวิทยาพัฒนาการ. กรุงเทพมหานคร : หอรัตนชัยการพิมพ์

 

Boeree, C. G. (2003). Moral development. [Online]. Available: http://www.ship.edu/~cgboeree/genpsymoraldev.html. [2004, August 22].

Covey, S. (2004). The seven habits of highly effective people. New York: Franklin Covey

Huitt, W. G. (2002). Moral and character development. Valdosta State University. [Online]. Available; http://www.wilderdom.com/character.html[2004, June 12].

Tuck-Ladd, C. (2000). Psychological self help. Mental health net: Q1 Award. [Online]. Available: http://www.mentalhelp.net/psyhelp/ [2004, August 2].

Wood, J., Wallace, J., and Zaffane, R. (2001). Organizational Behavior: A Global Prospective. Brisbane: Jon Wiley & Sons Australia.

  Copyright 2005. All rights reserved. Contact: [email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 300118เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท