แนวคิดใหม่การพัฒนาของ “แผนที่ผลลัพธ์”.........แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) ตอน4


ดังนั้นการมีส่วนร่วม การเรียนรู้และการเพิ่มพลังอำนาจจะต้องได้รับการมุ่งเน้นอย่างจริงจังกับแผนงาน/โครงการที่ใช้เครื่องมือ “แผนที่ผลลัพธ์”นี้

“แผนที่ผลลัพธ์”แนวคิดใหม่ของการพัฒนา 

“แผนที่ผลลัพธ์” เป็นเครื่องมือตามแนวคิดใหม่การพัฒนา  ที่เชื่อว่าการพัฒนามีความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  และต้องร่วมกันกำหนดทั้งการชักนำให้เข้าเป็นภาคีหุ้นส่วน ทั้งนี้“แผนที่ผลลัพธ์”เป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างชาติแห่งคานาดา (IDRC) โดย IDRC ได้เสนอหลักการ แนวคิดของ“แผนที่ผลลัพธ์” ในหนังสือ ชื่อ Outcome Mapping :Building  Learning  and Reflection into Development Programs แปลเป็นภาษาไทย“แผนที่ผลลัพธ์” โดย อ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล  จากมธ.ครับ

แผนที่ผลลัพธ์ถูกพัฒนาขึ้นมาบนหลักคิดที่ว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในแผนงาน/โครงการพัฒนาเป็นผู้ “ควบคุม” การเปลี่ยนแปลงที่พึงเกิดจากการพัฒนา   ทั้งนี้หากเป็นแผนงาน/โครงการการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น  ขบวนชุมชนท้องถิ่นก็จะเป็นผู้ “ควบคุม”ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ส่วนนักพัฒนาคนนอกเป็นเพียงคนที่อำนวยให้เกิดกระบวนการการเปลี่ยนแปลง โดยการช่วยให้ขบวนชุมชนท้องถิ่นก็ได้เข้าถึงความรู้ โอกาส และทรัพยากรใหม่ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

การให้ความสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องในแผนงาน/โครงการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของขบวนชุมชนท้องถิ่นนั้น   ไม่ได้หมายความว่าแผนงาน(หรือองค์กรสนับสนุนการพัฒนา)จะเป็นผู้ตัดสินว่าคนของขบวนชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปทำไม แต่ต้องเป็นความต้องการของคนเหล่านั้นเอง(ขบวนชุมชนท้องถิ่น) ที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ของเขาเอง นั่นคือ การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จนั้น ต้องทำและรับผิดชอบโดยคนของขบวนชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เองเป็นหลักเท่านั้น  

ดังนั้นการพัฒนาตามแนวคิด “แผนที่ผลลัพธ์”นี้การพัฒนาจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม จุดเน้นของ “แผนที่ผลลัพธ์”คือ “คน” การติดตามและประเมินผล  การทำงานของแผนงานโดยใช้ “แผนที่ผลลัพธ์” นี้ เป็นความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนการประเมินผล  ทั้งนี้ “แผนที่ผลลัพธ์”ไม่ต้องการที่จะมาแทนที่การประเมินผลแบบเดิม หากแต่ “แผนที่ผลลัพธ์”จะเติมเต็มการประเมินผลแบบดั้งเดิมเหล่านั้น

“แผนที่ผลลัพธ์”ได้รับการพัฒนาจาก IDRCซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชื่อที่ว่า  การวางแผนและการติดตามการประเมินผลจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แผนงาน/โครงการ มีกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ดังนั้นแผนงานที่ใช้ “แผนที่ผลลัพธ์” จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ ที่อยู่บนฐานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนงานและการติดตาม ประเมินผลด้วย

ความสำคัญในเรื่องนี้คือ แผนงาน/โครงการที่ใช้เครื่องมือ“แผนที่ผลลัพธ์”นี้  จะต้องได้รับการเพิ่มพลัง  รวมทั้งเป็นการดำเนินงานโครงการแบบมีส่วนร่วมและเน้นกระบวนการเรียนรู้เท่าๆกับการเพิ่มพลังอำนาจ  ดังนั้นการมีส่วนร่วม  การเรียนรู้และการเพิ่มพลังอำนาจจะต้องได้รับการมุ่งเน้นอย่างจริงจังกับแผนงาน/โครงการที่ใช้เครื่องมือ “แผนที่ผลลัพธ์”นี้

ส่วนการประเมินผลตามแนวคิด “แผนที่ผลลัพธ์”จะเน้นไปที่การดูที่ผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเช่นกันนั้น ก็ด้วยต้องการให้เห็นว่าผู้รับผิดชอบโครงการในชุมชนท้องถิ่นจะไม่ทำเพียงให้ขบวนชุมชนท้องถิ่นสามารถทำกิจกรรมสำเร็จตามแผนงานเท่านั้น หากแต่ต้องสามารถใช้เครื่องมือ ความชำนาญ และความรู้ที่เหมาะสมในการตรวจติดตามผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง  ทั้งนี้ อยู่บนฐานคิดอยู่ที่ว่า “แผนที่ผลลัพธ์”ให้วิธีการและเครื่องมือแก่แผนงานพัฒนา  ทั้งในการวางแผน/โครงการและการเข้าถึงศักยภาพของคน กลุ่มคน องค์กร ตลอดจนการติดตามประเมินผล  ซึ่งจากแนวคิดของ“แผนที่ผลลัพธ์”จะเห็นได้ว่า การประเมินผลโครงการ  ควรเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นคิดพัฒนาโครงการคือจะต้องมีการพัฒนาโครงการไปพร้อมกับพัฒนาวิธีการประเมินผลลัพธ์   การประเมินผลลัพธ์ก็จะเป็นการประเมินเพื่อส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จของโครงการ และเป็นกระบวนการที่ทั้งฝ่ายผู้ประเมินและผู้ดำเนินงานโครงการร่วมกันคิดแบบมีส่วนร่วม  เป็นการเรียนรู้และเป็นการเพิ่มพลังอำนาจในการพัฒนาไปพร้อมๆกัน

ดังนั้น“แผนที่ผลลัพธ์” จึงถือว่าเป็นแนวคิดใหม่ของการพัฒนา ในลักษณะการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือกระบวนทัศน์การพัฒนาที่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้อง  แนวคิดใหม่ของการพัฒนา ของ“แผนที่ผลลัพธ์” สรุปเป็นหลักการสำคัญได้ดังนี้

  • การพัฒนาที่ยั่งยืน หัวใจอยู่ที่ การเปลี่ยนแปลงความคิดหรือกระบวนทัศน์ของคน
  • การพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การกำหนดและชักนำเข้าเป็นภาคีหุ้นส่วน (boundary partners) เกิดข้อตกลงร่วมกันเป็นหุ้นส่วนกัน (agreements and partnerships)
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน มีองค์ประกอบที่ซับซ้อน “ผลลัพธ์”ที่แท้จริงต้องใช้เวลา
  • เครื่องมือวางแผนงานใช้ติดตาม + ประเมินผล เน้นพฤติกรรมผู้มีส่วนร่วมในแผนงานโดยตรง
  • “แผนที่ผลลัพธ์” เน้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในองค์กร มีเป้าหมายให้สุขภาวะสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
  • แนวคิดใหม่เชื่อว่าการพัฒนาเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน จะไม่สามารถแยกออกได้  เช่น มีหน่วยงานอื่นๆเกี่ยวข้องมากมายทั้งระดับต้นน้ำและในพื้นที่ เช่น หน่วยงานราชการอื่น
  • นอกจากนี้ หากแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของการพัฒนาเป็นผลงานของตนเอง (ผู้ให้ทุน ผู้ทำโครงการ) จะทำให้ผู้มีส่วนร่วมทำให้ผลงานสำเร็จหรือชุมชน ไม่เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของการพัฒนา ขาดความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจ
  • บทเรียนในอดีตทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ของการพัฒนา มองเรื่องที่จะพัฒนาอยู่ในระบบเปิด มีความสัมพันธ์กับเรื่องอื่น และเกี่ยวข้องกับคนในชุมชนอย่างซับซ้อน ไม่เป็นความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงเพียงอย่างเดียว
  • การเปลี่ยนแปลงจุดใดจุดหนึ่ง ย่อมกระทบต่อเรื่องอื่น หรือ หน่วยงานอื่นอีกหลายจุด
  • การวางแผนและการติดตามการประเมินผลจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แผนงาน/โครงการ มีกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น
  • การมีส่วนร่วม  การเรียนรู้และการเพิ่มพลังอำนาจจะต้องได้รับการมุ่งเน้นอย่างจริงจังกับแผนงาน/โครงการที่ใช้เครื่องมือ “แผนที่ผลลัพธ์”

หมายเหตุ  บันทึกจากเข้ารับการอบรมหลักสูตร  “แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping)ขั้นพื้นฐาน” จัดโดยบางกอกฟอรั่ม ที่ KU Home มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ ที่12-13 กันยายน 2552 มี อ.หมู- วีรบูรณ์ วิสารทสกุล  เป็นวิทยากร เป็นการบันทึกรายงานการเข้าอบรมเสนอกับองค์กรของผู้บันทึกผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนรู้ด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 299776เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับท่าน สุเทพ มาเรียนรู้OM ต่อครับ

อ่านแล้วได้เนื้อหาสาะมากครับ ..........จะนำไปขยายให้แก่องค์กรชุมชนต่อไป

แผนที่ผลลัพธ์ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทาง สรพ.ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล และเป็นการประเมินผลในพื้นที่..

น่าสนใจมากครับ ขอแลกเปลี่ยนกับพี่สุเทพในโอกาสต่อไปครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท