Creative Economy : บทสังเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทย (ตอนที่ 1)


Creative Economy : บทสังเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทย (ตอนที่ 1) เพลานี้ Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ได้กลายเป็นกระแสและคำฮิตติดปากไปเรียบร้อยแล้ว ใครๆก็สามารถจำนรรจาเรื่อง Creative Economy ได้อย่างคล่องปาก โดยหยิบยกตำราเล่มนั้นหนังสือเล่มนี้มาอ้างอิง หรือไม่ก็ประสบการณ์จากประเทศอังกฤษและเกาหลีใต้ แต่จะมีสักกี่คนที่มองให้ลึกซึ้งลงไปว่า Creative Economy ที่เอ่ยอ้างกันมานั้น จะนำมาใช้ในบริบทประเทศไทยได้อย่างไร โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายในการพัฒนา Creative Economy ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ท่ามกลางทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัด

Creative Economy : บทสังเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ประเทศไทย

เพลานี้ Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ได้กลายเป็นกระแสและคำฮิตติดปากไปเรียบร้อยแล้ว ใครๆก็สามารถจำนรรจาเรื่อง Creative Economy ได้อย่างคล่องปาก โดยหยิบยกตำราเล่มนั้นหนังสือเล่มนี้มาอ้างอิง หรือไม่ก็ประสบการณ์จากประเทศอังกฤษและเกาหลีใต้ แต่จะมีสักกี่คนที่มองให้ลึกซึ้งลงไปว่า Creative Economy ที่เอ่ยอ้างกันมานั้น จะนำมาใช้ในบริบทประเทศไทยได้อย่างไร โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดนโยบายในการพัฒนา Creative Economy ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ท่ามกลางทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัด

ประเด็นแรก ที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัด คือ Creative Economy มีลักษณะที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่า Creative Industries ดังนั้น จึงไม่ใช่การนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ (Creative Business) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีการสร้าง Creative Infrastructure เพื่อรองรับการขยายตัวและเติบโตของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยภาพรวมอีกด้วย

เราต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตมาจนถึงวันนี้นั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลเมื่อหลายสิบปีก่อนต้องกระทำก่อนที่จะเร่งสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งหลายก็คือ การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และถนนหนทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหลายได้อาศัยพึ่งพิงในการเจริญเติบโต

ความสำเร็จของอังกฤษและเกาหลีใต้ในการพัฒนา Creative Economy ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หรือเพียงเพราะรัฐบาลนำเงินงบประมาณมหาศาลมาสนับสนุนให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหลายได้เติบโต แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Creative Infrastructure) ในการเติบโตของทั้งสองประเทศนี้ก็คือ หลักสูตร “วัฒนธรรมศึกษา” ที่มุ่งเน้นการศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมร่วมสมัยและวิถีชีวิตของกลุ่มคนต่างๆในสังคม ซึ่งแม้ว่าในจุดเริ่มต้นจะเป็นเพียงการวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัย แต่สุดท้าย “รากฐานความรู้” ที่บ่มเพาะมายาวนานนับสิบปีนี้เอง ได้ถูกนำมาใช้ต่อยอดในการพัฒนา Creative Product ของธุรกิจสร้างสรรค์ทั้งหลายให้มีความโดดเด่นหลากหลายและสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนในชาตินั้น

จากรากฐานการวิจัยค้นคว้าที่แข็งแกร่งเช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ Creative Economy ในประเทศเกาหลีใต้และอังกฤษจะเจริญรุดหน้าประเทศอื่นไปหลายช่วงตัว

สำหรับประเทศไทย ได้มี “หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา” มาหลายสิบปี แต่เนื่องจากปัญหาหลายๆประการ จึงทำให้ไม่สามารถนำมาใช้เป็น Creative Infrastructure เพื่อสนับสนุนการเติบโตของ Creative Economy ได้ ครั้นจะกลับไปแก้ไขที่หลักสูตร ก็คงจะติดปัญหาวุ่นวายไม่จบสิ้น และหากทำสำเร็จก็คงจะชักช้าไม่ทันการ เนื่องจากว่า “วัฒนธรรมศึกษา” เน้นไปที่ความแม่นยำทางวิชาการและยังมีขอบเขตการศึกษาที่กว้างขวางครอบคลุมมากเกินไป จึงย่อมไม่สามารถพัฒนาให้สำเร็จได้ในช่วงเวลากระชั้นสั้น

ทางออกในเชิงยุทธศาสตร์ คือ การสร้าง Creative Space สถานที่ซึ่งเปิดกว้างและดึงดูดผู้คนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งศิลปิน นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ ครูอาจารย์ ดารา นักคิด ฯลฯ ให้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และต่อยอดความรู้ซึ่งกันและกัน ที่นอกจากจะทำให้ “ความคิดสร้างสรรค์” ได้รับการปรุงแต่งขัดเกลาจากความหลากหลายแล้ว ยังอาจต่อยอดไปสู่การสร้าง Creative Business ร่วมกันได้อีกมากมาย โดยเฉพาะเมื่อสภาพการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบันได้บีบบังคับให้นักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ทุกคนต้องดิ้นรนเสาะแสวงหา Creative Talent มาร่วมงาน ขณะเดียวกัน ศิลปิน นักคิด นักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องการ “ผู้อุปถัมภ์” เพื่อจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องปากท้อง

Creative Space จึงเป็นเสมือนจุดนัดพบหรือกลไกตลาดให้กับ Creative Economy เพื่อใช้ในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่พึ่งเริ่มต้นนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากพิจารณาในความหมายกว้างแล้ว Creative Space อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สามารถนับย้อนไปถึงยุคสมัย Renaissance ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนั้นมีเมือง Florence ในอิตาลีเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นที่รวมของ ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักคิด สถาปนิก และบุคคลสร้างสรรค์อีกจำนวนมาก การที่ Creative Talent มีสถานที่ซึ่งเปิดกว้างและสามารถพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างเสรีนี้เอง ได้ทำให้ชาติตะวันตกที่ก่อนหน้านี้ยังป่าเถื่อนโง่เขลาอยู่นั้น ได้ค้นพบแสงสว่างทางปัญญาเป็นครั้งแรก และความรู้นี้ได้สะสมพอกพูนขึ้นจนในที่สุดได้บรรลุเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา ที่ส่งผลให้ประเทศตะวันตกสามารถพุ่งแซงหน้าประเทศจีน ที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นไปอย่างไม่เห็นฝุ่น

แต่การที่ Florence หรือ Creative Space จะบรรลุความสำเร็จได้นั้น ไม่อาจใช้เพียงแค่เงินทองหรืออำนาจเท่านั้น หากยังต้องการผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และเข้าอกเข้าใจในวิธีคิดของ Creative Talent ทั้งหลายอีกด้วย แน่นอนว่า ตระกูล Medici ผู้บริหารเมืองในช่วงเวลานั้น จะถูกโจมตีในหลายๆเรื่อง แต่สำหรับการสนับสนุนส่งเสริม Creative Talent ให้สร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่นั้น Medici คือ ต้นแบบที่รัฐบาลซึ่งปรารถนาจะสถาปนา Creative Economy ต้องศึกษาเรียนรู้เป็นตัวอย่าง แม้ว่ายุคสมัยนั้นจะผ่านมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม

ประเด็นถัดมา ที่ต้องชัดเจนก็คือ Creative Economy ไม่ใช่ศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์ล้วนๆ จึงต้องคำนึงถึงความต้องการผู้บริโภคและแง่มุมทางธุรกิจด้วย แต่ขณะเดียวกัน Creative Economy ก็ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อ Creative Talent ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน Creative Economy นั้น ไม่ได้มีแรงจูงใจเพียง “เงินและผลตอบแทน” เหมือนกับมนุษย์เงินเดือนธรรมดาทั่วไป แต่ยังมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แรงบันดาลใจ ชื่อเสียงและความกระหายใคร่รู้ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น การบริหารจัดการ Creative Talent ที่มาจากหลากหลายวิชาชีพ ให้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนา Creative Economy ให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จ ไม่ล้มครืนลงเพียงเพราะความหยาบกระด้าง

Creative Economy Management จึงต้องไปพ้นวิชาบริหารจัดการที่สอนกันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งเป็นผลผลิตของยุคอุตสาหกรรม Creative Manager จะต้องเป็นคนเปิดกว้างและรู้รอบ สามารถประสานความคิดที่แตกต่างทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ให้สามารถเรียนรู้และต่อยอดซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะการทำให้ศิลปิน รู้จักความต้องการของลูกค้า เข้าใจความสำคัญของการตรงต่อเวลา เช่นเดียวกัน Creative Manager จะต้องทำให้นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรทั้งหลาย ยอมรับว่าอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและประสิทธิภาพในแบบของตน เช่นเดียวกับเครื่องยนต์กลไก

แน่นอนว่า Creative Economy มีเรื่องให้พูดถึงได้ร้อยแปดพันประการ แต่หากต้องการกำหนด “ยุทธศาสตร์” ในการพัฒนา Creative Economy ให้ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดนั้น จะต้องมุ่งประเด็นไปที่ “หัวใจ” หรือแก่นแท้ของ Creative Economy ซึ่งก็คือ การบริหารจัดการ “คน” อย่างสร้างสรรค์ นั่นเอง

สังคมไทยได้ถูก “เครื่องจักรและเทคโนโลยี” ควบคุมบัญชามาหลายสิบปีแล้ว ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ Creative Economy ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ โดยมีเครื่องจักรและเทคโนโลยี เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้มนุษยชาติที่หลากหลายด้วยอารมณ์ ความรู้สึก คุณค่า ความเชื่อ และวิชาชีพ ได้มาสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสร้างสรรค์ลึกซึ้ง เพื่อนำไปสู่การผลิต Creative Product ที่ไม่ได้ให้คุณค่าทางวัตถุแต่เพียงเท่านั้น หากยังหยั่งลึกลงไปถึงจิตใจอันละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 298490เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท