การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอน


การจัดการเรียนการสอน
     คอมพิวเตอร์กับการเรียนการสอน 

     ปัจจุบันเราสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง   การเรียนรู้ผ่าน ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนปัจจุบัน เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันกับความก้าวหน้าในอนาคต   จึงได้มีการพัฒนาโปรแกรมและโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น บทบาทของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาแล้วได้  3  ลักษณะ คือ

      1.  นำมาใช้เพื่อสอนวิชาคอมพิวเตอร์  ซึ่งการนำมาใช้ในลักษณะนี้  จะจัดคอมพิวเตอร์ในลักษณะของห้องเรียน   แล้วก็สอนให้รู้จักคอมพิวเตอร์   ทั้ง  Hardware และ Software แล้วก็สอนการใช้โปรแกรม,   โปรแกรมประยุกต์  เพื่อสร้างพื้นฐานการเป็นนักคอมพิวเตอร์

       2.  นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูล  ทั้งการประกอบธุรกิจเป็นแหล่งติดต่อซื้อขายสินค้า   ใช้ในการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ จนกระทั่งการใช้บริการโปรแกรมเฉพาะทางในการวิเคราะห์ คำนวณเป็นครั้ง ๆ โดยจ่ายค่าบริการตามที่ผู้ให้บริการกำหนด  ในส่วนการเรียนการสอน  ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของผู้เรียน    เช่นใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางเปิดสื่อมัลติมีเดีย    ใช้สืบค้นข้อมูลทาง อินเตอร์เน็ต  ใช้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด

      3. นำมาใช้เพื่อเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนการวิจัย เช่นนำมาเป็นส่วนประกอบของความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เช่นใช้เป็นเครื่องพิมพ์ดีดราคาแพง  หรือใช้เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว
          แนวคิดในการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์   ได้เริ่มขึ้นโดยสถาบัน   MIT  ได้ดำเนินการทดลองภายใต้โครงการ  Lighthouse  และพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นโดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน และ หน่วยงานอื่น ๆ  ในกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยี    นอกเหนือจากเครื่องมือ ทางเทคโนโลยีอื่น ๆ    ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจกันก่อนว่าในปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาท ในการจัด การศึกษาอย่างไรบ้าง จึงจะเชื่อมโยงความคิดไปสู่การจัดคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาได้อย่างชัดเจน
            1.   เราใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้าง   ที่ผ่านมาแนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเป็นเครื่อง
พิมพ์ดีด ราคาแพงได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในบรรดาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ ถูกใช้งานเพื่ออะไร  และให้
คุ้มค่า กับการที่ต้องจ่ายเงินซื้อมาด้วยแล้วควรที่จะต้องคิดกันอย่างหนัก   และที่สำคัญคือเราใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือ   ในการพัฒนาประเทศได้เพียงใด
            2.   ความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดการศึกษา    จากความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันและอนาคตที่มีสมรรถนะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  สามารถนำมาช่วยในการจัดการศึกษา   ช่วยในการพัฒนาการเรียน การสอนและพัฒนาการเรียนรู้  ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้เป็นอย่างดี   โดยมีบทบาทดังนี้
              บทบาทในการเป็นสื่อการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นทั้ง สื่อทางเดียวและสื่อ 2 ทาง  สามารถเป็นสื่อ
ที่ใช้ในการเรียนในชั้นเรียนหรือสื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง    ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาสื่ออย่างกว้างขวาง  เพื่อให้สามารถเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
              บทบาทในการเป็นผู้ช่วยของผู้สอน   ได้แก่ CAI   สามารถทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงกับผู้สอน แม้ไม่สามารถแทนครูผู้สอนได้   แต่ก็สามารถให้ความรู้ได้อย่างกว้างขวาง
              บทบาทในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้  โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน  สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาในตัวของผู้เรียน  เป็นกระบวนการช่วยในการพัฒนาสมอง        
              บทบาทในการสืบค้น เสาะแสวงหาความรู้  เพื่อให้สามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างไม่มีขอบเขต   ซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปอย่างมาก โดยรู้จักในชื่อ  อินเตอร์เน็ต  ซึ่งนอกจากจะค้นหาข้อมูลได้แล้ว  ยังสามารถแลกเปลี่ยน ความรู้กับบุคคลอื่นได้ด้วย

              บทบาทในการสื่อสาร  เป็นบทบาทในการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง  ระหว่างครูกับผู้เรียน  หรือกับแหล่งความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

     เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษา

     หากมองย้อนไปในอดีตการเรียนการสอนที่ต้องท่องจำ  อ่าน  และสอบโดยที่ไม่ได้รับรู้หรือมีเป้าหมายว่า  เมื่อเรียนไปแล้วจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร  หลักสูตรที่จัดทำขึ้นจะบอกวัตถุประสงค์ว่าจะให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร    การวัดผลท้ายที่สุดคือการสอบ ซึ่งถือว่าเป็นการรวบยอดความรู้และแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจว่ามีมากน้อยเพียงใด  เป็นวิธีการที่ใช้มานาน  แต่ในชีวิตประจำวันหลังจากที่เรียนจบแต่ละคนจะมีหน้าที่  อาชีพการงาน ต่างกัน  บางคนเรียนไม่ดีแต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า  ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องของกรอบความคิด  และแนวคิดในการนำความรู้มาประยุกต์กับการใช้ชีวิต   ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาพยายามที่จะผลักดันให้ระบบการศึกษาตอบสนอง  และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนถือได้ว่าเป็นภาระและความจำเป็นที่ผู้สอนต้องมีวิสัยทัศน์และมองเห็นถึงความสำคัญ
            ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ระบบการเรียนทางไกล  และการเรียนแบบออนไลน์ที่เปิดให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อและให้คำปรึกษา  ตลอดจนการศึกษาและเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สามารถเรียกข้อมูลมาใช้ได้จากทุกที่ ที่มีการเชื่อมต่อเครือข่าย   การปรับสภาพที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความต้องการในการเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็น   แต่หลาย ๆ ครั้งเราจะมองเห็นว่าการเรียนรู้ไม่ต่างจากการพยายามผลักดัน  ยัดเยียดความรู้โดยที่เราหรือเขาไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำว่าเรียนไปเพื่ออะไร
                                                                                                                                                                  
            เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นำมาเป็นเครื่องมือในการสอน เครือข่ายความรู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลางถือได้ว่าเป็นแรงสำคัญในการเชื่อมโยงแหล่งความรู้  ข้อมูลเนื้อหา ชุดวิชาในการสอนเข้าด้วยกันโดยไม่มีพรมแดนกั้น  ทำให้การเรียนน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม  เรียนอยู่ที่สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี   สามารถใช้เอกสารการสอนจากต่างประเทศได้  อยากศึกษาอยากเรียนรู้แขนงวิชาไหนก็ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว  โดยมีผู้สอนเป็นผู้ชี้นำ  
                                                 
            ปัจจุบันมีเครือข่ายการเรียนรู้ตามเนื้อหาวิชาในหลาย ๆ วิชาที่ได้พัฒนาขึ้นจากแหล่งการศึกษาหลายแห่งที่ตระหนักถึงระบบการเรียนการสอน   สภาพการเรียนรู้  ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน   ได้แก่โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย http://www.school.net.th   เครือข่ายของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย http://www.uni.net.th  เครือข่ายของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ http://www.ru.ac.th   เครือข่าย E-Learning  ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.chulaonline.com มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://www.ku.ac.th  และอีกหลายแห่งที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้   
            เกรียงศักดิ์   เจริญวงศ์ศักดิ์ (2542)  ได้เสนอ  10  อนาคตภาพ เพื่อพลิกโฉมหน้าใหม่ของโลกและเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21  ซึ่ง 10 อนาคตภาพนี้ คนในสังคมจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  อนาคตภาพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ  4  อนาคตภาพ  ดังนี้
            1.  ยุคของเทคโนโลยีขั้นสูง (The Age of high technology) ซึ่งถือว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดรูปแบบการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20
            2.  ยุคของข้อมูลข่าวสารสนเทศ (The Age of Information Technology) ซึ่งการพัฒนาวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์เริ่มตั้งแต่ปี 1964  จนถึงปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายสารสนเทศ  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสามารถการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ  ความสำเร็จและอำนาจของบุคคลจะอยู่ที่ความสามารถในการเข้าถึง การจัดการ  และการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายเหล่านี้
            3.  ยุคของสังคมแห่งความรู้ (The Age of Knowledge Society)  จากประโยคอมตะของFrancis  Bacon ที่ว่า  “ ความรู้คืออำนาจ” ( Knowledge itself  is power ) ดังนั้น  ความรู้จึงกลายเป็นตัวกำหนดระดับความสามารถ ในการแข่งขันทั้งในระดับบุคคล  ระดับหน่วยงาน  และในระดับประเทศ  บุคคลที่ทรงความรู้อย่างหลากหลายและมีความสามารถในการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ทรงพลังอำนาจในสังคมอนาคต
            4.  ยุคของสังคมเครือข่าย (The Age of Networks) มีการจัดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งจะไม่มีประเทศหรือองค์กรใดสามารถดำรงตนอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้  จะต้องสร้างการประสานความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อการอยู่รอดและเพิ่มความแข็งแกร่งของประเทศและองค์กร  สังคมเครือข่ายจึงเป็นภาพที่ชัดเจนในศตวรรษที่ 21

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29787เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท