ความเป็นไปใน รพ.ชุมชน


ไทยโพสต์ 14 กย.52 ตีพิมพ์เรื่อง "หมอ รพ.ชุมชนปล่อยเกียร์ว่าง" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนขอเรียนเสนอให้ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ ขอให้ฟังความหลายๆ ฝ่าย เพราะโรงพยาบาลชุมชนทุกวันนี้มีปริมาณคนไข้เกินกำลัง

ความจริง... ไม่ใช่หมอ รพ.ชุมชนไม่ทำงาน แต่คนไข้และญาติกดดัน บีบคั้นหมอ (หมายถึงบุคลากรสุขภาพทุกฝ่ายรวมกัน) มาก เช่น เมาแล้วไปตะโกนหน้าสถานบริการ บังคับหมอให้ส่งต่อ, เอะอะอะไรก็ด่าหมอที่อยู่ไกลๆ ว่า ยาไม่ดี (คนไข้และญาติแบบนี้จะไม่ไปตะโกนในโรงพยาบาลจังหวัดเลย) ฯลฯ 

... 

เรื่องที่คนไข้และญาติโวยวายมีมากมาย เช่น เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้วบังคับให้หมอรักษาให้หาย, เป็นเบาหวานซัดลำไยทีละ 2-3 กิโลฯ แล้วด่าหมอว่ายาไม่ดี ด่าหมอว่าไตเสื่อมจากยา ทั้งๆ ที่หมอ (หมายถึงบุคลากรสุขภาพทุกฝ่ายรวมกัน) ก็อธิบายไปอย่างต่ำหลายสิบครั้ง ฯลฯ

เวลามีปัญหาร้องเรียน... นักการเมืองจะหาเสียงลูกเดียวเป็นสำคัญ คนทำงานจะลำบากเดือดร้อนอย่างไรไม่สนใจ อย่างไรก็ตาม, นี่เป็นธรรมดาของโลกที่ว่า เมื่อความคาดหวังสูงเกินกำลัง เช่น ญาติเมาไปด้วย ตะโกนหน้าสถานบริการไปด้วย... หมอก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ฯลฯ

[ ข้อความคัดลอก ไทยโพสต์ ]

อนิจจา!  หมอ  รพ.ชุมชน  800  แห่งทั่วประเทศ  ปล่อยเกียร์ว่าง  ไม่ลงมือรักษาคนไข้เต็มที่  อย่างมากแค่ทำหมันชาย  เน้นส่งต่อ  รพ.ใหญ่ลูกเดียว  เหตุกลัวโดนฟ้อง  "วิทยา"  สอนมวยต้องเน้นทำความเข้าใจผู้ป่วย-ญาติ  ก่อนรักษา

นายวิทยา  แก้วภราดัย  รมว.สาธารรณสุข  เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา  "ร่วมคิดร่วมสร้างระบบคุณภาพสถานพยาบาลในประเทศไทย"  และเปิดตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  (องค์กรมหาชน) 

... 

พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง  "ทิศทางนโยบายด้านคุณภาพของระบบบริการสาธารณสุข"  ว่าจากที่รัฐบาลมีนโยบายรักษาพยาบาลให้กับประชาชน  โดยจัดระบบการรักษาพยาบาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา 

ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ระบบประกันสังคม  และระบบสวัสดิการข้าราชการ  ไม่เพียงแต่เป็นเหตุให้ประชาชนลดการสะสมเงินเพื่อรักษาพยาบาลตนเอง

... 

เพราะเชื่อว่า ในยามเจ็บป่วยจะมีระบบรักษาพยาบาลรองรับทุกคน  แต่ทำให้มีประชาชนเข้ารับบริการมากขึ้น  ส่งผลให้ผู้ป่วยล้น  รพ.ทั้ง  กทม.และ  รพ.ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ 

ขณะเดียวกันบุคลากรในระบบสาธารณสุขยังคงเท่าเดิม  ไม่ได้เพิ่มตามภาระที่เพิ่มขึ้น  หากไม่วางมาตรการแก้ไขปัญหา  สถานการณ์การบริการในระบบภาครัฐก็จะมีผู้ป่วยล้นทะลักจนโรงพยาบาลแตกได้ 

... 

ดังนั้นนอกจากพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลแล้ว  จำเป็นต้องเน้นให้ประชาชนหันมาสร้างเสริมสุขภาพ  ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

นายวิทยา  กล่าวว่า  ที่ผ่านมาประชาชนคาดหวังสูงมากกับระบบบริการสาธารณสุข  หากได้รับการรักษาพยาบาลจะต้องหาย  ถือเป็นความคาดหมายที่เกินธรรมชาติ  เพราะหากแพทย์สามารถรักษาทุกคนให้หายได้  วันนี้มนุษย์ก็คงจะล้นโลก 

... 

ซึ่งปัญหานี้แก้ไขได้โดยการให้ความรู้ความเข้าใจและข้อเท็จจริงกับผู้ป่วย  เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้ามารับการรักษาโดยที่ไม่รู้อะไรเลย  และหมอเองก็ไม่บอก  ไม่พูดคุย  และเมื่อพูดคุยแล้วก็ไม่เข้าใจ  เหมือนว่าพูดคุยกันคนละภาษา 

และการที่หมอไม่ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยบนความคาดหวังของประชาชน  เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการตามมา  วันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะ  รพ.ชุมชนมีกว่า  800  แห่งที่ให้บริการ 

... 

แต่ขณะนี้หมอที่รักษาใน  รพ.เริ่มเกิดความกังวลไม่กล้าวินิจฉัยหรือรักษาพยาบาล  แต่ใช้วิธีการส่งต่อไป  รพ.จังหวัดเพราะกลัวถูกฟ้อง  กลัวว่าหากผิดพลาดจะถูกฟ้อง  ทำให้ผู้ที่อยู่ในชนบทเป็นคนที่เสียโอกาส  เป็นแค่ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการส่งต่อเท่านั้น

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้น  แพทย์จำนวนมากไม่กล้าทำหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่  อย่างมากก็แค่ทำหมันชาย  และที่ผ่านมาก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไปไม่ถึงการรักษาในระหว่างส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนไปโรงพยาบาลจังหวัด  

... 

เนื่องจากเสียชีวิตก่อนที่จะไปถึง  ดังนั้นหากวันนี้เราไม่ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น  วันหน้าประชาชนก็จะมาร้องเรียนด้วยความไม่รู้เช่นกัน  "นายวิทยา  กล่าว

และว่า  สำหรับภารกิจของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล  (สรพ.)  จะเป็นองค์กรผลักดันให้ระบบบริการสาธารณสุขเป็นระบบที่ส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล.

[ ข้อความคัดลอก ไทยโพสต์ ]

หมายเลขบันทึก: 297695เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท