ตัวชี้วัดความก้าวหน้าการปฏิบัติภาวนา (การพัฒนาจิต)


. . . อ่านแล้วก็ได้แต่อึ้ง นึกไม่ถึงว่าจะได้รับคำตอบทั้งจากในหนังสือและจากการสัมมนาที่ถือว่าชัดเจนจนน่าตกใจ . . .
            สองวันที่ผ่านมา (พฤหัส-ศุกร์) ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานมหกรรมความรู้การพัฒนาจิตที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ที่ศูนย์ประชุม ไบเทค บางนา เป็นการมาเข้าร่วมในฐานะ “ผู้เรียน” ไม่ได้มาเป็นวิทยากรหรือ “ผู้สอน” ก็เลยสบายใจ ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร เปิดใจรับรู้ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่มีบาง Session ที่ผมรู้สึก "โดนใจ" อย่างยิ่ง อาทิเช่น ในช่วงที่ท่านอาจารย์วิจารณ์ดำเนินรายการมีผู้ถามคำถามว่า “จะรู้ได้อย่างไรว่าการพัฒนาจิตปัญญาของเรามีความก้าวหน้าไปเพียงใด เราจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด?” คำตอบที่ได้รับจากพระอาจารย์คึกฤทธิ์ (วัดนาป่าพง) นั้นช่างกระชับสั้นแต่ตรงประเด็นยิ่งนัก ท่านได้ยกพุทธวัจน์ในเรื่องนี้ที่กล่าวไว้ว่า “ให้ดูว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นดับได้เร็วไหม?” เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า “แล้วจะต้องเร็วขนาดไหน?” พระองค์ตรัสว่าต้องใช้เวลาแค่ “กระพริบตาเดียว” ผมลองใช้ตัวชี้วัดนี้กับตัวเอง เพราะยังคงเห็นความทุกข์ (ใจ) ผ่านมาผ่านไปอยู่ตลอดเวลา ลองถามตัวเองว่า. . . เวลาที่ทุกข์ใจ ใช้เวลานานไหมกว่ามันจะผ่านไป . . . พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอัตตาตัวตน โดยเฉพาะเวลาที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม "มีการใช้สองมาตรฐาน" มีการให้อภิสิทธิ์กับบางท่าน อะไรทำนองนั้น. . . ซึ่งมัีนมักจะทำให้ผมขุ่นเคืองใจไปนานพอสมควรเลยทีเดียว
         ในงานนี้ผมได้ซื้อหนังสือที่เป็นผลงานของโครงการจิตตปัญญาศึกษามาหนึ่งเล่ม ชื่อว่า “ควอนตัมกับดอกบัว (The Quantum and the Lotus)” เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาระหว่าง มาติเยอ ริการ์ กับ ตริน ซวน ตวน ซึ่งแปลโดย กุลศิริ เจริญศุภกุล และ บัญชา ธนบุญสมบัติ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ผมดูเนื้อหาคร่าวๆ แล้วเห็นว่าหัวข้อการสนทนานี้น่าสนใจมาก เป็นเรื่องที่ผมสนใจอยู่พอดี พออ่านมาถึงหน้าที่ 27 (บรรทัดที่ 4 – 9) ก็เหมือนถูกตรึงไว้กับข้อความที่ท่านมาติเยอเหมือนกำลังตอบคำถามเดียวกันนี้ในเรื่องตัวชี้วัดการพัฒนาจิตวิญญาณ ท่านกล่าวไว้ว่า “มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความสำเร็จสำหรับนักปฏิบัติภาวนา แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ หลังจากเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี ตัวตนของเราควรลดน้อยลง และเราควรคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ถ้าความยึดมั่นถือมั่น ความเกลียดชัง ความหยิ่งยโส และความอิจฉาริษยายังรุนแรงเหมือนเดิม ก็เท่ากับเสียเวลาเปล่า ถอยหลังเข้าคลองแล้วยังหลอกคนอื่นด้วย . . .” 
         อ่านแล้วก็ได้แต่อึ้ง นึกไม่ถึงว่าจะได้รับคำตอบทั้งจากในหนังสือและจากการสัมมนาที่ถือว่าชัดเจนจนน่าตกใจ . . . ที่ตกใจคงไม่ต้องบอกนะครับว่าเป็นเพราะอะไร ไม่อยากจะซ้ำเติมตัวเองไปให้มากกว่านี้ และก็ไม่ขอรับข้อความให้กำลังใจใดๆ เพราะมันรังแต่จะทำให้อีโก้ของผมเติบใหญ่ต่อไป . . . พูดได้แต่ว่า "ขอขอบคุณในความปรารถนาดีของท่านครับ"
หมายเลขบันทึก: 296747เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นี้เข้าทำนองที่ว่า

..จบการศึกษา..แต่..ไม่ได้รับการศึกษา..

http://gotoknow.org/blog/12121200/296731

ธรรมะวันหยุด(ราชการ)ขอรับอาจารย์..

สาธุ .. สาธุ .. สาธุ .. ได้เข้าไปอ่านมาแล้วครับ

ตัวชี้วัดหมอดีขึ้นนิดๆค่ะ ( 2% )

เมื่อก่อนเจอคนที่เราเกลียดจะหน๊เพราะจิตมันแน่นๆ แต่ระยะหลังพอทนพังเขาพูดได้บ้าง แต่เรื่องที่อยากให้สามีเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นยังไม่หายเลยค่ะ

เข้ามาทักทายธรรมดา ไม่ได้ให้กำลังใจใดๆ อีโก้อาจารย์คงไม่เพิ่มขึ้นนะคะ

ขอบคุณมากนะครับ กับ ข้ออ่าน ที่นำเสนอ ผมว่าได้สาระ เพราะผมเอง ก็ฝึกปฏิบัติเช่น กัน พยายามอุเบกขา ดูหรือสำรวจแค่ตัวเอง จะมีการทดสอบอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ หรือคำพูด เขาเหล่าจะพยายามทำให้เรา จิตฝุ้ง ตลอด ผมว่าดีแล้วละครับ สุดท้าย จะเป็น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...

เรื่องอัตตาตัวตนหรืออีโก้ที่ผมพูดถึงข้างต้นนั้น เมื่อผมลองพิจารณาดูว่ามันมาจากอะไร . . . ก็พบว่ามีสองคำใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องก็คือ คำว่า “ความสำคัญ” และ “ความสัมพันธ์”

ความสำคัญคือความต้องการที่จะเป็น Somebody เป็นผู้ที่คน Recognize (เป็นที่รู้จัก) ส่วนความสัมพันธ์ เป็นการตอกย้ำว่ารู้จักอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเป็นที่รักหรือมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วย

จิตที่คิดรับนี้เอง เป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ใจขึ้นมาโดยไม่จำเป็นเลย!

ขอขอบคุณอาจารย์หมออัจฉรา และ คุณ="หัดเรียน" ที่เข้ามาพูดคุยด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับ ตัวชี้วัด

(ว่าแต่ อาจารย์ยังไม่ลืมเรื่อง สองมาตรฐานอีกเหรอครับ ^0^)

เข้าใจว่า "สามารถ" คงหมายถึง "ของเก่า" แต่ผมหมายถึง "ของใหม่" . . .เวลาอีโก้มันใหญ่ มันมี "ของใหม่" เข้ามา "เขย่าใจ" อยู่ตลอดเวลาครับ พอ "รับรู้" แล้วก็ "ทุกข์ใจ" ไปนานเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท