K II
มังกรนิทรา- คนเก่งฟ้าประทาน

โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ ต่อ


Bacterial zoonoses

7. โรคไข้กระต่าย (Tularemia)

             ข่าวเรื่องโรค “ไข้กระต่าย” หรือ “ทูลารีเมีย” (Tularemia) ทำให้สตรีวัย 37 ปี ซึ่งมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่อยู่แล้ว เสียชีวิต และตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย  Francisella tularensis  ในกระแสเลือดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 แต่เพิ่งจะมาเป็นข่าวออกทางสื่อต่างๆ ทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 คงจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ในตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู อยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นร้อนว่า เชื้อนี้สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้โดยการพ่นให้ได้รับเชื้อทางการหายใจ แต่เนื่องจากโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะหลายชนิด จึงใคร่ทำความเข้าใจในด้านการควบคุมป้องกันโรคจากพาหะ (vector) ของโรคนี้ ซึ่งได้แก่ เห็บ หมัด ไร หรือแม้แต่แมลงชนิดอื่นๆ ที่มีเชื้อนี้อยู่
             การติดเชื้อ  Francisella tularensis  มีหลายช่องทาง ที่สำคัญคือจากพาหะของโรคนี้ โดยคนหรือสัตว์ถูกพาหะที่มีเชื้อกัดเป็นอันดับแรก รองลงมาคือโดยการสัมผัสกับซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ นอกจากนั้นอาจติดเนื่องจากกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป

             โรคใดก็ตามที่มีแมลงเป็นพาหะ การรักษาโดยการกำจัดเชื้อในคนหรือสัตว์ (host) เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ตัดวงจรหรือตัวการที่นำเชื้อโรคมาสู่คน / สัตว์ เนื่องจากพาหะเหล่านี้มีความทนทานอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความร้อนชื้น เช่น สภาพภูมิอากาศในประเทศเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ ควรระมัดระวังในการดูแลสัตว์เลี้ยงให้ปลอดจากพาหะ โดย

1.หมั่นตรวจว่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้ มีเห็บ , หมัด ขึ้นตามตัวหรือไม่ และพยายามกำจัดออก โดยใช้หวีหรือแปรงสางออก แล้วทำลายเห็บ หมัด เหล่านั้นด้วยยากำจัดพยาธิภายนอกที่มีความเป็นพิษค่อนข้างต่ำ เช่น ยาในกลุ่ม pyrethroid, permethrin ถ้าสัตว์นั้นมีขนยาวหนา ก็ตัดออกบ้างให้สั้นและบางลง

2.ในกระต่ายจะมีไรในผิวหนังซึ่งจะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบแดง ต้องตรวจโดยการขูดผิวหนังและนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และไรในหูซึ่งมองเห็นได้เมื่อมีจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นก้อนขี้หูพอกขึ้นมา และสัตว์จะเกาหูอย่างรุนแรงเนื่องจากการระคายเคือง มียาหยอดซึ่งรักษาให้หายได้ สำหรับกรณีนี้ต้องนำสัตว์ไปหาสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา

3.หมั่นทำความสะอาดตัวสัตว์อย่างสม่ำเสมอโดยการอาบน้ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำสบู่/น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างอ่อนเช็ดตัวสัตว์

4.เจ้าของสัตว์ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งภายหลังสัมผัสตัวสัตว์ โดยเฉพาะก่อนหยิบอาหารรับประทาน

5.สวมผ้าปิดปากและจมูก ขณะที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ หรือการผ่านเข้าไปยังบริเวณที่มีการเลี้ยงสัตว์ตระกูลนี้อยู่จำนวนมาก เพื่อป้องกันการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคชนิดใด ให้ยึดหลัก ปลอดภัยไว้ก่อน

           กรณีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลฟันแทะ ทั้งหลาย หากแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน ควรนำไปหาสัตวแพทย์ และเล่าประวัติ อาการโดยละเอียด เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยสัตว์อาจจะไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ก็ได้  ที่สำคัญคือ สภาวะจิตใจของผู้เลี้ยงสัตว์ ควรเชื่อในข่าวสารจากแหล่งข้อมูลของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และอย่าตื่นตระหนกจนนึกว่าลูกมะพร้าวกำลังจะหล่นใส่ กลายเป็นกระต่ายตื่นตูม

8.กาฬโรค

กาฬโรค (Plague) สาเหตุเนื่องมาจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่งชื่อ Yersinia pestis  กาฬโรคเป็นโรคติดต่อที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด เมื่อมีการเกิดโรคนี้ต้องแจ้งความตามพระราชบัญญัติป้องกันโรคติดต่อ พ.ศ.2523 การติดต่อมาสู่คนโดยมี หมัดหนู เป็นพาหะโรค ซึ่งอาศัยอยู่บนหนูที่เป็นโรคโดยหมัดหนูจะกัดคนและปล่อยเชื้อเข้าทางรอยแผล เช่นเดียวกับการติดต่อระหว่างสัตว์กับสัตว์ ทำให้เกิดโรค bubonic plague และคนติดต่อมายังคน ทำให้เกิดโรค pneumonic plague ถ้าเชื้อนี้เข้ากระแสโลหิตจะทำให้เกิดโรค Septicaemic plague

การติดต่อของโรค
     กาฬโรคเป็นโรคติดต่อที่มีสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู กระแต กระรอกและกระต่าย เป็นพาหะนำโรค สัตว์ที่พบมักเป็นโรคบ่อยได้แก่หนู ประเภท Rattus โดยมีหมัดเป็นพาหะมักเป็นพวก Xenopsylla cheopis ที่พบเกิดการระบาดในคนบ่อยๆ เชื้อสามารถอยู่ในตัวหมัดได้เป็นเดือนขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เมื่อหมัดหนูดูดเลือดจากตัวหนู หรือสัตว์ฟันแทะอื่นๆ ที่มีเชื้อกาฬโรคอยู่ในตัวของสัตว์นั้น เมื่อหมัดหนูมากัดคนจะปล่อยเชื้อเข้าทางบาดแผล เช่นเดียวกับการติดต่อระหว่างสัตว์กับสัตว์ เชื้อเข้าทางผิวหนังที่ถลอกจากการเกาบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัดการติดต่อระหว่างคนกับคนอาจเกิดได้โดยหมัดในคน (Pulax irritans) มากัดคนจะปล่อยเชื้อเข้าทางบาดแผล การติดต่ออีกทางหนึ่งโดยการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วย pneumonic plague หรือจากสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรคเช่น แมว แล้วหายใจเอาเชื้อเข้าไปทางปาก จมูก เสมหะ ไอ จาม เป็นต้น การทำให้เกิดอาการในคนเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและไปยังต่อมน้ำเหลืองทำให้เกิดการอักเสบบวม ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ บริเวณขาหนีบ (inguinal) รองลงมาคือรักแร้ ระยะฟักตัวของกาฬโรคโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 2-6 วัน ระยะฟักตัวของ primary plague pneumonia อยู่ระหว่าง 1-6 วัน อาการของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตและปวดมากอาการนี้เรียกว่า bubonic plague ผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองจะบวมแดง อาจจะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ระยะต่อมาเชื้อจะแพร่กระจายไปตามกระแสโลหิต เข้าสู่ปอด ตับ ม้าม และบางรายไปยังเยื่อหุ้มสมอง เกิดภาวะเชื้อเข้ากระแสโลหิตรุนแรง (Septicaemic plague) จะเกิดอาการหัวใจวายและตายในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว การติดต่อระหว่างคนกับคนโดยการไอ จาม ผู้ได้รับเชื้อ ทางระบบหายใจจะเกิดโรคปอดบวมเรียกว่า pneumonic plague จะพบเกิดโรคในกลุ่มประชากรที่อยู่กับแออัดในช่วงฤดูหนาว
การป้องกันและควบคุม
      สำรวจหนูที่อยู่อาศัยในบริเวณบ้านและกำจัดดังนี้ ควรกำจัดหนูก่อนโดยใช้สารเคมีประเภท carbamate โรยไว้ตรงทางเดินของหนูและจากนั้นในวันรุ่งขึ้น จึงทำการดักหนูและเบื่อหนู เมื่อดักหนูได้แล้วให้ฉีดยาฆ่าแมลงประจำบ้านฉีดพ่นไปบนตัวหนูก่อนเพื่อทำลายหมัดหนูที่ยังคงเหลือและจากนั้นจึงฆ่าหนู การแพร่เชื้อระหว่างประเทศได้ 3 ทาง ทางอากาศ โดยผ่านทางสายการบินต่างๆ ทางบก โดยการเดินทางเข้าสู่ทางชายแดนของประเทศ และทางเรือโดยสาร คน หมัดหนู นำเชื้อโรคเข้ามากับการเดินทางนี้ ดังนั้นควรมีมาตรการควบคุม และเฝ้าระวังกาฬโรค เพื่อป้องกันการระบาดและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อกาฬโรคอย่างเคร่งครัด การกำจัดขยะมูลฝอยเป็นแหลังสะสมหนูและให้สุขศึกษาแก่ประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อมิให้อาหารเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนู ในกลุ่มเสี่ยงควรให้ความรู้วิธีป้องกันโรคและเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็วถ้ามีอาการสงสัยว่าป่วยเป็นกาฬโรค
       การให้วัคซีนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา เป็นชนิด inactivated plague vaccine U.S.P โดย Cutter Laboratories Burkeley California ในประเทศอื่นที่มีการผลิตบ้าง เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น ในช่วงของการระบาดในประเทศอินเดีย ปี พ.ศ. 2537 P.Michel และคณะ กำลังวิจัย ใช้ Yersinia Outer Protein (YOP) เพื่อผลวัคซีน
การรักษา
      ผู้ป่วยกาฬโรคต้องรักษาโดยแยกห้อง (isolation) เพื่อมิให้เชื้อแพร่กระจายเชื้อนี้ความไวต่อ Tetracyline, Streptomycin, Chloramphenical, Kanamycin และ Sulfonamides ส่วนยากลุ่ม Penicillin มักใช้ไม่ได้ผลดีและการรักษาโรคแทรกซ้อนมีความจำเป็น บุคลากรที่ทำการรักษาต้องมีความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดด้านการป้องกันการติดเชื้อ โดยสวมถุงมือปิดปากและจมูกควรทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลืองและหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ

9. Chlamydiosis

Chlamydiosis หมายถึงโรคที่เกิดจากเชื้อในตระกูล Chlamydia ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนได้เฉพาะเมื่ออยู่ในเซลล์ที่มีชีวิตเท่านั้น ทำให้เคยเข้าใจว่าเป็นไวรัส ที่จริงแล้วเป็นแบคทีเรียชนิดกรัมลบมีขนาดค่อนข้างเล็กประมาณ 0.3-1 ไมโครเมตร รูปร่างกลม ไม่มีแฟลกเจลลาและไม่เคลื่อนที่ ไม่สามารถสร้างพลังงานได้เอง จึงต้องอาศัย host cell เป็นแหล่งพลังงาน ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 genera คือ Chlamydia และ Chlamydophila ใน genus Chlamydia ประกอบด้วยเชื้อ C. trachomatis, C. suis และ C. muridarum ส่วน genus Chlamydophila ประกอบด้วย C. pneumoniae, C. pecorum, C. psittaci, C. caviae, C. felis และ C. abortus C. psittaci และ C. abortus เดิมก็คือ Chlamydia psittaci และ C.psittaci serotype 1 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Avian chlamydiosis และ Enzootic abortion of ewes (Ovine chlamydiosis) ตามลำดับ ปัจจุบัน C. psittaci แบ่งออกได้เป็น 6 avian serovars และ 2 mammalian serovars ได้แก่ A และ F เกิดโรคในนกประเภทนกแก้ว (psittacine birds) B ในนกพิราบ C ในเป็ดและห่าน D ในไก่งวง E ในนกพิราบและนกจำพวก Ratite ส่วนซีโรวาร์ M56 พบในสัตว์พวกชะมดและ WC พบในวัว

 ชนิดของโรค

Avian chlamydiosis (AC) เป็นโรคติดเชื้อแบบทั่วร่างกาย (systemic) และทำให้สัตว์ตายได้ ความรุนแรงในสัตว์ป่วยขึ้นกับชนิดและอายุสัตว์ รวมทั้งสายพันธุ์ของเชื้อ สัตว์จะมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด น้ำมูกน้ำตาไหล หายใจลำบาก ท้องเสีย ไข่ลด ผอมแห้ง ขาดน้ำ และตาย อัตราการตายไม่แน่นอน ในนกที่อายุมากมักไม่แสดงอาการ แต่จะแพร่เชื้อได้นานอาจจนตลอดชีวิต รอยโรคจากการผ่าซากจะพบตับและม้ามโต ถุงลมขุ่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและช่องท้องอักเสบ เชื้อจะถูกขับออกทางน้ำมูกน้ำตา อุจจาระและปะปนอยู่กับฝุ่นตามปีกของสัตว์ป่วย ทนทานต่อความแห้งและยังคงความสามารถในการติดเชื้อได้นานหลายเดือน สัตว์ตัวอื่นติดต่อโดยหายใจหรือกินสิ่งปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไปในไก่งวงที่ติดเชื้อจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อและการเกิดโรคอื่นร่วมกัน  ซีโรวาร์ D มีความจำเพาะและรุนแรงมากในไก่งวง ทำให้มีอัตราการป่วย 50-80% และอัตราการตาย 10-30% ในไก่งวงเนื้อ (broiler) จะมีอัตราการตายสูงได้ถึง 80% และยังพบว่าสายพันธุ์นี้จะค่อนข้างอันตรายต่อคนงานในฟาร์มด้วย ส่วนซีโรวาร์ B และ E ทำให้มีอัตราการป่วยต่ำกว่าคือเพียง 5-20% และอัตราการตายน้อยกว่า 5% ไก่งวงแสดงอาการมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องเสียเป็นสีเหลืองเขียวและเป็นวุ้น ในช่วงไข่ ไข่ลดอย่างรวดเร็วและยาวนานจนกว่าจะหายสนิท ใน broiler แสดงอาการทางระบบหายใจ จาม ตาบวม หน้าบวมและอาจมีข้ออักเสบด้วย ผ่าซากพบตับม้ามโต มีไฟบรินและหนองปกคลุม   ในช่องอกและช่องท้อง รวมทั้งถุงลมอักเสบ ปอดอักเสบและลำไส้อักเสบ ในเป็ดก็มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขในหลายประเทศ เป็ดมักติดเชื้อรุนแรง อัตราการป่วยสูง 80% อัตราการตายตั้งแต่ 0-40% ขึ้นกับอายุของเป็ด อาการคล้ายคลึงกับในไก่งวงและมักพบปอดบวมด้วย ในระยะหลังมานี้ เป็ดที่ติดเชื้อแสดงอาการรุนแรงน้อยลงหรืออาจไม่แสดงอาการ การตายมักเกี่ยวข้องกับความเครียดในขั้นตอนการจับหรือมีการติดเชื้ออื่นร่วม รอยโรคต่างๆ ที่พบในสัตว์นั้นไม่ใช่รอยโรคจำเพาะ ดังนั้นการวินิจฉัยจะต้องทำการตรวจพบเชื้อ C. psittaci จึงจะยืนยันโรคนี้ได้ Enzootic abortion of ewes (EAE) เป็นโรคที่เป็นปัญหาหลักของการแท้งในแกะ  มีรายงานครั้งแรกเมื่อปี 1936 ที่ประเทศสก็อตแลนด์ ในปี 1995 มีอุบัติการณ์ในประเทศอังกฤษถึง 1151 ราย และปี 2001 พบว่า 44% ของแกะ 421 ตัวที่แท้ง ยืนยันว่าเกิดจากเชื้อ C. abortus แกะมักจะแท้งลูกหรือคลอดลูกประมาณ 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนกำหนด ลูกที่คลอดอ่อนแอและมีน้ำหนักตัวน้อย ในขณะเดียวกันก็เป็นโรคที่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขในหลายประเทศที่มีการเลี้ยงแพะ รายงานโรคครั้งแรกในแพะที่ประเทศเยอรมันเมื่อปี 1956 หลังจากนั้นพบในบัลแกเรีย สเปน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ แชด กรีซ และตูนีเซีย ในหลายพื้นที่นับเป็นปัญหารองจากการแท้งจากโรคบรูเซลโลซิส และเป็นปัญหาหลักในประเทศที่ควบคุมโรคบรูเซลโลซิสได้ วัวและกวางก็เป็นโรคนี้ได้แต่มีความไวต่อโรคน้อย เมื่อสัตว์ติดเชื้อ

 การเกิดโรคในคน

เชื้อ Chlamydiae หลายชนิดทำให้เกิดโรคในคน แต่การติดเชื้อ C. psittaci และ C. abortus จะติดจากสัตว์ไปสู่คน (zoonosis) จึงเรียกโรคนี้ในคนว่า Psittacosis คนมักจะติดเชื้อ C. psittaci จากนก โดยหายใจเอาเชื้อที่ออกมากับสิ่งขับถ่ายหรือปนเปื้อนอยู่กับเนื้อเยื่อของนกหรือสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติคลุกคลีใกล้ชิดกับนกหรือทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก การแพร่เชื้อจากคนไปสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่ยังไม่มีรายงานยืนยัน เมื่อได้รับเชื้อจากการหายใจ เชื้อจะกระจายเข้าสู่เลือดอย่างรวดเร็วไปสู่ reticuloendothelial cells ของม้าม ตับและปอดเพื่อเพิ่มจำนวน รอยโรคที่ปอดจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัส ระยะฟักตัวในคนประมาณ 7-14 วัน บางรายไม่มีอาการ บางรายเกิดปอดบวมเฉียบพลัน เริ่มจากมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ ไอไม่มีเสมหะ เคืองตา ปวดศีรษะรุนแรง ลักษณะปอดบวม คล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันพบไม่บ่อย และมีอัตราตายน้อยกว่า 1% เกิดในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี บางรายอาจติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไขสันหลังอักเสบ สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในระบบหัวใจทำให้เยื่อหุ้มหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมทั้งเยื่อบุหลอดเลือดหัวใจอักเสบ อาจพบอาการอื่น เช่น ตับอักเสบ ไตอักเสบ
สำหรับการติดเชื้อ C. abortus จะเกิดในหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในฟาร์มแพะแกะ ติดโรคจากการหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศ โดยเฉพาะตอนที่ทำคลอดสัตว์ที่เป็นโรค เนื่องจากเชื้อจะมีปริมาณสูงในรกและสารน้ำจากลูกสัตว์ป่วย ตายในท้องหรือแท้ง โดยจะเริ่มแสดงอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่เช่นกัน นอกจากนี้เชื้อจะผ่านเข้าสู่ลูกในครรภ์ทำให้ตายในท้องหรือแท้งได้ มักจะเกิด 3-8 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการ หากทำการวินิจฉัยและรักษาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการทำงานในฟาร์มสัตว์เหล่านี้

 การวินิจฉัยโรค

การเพาะแยกเชื้อ เนื่องจากเชื้อ Chlamydiae เป็นแบคทีเรียชนิด obligate intracellular จึงต้องเพาะเชื้อใน tissue culture หรือไข่ฟัก ดังนั้นห้องปฏิบัติการที่สามารถเพาะเชื้อนี้จะต้องมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และความชำนาญเฉพาะ ในการพิสูจน์ชนิดของเชื้อ จึงจะให้ผลการตรวจที่เชื่อถือได้ ในสัตว์ที่มีชีวิตจะเก็บตัวอย่างสวอปจากก้น แช่เย็นแล้วส่งห้องปฏิบัติการ ห้ามแช่แข็ง นกที่ติดเชื้อจะไม่ขับเชื้อออกทางอุจจาระทุกวัน ดังนั้นการเก็บตัวอย่างอาจเก็บทุก 3-5 วันแล้วรวมตัวอย่างเพื่อตรวจ จะทำให้มีโอกาสพบเชื้อได้มากกว่าการเก็บตัวอย่างครั้งเดียว ในรายที่แสดงอาการ เก็บตัวอย่างจากน้ำมูก น้ำตาและเลือด ถ้าทำการผ่าซากเก็บตัวอย่างอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ม้าม ไต ปอด หัวใจ และลำไส้ใหญ่ในกรณีท้องเสีย สำหรับ EAE เก็บตัวอย่างสวอป และน้ำจากช่องคลอด รก ปอดและตับของลูกแท้ง ตัวอย่างควรเก็บในอาหารพิเศษที่รักษาสภาพเชื้อได้ดีในระหว่างขนส่ง ได้แก่ sucrose/ phosphate/ glutamate หรือ SPG buffer เซลล์ที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง Chlamydiae คือ BGM McCoy Hela Vero และ L cell เป็นต้น หรือฉีดเข้า yolk sac ของไข่ฟักอายุ 6-7 วัน การตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการตัดเนื้อเยื่อและย้อมสีพิเศษ เช่น Giemsa Gimenez Ziehl-Nielsen เพื่อดู inclusion body ภายในเซลล์ที่ติดเชื้อหรือจากการทำ impression smear ตับ ม้าม และสวอปต่างๆ และตรวจหาแอนติเจนโดยวิธี micro immunofluorescent staining ด้วย monoclonal หรือ polyclonal antibody ของเชื้อ C. psittaci การตรวจทางซีรัมวิทยา เป็นวิธีที่บ่งบอกระยะของการติดเชื้อไม่แน่นอน หรือสัตว์ที่เพิ่งติดเชื้ออาจยังไม่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ วิธีที่ใช้ทดสอบ ได้แก่ modified direct complement fixation test และ elementary body agglutination test และการใช้เทคนิค polymerase chain reaction

 การรักษา

ยาที่ใช้รักษา AC ได้แก่ ยากลุ่มเตตราซัยคลินให้ได้ทั้งในรูปยาผสมอาหาร ได้แก่ chlortetracycline หรือยากิน เช่น doxycycline และยาฉีด เช่น doxycycline และ oxytetracycline (LA) สำหรับ EAE ใช้ oxytetracycline ฉีดเข้ากล้ามในแม่ตั้งท้องจะช่วยป้องกันการแท้ง แต่ไม่สามารถป้องกันการปล่อยเชื้อได้ ในคนให้ใช้ erythromycin รับประทาน หรือ azithromycin แต่เชื้อจะค่อนข้างไวกับ tetracycline มากกว่า ดังนั้นในรายที่ติดเชื้อรุนแรง ยังคงต้องใช้ tetracycline แม้ว่าจะไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ก็ตาม ในประเทศไทย ยังไม่มีข้อมูลของ Chlamydiosis ในสัตว์ ซึ่งนอกจากเชื้อ C. psittaci และ C. abortus แล้ว ยังมีเชื้อ C. felis และ C. suis ซึ่งก่อโรคในแมวและสุกรเช่นกัน ดังนั้นหากมีการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการให้มีความสามารถในการตรวจโรค Chlamydiosis ก็จะทำให้สามารถเฝ้าระวังและตรวจติดตามสภาวะของโรคนี้ในสัตว์ต่างๆ ในประเทศไทยได้

 

เอกสารอ้างอิง

1.http://www.dld.go.th กรมปศุสัตว์

 

คำสำคัญ (Tags): #bacterial zoonoses
หมายเลขบันทึก: 296558เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคะ พอดีจะสอบพนักงานตรวจโรคสัตว์ ของปศุสัตว์ เลยอยากให้ช่วยแนะนำหนังสื่อให้อ่านด้วยคะ

รบกวนด้วยนะคะ

ขอบพระคุณล่วงหน้าคะ ^_^

ข้อสอบคงแล้วแต่จังหวัด ครับ

เพราะ กรมให้ต้นสังกัด สอบคัดเลือก

ลองเข้า website

http://www.dld.go.th/certify

click - กฎระเบียบ -โรงฆ่าสัตว์ในประเทศ -พรบ.ควบคุมการฆ๋าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535

กฏกระทรวงฉบับที่ 5 (อันนี้สำคัญมาก....อ่านเอา idea ไปตอบข้อสอบ ..)

click- โครงการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์

อ่านรายละเอียดโครงการให้รู้ว่า โครงการนี้ทำอะไร อย่างไรบ้าง

ด้านล่าง มีรายละเอียด การตรวจสัตว์ ก่อน-หลังฆ่า

การเก็บตัวอย่าง

การตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเส้นสายในการสอบ

แต่ก็คงไม่ทุกที่

ลองตั้งใจแล้ว

เชื่อว่า คุณต้องทำได้

เป็นกำลังใจ

  • มาเรียนรู้อักเรื่อง..ครับ
  • อ่านจบ..ก็มึนตึบเหมือนเดิม
  • ไม่อยากบอกว่า..ผมแก่เกินไป  อิอิ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท