สมถะ วิปัสสนา ควรทำอะไรก่อน


การเจิญสมถะและวิปัสสนา

ในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาภาวนา เมื่อก่อนหน้า ดิฉันเคยเข้าใจว่าควรทำสมาธิก่อนแล้วจึงค่อยตามด้วยวิปัสสนา นั่นคือเมื่อทำสมาธิจนจิตสงบตามสมควรแล้ว ค่อยถอนจากสมาธิ แล้วหยิบยกธรรมขึ้นมาพิจารณาในขณะที่จิตกำลังเหมาะแก่การใช้งาน

จนมาพบท่านพุทธทาสอธิบายว่า การพิจารณาจนบรรลุธรรม ไม่จำเป็นต้องใช้จิตที่สงบ และมีกำลังอันเกิดจากสมาธิที่ได้จากการบังคับเอาด้วยเทคนิคก็ได้ สมาธิที่เราใช้ในการปฏิบัติงานตามปกติ ก็ทำให้จิตมีความสงบพอที่จะพิจารณาธรรมได้เช่นกัน(ตามที่เคยบันทึกไว้ใน สมาธิ และวิปัสสนาตามวิธีธรรมชาติ

หรือจะเจริญสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมกันก็ได้

มาพบบทความที่สนับสนุนกัน ในชื่อเรื่อง ปัญญาพื้นฐานมีอยู่ทุกคน ของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ หรือพระปัญญาพิศาลเถร ( ท่านได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร สาขาการแต่งหนังสือทางพุทธศาสนาปี ๒๕๓๓ มรณภาพเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) โดยท่านเขียนไว้ดังนี้ค่ะ

การภาวนาปฏิบัติ เราต้องเข้าใจในพื้นฐาน ตีความหมายในคำว่าสมถะและวิปัสสนาให้เข้าใจ หรือมีคำถามว่า สมถะกับวิปัสสนา จะปฏิบัติอย่างไหนก่อนกัน ตอบได้ว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลังก็ได้ เพราะอุบายทั้งสองนี้เป็นพลังหนุนซึ่งกันและกัน ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจในอาการจิตของตนเอง ถ้าช่วงไหนจิตไม่ชอบคิดอะไร ในช่วงนั้นให้ทำสมาธิไปก่อน เมื่อจิตมีความสงบพอสมควรแล้ว จึงใช้ปัญญาพิจารณาในหลักสัจธรรมทีหลัง

หรือในช่วงใดจิตเราชอบนึกชอบคิดไม่อยู่เป็นปกติ จะกำหนดคำบริกรรม หรือกำหนดอานาปนสติก็มีแต่ความลืมตัว ออกไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ในช่วงนั้นก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไปก่อน เรื่องที่นำมาพิจารณานั้น ให้สังเกตดูจิตตนเองว่ามีความผิดติดพันอยู่ในเรื่องอะไร ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้อยู่ในขอบเขตของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือมีเรื่องที่จะให้คิดพิจารณา ก็ให้พิจารณาตามหลักความจริงในเรื่องนั้นๆ และให้ลงไปสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้ง

เมื่อจิตมีความเหนื่อยในการคิดพิจารณาแล้วก็ต้องหยุด แล้วมากำหนดจิตเพื่อทำสมาธิต่อไป การเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น เรามีความสะดวกในอิริยาบถใดก็ทำได้ทั้งนั้น จะสำเร็จผลประโยชน์ในการปฏิบัติเหมือนกัน

ฉะนั้น เราต้องวางพื้นฐานในการปฏิบัติไว้ให้ดี ขณะนี้ปัญญาของเรามีอยู่แล้ว ใช้ปัญญาที่มีอยู่นี้เป็นพื้นฐานในทางธรรม แต่ก่อนมา เราใช้แต่ปัญญาคิดไปในทางโลก คิดไปไม่มีขอบเขต คิดไปไม่มีจุดหมายปลายทาง จึงเรียกว่า ปัญญาลอยตามกระแสโลก หาที่จบสิ้นมิได้ เดี๋ยวคิดเรื่องโน้น เดี๋ยวคิดเรื่องนี้ ทั้งเรื่องส่วนตัว ทั้งเรื่องของคนอื่น คิดไม่มีการจบสิ้น ผู้มีความคิดได้อย่างนี้ แสดงว่าผู้นั้นมีปัญญาอยู่ในตัว แต่เป็นขั้นโลกีย์ ปัญญาขั้นนี้มีอยู่กับทุกคน .....

จึงนำมาบันทึกไว้ให้ต่อเนื่องกันค่ะ

.................................

อ้างอิง

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญโญ ทวนกระแสโลก พบกระแสธรรม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ๖๕/๑๖ ถนนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ พ.ศ. ๒๕๕๒ ( หน้า ๓๑๙ ๓๒๐)

หมายเลขบันทึก: 295964เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2009 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • แวะมารับข้อธรรมค่ะ  อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ...ตามประสบการณ์นั้น ได้มุ่งรวมสติและจิตเป็นหนึ่ง..การคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามกิเลสอาสวะทั้งปวง..จะจางลงไปตามลำดับ..จนกระทั่งไม่คิดอะไรอีกแล้ว...เหมือนตอกเสาเข็ม...ยิ่งลึกยิ่งหนักแน่นไม่หวั่นไหวนะคะ...

แวะมาอ่านครับ

อนุโมทนาครับ อ่านแล้วสาระดีๆ เยอะครับ

ขึ้นกับจริตน่ะครับ ว่าเป็นตัณหา หรือ ทิฏฐิจริต ซึ่งเป็น 2 จริตสำหรับวิปัสสนาครับ

ถ้าคนเมือง คิดมาก รู้กาย รู้จิตไปเลย ดูทีละขณะเป็นขณิกกะสมาธิทำความสงบจนได้ฌานสงสัยไม่ได้เจริญวิปัสสนา แล้วค้อยทำสมถะบ้างให้จิตมีกำลัง

ถ้าคนแต่ก่อนหรือคนที่ทำความสงบได้ง่าย จนถึงอัปปนาสมาธิ จนเิกดจิตตั้งมั่นแล้วถอยออกมาเจริญวิปัสสนา

ต้องคอยศึกษาตัวเองก่อนเริ่มปฏิบัติน่ะครับ

ปรึกษาครูบาอาจารย์ด้วยก็ดีครับ

ผมก็ฟังมาจากครูบาอาจารย์เหมือนกันเพราะเคยสงสัยว่าจะเริ่มยังไงดี ไปไม่ถูก นั่งสมาธิอย่างเดียวเหรอ เจริญสติอย่างเดียวเหรอ ใหม่ๆก็งงครับ

พระครูนิวิฐธุราทร
  • แวะมาทักทาย
  • ขออนุโมทนาบุญด้วย

                             เจริญพร

สวัสดีค่ะ

ตามมาอ่านทั้งที่ตาใกล้จะหลับแล้วค่ะ....

แต่ยังอยากอ่านเรื่องราวดี ๆ อีก

ที่เคยได้ฟังมาบ้างก็คือให้ใช้สมถะเป็น บาทฐาน ในการขึ้น สู่วิปัสสนา

แต่อ่านแล้ว ได้ข้อคิดว่าต้องแล้วแต่จริตและความเหมาะสมของแต่ละคน

ขอบคุณมากค่ะ

(^___^)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท