แนะนำหนังสือ Creative Capital จุดกำเนิดนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกา


ถ้าไม่มี Venture Capital วันนี้ก็คงไม่มีบริษัทที่ชื่อ FedEx, Staple, Apple, Intel และ Google

ฟ้าครับ

เวลานี้ดูเหมือนว่าแวดวงผู้รับผิดชอบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของภาครัฐ จะมีความเห็นตรงกัน (เสียที) แล้วว่า ลำพังการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยองค์กรวิจัยภาครัฐจะไม่สามารถพาประเทศไปถึงไหน (ยกเว้นแต่จะฮีกเหิมได้เท่ากับคอมมิวนิสต์โซเวียตในยุคแย่งชิงความเป็นผู้นำทางอวกาศกับสหรัฐ ใครเกิดทันบ้างยกมือขึ้น)

ถ้าเรายังเชื่อว่าเราอยู่ในยุคทุนนิยม การที่จะให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกดอกออกผล สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับประเทศอย่างมั่นคง นวัตกรรมในภาคเอกชนที่ต่อยอดออกไปจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจนั่นแหละคือกุญแจสำคัญ

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในเรื่องการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน หลาย ๆ บริษัทที่เราเห็นว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในภาคธุรกิจของเขาเริ่มต้นจากการเป็นหน่อเล็ก ๆ (สมัยนี้ก็คือตัว S ในคำว่า SMEs) กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยประคับประคองให้หน่อไม้เติบใหญ่ขึ้นมาได้ก็คือ “ระบบเงินร่วมลงทุน” ซึ่งคนในวงการจะคุ้นเคยกับคำภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Venture Capital มากกว่า

พูดแบบให้เข้าใจง่าย ๆ บริษัททางเทคโนโลยีที่ก่อตั้งใหม่ มักมีไอเดีย ไฟแรง แต่ประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เปรียบเหมือนมีสมองแต่ขาดเลือด Venture Capital ก็คือระบบที่ช่วยฉีดเลือดเข้าไปเลี้ยงสมอง ด้วยการเสริมเงินลงทุนระยะยาวให้กับบริษัท นอกเหนือไปจากการระดมทุนด้วยการกู้ยืมตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเม็ดเงินที่กู้ยืมพี่ป้าน้าอามาเริ่มตั้งกิจการ (bootstrap) ร่อยหรอลงไป ขณะที่สถาบันการเงินก็ยังไม่พร้อมที่จะเข้ามาเสี่ยงปล่อยกู้

(รายละเอียดเกี่ยวกับ Venture Capital จะขอละไว้ แต่ถ้าใครสนใจก็อาจหาอ่านเพิ่มเติมได้ไม่ยาก เช่น “แนวทางยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน” ตีพิมพ์ปี 2552 นี่เอง)

อาจมีไม่มากคนนักที่ทราบว่า บิดาของVenture Capital ในสหรัฐอเมริกา ที่นานาประเทศต่างพากันไปศึกษาเอาเป็นแบบอย่างนั้น เป็นชายชาวฝรั่งเศสนายหนึ่งที่ชื่อว่า Georges Doriot (โดริโอท์) เรื่องที่จะนำมาเล่าในวันนี้เป็นชีวประวัติของนายโดริโอท์ ในหนังสือชื่อ Creative Capital เขียนโดย Spencer Ante นักข่าวนักเขียนของ Business Week เล่มนี้เขาเขียนได้ดีมาก ถึงกับได้เรทติ้งเฉลี่ยระดับ 5 ดาวใน amazon.com

Georges Doriot

ตามที่เล่าไปแล้วว่า Venture Capital คือกลไกที่ช่วยประคับประคองกิจการในระยะเริ่มต้น แต่ในความเป็นจริงหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็น “...การลงทุนที่มีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน...” ฉะนั้นในการเข้าไปประคองที่ว่านี้ต้องอาศัยความกล้าระดับหนึ่ง

ความกล้ามักเกิดขึ้นได้จากสองปัจจัย ปัจจัยแรกคือการมี “ลูกบ้า” ซึ่งเป็นปัจจัยภายในเฉพาะคน กับ “สภาพแวดล้อม” ที่เหมาะสมที่จะให้เกิดความกล้าที่ว่านั้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก

คล้ายจะเป็นความบังเอิญ ที่สองปัจจัยนี้ก่อเกิดขึ้นพอดี ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญของศตวรรษที่ 20 สองอย่าง นั่นก็คือภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำในช่วงปลายทศวรรษ 1920 และสืบเนื่องมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเหตุการณ์แรกมีผลกระทบนำมาสู่เหตุการณ์ที่ 2

บิดาของโดริโอท์เป็นวิศวกรบริษัทรถยนต์ที่กลายมาเป็นบริษัทเปอโยต์ ความเจ้าระเบียบและไม่ประนีประนอมในคุณภาพของบิดาเป็นที่เลื่องชื่อ ต่อมาได้ลาออกมาตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ของตนเอง ซึ่งก็ยืนหยัดทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนกระทั่งมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และเศรษฐกิจตกต่ำที่ต่อเนื่องตามมา ผู้บิดาเล็งเห็นความยากลำบากของชีวิตในยุโรปที่จะตามมา จึงตัดสินใจส่งโดริโอท์น้อยที่ยังหนุ่มกระทงไปเสี่ยงโชคในอเมริกาโดยไม่มีญาติพี่น้อง และแทบจะไม่รู้จักใครเลย

ชะตาชีวิตที่พลิกผัน บวกกับนิสัยสู้ชีวิตทำให้โดริโอท์ร่ำเรียนจนมาเป็นอาจารย์ที่ Harvard Business School สไตล์การสอนที่ถึงลูกถึงคน และความเอาใจใส่นักศึกษาอย่างละเอียดเป็นรายคนเลยไปถึงห่วงใยลูกเมีย ทำให้เขาโด่งดังในฐานะอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ (และเมียของลูกศิษย์) อยากเรียนด้วยมากที่สุด

สงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งของโดริโอท์ เขาถูกบรรจุเข้ารับราชการทหารในกองทัพสหรัฐ รับผิดชอบดูแลหน่วยงานที่ต่อมากลายเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนาของกองทัพ เขาเริ่มตระหนักว่า สงครามสมัยใหม่แท้ที่จริงแล้วก็คือ “วิทยาศาสตร์ประยุกต์” แขนงหนึ่ง และผลงานของเขาที่ดูแลการผลิตรองเท้าส้นยางรุ่นใหม่ที่ใช้ในสมรภูมิได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการสู้รบของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก

สงครามจบลงโดยโดริโอท์ได้รับเหรียญกล้าหาญโดยไม่ต้องออกไปสู้รบเองเลย และได้รับยศถึงขั้นนายพล

หลังสงครามแนวคิดเรื่องการตั้งบริษัทเงินทุนรูปแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยการระดมทุนให้บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรม จากแนวคิดก็ได้กลายมาเป็นบริษัท Venture Capital แห่งแรกคือ American Research and Development Corporation (ARD) เมื่อปี ค.ศ. 1946 มีโดริโอท์ซึ่งคร่ำประสบการณ์ในการบริหารจัดการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกองทัพเป็นประธาน

ผลก็คือ บรรยากาศการลงทุนในสหรัฐเริ่มเปลี่ยน จากนิสัยที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ที่เป็นมาตั้งแต่สมัยนโยบาย New Deal หลังเศรษฐกิจตกต่ำ มาเป็นการเร่งสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยแนวคิดที่ว่า (ทำใจได้ว่า) แม้ว่าบางโครงการอาจจะเสี่ยง และหลายโครงการจะล้มเหลวในที่สุด แต่จะมีโครงการที่ประสบความสำเร็จถึงขั้นสร้างรายได้เพียงพอที่ทั้งหมดจะยั่งยืนได้ในภาพรวม และขณะนั้นหลายคนก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า นี่จะเป็น “ทุนทางสังคม” อย่างใหม่ของประเทศ

บริษัทที่ ARD เข้าไปลงทุนในยุคแรก ๆ มีตั้งแต่กิจการทำทูน่ากระป๋องที่เกาะซามัว ไปจนถึงบริษัทที่พบวิธีเปลี่ยนไอโซโทปมาใช้ในทางอุตสาหกรรม ถึงความหลากหลายจะมีมาก แต่ ARD ก็มีความชัดเจนในการเลือกและประเมินเจ้าของกิจการอย่างเข้มงวด กิจการเหล่านี้สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง บริษัทอยู่ในภาวะเดินหน้าสองก้าว ถอยหลังก้าวหนึ่ง

ความสำเร็จที่โด่งดังที่สุดมาถึงเมื่อ ARD เข้าสนับสนุนวิศวกรหนุ่มสองคนที่เชื่อในอนาคตของทรานซิสเตอร์ และโอ่ว่าพวกเขาสามารถสู้กับยักษ์ใหญ่ IBM (ที่ยังใช้หลอดอยู่) ด้วยการผลิตขายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (minicomputer) เพื่อใช้สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม บริษัทเล็ก ๆ แห่งนี้คือ Digital Equipment Corporation (DEC) ที่ต่อมากลายเป็นตำนานของวงการคอมพิวเตอร์ สร้างผลิตภัณฑ์ยอดนิยมขึ้นมามากมาย จนกระทั่งควบรวมกิจการกับ Compaq และ HP ในเวลาต่อมา

Creative Capitalไม่ใช่หนังสือที่สรรเสริญเยินยอแต่ความสำเร็จของ Venture Capital ในประวัติศาสตร์ของบริษัท ARD บางครั้งก็มีด้านมืด ต้องต่อสู้กับกฎระเบียบที่เคร่งครัดและโบราณของ SEC (กลต. ของสหรัฐ) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของบริษัทในตลาดหุ้น โดยเฉพาะประเด็นข้อจำกัดขอบเขตของสิทธิ์ในการถือครองหุ้นของบริษัทที่ตนเข้าไปลงทุน ทำให้พนักงานบางส่วนถึงกับลาออก ลำพังแง่มุมของพัฒนาการในทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากพอแล้ว

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณจะหลับตาเห็นภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาก่อนและระหว่างการบูมของนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ดในสนามหญ้าหลังฝน เป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและเส้นทางอาชีพของคนในวงกว้าง

เพราะถ้าไม่มี Venture Capital วันนี้ก็คงไม่มีบริษัทที่ชื่อ FedEx, Staple, Apple, Intel และ Google

 

คำสำคัญ (Tags): #book#venture capital
หมายเลขบันทึก: 294332เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยื่ยมมากเลยค่ะ จะลองหามาอ่านเช่นกัน

วิธีการทำงานและวิถีชีวิตของคนอเมริกาเป็นสิ่งน่าศึกษาคะ

แม้โดยภาพที่ออกมาดูหวือหวา

แต่คนของเขาก็ทำงานหนัก มุมานะ

แม้เราคิดว่า คือโลกแห่งทุนนิยม

แต่เศรษฐีหลายคนเป็นนักอนุรักษ์ และใช้ชีวิตแสนจะติดดิน

ขอบคุณคะ จะไปสืบเสาะมาอ่านดูคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท