การเรียนการสอนตามวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT


รูปแบบการเรียนการสอนตามวัฏจักรการเรียนรู้   4   MAT
แนวคิดหลักการ 
              ตามทฤษฎีของคอล์บ (1976)  จากการศึกษาพบว่ามี 2 มิติ ที่มีความสำคัญกับการเรียนรู้
คือ  การรับรู้ และกระบวนการ  กล่าวว่าการเรียนเกิดจากการที่คนทั้งหลายรับรู้แล้ว นำเข้าไปจัดกระบวนการ ในสิ่งที่ตนรับรู้มาอย่างไร ตัวอย่าง คนที่มีความแตกต่างกันมากๆ ก็ได้แก่คนที่รับรู้ผ่านรูปธรรม แต่คนอีกประเภทหนึ่งรับรู้ผ่านนามธรรม   คนสองกลุ่มนี้สร้างความคิดแตกต่างกัน ในเรื่องเดียวกัน

            ดังนั้นในปี ค.ศ.1980 แมคคาร์ธี จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวของคอล์บ มาประยุกต์และพัฒนาเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่  ที่ตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียน   4  แบบ   (4  Types  of students)   ที่เรียกว่า  4 MAT  หรือ การจัดกิจกรรมการเรียนให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับระบบการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวา  (แนวคิดของคลอ์บนี้ ได้รากฐานทฤษฎีมาจาก จอห์น ดิวอี้ เคิร์ท เลวิน และ ฌอง ปิอาเช่ต์)
แมคคาร์ธี ได้ขยายแนวคิดของคอล์บออกไปให้กว้างขึ้น โดยเสนอว่าผู้เรียนมีอยู่
4 แบบหลัก ๆ ดังนี้ แบบที่ 1 (Type One Learner)  ผู้เรียนถนัดการใช้จินตนาการเป็นพวกที่ชอบถามเหตุผลคำถามที่
คิดจะพูดขึ้นมาเสมอๆ คือ ทำไม” “ทำไม หรือ Why?
แบบที่ 2 (Type Two Learner)  ผู้เรียนถนัดการวิเคราะห์ จะรับรู้ในลักษณะรูปธรรมเป็นพวกที่ชอบถามว่าข้อเท็จจริง คำถามที่สำคัญที่สุดของเด็กกลุ่มนี้ คือ อะไร หรือ What?
แบบที่ 3 (Type Three Learner)   ผู้เรียนถนัดใช้สามัญสำนึก    รับรู้โดยผ่านจากกระบวนความคิดและสิ่งที่เป็นนามธรรม คำถามยอดนิยมของกลุ่มนี้ คือ อย่างไรหรือ How?

แบบที่ 4 (Type Four Learner) ผู้เรียนที่สนใจค้นพบความรู้ด้วยตนเอง  ผู้เรียนจะรับรู้ผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมและผ่านการกระทำ พวกที่ชอบตั้งเงื่อนไข คำถามของเด็กกลุ่มนี้บ่อย ๆ คือ    ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้” “ถ้า……” หรือ IF
         
ผู้คิดทฤษฎีนี้เชื่อว่า  จำเป็นต้องสอนเด็กโดยใช้วิธีการสอนทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว  4   อย่างเท่า ๆ กัน เพราะทักษะทางธรรมชาติของผู้เรียนทั้ง 4  อย่าง   เป็นสิ่งที่เราต้องการ ในชั้นเรียนหนึ่ง ๆ นั้น มักจะมีผู้ถนัดการเรียนรู้ทั้ง 4 แบบอยู่รวมกัน ดังนั้นครูจำเป็นต้องใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมทั้ง 4 แบบอย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานตามรูปแบบการเรียนรู้ที่ตนถนัด  จากการหมุนเวียนรูปแบบการสอนทั้ง 4 อย่างนี้ ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนา ความสามารถด้านอื่นที่ตน
ไม่ถนัดด้วยวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งยังมีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถอย่างน้อย ร้อยละ 25  ของเวลาที่ท้าทายพวกเขา ส่วนเวลาที่เหลืออาจไม่เป็นที่ต้องใจเท่าไร

วัตถุประสงค์
         
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้มีโอกาสได้ใช้สมองทุกส่วน  (whole  brain) ทั้งซีกซ้ายและขวา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง
ลักษณะรูปแบบ              
            ส่วนบนสุดของวงจรโดยเริ่มจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม   และหมุนตามเข็มนาฬิกาไปรอบ ๆ  กิจกรรมการเรียนรู้จะหมุนวนตามเข็มนาฬิกาไปจนครบทั้ง  4  ช่วง 4 แบบ  (Why - What - How - If)  แต่ละช่วงจะแบ่งเป็น 2 ขั้น  โดยจะเป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ใช้สมอง ทั้งซีกซ้ายและ
ขวาสลับกันไป ดังนั้นขั้นตอนการเรียนรู้จะมีทั้งสิ้น
8 ขั้นตอนดังนี้

ช่วงที่ 1 สร้างประสบการณ์เฉพาะของผู้เรียน(แบบ Why ?)  

ขั้นที่ 1 (กระตุ้นสมองซีกขวา)   สร้างประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้เรียน  การเรียนรู้เกิดจาก
การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวาโดยครูสร้างประสบการณ์จำลอง ให้เชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์เก่าของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสร้างเป็นความหมายเฉพาะของตนเอง

ขั้นที่
2 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) วิเคราะห์ไตร่ตรองประสบการณ์ การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรม
เพื่อพัฒนาสมองซีกซ้ายโดยครูให้นักเรียนคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ประสบการณ์จำลองจากกิจกรรม
ขั้นที่
1 
ช่วงที่
2 พัฒนาความคิดรวบยอดของผู้เรียน (แบบ What ?)
ขั้นที่ 3 (กระตุ้นสมองซีกขวา) สะท้อนประสบการณ์เป็นแนวคิดการเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรม
เพื่อพัฒนาสมองซีกขวา    โดยครูกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รวบรวมประสบการณ์    และความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานของแนวคิด  หรือความคิดรวบยอดอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง  
ขั้นที่
4 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย)  พัฒนาทฤษฎีและแนวคิด    การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกซ้าย    ครูให้นักเรียนวิเคราะห์และไตร่ตรองแนวคิดที่ได้จากขั้นที่ 3    และถ่ายทอดเนื้อหาข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดที่ได้  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวคิดนั้น ๆ  พยายามสร้างกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นในการเก็บรวบรวมข้อมูล และการศึกษาค้นคว้าหาความ
รู้เพิ่มเติม
ช่วงที่
3 การปฏิบัติและการพัฒนาแนวคิดออกมาเป็นการกระทำ (แบบ How ?)
ขั้นที่ 5 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) ดำเนินตามแนวคิด และลงมือปฏิบัติหรือทดลอง  การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมพัฒนาสมองซีกซ้าย เช่นเดียวกับขั้นที่ 4 นักเรียนเรียนรู้จากการใช้สามัญสำนึก ซึ่งได้จากแนวคิดพื้นฐาน จากนั้นนำมาสร้างเป็นประสบการณ์ตรง เช่น การทดลองในห้องปฏิบัติการหรือการทำแบบฝึกหัดเพื่อส่งเสริมความรู้ และได้ฝึกทักษะที่เรียนรู้มาในช่วงที่ 2
ขั้นที่
6 (กระตุ้นสมองซีกขวา) ต่อเติมเสริมแต่ง และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวา  นักเรียนเรียนรู้ด้วยวิธีการลงมือปฏิบัติ   แก้ปัญหา ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง
ช่วงที่
4 เชื่อมโยงการเรียนรู้จากการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง จนเกิดเป็นความรู้ที่ลุ่มลึก(แบบ If ?)
ขั้นที่ 7
  (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) วิเคราะห์แนวทางที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นแนว
ทางสำหรับการเรียนรู้เพิ่มเติมต่อไป   การเรียนรู้เกิดจากการจัด    กิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกซ้าย นักเรียนนำสิ่งที่เรียนรู้มาแล้วมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์    โดยนักเรียนเป็นผู้วิเคราะห์และเลือก
ทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย
ขั้นที่
8 (กระตุ้นสมองซีกขวา) ลงมือปฏิบัติ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวา  นักเรียนคิดค้นความรู้ด้วยตนเองอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ จากนั้นนำมาเสนอแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
การนำไปใช้ และข้อคิดวิเคราะห์              
ตัวอย่างแผนการสอนแบบ 4 MAT ของโรงเรียนสมถวิล ซึ่งนำไปใช้ในการเรียน เรื่อง กระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection)  ในวิชาวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี
ที่
4 โดยใช้เวลา 4 คาบเรียน
กิจกรรมการสอนเริ่มด้วย
ขั้นที่
1. มีจุดประสงค์เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้นักเรียนเข้าใจสัญชาติญาณ เกี่ยวกับลักษณะ
ของ
แหล่งซ่อนตัวที่ดีผ่านกิจกรรมการละเล่น คือ ซ่อนหาโดยจะประเมินผลกิจกรรมจากการมี
ส่วนร่วมและความสนุกสนานในการทำกิจกรรมของนักเรียน
ขั้นที่
2. มีจุดประสงค์ให้นักเรียนวิเคราะห์เกม  ซ่อนหาโดยครูกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมกันวิเคราะห์
หาองค์ประกอบของสถานที่ซ่อนตัวที่ดีมีกิจกรรมแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อย แล้วให้ตอบคำถามดังนี้
1. นักเรียนที่ถูกหาพบเป็นคนสุดท้ายทำอย่างไรจึงซ่อนตัวได้นานกว่าคนอื่น
2. แหล่งซ่อนตัวที่ดีนั้นมีลักษณะเช่นไร
3. แหล่งซ่อนตัวที่ดีมีลักษณะเฉพาะที่คล้ายกันอย่างไรบ้าง และ
4. ลักษณะสำคัญดังกล่าว มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสัตว์ชนิดต่างๆ อย่างไร
ขั้นที่
3. มีจุดประสงค์ให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยง  ว่าประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการเล่นอาจมีความคล้ายกันกับสัญชาติญาณ การซ่อนตัวของสัตว์ชนิดอื่น ๆ  โดยครูจัดกิจกรรมแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มใช้ความรู้ที่ได้มา  เกี่ยวกับแหล่งซ่อนตัวที่ดี    เพื่อหาตำแหน่งที่น่าจะเป็นที่ซ่อนของสัตว์ชนิดที่ครูได้กำหนดให้มาอาจเป็น กระรอก กระต่าย หรือสัตว์ที่ขนาดใหญ่ขึ้น  นักเรียนแต่ละคนวาดภาพบรรยายลักษณะแหล่งซ่อนตัวที่พวกเขาพบ   และคิดว่า  เป็นแหล่งที่ซ่อนตัวที่สมบูรณ์แบบที่สุดจากนั้นแลกเปลี่ยนภาพร่างกันดูและอธิบายเหตุผลที่เลือกแหล่งที่ซ่อนนั้นๆ สิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากกิจกรรมนี้  คือความเข้าใจในแนวคิดเรื่องการปรับตัว (เรียนรู้ว่าสัตว์ชนิดต่างๆ ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด  โดยเลือกสถานที่อาศัยที่ปลอดภัยจากศัตรู)
ขั้นที่ 4. มีจุดประสงค์ให้นักเรียนเข้าใจที่ซ่อนตัวของสัตว์ส่งผลต่อกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติอย่างไร ครูบรรยายเพิ่มเติมในเรื่องแหล่งที่ซ่อนตามธรรมชาติของสัตว์ และเรื่องกระบวนการคัดเลือก
โดยธรรมชาติ จัดเตรียมหาหนังสือ บทความ รูปภาพ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องสอนแนวคิดต่าง ๆ และคำศัพท์ทางวิชาการ รวมทั้งให้นักเรียนค้นหาความรู้จากแหล่งอื่นๆ   เพื่อทบทวนแนวคิดเรื่องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสัตว์   และพิจารณาว่าแนวคิดดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติอย่างไร
ขั้นที่
5.  มีจุดประสงค์เพื่อให้แนวทางเชิงปฏิบัติ  แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติแก่นักเรียน มีกิจกรรมตอบคำถามจากแบบฝึกหัดเพื่อทบทวนแนวคิดและความรู้ที่ได้ และให้นักเรียนมองหาที่ซ่อนของสัตว์ ที่บ้านหรือบริเวณละแวกบ้านตน เขียนรายงานสิ่งที่พบเจอ เขียนภาพเกี่ยวกับการค้นพบนำมาเล่าสู่กันฟัง
ขั้นที่
6. มีจุดประสงค์ให้นักเรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์  ประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มา โดยมีกิจกรรมงานกลุ่ม นักเรียนสร้างสัตว์ในจินตนาการ  ที่สามารถซ่อนตัวในชั้นเรียนได้อย่างแนบเนียน  นักเรียน
ลงมือวาดภาพเท่าขนาดของจริง
ขั้นที่
7. มีจุดประสงค์ให้นักเรียนต่อเติมโครงงานสัตว์ในจินตนาการของตนเอง   และใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ    โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนเขียนบรรยายภาพลักษณะสำคัญ ๆ ของสัตว์ในจินตนาการ  เช่น ขนาด  รูปร่าง สี   ลักษณะพิเศษอื่น ๆ  เปิดโอกาสให้เพื่อนต่างกลุ่ม วิจารณ์ว่าสัตว์ที่สร้างขึ้นมา จะซ่อนตัวในห้องเรียนได้ดีเพียงใด และทำไม
ขั้นที่
8.  มีจุดประสงค์เพื่อประเมิน  ทดสอบสิ่งที่เรียนไปแล้ว มีกิจกรรมให้นักเรียนสร้างสัตว์จำลองจากกระดาษ   ลองนำไปซ่อนภายในห้องเรียน และให้เพื่อนคนอื่น ๆ ช่วยกันค้นหา ร่วมกันอภิปรายความยากง่ายในการหาสัตว์จำลองแต่ละแบบ   ลองดัดแปลงแก้ไขและทำการซ่อนใหม่ อาจชักชวนผู้เรียนจากห้องอื่นๆ ให้มาลองร่วมกิจกรรมการค้นหา
              
บทบาทของครูย่อมเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เปลี่ยนวิธีสอนตามวงจรในเสี้ยวแรกครูจะสร้างสรรค์ประสบการณ์แล้วนำไปสู่การอภิปรายปัญหาของประสบการณ์นั้น  ๆ ในเสี้ยวที่สอง  ครูแสดงตัวเป็นผู้ป้อนข้อมูล เสี้ยวที่สาม ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ชี้แนะช่วยเด็กฝึกฝนในส่วนที่จำเป็นต้องเรียนเสี้ยวที่สุดท้ายครูจะเป็นผู้ประเมินผลรวมทั้งเป็นผู้ซ่อมเสริม     และเป็นแหล่งข้อมูลให้เด็กได้ค้นพบตนเองและการเรียนของเขาเอง
ข้อสังเกตของนักศึกษา
            
การจัดการสอนให้สอดคล้องและคำนึงถึงการทำงานของระบบสมอง เป็นวิธีที่ดำเนินไปตามธรรมชาติ โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญพิเศษแต่อย่างใด     แต่สามารถทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่สนุกสนานเต็มตามศักยภาพของผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน และเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ
           
ผู้เรียนจะสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง     ในเรื่องที่เรียน จะเกิดความรู้ความเข้าใจและนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปใช้ได้ และสามารถสร้างผลงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง รวมทั้งได้พัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ อีกจำนวนมาก

แหล่งอ้างอิง

ทิศนา   แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2545

คำสำคัญ (Tags): #4 mat
หมายเลขบันทึก: 293754เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท