พิธีเปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียและโรคเลือดออกง่ายในชุมชนจังหวัดน่าน


พวกเราจะสร้างชุมชนเป็นสถานบริการ มีหมอประจำบ้าน พยาบาลประจำครัวเรือน โดยมีพวกเราเป็นเจ้าของสุขภาพ

พิธีเปิดศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียและโรคเลือดออกง่ายในชุมชนจังหวัดน่าน ในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 ณ ห้องประชุม 1 โรงพยาบาลน่าน

ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน นายแพทย์นิวัติชัย  สุจริตจันทร์ และคุณหทัยวุฒิ  ลำเทียน ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดในครั้งนี้  ผู้ร่วมงานประกอบด้วยผู้ป่วย  ครอบครัว อาสาสมัคร อบต. อสม. ตัวแทนองค์กรเอกชน บุคลากร และสื่อมวลชน กว่า 100 คน  นอกจากนี้มีคณะกรรมการมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย คุณลดาวัลย์ อัครพัฒนานุกูล  ประธานเครือข่ายภาคเหนือ คุณชูศักดิ์ ขจรฤทธิ์   ประธานชมรมผู้ป่วยจังหวัดลำปาง  คณะกรรมการชมรมผู้ป่วยจังหวัดอุตรดิตถ์ คุณรุ่งนภา  โรจนสว่าง และตัวแทนจากจังหวัดแพร่คุณยายป้าน เข้าร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ด้วย

ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์แพทย์หญิงอำไพวรรณ   จวนสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี  บรรยายพิเศษเรื่องความก้าวหน้าในการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ คุณผกาวรรณ  วงศ์วีระวัฒนกูร ร่วมนิเทศงานและตรวจร่างกายผู้ป่วยทุกราย  สร้างความประทับใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก

กิจกรรมประกอบด้วยการจัดนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับฮีโมฟีเลีย โรคเลือดออกง่าย การสาธิตการฉีดยาด้วยตนเอง การบริหารร่างกาย การดุแลช่องปากฟัน และการสืบค้นพงศาวลีเพื่อค้นหาพาหะโรคป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ในครอบครัวของผู้ป่วย และการสืบค้นหาผู้ป่วยในชุมชน

แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางข้อมูล ข่าวสารโรคฮีโมฟีเลียและโรคเลือดออกง่ายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสาธารณะ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลตนเองซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มผู้ป่วย  รับสมัครอาสาสมัครเป็นหมอประจำบ้าน พยาบาลประจำครัวเรือน อาสาเพื่อนช่วยเพื่อน และอาสาสมัครจากชุมชนในการมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพผู้ป่วยฮีโมฟีเลียและโรคเลือดออกง่าย  ฝึกอบรมให้ความรู้ แก่บุคลากรวิชาชีพสาขาสุขภาพ  และอาสาสมัคร ณ หน่วยบริการที่เป็นที่ตั้งตามภูมิลำเนาของผู้ป่วย  ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวผู้ป่วยทั้งรายใหม่และรายเก่าเปิดให้บริการตลอดปี  จัดเสวนากลุ่มและประสานความร่วมมือกับชุมชนในการเฝ้าระวัง การป้องกันการเกิดโรคและการให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยในชุมชน   พัฒนาเครือข่ายผู้ป่วย ญาติ อาสาสมัคร และเพิ่มศักยภาพแก่ ผู้ป่วย ครอบครัว  อาสาสมัครในชุมชนในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติ  จัดค่ายสำหรับผู้ป่วย/ครอบครัวและอาสาสมัครเพื่อฝึกทักษะในการดูแลตนเอง และการฉีดยาด้วยตนเอง  ให้คำปรึกษาตามพงศาวลีเพื่อป้องกันการเกิดผู้ป่วยรายใหม่แก่ผู้ป่วยและครอบครัว โดยอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่  ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านโดยกลุ่มผู้ป่วยด้วยกันเอง  อาสาสมัคร และบุคลากรสาขาสุขภาพ ทุกรายๆละ  1-2 ครั้ง/ปี   การเสริมสร้างพลังในการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันเฝ้าระวังโรคในชุมชน  ประสานชุมชนเพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีวิตในสังคม การสร้างอาชีพที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย

                    จังหวัดน่านคาดหวังว่าไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในครอบครัวผู้ป่วยเดิม สามารถค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชนตามอุบัติการณ์  ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลทั้งในช่วงการดำเนินชีวิตตามปกติและการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติ

                  ผู้ป่วยและครอบครัวทุกคนขอขอบคุณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  โรงพยาบาล   รามาธิบดี มูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย  ชมรมผู้ป่วยฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย/ภาคเหนือ/น่าน  สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดน่าน บริษัทแบ็กซ์เตอร์เฮลธ์แคร์ประเทศไทยจำกัด  โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลท่าวังผา ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดตั้งศูนย์ฯ ในครั้งนี้

                 พวกเราจะสร้างชุมชนเป็นสถานบริการ  มีหมอประจำบ้าน พยาบาลประจำครัวเรือน  โดยมีพวกเราเป็นเจ้าของสุขภาพ

 

หมายเลขบันทึก: 293752เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ยินดีกับทีมงานฮีโมฟีเลียที่เข้มแข็งของน่านครับ

พวกเราจะสร้างชุมชนเป็นสถานบริการ มีหมอประจำบ้าน พยาบาลประจำครัวเรือน โดยมีพวกเราเป็นเจ้าของสุขภาพ ประทับใจและเป็นข้อความที่ดีมากครับ

เห็นพี่น้อยหน่าตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นมากมาย ก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้นะคะ หากมีอะไรให้ทีมงานคลินิกส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้มีโอกาสช่วยเหลือก็ยินดีค่ะ

  • ขอบคุณที่พี่น้อยหน่าที่เชิญไปร่วมงานครับ
  • ผมเห็นได้ถึงความอบอุ่น รอยยิ้ม และมิตรภาพ ที่เจือจานให้กันและกัน ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และผู้ร่วมมือ ปลื้มปิติจริงๆ
  • เป็นเครือข่ายครอบครัวเล็กๆ แต่มีพลังอันยิ่งใหญ่ ที่มิใช่เพียงแค่ ๑๔ ครอบครัว หากแต่สานถักทอไปยังชุมชน สถานีอนามัยโรงพยาบาล โรงเรียน ท้องถิ่น และเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัด ภาค ประเทศ และต่างประเทศด้วย
  • เป็นเครือข่ายที่มีพลังแห่งความเมตตาและกรุณาต่อกันที่สูงยิ่งนัก ขอแสดงความุฑิตาจิตด้วยจากใจจริง
  • หากมีส่วนใดที่พอให้ช่วยเป็นแรงอีกแรงยินดีครับ

ผมนายชัดเจน ผ่านมาแวะชมความร่วมมือของชาวน่านครับผม ผมดีใจและรู้สึกว่าผู้ป่วยโชคดีที่มีโครงการที่ดีแบบนี้ ขอบคุณคุณหมอที่น่านรวมทั้งทีมงานครับ

สวัสดีครับ

แวะมาทักทายกับคนทำดีครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดีครับผม

ชื่นชมจากใจจริง

ศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียและโรคเลือดออกง่ายในชุมชนจังหวัดน่าน

คงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาก

ตามปณิธานที่ตั้งไว้

น่าสนใจมากครับ โรคอื่นๆ น่าจะมีอย่างนี้บ้าง

อรุณศรี วุฒิสาโรจน์

อยู่จังหวัดปทุมธานีค่ะ ตอนนี้ลูกชายรักษาอยู่ที่ (บัตรทองอยู่ที่รพ.ปทุมธานี ) แต่ทาง รพ.ไม่มีโครงการแบบนี้เลย ลูกเคยเลือดออกตอนกลางคืนต้องพาลุกไปหาหมอตอนตี 1 เพราะลูกเลือดออกมากเลยเอาลุกไปใช้สิทธิฉุกเฉินที่ รพ.ภูมิพล ฯ ทางภูมิพลให้กลับไปใช้สิทธิกับโรงพยาบาลปทุมธานี พอเอาลูกไป รพ.ปทุมธานี คุณหมอบอกว่าไม่สามารถให้ไครโอได้เนื่องจากคลังเลือดไปเปิดตอนกลางคืน ให้ส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ธรรมศาสตร์ษูนย์รังสิต ฯ ต้องนั่งรถแท็กซี่จาก รพ.ปทุมธานีย้อนไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ตอนตี 3 กว่าลูกจะได้รับแฟคเตอร์ ก็ตี 5 พอดี อยากให้ รพ.ปทุมธานีมีโครงการแบบนี้บ่างเพราะจะพาลูกไปหาหมอแต่ละทีลำบากมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท