10 เรื่องที่ควรรู้ในการทำงานสิ่งพิมพ์ (ตอนที่ 3)


ถ้าจะต้องใช้ภาพประกอบงานพิมพ์กันจริงๆ ก็อยากให้ลงทุนเสียเวลากันสักนิด ถ่ายภาพเองก็ได้หรือไปเสาะแสวงหาขออนุญาตนำมาใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องมันก็ง่ายกว่าที่จะไปตกลงกันที่ศาลเสียอีก

"ผมได้รูปนี้มาจากเว็บ คุณช่วยส่งไปให้คนออกแบบเขาขยายรูปลงหนังสือที่เราจะส่งพิมพ์ด้วยนะ...บอกเขาว่าขยายสักครึ่ง A4 ก็พอ"

โอว...อันนี้ก็ไม่ไหวนะคะ ลำพังภาพที่มาจากเว็บอย่างเดียวนี่ก็แย่พอตัวแล้ว เพราะนอกจากภาพจะมีขนาดเล็กแล้ว ยังมีความละเอียดของภาพ (หรือเรียกกันว่า Resolution) น้อยอีกต่างหาก ที่เป็นแบบนั้นก็เพื่อทำให้การโหลดภาพโชว์บนเว็บสามารถทำได้เร็วขึ้น เขาจึงนิยมนำภาพเล็กๆ ขึ้นโชว์บนเว็บโดยนิยมใช้นามสกุลประเภท .jpg .gif ฯลฯ ซึ่งนามสกุลของไฟล์ภาพเหล่านี้เป็นนามสกุลที่มีการตัดรายละเอียดบางส่วนของภาพออก เช่นว่า ภาพต้นฉบับมี 16 ล้านสี พอเซฟเป็นไฟล์ .jpg อาจจะเหลือเพียง 5-6 ล้านสีก็ได้ (อันนี้เป็นข้อมูลสมมติเพื่อยกตัวอย่างประกอบเท่านั้น)

ทางที่ดีถ้าจะนำภาพมาประกอบหนังสือหรือเอกสารสิ่งพิมพ์ใดๆ ก็ตาม ควรจะเป็นภาพที่มีความละเอียดมากพอสมควร ความละเอียดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงคำว่า "Resolution" เท่านั้นแต่หมายรวมได้ถึงภาพที่มีขนาดใหญ่ เช่นว่า เราต้องการพิมพ์โปสเตอร์รณรงค์ห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ขนาดของภาพที่เราจะใช้บนโปสเตอร์แผ่นนั้น ซึ่งอาจจะเป็นขนาด A3 (42 x 60 ซม.) เราก็ต้องกลับมาดูว่า ภาพที่เราจะใช้มีขนาดใหญ่ครอบคลุม 42 x 60 ซม. หรือไม่ ถ้าขนาดไฟล์ภาพของเราใหญ่กว่านั้นก็เป็นเรื่องดีค่ะ ฉะนั้นภาพที่ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งดี เพราะเอามาลดขนาดได้ แต่ภาพเล็กเนี่ยมันไม่ควรจะเอามาเพิ่มขนาดไงคะ ดังนั้นจึงเผื่อเหลือไว้ดีกว่าขาด ซึ่งถ้ากลับไปที่ตัวอย่างคำพูดที่ว่า "เอารูปมาจากเว็บ..." ก็จะเห็นว่า นอกจากขนาดของภาพที่ไม่น่าจะเอามาใช้ในการผลิตโปสเตอร์หรือสิ่งพิมพ์ได้แล้ว ยังไม่สมควรเอามาใช้ประกอบงานใดๆ อีกด้วย เพราะถ้าเอามาใช้ภาพที่ได้ก็จะแตกเห็น pixel ดังเช่นภาพตัวอย่างที่ไม่สามารถอ่านตัวหนังสือออก เป็นต้น

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์...เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าภาพที่อยู่บนเว็บเหล่านั้นเขามีลิขสิทธิ์กันอยู่นะคะ ถ้าเอามาใช้โดยไปโหลดๆ มานี่เห็นตัวอย่างโดนยื่นโนติส (หรือคำเตือนทางลิขสิทธิ์จากเจ้าของผลงาน)กันมาเยอะแล้วค่ะ สุดท้ายก็เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ก็ต้องจ่ายตังค์กันไปเพื่อไกล่เกลี่ย ดังนั้น ถ้าจะต้องใช้ภาพประกอบงานพิมพ์กันจริงๆ ก็อยากให้ลงทุนเสียเวลากันสักนิด ถ่ายภาพเองก็ได้หรือไปเสาะแสวงหาขออนุญาตนำมาใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องมันก็ง่ายกว่าที่จะไปตกลงกันที่ศาลเสียอีกนะคะ ไหนๆ ก็พูดพาดพิงเรื่องภาพแล้ว มันมีรายละเอียดที่น่ารู้อยู่ 3-4 ข้อ นั่นก็คือ


1. การเลือกใช้ภาพถ่ายจากเว็บไซต์ อันนี้พูดถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านภาพถ่าย (Microstock website) ซึ่งรู้จักกันดีในหมู่นักออกแบบ โดยมักเรียกติดปากกันว่า "Web Stock Photo" อันหมายถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการภาพถ่าย ทั้งให้เช่าแบบรายเดือน รายปี รายวัน หรือแม้กระทั่งการขายลิขสิทธิ์เด็ดขาด


เว็บไซต์เหล่านี้จะมีภาพสารพัดหลากหลายรูปแบบแบ่งตามหมวดหมู่ต่างๆ ทำให้หาง่ายและที่สำคัญมุมภาพมักจะสวยเพราะเป็นผลงานจากช่างภาพมืออาชีพ(ตัวจริง) ตัวอย่างเว็บไซต์ที่จัดอยู่ในประเภท Stock Photo เช่น gettyimage.com / shutterstock.com / fotosearch.com / corbis.com / cubestock.com / advfn.com / photoalto.com / istockphoto.com และอีกมากมายหลายแห่ง ส่วนสนนราคานั้นไม่ต้องพูดถึง...ค่อนข้างแพงสำหรับ SME ส่วนใหญ่บริษัทโฆษณาหรือเอเจนซี่จะเลือกใช้ เพื่อประหยัดงบให้ลูกค้าที่ไม่ต้องการจ้างถ่ายใหม่


2. การเลือกใช้ภาพถ่ายชนิด RF (Royalty-Free Image) และ (Rights-Managed Image) แล้ว RF และ RM มันคืออะไร? แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร?


*ถ้าท่านผู้อ่านเลือกใช้ภาพจากเว็บ Stock Photo ก็มักจะเจอกับคำย่อที่เขียนว่า RM หรือ RF โดยปกติแล้วคำย่อทั้งสองนี้ เป็นการระบุเงื่อนไขของการเลือกซื้อสิทธิการใช้ภาพที่แตกต่างกัน โดยมักมีผลถึงค่าใช้จ่าย หรือ ลักษณะของการนำภาพไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ และผลอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง** ถ้าพูดในแง่ของผู้ซื้อสิทธิการใช้ภาพ Stock Photo มาใช้ ความแตกต่างระหว่างคำว่า RM และ RF ก็ต่างกันใน 2 เรื่อง (ที่ต้องรู้) คือ


1. เงื่อนไขในการใช้งาน : โดยปกติแล้ว ทางตัวแทนจำหน่ายภาพ จะมีข้อกำหนดการใช้ภาพจาก Web Stock Photo ในแต่ละค่ายแตกต่างกัน โดยจะมี 2 แบบที่สำคัญคือ


1.1 Right Management (RM)

หมายถึง การจัดการสิทธิแบบเป็น "ครั้งๆ" ต้องติดต่อตัวแทนจำหน่ายหรือเจ้าของภาพทุกครั้ง มีการจำกัดจำนวนครั้งในการใช้ หรืออนุญาตให้ใช้แบบจำกัดขอบเขต โดยจะต้องระบุประเภทการใช้ ลักษณะการนำไปใช้ว่า จะนำไปใช้กับสินค้าอะไร ระยะเวลาเท่าไหร่ ใช้กับสื่อไหนบ้าง ข้อดีของภาพประเภทนี้คือ ความไม่เหมือนใคร เพราะเจ้าของจะเป็นคนคอยตรวจสอบว่า ภาพนี้ได้นำไปใช้กับสินค้าอะไรไปบ้างแล้ว เกิดการซ้ำกันหรือไม่อย่างไร ทำให้ภาพที่เราได้เป็นภาพที่สินค้าอื่นไม่มี (ส่วนใหญ่มักขายสิทธิให้ได้แค่ครั้งสองครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำ และบางครั้งอาจหมายถึงการขายขาด คือไม่ให้ใช้กับสินค้าอื่นอีกก็ได้) แต่ภาพเหล่านี้มักไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจากราคาที่สูงลิบ และจำกัดระยะเวลาการใช้ (ถ้าสัญญากำหนด 6 เดือนแล้วพบว่ายังมีการนำไปใช้ต่อจะถูกปรับอย่างหนักๆ)


ลักษณะการจำกัดการใช้ เช่น ถ้านำไปใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะมีเงื่อนไขว่า จำกัดเป็นยอดการพิมพ์ จำนวนครั้งของการพิมพ์ รูปแบบการพิมพ์ ในบางเว็บไซต์จะไม่อนุญาตให้พิมพ์ในสื่อบางประเภท เช่น ซื้อภาพไปพิมพ์บนเสื้อยืด แก้วน้ำ หรืออะไรที่เป็นการขายภาพโดยตรงไม่ได้นำไปใช้เพื่อประกอบสื่ออื่น (การนำไปใช้เพื่อประกอบสื่ออื่น เช่น นำภาพไปเป็นภาพประกอบบทความ / ภาพประกอบชิ้นงานโฆษณา / ภาพประกอบฉาก Backdrop เพื่องาน Event เป็นต้น) ซึ่งแต่ละครั้งที่จะนำไปใช้ในลักษณะแบบไหน ต้องตกลงกันให้ดี เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราคาค่าใช้เสมอ อันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น ถ้าจะใช้แบบใดก็ควรคุยให้ครอบคลุมไว้เท่าที่เราจะใช้ในการพิมพ์ครั้งนั้นๆ ถ้าขายดีอยากพิมพ์ใหม่ ก็ต้องติดต่อเจ้าของเขาใหม่ทุกครั้งไป


1.2 Royalty Free (RF)

หมายถึง การจัดการสิทธิแบบเหมาจ่าย คิดเป็นราคาเหมารวมต่อการนำไปใช้ในสื่อต่างๆ ทำให้นำภาพนั้นไปใช้ในงานได้ง่ายขึ้น แต่ยังไงก็ยังคงมีเงื่อนไขการใช้งานกำกับไว้เช่นเดียวกันกับการซื้อสิทธิแบบ RM เพียงแต่การซื้อสิทธิแบบ RF จะมีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานของผู้ซื้อ (User) มากกว่าการใช้สิทธิแบบ RM

เพราะแบบ RM เป็นสิทธิที่นิยมซื้อใช้กัน มีเงื่อนไขรัดกุมตายตัว ทำให้ผู้นำไปใช้ระมัดระวังมากและราคาสูง ในขณะที่สิทธิแบบ RF มีข้อกำหนดเงื่อนไขบางประการ (หรือเรียกว่า ข้อจำกัดสิทธิบางประการ) เพื่อให้ยังคงมีข้อกำหนดการใช้ภาพนั้นๆ จึงไม่เชิงว่าจะใช้ภาพที่มีเงื่อนไขกำหนดเป็น RF ได้อย่างอิสระเต็มที่ (ถ้าจะให้ใช้ได้แบบอิสระเต็มที่ แนะนำให้ถ่ายภาพเอง แต่ก็ต้องไม่ละเมิด สิทธิอื่นๆ ของบุคคลอื่นๆ ด้วยนะคะ) การจำกัดสิทธิบางประการของภาพที่ขายแบบ RF มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อนำไปใช้ในงานได้หลากหลายมากขึ้นในราคาที่ย่อมเยากว่า และเงื่อนไขการใช้งานก็ยืดหยุ่นมากกว่าการซื้อสิทธิใช้ภาพแบบ RM (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิ RF และ RM ในตอนท้ายบทความ)


2. การซ้ำของภาพ : ถ้าคุณผู้อ่านเลือกใช้ภาพที่เขาติดฉลากไว้ว่า RF (Royalty-Free Image) ก็แปลว่า ภาพที่เราเลือกใช้นั้นเป็นภาพที่เราจ่ายเงินซื้อแบบเหมาจ่าย จะนำภาพไปใช้ได้ตามสิทธิหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันกับทางผู้ขายเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำใจเผื่อไว้นิดหน่อยในการใช้งานภาพแบบ RF คือ ภาพที่เราเลือกนั้นอาจจะมีคนอื่นเลือกไปใช้กับสินค้าของเขาเองได้เหมือนกัน เช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นคือ ภาพเด็กคนเดียวกัน แอ็คชั่นเดียวกัน บริษัทนึงนำไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ขายลูกชิ้น อีกบริษัทนึงเอาไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ขายไก่ย่าง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจเรื่อง "การซ้ำ" (ซึ่งเป็นการซ้ำในสินค้าประเภทเดียวกัน เวลาโฆษณาเดียวกัน ในทางการออกแบบโฆษณาแล้ว จะถือว่า ภาพลักษณะนี้ไม่สามารถบ่งบอกอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำได้ แต่ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องลักษณะเฉพาะของบริษัทก็สามารถใช้ภาพแบบนี้ต่อได้ ไม่มีปัญหาค่ะ)


สำหรับทางผู้ขายสิทธิการใช้ภาพ การเสนอขายสิทธิการใช้ภาพแบบ RF จะมีราคาไม่สูงมากนัก เพราะเขาขายสิทธิต่อได้อีกหลายเจ้า ภาพลักษณะนี้จึงเหมาะสำหรับ SME หรือธุรกิจรายย่อยที่ไม่ได้ซีเรียสกับการสร้างภาพให้กับบริษัทตนเอง (การสร้างอัตลักษณ์องค์กร : Corporate Identity)นอกจากนี้ยังมีภาพในลักษณะ Editorial Images อีกด้วย ซึ่งก็คือ ภาพที่ใช้ประกอบงานหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ ประเภทบทความ ข่าว งานทางการศึกษา เป็นต้น

ตัวอย่างนิตยสารระดับโลกที่เลือกใช้ภาพประกอบในลักษณะ Editorial Images นี้ก็เช่น Times Magazine, Newsweek, The New York Times เป็นต้น เงื่อนไขของการใช้ภาพประกอบประเภทนี้ก็เช่นเดียวกันกับเงื่อนไขแบบ RM เพราะมีการจำกัดระยะเวลาในการใช้ และจำกัดลักษณะการนำไปใช้ (restrictions on usage) นอกจากนี้ยังต้องมีการให้เครดิตแหล่งที่มาของภาพทุกการนำไปใช้ด้วยเสมอ


3. การเลือกช่างภาพ หากว่าเว็บไซต์ประเภท Stock Photo ไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานของเราได้ อีกหนทางหนึ่งที่จะนำภาพมาประกอบสื่อสิ่งพิมพ์ได้ก็คือ "การถ่ายรูปเอง" หรือ "จ้างเขาถ่ายรูป" ซึ่งการถ่ายรูปเอาเองนั้น หน่วยงานราชการหรือมหาวิทยาลัยนิยมเลือกใช้วิธีนี้มากที่สุด (เพราะอะไรน่าจะรู้กันอยู่แก่ใจนะคะ)


ส่วนจ้างเขาถ่ายรูปนั้น ส่วนใหญ่เป็นองค์กรเอกชน บริษัท ห้างร้าน หรืองานโฆษณา ที่นิยมเลือกการจ้างถ่ายรูป เพราะต้องการความเป็น "มืออาชีพ" แต่การจ้างถ่ายภาพก็ต้องพิจารณาช่างภาพให้ดีนะคะว่า เขามีมุมมองต่องานอย่างไร เข้าใจวัตถุประสงค์ของงานไหม มุมภาพที่เราต้องการเขาเข้าใจหรือไม่ ที่สำคัญเขาสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของภาพออกมาได้ตรงกับความต้องการของเราหรือเปล่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังทำงานอะไรและทำอยู่กับใครที่สำคัญงานนั้นๆ ซีเรียสเรื่องภาพมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ของการจ้างช่างภาพให้มาถ่ายภาพให้ก็คือ เรื่องของลิขสิทธิ์ภาพค่ะ ส่วนใหญ่ลิขสิทธิ์ภาพจะเป็นของผู้ว่าจ้าง ยกเว้นแต่ว่าช่างภาพเขามีอำนาจการต่อรองสูง ลิขสิทธิ์ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย (ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่ายเอาเอง)


แต่โดยมากแล้วผู้เขียนจะเชียร์ให้มีการจัดถ่ายภาพใหม่นะคะ ถ้ามีเวลาและของที่มาประกอบในภาพถ่ายไม่ได้หายากจนเกินไป เพราะบางครั้งมันทำให้เรามีตัวเลือกที่เยอะมากขึ้นและทำงานกับภาพนั้นๆ ได้อย่างสบายใจดีทีเดียว ส่วนข้อเสียของการจ้างก็มีเพียงแค่ "เสียเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย" เท่านั้นเองค่ะ เมื่อเทียบกับระยะเวลา การลงทุน ความเป็นเจ้าของมุมภาพ ฯลฯ และถ้าช่างภาพคนนั้นสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ผลที่ได้มันคุ้มค่ากว่ากันมากๆ ค่ะ


รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิใช้ภาพถ่ายประเภทต่างๆ อ่านได้ที่

http://www.talkaboutstockphoto.com/?p=19

http://www.gettyimages.com/Corporate/LicenseInfo.aspx

http://www.gettyimages.com/Corporate/EditorialPolicy.aspx

http://blog.microstockgroup.com/royalty-free-photo...

http://www.stockphotothailand.com/forums/viewforum...


ภาคผนวก คำอธิบายเพิ่มเติม

- การซื้อสิทธิใช้ภาพแบบ RF (Royalty Free) ไม่ใช่การขาย "ลิขสิทธิ์ภาพ" แต่เป็นเพียงการขาย "สิทธิการใช้งานของภาพ" ลิขสิทธิ์ภาพจึงยังเป็นของเจ้าของผู้ถ่ายภาพนั้นๆ อยู่ เพียงแต่เจ้าของภาพ นำภาพเหล่านั้นมาให้เช่าใช้ตามเงื่อนไขที่กำหนด บางเว็บไซต์มีการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันไป เช่น Commercial RF โดยมีรูปแบบการนำไปใช้งานเรียกว่า License (สิทธิการใช้งาน) โดยสิทธิการใช้งานนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Standard License กับ Enhanced License

หมายเหตุ

* ผู้เขียนได้รับคำแนะนำให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับการอธิบายคำว่า RM และ RF เพื่อไม่ให้ผู้อ่านเข้าใจผิดบางประการเรื่องการเลือกใช้สิทธิภาพถ่ายประเภท RM กับ RF จากผู้เชี่ยวชาญด้านการจำหน่ายภาพออนไลน์ (คุณสุระ นวลประดิษฐ์) และผู้เขียนได้นำคำแนะนำนั้นมาปรับปรุงข้อเขียนให้ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงได้ขออนุญาตนำข้อความอธิบายเพิ่มเติม เกี่ยวกับตัวอย่างรูปแบบสิทธิการใช้งานแบบ Standard License กับ Enhanced License ของ Shutterstock.com ไว้แนบท้ายหมายเหตุนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณคุณสุระไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

อย่างไรก็ตามในเรื่องเกี่ยวกับ "สิทธิการใช้ภาพถ่ายจาก web stock image" ทั้งหลาย ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะเลือกซื้อ เลือกใช้ ควรศึกษาเรื่อง "สัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิ" ให้เข้าใจตรงกันกับผู้ให้เช่าภาพแต่ละแหล่งให้ดีเสียก่อน เนื่องจากแต่ละที่จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากเป็นเว็บสต๊อกที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก เงื่อนไขก็อาจจะลดลงกว่าค่ายที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเรียกใช้บ่อยครั้ง และในหลายครั้งจะพบว่ามี "คำอนุญาตที่มีคำว่า แต่..." ต่อท้ายเสมอ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากที่ผู้อ่านต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษและสอบถามจนกว่าจะแน่ใจค่ะ เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย

ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างคำอธิบายรูปแบบการอนุญาตใช้สิทธิในภาพของ Shutterstock.com (จากคุณสุระ นวลประดิษฐ์)

I. สิทธิ์ใช้งานภาพแบบมาตรฐาน หรือ Standard License ให้สิทธิ์แก่คุณในการใช้งานภาพเพื่อวัตถุประสงค์ต่อไปนี้:

  1. ในการทำซ้ำแบบดิจิตอล ซึ่งรวมถึงบนเว็บไซต์, ในการโฆษณาออนไลน์, ในสื่อสังคมออนไลน์, ในการโฆษณาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่, "แอพ" มือถือ, ซอฟต์แวร์, การ์ดอิเล็กทรอนิกส์, สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (หนังสืออิเล็กทรอนิกส์, นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์, บล็อก ฯลฯ) และในสื่อออนไลน์ (ซึ่งรวมถึงบริการแชร์ไฟล์วิดีโอ เช่น YouTube, Dailymotion, Vimeo ฯลฯ โดยเป็นไปตามข้อจำกัดด้านงบประมาณที่กำหนดไว้ในข้อย่อยที่ 4 ด้านล่าง)
  2. จัดพิมพ์ในรูปแบบที่จับต้องได้โดยเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์หรือฉลากผลิตภัณฑ์ หัวจดหมาย และนามบัตร โฆษณา ณ จุดขาย บิลบอร์ด ภาพปก CD และ DVD หรือในโฆษณาและสำเนาของสื่อที่จับต้องได้ ซึ่งรวมถึงนิตยสาร หนังสือพิมพ์ และหนังสือ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่ทำซ้ำภาพใดๆ รวมกันแล้วมากกว่า 500,000 ครั้ง
  3. เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาที่เรียกว่า "นอกสถานที่" ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามีจำนวนการทำสำเนาสำหรับผู้ชมแคมเปญดังกล่าวน้อยกว่า 500,000 รายการ
  4. ใช้ประกอบรวมในการผลิตภาพยนตร์ วิดีโอ ซีรีส์ทางโทรทัศน์ โฆษณา หรือมัลดิมีเดีย สำหรับแจกจ่ายในสื่อใดๆ ที่เป็นที่รู้จักในขณะนี้หรือคิดค้นขึ้นใหม่หลังจากนี้ (แต่ละอย่างเรียกว่า "การผลิต") โดยไม่คำนึงถึงขนาดของผู้ชม ภายใต้เงื่อนไขที่ว่างบประมาณสำหรับการผลิตดังกล่าวไม่เกิน $10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  5. เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานส่วนบุคคลของคุณเองโดยไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์ (ไม่ใช่สำหรับการขายต่อ ดาวน์โหลด หรือแจกจ่าย หรือการใช้งานเชิงพาณิชย์ลักษณะอื่นใดก็ตาม


II. สิทธิ์ใช้งานภาพแบบเพิ่มเติม หรือ Enhanced License ให้สิทธิ์แก่คุณในการใช้งานภาพเพื่อวัตถุประสงค์ต่อไปนี้:

  1. ในลักษณะใดๆ ที่อนุญาตภายใต้สิทธิ์ใช้งานภาพแบบมาตรฐานที่กล่าวไว้ด้านลน โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนการทำซ้ำ จำนวนที่คัดลอก หรืองบประมาณ
  2. ใช้ประกอบรวมในสินค้าหรือรายการสินค้าส่งเสริมการขายเพื่อจำหน่ายหรือจ่ายแจก (รวมเรียกว่า "สินค้า") ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงสิ่งทอ อาร์ตเวิร์ก แม่เหล็ก รูปตกแต่งติดผนัง ปฏิทิน ของเล่น เครื่องเขียน บัตรอวยพร และการทำซ้ำอื่นใดทางกายภาพสำหรับขายต่อหรือแจกจ่าย ภายใต้เงื่อนไขว่าสินค้าดังกล่าวประกอบรวมเข้ากับองค์ประกอบเชิงสร้างสรรค์หรือใช้ประโยชน์ที่เป็นส่วนสำคัญซึ่งนอกเหนือจากภาพนั้นๆ
  3. ในรูปตกแต่งติดผนัง (โดยไม่ต้องใช้องค์ประกอบเชิงสร้างสรรค์หรือใช้ประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติม) สำหรับวัตถุประสงค์ในการตกแต่งในพื้นที่เชิงพาณิชย์ซึ่งคุณหรือลูกค้าของคุณเป็นเจ้าของ และไม่ใช่เพื่อจำหน่าย
  4. ใช้ประกอบร่วมเป็นองค์ประกอบของเทมเพลตดิจิตอลสำหรับจำหน่ายหรือแจกจ่าย


ทั้งนี้ การใช้งานที่ Shutterstock ไม่อนุญาตเลยก็มี เช่น เอาภาพไปพิมพ์บนสินค้าเพื่อขาย “ภาพ" ที่อยู่บนสินค้านั้น เช่น พิมพ์เสื้อยืด แก้วน้ำ ทำโปสเตอร์ โปสการ์ด เป็นต้น แต่บางเว็บก็ขายภาพให้เอาไปใช้งานในลักษณะแบบนี้ได้



หมายเลขบันทึก: 293693เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท