"อะไร" อยู่หลัง "ศีล"


เหตุผลที่พุทธศาสนิกชนควรรักษาศีล

ศีล บางที่แปลว่า ปกติ ,สงบเย็น บางที่แปลว่าความประพฤติดีทางกายและวาจา,ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม,ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ

paint

ศีล แบ่งเป็นหลายระดับ คือ

ระดับต้น หรือศีล ๕ อันเป็นศีลที่บุคคลควรรักษาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม

ระดับกลาง หรือศีล ๘ สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร อันเป็นศีลที่บุคคลพึงฝึกให้มีเพื่อควบคุมตนเอง

ระดับสูง คือศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ และศีล ๓๑๑ ของพระภิกษุณี

มาดูกันหน่อยไหมคะ ว่าศีลที่ฆราวาสอย่างเราพึงน้อมปฏิบัติ คือ ศีล ๕ และศีล ๘ มีเหตุผลอะไร ทำไมจึงควรปฏิบัติอย่างนั้น

เริ่มจากศีล ๕ ศีลเบื้องต้นนี้ เป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ในสังคม หากเราทุกคนเคารพในสิทธิของกันและกัน สังคมก็จะสงบสุข ศีลข้อ ๑ ไม่คร่าชีวิต คือเคารพสิทธิในชีวิต และร่างกายของผู้อื่น ศีลข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ คือเคารพสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น ศีลข้อ ๓ไม่ประพฤติผิดในกาม คือเคารพในของรักของผู้อื่น ศีลข้อ ๔ ไม่พูดปด พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด คือเคารพสิทธิของผู้อื่นที่จะได้รับความจริง ศีลข้อ ๕ ไม่ดื่มของมึนเมา คือไม่เปิดโอกาสตนเองให้ขาดสติ จนล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น

paint

เมื่อรักษาศีล ๕ อย่างสม่ำเสมอ จิตใจก็เริ่มสงบ ลดความเห็นแก่ตัวลง แต่ถ้าเราปรารถนาจิตใจที่สงบยิ่งขึ้น ก็อาจเพิ่มการรักษาศีลขึ้นอีก ๓ ข้อ เพื่อฝึกการควบคุมอายตนะ ( ที่เชื่อมต่อ ) ทั้ง ๖ ทั้งภายใน ( สื่อเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคน คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ) และภายนอก ( สื่อเชื่อมต่อที่อยู่ภายนอกตัวคน คือ เสียง รูป กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ) นั่นคือ

ศีลข้อ ๖ ไม่ทานอาหารหลังเวลาวิกาล คือไม่ทานมากเกินไป ลดการปรนเปรอลิ้น

ศีลข้อ ๗ ไม่เที่ยวดูการละเล่น ลูบไล้ร่างกายด้วยของหอม คือควบคุม ตา หู จมูก

ศีลข้อ ๘ ไม่นอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม เพื่อควบคุมกาย ไม่ให้ยึดติดกับความสบาย

เมื่อเพียรรักษาศีลเพิ่มอีก ๓ ข้อ จิตจะสงบยิ่งขึ้น ความดำริในกามจะลดลง ศีลข้อ ๓ คือพอใจแต่ในคู่ของตน ก็จะค่อยๆกลายเป็นงดเว้นไป

เมื่อควบคุมกายใจได้ดีขึ้น จิตสงบมากขึ้น ก็พร้อมจะเกิดสมาธิ อันเปิดโอกาสให้ได้ใช้ปัญญาพิจารณาธรรมเพื่อเลื่อนชั้นจิตตนมากขึ้น

จะว่าไปแล้ว การรักษาศีล ๘ ก็คือการค่อยๆลดนิวรณ์อันเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้จิตเกิดสมาธินั่นเองค่ะ

เมื่อเราเข้าใจเหตุเบื้องหลังการรักษาศีล ก็จะรักษาอย่างเต็มใจ รักษาเพื่อประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ตน เพื่อเกิดสมาธิ และใช้ปัญญาพิจารณาตัดกิเลสต่อไป

ไม่ใช่รักษาแบบสีลัพพตปรามาส คือรักษาตามๆกันไป

จนสุดท้าย รักษาศีลแทบตาย ก็ไม่เกิดปัญญาอันพาข้ามวัฏฏะไปได้

...............................................

อ้างอิง

พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร ผู้หญิงกับการปฏิบัติธรรม ธรรมสภา ๑-๔ ๕ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ

พระธรรมกิตติวงศ์ ( ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต ) พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสนา ธรรมสภา ๑/๔-๕ ถนนบรมราชชนนี ๑๑๙ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ ๑๐๑๗ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๑

พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พิมพ์ครั้งที่๑๑ พ.ศ.๒๕๔๖

หมายเลขบันทึก: 293394เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ถ้ามีสติทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะมีอินทรียสังวรศีลด้วยครับ

เข้ามาสดับรับฟังอย่างสงบค่ะ...นอนหลับฝันดีนะคะ

ขออนุโมทนาบุญคุณยอดเยี่ยม            บุญล้นเปี่ยมมั่นศรัทธาขยายผล

ผู้เผยแผ่พระธรรมนำสอนคน               จิตสูงพ้นเป็นผู้ให้ในทางธรรม

  • ธุค่ะ..

แค่ศีล 5 ต้อมก็ไม่รอดแล้วค่ะ    ข้อ 5 น่ะค่ะที่มีปัญหา    เอาเป็นว่า "คิดดี  ทำดี  พูดดี" พอไหมคะ???

ต้อมเขียนบันทึกปาย ตอน ปายฝน..ที่แตกต่าง 5 (ตอนจบ) จบแล้วค่ะในเช้านี้   จบจนได้..   อย่าลืมนะคะ รับสินบนแล้วขอรูปภาพลีลาวดีให้ชมด้วย อิอิ

 

มาชม

มีสาระน่าสนใจดีจัง

อ่านแล้วให้นึกถึงเมื่อครั้งยูมิตอนเรียนอยู่เมืองกรุง

ได้เข้าไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณอาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต ที่ รพ. ศิริราช...วันหนึ่งนานมาแล้ว

ท่านเจ้าคุณออกมา ในดวงตาปิดบังแสงเข้าตาข้างหนึ่ง...ให้นึกเป็นห่วง...

แต่ท่านเจ้าคุณอาจารย์แสดงภาวะปกติเหมือนไม่เป็นอะไร ...ปกติ...คือ ศีล...นั้น

แล.

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วตระหนักถึงความสำคัญของ "ศีล" ยิ่งขึ้นค่ะ

ศีลจึงควรที่จะเป็น กิจกรรมปกติในชีวิต...

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับ

แวะมาเรียนรู้ธรรมะ เพื่อฝึกใจให้เป็นปกติครับ

สวัสดีครับ มาเยี่ยมเยียนและขอบคุณที่ท่านได้กรุณาแวะไปทักทาย ครับ

ทำข้อ 6 ไม่ได้ครับ เผลอกินมาม่าตอนหิวๆๆทุกทีเลยครับ ฮ่าๆๆ สบายดีนะครับ

มีรายละเอียดเกี่ยวกับศีลมาฝากครับ

ในทางพุทธศาสนา ศีลมีอยู่ ๔ หมวดครับ

(๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นบทบัญญัติในการอยู่ร่วมกัน ฆราวาสมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน สามเณรมีศีล ๑๐ เป็นพื้นฐาน และพระภิกษุมีศีล ๒๒๗

(๒) อินทรียสังวรศีล เป็นศีลที่คอยควบคุมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ของเรามิให้เตลิดเปิดเปิง

(๓) อาชีวปาริสุทธศีล เป็นศีลด้านอาชีวะ เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การแสวงหาปัจจัย ๔ มาเสพบริโภค

และ (๔) ปัจจยปฏิเสวนา เป็นศีลที่เกี่ยวกับการเสพปัจจัย ๔ เรียกง่าย ๆ ว่า กินเป็น ดูเป็น ฟังเป็น

ขอบคุณคุณหนานเกียรติมากค่ะ ที่นำความเห็นมาเพิ่มเติม เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท