ใช้เทคนิคการสอนให้เหมาะสมกับวัย


ใช้เทคนิคการสอนให้เหมาะสมกับวัย

การดำรงตนเป็นครูที่ดี สามารถช่วยเหลือเด็กให้มีพัฒนาการเติบโตตามวัยและเต็มศักยภาพได้ ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ขอเพียงแค่ให้ครูมีพื้นฐานทางด้านการพัฒนาเด็กเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะช่วยให้ครูสามารถสร้างแผนการเรียนรู้และกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมให้กับเด็ก นอกจากนี้ การเข้าใจคอนเซ็ปต์พื้นฐานบางประการจะยังช่วยให้ครูสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเด็ก และกำหนดขั้นตอนการเรียนรู้ได้

 

          ยกตัวอย่าง การจัดการเรียนการสอนให้กับกลุ่มเด็กวัยก่อนอ่าน หรือเด็กในวัยเริ่มต้นหัดอ่าน (อายุระหว่าง 3-8 ปีโดยประมาณ) ครูหรือผู้สอนจะต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีสอนมาโดยเฉพาะ ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าครูที่ไม่ได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะแล้วมาสอน อาจจะทำให้เด็กเกิดปัญหาตามมาคือ เด็กไม่สามารถปฏิบัติตามที่ครูคาดหวังได้ ทั้งนี้เนื่องจากครูเองมักเป็นฝ่ายจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาการของเด็ก สำหรับเด็กในวัยโตกว่านี้ จะมีความสามารถในการเข้าใจสิ่งที่ยากและซับซ้อนขึ้น และสามารถฝึกทักษะการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวเป็นเพียงลักษณะหนึ่งของกระบวนการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีความสามารถเท่านั้น

 

          สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าใจพัฒนาการของเด็กจะช่วยให้ครูคำนึงถึงจุดแข็งของเด็กแต่ละคน ความคาดหวังที่ครูควรมี ตลอดจนวิธีการที่ดีที่สุดที่ครูจะสามารถช่วยเหลือเด็กให้พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพของตน

 

พัฒนาการ 3 ด้านของเด็ก  

          เด็กมีการเจริญเติบโตหลักๆ 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา ด้านร่างกาย และด้านอารมณ์-สังคม ในด้านสติปัญญาหมายถึงการมีทักษะในเชิงความรู้วิชาการต่างๆ อาทิเช่น ด้านคณิตศาสตร์ ภาษา และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ส่วนด้านร่างกายได้แก่ปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น ทักษะความชำนาญ ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ส่วนด้านอารมณ์-สังคมเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก จิตวิทยา และทักษะทางด้านสังคม

 

          ระบบการศึกษาโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญกับเรื่องของสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว โดยละเลยพัฒนาการอีกสองด้านที่เหลือ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่างๆ เติบโตไปพร้อมกัน ครูควรใช้วิธีการที่เรียกว่า Whole Child Approach หรือแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการทุกด้านของเด็ก โดยคำนึงถึงการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ตัวอย่างเช่น หากครูต้องการสอนเด็กในหัวข้อการเต้นรำ อย่าให้เด็กเรียนแค่ในหนังสือหรือดูวิดีโอเท่านั้น แต่ครูควรส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายด้วย ในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์-สังคม ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยถึงวิธีการเต้นรำที่เด็กใช้ในแง่ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านบวก

 

          เด็กที่อยู่ในกลุ่มอายุต่างกันจะก้าวไปถึงจุดสูงสุดของการพัฒนาในแต่ละด้านในเวลาที่แตกต่างกัน ความสามารถในทางกายภาพมักได้รับการพัฒนาในช่วงวัยต้นๆ ขณะที่การใช้ตรรกะแบบผู้ใหญ่และทักษะการคิดจะเริ่มปรากฏในราวอายุ 12 ปี ดังนั้นครูควรผสมผสานทักษะในด้านต่างๆ ของเด็กให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้พัฒนาการของเด็กเป็นไปอย่างไม่เท่ากัน อาทิเช่น เพศ ภาวะโภชนาการ สภาพแวดล้อมในบ้าน สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อวัยที่เด็กจะเรียนรู้ทักษะบางอย่าง

 

ข้อแนะนำ

          แม้ว่าการมีภาพรวมของเด็กแต่ละคนในเรื่องความสามารถในด้านต่างๆ ทั้ง 3 ด้าน จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ครูควรหลีกเลี่ยงการประทับตราบางอย่างในเด็ก เช่น เด็กคนนี้มีความเสี่ยง (ที่จะสอบไม่ผ่าน) เด็กไม่เอาถ่าน ฯลฯ รวมถึงการตัดสินเด็กโดยใช้จิตวิทยาตื้นๆ เพราะหากครูทำเช่นนั้น ในที่สุดเด็กจะมีปฏิกริยาตอบกลับตามที่ครูปฏิบัติและคาดหวังต่อเด็ก

 

ใช้คอนเซ็ปต์พัฒนาการเด็ก  

          โดยทั่วไป ครูสามารถจะจัดแผนการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพได้โดยการจัดเด็กในวัยเดียวกันให้เรียนด้วยกัน แต่ก็ไม่แปลกที่ในบางครั้งครูอาจต้องการให้เด็กเล็กและเด็กโตเรียนร่วมกัน เพื่อฝึกให้เด็กรุ่นพี่ช่วยเหลือเด็กรุ่นน้องในเรื่องการเรียน อย่างไรก็ดี พึงระลึกว่าการจัดกลุ่มเด็กวัยเดียวกันให้เรียนด้วยกันจะช่วยให้ครูสามารถระบุความต้องการที่แน่ชัดลงไปได้ ทั้งยังช่วยส่งเสริมเด็กให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันบนพื้นฐานของการมีประสบการณ์ร่วมกันได้ง่ายขึ้นด้วย ทั้งนี้ การจัดให้เด็กต่างวัยมีโอกาสได้เรียนร่วมกันยังถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่ไม่ควรให้วัยห่างกันมากเกินกว่า 2 ปี

          ครูอาจนำข้อแนะนำต่อไปนี้ไปปรับใช้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการเรียนรู้ที่ครูกำหนด ตลอดจนแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่มี 

 

         * เด็กในวัย 5-7 ปี ทักษะในทุกๆ ด้านจะเริ่มปรากฏออกมาให้เห็น

         * เด็กในวัย 6-8 ปี การเจริญเติบโตของเด็กทุกด้านจะเริ่มเด่นชัดขึ้น เด็กในวัยนี้ยังคงต้องเรียนรู้การสื่อสารขั้นพื้นฐาน คณิตศาสตร์ และทักษะการแก้ปัญหา ในวัยนี้ การมีจิตสำนึกในเรื่องสังคมและชุมชนจะเริ่มขยายออกไปมากขึ้น
         * เด็กในวัย 9-11 ปี เด็กเริ่มจะใช้ทักษะที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวได้มากขึ้นและดีขึ้น ในวัยนี้เด็กจะมีช่วงสมาธิยาวขึ้น การพัฒนาความมั่นใจในตนเองของเด็กจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมในด้านบวก และการได้การยอมรับจากกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้
         * เด็กในวัย 12-14 ปี เด็กจะเริ่มสนใจศิลปะและดนตรีอย่างจริงจังมากขึ้น เด็กจะเริ่มสามารถเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนและยากในการประมวลคอนเซ็ปต์และความคิดที่เป็นนามธรรม นอกจากนี้เด็กยังเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเรียนเพื่ออ่าน มาเป็นการอ่านเพื่อเรียน

 

         การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างเหมาะสมตามวัยและพัฒนาการเป็นเรื่องที่ครูพึงปฏิบัติ พึงระลึกอยู่เสมอว่า การที่ครูตั้งความคาดหวังสูงเกินไปต่อเด็ก เพราะต้องการให้เด็กเก่งและพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ไว รวมถึงให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง อาจนำมาซึ่งผลลบมากกว่าบวก ดังนั้น ครูจึงไม่ควรตั้งเป้าหมายการเรียนที่สูงเกินกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็ก

 

 

สำหรับคุณครูที่สนใจจะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์   www.childdevelopmentinfo.com/development หรือ www.nncc.org/SACC/dev.approp.sac.html

ขอบคุณ: วารสารเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้บนโลกออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 293284เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท