หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

บ้านห้วยปลาหลด : ดนตรี วิถี ชาติพันธ์ (๒)


บ้านห้วยปลาหลด : ดนตรี วิถี ชาติพันธ์

ประเพณีและพิธีกรรม

ประเพณีที่เกี่ยวโยงกับชีวิต เช่น เกิด แต่งงาน เจ็บป่วย และตาย

การเกิด เป็นเพราะความสะดวกสบายด้านการเดินทาง ชาวบ้านจึงมักไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมือง ทำให้พิธีกรรมหลายประการต้องยกเลิกไป เช่น การฝังรกเด็ก ซึ่งเด็กที่เกิดมาแล้วรอดชีวิตพ่อจะเอารกไปฝังไว้ที่ใต้บันไดบ้าน ส่วนทารกที่เสียชีวิตจะเอาไปฝังในป่า

ส่วนพิธีกรรมที่ยังคงอยู่คือการตั้งชื่อเด็ก เด็กที่รอดปลอดภัยหลังจากเกิดราว ๓ วัน จะมีพิธีตั้งชื่อเด็ก ญาติผู้ใหญ่จะมาหารือช่วยกันตั้งชื่อให้ การตั้งชื่อจะพิจารณาจากวันเวลาที่คลอด มีการผูกข้อมือรับขวัญ คนสวดจะเป็นหมอผีหรือชาวบ้านคนใดก็ได้ที่สวดเป็น แต่จะไม่เป็นปู่จารย์ เด็กที่เกิดจะมีชื่อประจำเผ่าหากเป็นชายจะใช้ “จะ” นำหน้าชื่อ ส่วนเด็กหญิงจะใช่ “นะ” นำหน้าชื่อ

สำหรับพิธีแต่งงาน จะมีหลายขั้นตอน หลังจากหนุ่มสาวตกลงจะแต่งงานกันแล้ว จะต้องไปหาพ่อสื่อ ซึ่งเป็นที่ในหมู่บ้าน พ่อสื่อจะพาไปบ้านปู่จารย์ แล้วไปคุยกับทั้งญาติฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว หลังจากพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายตกลงก็จะฝากคำอบรมสั่งสอนไปกับพ่อสื่อ ให้พ่อสื่อนำคำสอนนั้นไปบอกเล่าที่บ้านปู่จารย์ จากนั้นปู่จารย์ก็จะเริ่มทำพิธีสวดให้บ่าวสาว

เช้าวันรุ่งขึ้น ก็จะฆ่าหมูทำพิธีและเลี้ยงแขกเหรื่อ กรณีที่ฝ่ายหญิงและชายอยู่ชุมชนเดียวกัน ปู่จารย์คนเดียวกัน ก็จะทำพิธีครั้งเดียวที่บ้านฝ่ายหญิง แต่หากหญิงชายอยู่กันคนละชุมชน จะทำพิธีที่บ้านฝ่ายหญิงแล้วจะต้องไปทำพิธีฆ่าหมูอีกครั้งที่บ้านเจ้าบ่าว

ส่วนงานศพ นั้น ญาติผู้ตายจะอาบน้ำให้ศพแล้วแต่งชุดประจำเผ่า แล้วห่อด้วยผ้าขาว ห่มคลุมด้วยผ้าห่มของผู้ตายที่ใช้อยู่ ตั้งศพบริเวณเดียวกับที่ผู้ตายนอนเมื่อครั้งยังมีชีวิต จากนั้นจะนำแผ่นไม้ไปวางไว้บนอกจุดเทียนที่ฝั้นเองมิให้ดับตลอดทั้งคืน ผู้ไปร่วมงานก็จะมาร้องเพลงส่งวิญญาณ บ้างก็เป่าขลุ่ย เป่าแคน เก็บศพไว้ไม่เกิน ๒ วันก็จะหามไปเผาที่ป่าช้า คนที่ทำพิธีคือหมอผี

ในการนำศพไปเผาป่าช้า ญาติจะนำหมูและไก่ตัวเมียฆ่าแล้วนำไปทิ้ง เพื่อส่งให้กับผู้ตายในภพหน้า ปีกไก่จะนำไปทำพัด และกระเพาะปัสสาวะของหมูจะมาจำลองเป็นน้ำเต้า เพื่อให้คนตายใช้เดินทางไปภพหน้า ด้วยเกรงว่าระหว่างเดินทางจะร้อนจะได้มีพัดและมีน้ำดื่ม สำหรับคนแก่จะมีไม้เท้าด้วย

เรื่องของการเจ็บป่วยนั้น ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับการักษาใจเป็นอันมาก วิธีรักษาใจคือการเลี้ยงผี เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วย รวมทั้งมีเรื่องไม่สบายใจก็จะทำพิธีเลี้ยงผี และหาสาเหตุการเจ็บป่วยมาจากการทำผิดผี ก็จะต้องไปขอขมานำสิ่งของเซ่นไหว้ เช่น มี ข้าวสาร เทียน กระดาษสา

เทศกาลในรอบปี มี ๓ เทศกาล ได้แก่ ขึ้นปีใหม่ ขึ้นศาลเจ้า กินข้าวใหม่

เริ่มต้นปีด้วยเทศกาล “ขึ้นปีใหม่” สำหรับบ้านห้วยปลาหลดนี้ เทศกาลนี้ถือเป็นพิธีกรรมระดับหมู่บ้าน ผู้กำหนดเวลาประกอบพิธีกรรมคือปู่จารย์ โดยที่บ้านห้วยปลาหลดนี้ ปู่จารย์ทั้ง ๓ ชุมชนจะหารือเพื่อกำหนดวันร่วมกัน เทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวห้วยปลาหลด จะอยู่ในระยะเวลาใกล้เคียวกับชาวลาหู่ในที่อื่น ๆ คือ ราวเดือนมกราคม กุมภาพันธ์

ก่อนจะประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านจะเข้าป่าเก็บฟืนมาเก็บไว้สำหรับการหุงต้มในครอบครัว รวมทั้งใช้เป็นฟืนในลานจะคึ รวมทั้งการตัดไม้ซ่อมแซมบ้าน แม่บ้านหรือหญิงสาวในครัวเรือนจะทำการเย็บชุนชุดของสมาชิกในครอบครัว บางบ้านก็จะตัดเย็บใหม่เพื่อใส่ในพิธี มีการตำข้าวปุ๊ ไว้เป็นอาหารประกอบพิธีกรรมและเลี้ยงฉลอง

จะว่าไปแล้วพิธีกรรมนี้ น่าจะเป็นพิธีกรรมที่หลอมรวมจิตใจของชุมชนที่จะดำเนินชีวิต ช่วยเหลือเกื้อกูล ฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคร่วมกันในฤดูการผลิตที่จะมาถึงนี้ หลังเสร็จเทศกาลนี้ชาวบ้านแต่ละครอบครัวก็จะเริ่มต้นลงมือทำไร่ เริ่มแผ้วถางไร่ เตรียมตัวปลูกข้าวต่อไป

หลังจากนั้นราวเดือนเศษ จะเป็น “เทศกาลขึ้นศาลเจ้า” ซึ่งเป็นพิธีกรรมระดับชุมชน ซึ่งปู่จารย์แต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดวันและดำเนินการกันเองภายในชุมชน ชาวบ้านจากแต่ละชุมชนจะร่วมกันทำศาลเจ้า แล้วจะรวมเงินกันจัดซื้อหมูดำมาทำพิธีร่วมกัน ชาวบ้านจะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกป้อง คุ้มครองและช่วยให้การผลิตในปีนี้มีความอุดมสมบูรณ์

ในราวเดือนสิงหาคม ก็จะเป็น “เทศกาลกินข้าวใหม่” การกำหนดวันทำพิธีเช่นเดียวกับเทศกาลขึ้นปีใหม่ โดยจะใช้เวลาในการเก็บฟืน ซ่อมลานจะคึก่อนเทศกาลมาถึงราว ๑ สัปดาห์ การทำพิธีวันแรกสมาชิกชุมชนจะไปทำบุญ โดยการข้าวสารไปไว้ที่บ้านปู่จารย์ ตอนบ่ายจะฆ่าหมูเพื่อไปเลี้ยงกื่อซาและผีอื่นๆ ข้าวสารและหมูที่ฆ่าจะถูกนำไปทำอาหารไว้เลี้ยงชาวบ้านที่จะมากินร่วมกันทั้งชุมชนที่บ้านปู่จารย์ สำหรับชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน คนในครอบครัวจะนำชุดของบุคคลนั้นไปร่วมงานแทน

 

ดนตรีลาหู่

ชาวลาหู่เชื่อกันว่า เครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้รับการประทานมาจาก “กื่อซา” เทพเจ้าของเขา เครื่องดนตรีจึงเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นอันมาก ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล

บ้านห้วยปลาหลดมีนักดนตรีอยู่มาก ทั้งรุ่นใหญ่ กลางและเล็ก รวมไปถึงช่างทำและซ่อมเครื่องดนตรี ชาวลาหู่มิได้เป็นนักดนตรีกันทุกคน บางคนเล่นดนตรีไม่ได้ไม่เก่งแต่ก็จะไปเด่นอย่างอื่น เช่น ขยันทำงาน อดทน ทำไร่เก่ง สวดคาถาเป็น หรือเป็นช่างตีเหล็ก เป็นต้น

ดนตรีที่พบในหมู่บ้านมีหลายชนิด ได้แก่

แคน” หรือ “หน่อ” แคนเป็นเครื่องดนตรีหลักของชาวลาหู่ที่นี่ มีอยู่ ๓ ขนาด ใหญ่ กลาง และเล็ก แคนขนาดใหญ่ เรียก “หน่อกู่มา” แคนขนาดกลางเรียก “หน่อเซ๊อะ” และแคนขนาดเล็กเรียก “หน่อแจ๊ะแระ”

“หน่อกู่มา” หรือแคนใหญ่ ถือเป็นประธานของแคนทั้งปวง หน่อกู่มานี้มีไว้ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับครัวเรือน เช่น แต่งงาน ตาย เลี้ยงผีตอนเจ็บป่วย และพิธีกรรมระดับชุมชน เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ เทศกาลขึ้นศาลเจ้า และเทศกาลกินข้าวใหม่ ส่วน “หน่อเซ๊อะ” และ “หน่อแจ๊ะแระ” จะไม่ใช้ในพิธีกรรม จะเป็นแคนเสริมในการเต้นจะคึสำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ บางคนก็อาจจะเอาติดตัวไปไร่ไปสวนไว้เป่าเล่นยามว่างจากงาน

ทั้ง “หน่อกู่มา” “หน่อเซ๊อะ” และ “หน่อแจ๊ะแระ” มีรูปทรงคล้ายกัน ต่างกันที่ขนาดและการใช้งาน วัสดุและขั้นตอนการทำคล้ายกัน วัสดุที่ใช้ทำหน่อทั้งหลาย ได้แก่ น้ำเต้ารูปทรงดี สวยงาม ขนาดพอเหมาะกับเจ้าของ ไม้ไผ่ปล้องยาว หวาย ขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยากโดยเฉพาะการทำลิ้นแคน ฯลฯ ช่างทำต้องเป็นผู้ชำนาญมาก มีประสาทรับรู้เรื่องเสียงอย่างดีเยี่ยม

ปกติแล้วการทำแคนจะไม่ทำขายทั่วไป คนทำแคนจะทำให้กับเจ้าของเฉพาะตัว เนื่องจากการวัดขนาด/ระยะห่างของรูที่ปิด/เปิด ต้องพอเหมาะพอดีกับคนที่จะเป่า

ซึง” หรือ “ตึ่ง” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่ใช้ดีด ชาวลาหู่ใช้ “ตึ่ง” สำหรับเป็นเครื่องดนตรีในลานจะคึเช่นเดียวกับ “หน่อ” “ตึ่ง” ในลานจะคึนักดนตรีจะถือบรรเลงเดินและเต้นไปรอบ ๆ เนินดินกลางลาน มีชาวบ้านหญิงชายคนอื่น ๆ เดินตาม เต้นตามจังหวะการดีดตึ่ง และการนำของผู้เล่น ซึ่งในบางคราวหากมีชาวบ้านมาร่วมเต้นจำนวนมาก เสียงกระทืบเท้าก็จะดังกลบเสียงตึ่ง ชาวบ้านก็จะดูสัญญาณจากคนเล่นเป็นหลัก

กะโหลก (ตึ่งปู) คัน (ตึ่งแคว๊ะ) ลูกปิด (หน่าโปแซ) และ หมอนรอง (ตึ่งม้อ) ทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีน้ำหนัก เช่น ไม้แดง หนังหุ้มกะโหลก (จะแค) ทำมาจากหนังแลน ส่วนสายในอดีตใช้เส้นลวดและสายเบรกรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันใช้สายกีตาร์แทน

นอกจากการเล่นในพิธีกรรมในลานจะคึแล้ว ชายหนุ่มอาจนำเอา “ตึ่ง” ติดตัวไปไร่ไปสวนด้วย ระหว่างเดินไปก็อาจจะดีดไปเดินไป บ้างก็ร้องเพลงประกอบ ในสมัยที่ชาวบ้านใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะไปไร่ไปสวนมากขึ้น การได้ยินเสียง “ตึ่ง” สลับกับเสียงนกกาในป่าเขาก็ลดน้อยลง

“จิ๊งหน่อง” หรือ “อ๊ะถ่า” เป็นเครื่องดนตรีขนาดเล็ก ประกอบด้วยชิ้นส่วน ๓ ชิ้น ทำจากไม้ไผ่ที่ถูกรมควันจนมันแวว ใช้ดีดและเป่าพร้อมกันเพื่อให้เกิดเสียง มักใช้ในบรรดาหนุ่ม ๆ เพื่อจีบสาว หรือในยามที่เหงา

ชายหนุ่มลาหู่จะเป่า “อ๊ะถ่า” ข้างบ้านสาวที่หมายปอง สาวเจ้าเมื่อได้ยินก็จะรับรู้ว่าบัดนี้มีชายหนุ่มมาเกี้ยว และเชื้อเชิญให้ลงจากบ้านมาพบปะพูดคุยกัน ชายหนุ่มที่เป่าได้ไพเราะจับใจหญิงสาวจะไม่รีรอที่จะลงมาพบ บางคราวอาจจะถูกยุส่งจากพ่อแม่ด้วยซ้ำไป

ขลุ่ย” หรือ “แส่” เป็นขลุ่ยผิว ทำจากไม้ไผ่ ในอดีตชายหนุ่มคนใดที่เป่าเก่ง ไพเราะ แม้ว่าอยู่ท้ายหมู่บ้าน คนต้นหมู่บ้านได้ยินก็เดินมาหาต้นเสียง คนอยู่บนบ้านได้ยินก็อยากจะลุกมาเต้น

“แส่” มิได้เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรม เหมือน “หน่อ” และ “ตึ่ง” จึงไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเห็นและได้ยินการบรรเลงบ่อยนัก

ลำนำ/ขับร้อง บทลำนำหรือขับร้องของชาวลาหู่มีหลายประเภทใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กล่อมเด็ก, เกี้ยวสาว และงานศพ

 

ดนตรีลาหู่ : บทบาทและการดำรงอยู่

เครื่องดนตรีหลายชนิดของชาวลาหู่เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรม โดยเฉพาะ “หน่อกู่มา”

วิถีชีวิตของชาวลาหู่ผูกพันอยู่กับพิธีกรรมเป็นอันมาก ตั้งแต่พิธีกรรมในครัวเรือนไปถึงพิธีกรรมระดับชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่ง “หน่อกู่มา” มักจะมีบทบาทในพิธีกรรม

เช่น การทำบุญเรียกขวัญเมื่อเกิดการเจ็บป่วยไม่สบาย พิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมระดับครอบครัว เมื่อสมาชิกเกิดการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย (ทั้งกาย/ใจ) แล้ว คนในครอบครัวก็จะปรึกษากันเพื่อเลี้ยงผี ในการสวดของปู่จารย์หรือผู้อาวุโสหน้าหิ้งผีในบ้าน หมอแคนก็จะเป่าแคน “หน่อกู่มา” คู่ไปกับการสวดนั้น หลังจากการทำพิธีกรรมบนบ้านแล้วเสร็จ ในช่วงค่ำคืนก็จะเป็นการทำพิธีกรรมที่ลานจะคึ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงไม่เฉพาะเครือญาติเท่านั้นจะไปร่วมพิธีกรรม เต้นรำไปรอบ ๆ กองดินในลาน มีนักดนตรีเป่าแคน “หน่อกู่มา” นำและให้จังหวะในการเต้นรำไปรอบ ๆ สลับกันไปมาหลายคน บางช่วงก็จะสลับใช้ “ตึ่ง” แทน “หน่อ”

การทำบุญเรียกขวัญนี้ เป็นพิธีกรรมที่มีชุกมากที่สุดในชุมชน ประมาณการได้ว่ามีการจัดพิธีกรรมนี้ทุกสัปดาห์ บางวันบางสัปดาห์มีมากกว่าครั้ง

นอกจากนั้นในเทศกาลที่สำคัญ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่และเทศกาลกินข้าวใหม่ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สำคัญระดับชุมชน/หมู่บ้าน เนื่องจากเป็นการขอบคุณและขอพร “กื่อซา” ให้ช่วยคุ้มครองชาวบ้านทั้งในการเป็นอยู่และการผลิต รวมทั้งเป็นการหลอมรวมพลังกาย-ใจ ที่จะร่วมกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคในปีที่จะมาถึง

ในพิธีกรรมทั้ง ๒ เทศกาล จะเริ่มทำพิธีที่บ้านปู่จารย์ มีการสวดอวยพรที่นั่น ซึ่งในการสวดก็จะมีนักดนตรีชาวบ้านเป่า “หน่อกู่มา” ควบคู่ไปกับการสวดมนต์ของปู่จารย์

หลังจากสิ้นสุดพิธีที่บ้านปู่จารย์ ก็จะเป็นการประกอบพิธีกรรมในลานจะคึ บรรดาสมาชิกชุมชนจะไปรวมและร่วมกันเต้นรำในลานจะคึ การเต้นจะคึในเทศกาลนี้จะคล้ายกับการทำบุญเรียกขวัญ จะต่างตรงที่ปริมาณคนเข้าร่วมจะมีมากกว่า เนื่องจากคนทั้งชุมชนจะมาชุมนุมและร่วมกิจกรรม อีกทั้งระยะเวลาการเต้นรำ/ประกอบพิธีกรรมก็จะยาวนานออกไป ในคืนท้าย ๆ ของงานชาวบ้านจะมาเต้นรำกันยันสว่าง

เนื่องจากพิธีกรรมยังมีบทบาทและความสำคัญในวิถีชีวิตชาวลาหู่มาก เครื่องดนตรีเช่น “หน่อกู่มา” และ “ตึ่ง” ก็ยังมีบทบาทและได้รับการสืบทอดเรื่อยมา โดยเฉพาะการสืบทอดนักดนตรีรุ่นใหม่ ซึ่งพื้นที่ในพิธีกรรมนั้นจะเปิดโอกาสให้นักดนตรีรุ่นใหม่ได้มีโอกาสบรรเลงเพลงได้โดยเสมอภาคกัน เป็นการฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะและเรียนทางดนตรีจากผู้อาวุโสในสถานการณ์จริง

กล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ของพิธีกรรมส่งผลให้ดนตรีดำรงอยู่ด้วย เนื่องจากพิธีกรรมถูกออกแบบให้ดนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญ รวมทั้งกลอุบายในการสืบทอดนักดนตรีหน้าใหม่ ในชุมชนลาหู่ที่ยังคงประกอบพิธีกรรมอย่างเหนียวแน่น ดนตรีลาหู่อย่าง “หน่อ” และ “ตึ่ง” ก็จะยังมีบทบาทและความสำคัญอยู่

ในทางตรงกันข้าม ดนตรีบางชนิดที่ไม่มีบทบาทในทางพิธีกรรม บทบาทของดนตรีชนิดนั้นก็จะค่อยเลือนหายไป เนื่องจากมีสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันวัยรุ่นฟังเพลงจากวิทยุและโทรศัพท์มือถือ ดูมิวสิควีดิโอและคอนเสริ์ทจากโทรทัศน์ ดนตรีพื้นที่ที่มีบทบาทเพียงบันเทิงหรือไม่ผูกโยงกับพิธีกรรมก็จะค่อย ๆ ล้มหายและจากไปในที่สุด ดังเช่น ขลุ่ย และจิ๊งหน่อง

แม้ว่าดนตรีบางประเภทจะยังดำรงอยู่ เนื่องจากยังรักษาบทบาทสำคัญไว้ได้ แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปดนตรีก็ปรับตัวเปลี่ยนไปให้สอดรับกับสถานการณ์นั้นเช่นกัน

การปรับเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดในเครื่องดนตรีได้แก่ การใช้วัสดุส่วนประกอบบางชนิดของเครื่องดนตรี เช่น การใช้เชือกแทนหวายและปอในการรัดลำหน่อ, การใช้สายกีตาร์ในตึ่ง ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งคือ การจัดทำ ที่ในอดีตเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมักจะผลิตโดยเจ้าของเอง จึงถูกมือถูกไม้เจ้าของ ไม่มีขนาดตายตัว ปัจจุบันแม้จะมีคนสืบทอดการเล่น แต่มิได้รับการสืบทอดการสร้างเครื่องดนตรี คนทำจึงน้อยลง ใครอยากได้ก็ต้องไปจ้างทำ กรณีนี้ยังดีที่ว่ายังสามารถทำให้ถูกมือได้ แต่ในระยะหลังการผลิตเครื่องดนตรีมีแนวโน้มผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น จึงมีความเป็นทั่วไปมากขึ้นกว่าในอดีตที่เป็นเครื่องดนตรีนั้นเป็นแบบเฉพาะเจาะจง

 

หมายเลขบันทึก: 291719เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ลองเปิดดูเนื้อหาสาระจากหลายบันทึก น่าสนใจมากครับ เฌวา การอนุรักษ์ทรัพยากร ป่าไม้ น้ำ ดนตรี ปกากะเญอ..ขออนุญาตนำไปรวมในแพลนเน็ตตัวเองนะครับ
  • เที่ยวหลังแวะบ้านกร่างวิทยาคมบ้างนะครับ

P อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ครับ
ผมเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใน gotoknow

งานต่าง ๆ ที่เอามาใส่ไว้ เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ ส่วนใหญ่ก็เขียนเก็บไว้อ่านคนเดียวบ้าง ส่งให้เพื่อน ๆ อ่านบ้าง มีบาง (น้อย) ชิ้นที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่

เพราะความไร้ระบบของตัวเอง งานเขียนที่ตัวเองชอบหายไปหลายชิ้น มีบล็อคนี้น่าจะช่วยให้ผมเก็บงานเป็นระบบมากขึ้น

ไปบ้านกร่างคราวหน้าจะไปแวะหานะครับ

 

  

 

ดนตรีเขย่าอังกะลุงได้อย่างเดียงง่ะหนานเกียรติ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท